พฤศจิกายน 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,935 คน ใน 1,262 คดี

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานการณ์การดำเนินคดียังสืบเนื่องต่อไป โดยพบคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 4 คดี และศาลยังทยอยนัดฟังคำพิพากษาทุกสัปดาห์ ส่งผลถึงผู้ถูกคุมขังในคดีตามข้อหานี้ ที่ยอดรวมทั้งคดีที่สิ้นสุดแล้วและอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 20 คน ขณะที่การใช้ข้อหาตามมาตรา 116 ก็เป็นอีกสถานการณ์ที่ต้องจับตา เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องและเห็นว่ามีความผิดอย่างละ 1 คดี รวมถึงอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีจากการชุมนุมตั้งแต่ช่วงปี 2558 หลังคดีดำเนินมากว่า 8 ปี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,935 คน ในจำนวน 1,262 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 5 คน คดีเพิ่มขึ้น 9 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,939 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 262 คน ในจำนวน 285 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 135 คน ในจำนวน 43 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 91 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 195 คน ในจำนวน 213 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 42 คน ใน 24 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,262 คดีดังกล่าว มีจำนวน 463 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 800 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ

.

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

ครบ 3 ปี การนำ ม.112 กลับมาใช้ ยังมีผู้ถูกจับกุม-กล่าวหาเป็นระยะ คดีใหม่เพิ่ม 4 คดี ยอดผู้ต้องขังทั้งระหว่างพิจารณา-สิ้นสุดแล้ว เพิ่มเป็น 20 คน

เดือนพฤศจิกายน นับเป็นเดือนที่ครบระยะเวลา 3 ปี ของการนำมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา กลับมาบังคับใช้ หลังจากก่อนหน้าปลายปี 2563 ภาครัฐมีนโยบายไม่นำข้อหานี้มากล่าวหาในคดีใหม่ แต่สถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นำไปสู่ความเปลี่ยนแแปลงต่อนโยบายดังกล่าว สถานการณ์การบังคับใช้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นช่วงที่มีคดีเกิดขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ และยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน (ชวนอ่านรายงาน 10 ข้อสังเกตในรอบ 3 ปี หลังการกลับมาของ ม.112)

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 3 คน ใน 4 คดี โดยมีคดีที่ถูกจับกุมใหม่ในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ คดีของ “เจมส์ ณัฐกานต์” คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างฝั่งธนบุรีวัย 37 ปี ที่ถูกจับกุมไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองพัทลุง เนื่องจากมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ ไปกล่าวหาไว้ จากการโพสต์ข้อความจำนวน 3 โพสต์ คดีนี้ศาลจังหวัดพัทลุงไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางพัทลุงจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น ยังมีคดีของ “บังเอิญ” ศิลปินอิสระจากขอนแก่น ที่เข้ารับทราบข้อหานี้เป็นคดีที่สอง ที่ สน.ชนะสงคราม โดยคดีมี อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส. กล่าวหาบังเอิญเป็นคดีที่สองเช่นกัน จากกรณีโพสต์รูปภาพใช้รองเท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ และยังมี คดีของ “ทาม” ชาวจังหวัดชัยนาท ที่เดินทางเข้ารับทราบข้อหาที่ บก.ปอท. กรณีไปคอมเม้นท์ใต้โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “KTUK – คนไทยยูเค” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 โดยทั้งสามคดีดังกล่าวนี้ ล้วนมีผู้กล่าวหาเป็นบุคคลที่เคลื่อนไหวสังกัดกับกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ 

อีกทั้ง ในเดือนที่ผ่านมา ทนายความยังพบผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยถูกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา และถูกนำตัวไปขอฝากขัง โดยไม่มีทนายความและไม่ได้รับการประกันตัว ได้แก่ กรณีของ “แม็กกี้” ผู้มีความหลากหลายทางเพศวัย 26 ปี ผู้ถูกกล่าวหาจากการทวีตข้อความ 18 ข้อความ

.

.

ส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมาอีก 4 คดี  แยกเป็นคดีที่มีการต่อสู้คดี 2 คดี และคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพอีก 2 คดี

ในคดีที่ต่อสู้คดีนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไป 1 คดี ได้แก่ คดีของณัฐชนน ไพโรจน์ กรณีถูกกล่าวหาว่าจัดพิมพ์หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า” ถอดเทปคำปราศรัย 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งศาลจังหวัดธัญบุรีเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังเพียงว่า จำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบครองหนังสือดังกล่าว

และมีคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด 1 คดี ได้แก่ คดีของ “โชติช่วง” กรณีถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ใน อ.บางกรวย ซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีวินิจฉัยไปในแนวว่าพระบรมฉายาลักษณ์เป็นสัญลักษณ์มีค่าเท่ากับพระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยต้องการให้ประชาชนที่ผ่านไปมาพบเห็น เชื่อว่าจำเลยมีแนวคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์ เห็นว่าผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี โดยศาลยังให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ส่วนคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพนั้น ศาลลงโทษจำคุกขั้นต่ำในทั้งสองคดี แต่คดีของ “พอล” ศาลจังหวัดกำแพงเพชรให้รอลงอาญาเอาไว้ แต่คดีของ “หอมแดง” ที่ศาลอาญา ศาลไม่ให้รอลงอาญา แต่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

.

.

นอกจากนั้น ยังมีคดีที่มีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์อีก 2 คดี ได้แก่ คดีเยาวชนฯ ของ “เพชร ธนกร” กรณีปราศรัยในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ ที่ศาลอุทธรณ์ยังคงเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112 แต่ให้แก้ไขโทษของศาลชั้นต้น จากเดิมที่กำหนดให้นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ให้แก้ไขเป็นว่าให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไปตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษแทน

และยังมีคดีของ “นคร” ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องคดี โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามข้อกล่าวหา

ขณะเดียวกัน ยังมีคดีของ “กิจจา” ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลว่าถูกฟ้องคดีมาตรา 112 ที่ศาลอาญา จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก และศาลได้อ่านคำพิพากษาในระดับชั้นศาลฎีกาเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทำให้คดีของเขาถึงที่สุด และถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว โดยคดีนี้จำเลยมีการว่าจ้างทนายความให้ช่วยเหลือในคดีเอง

จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน มีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณาเท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 14 ราย โดยรายที่ศาลไม่ให้ประกันตัวก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งตลอดเดือนที่ผ่านมา 

รวมทั้งยังมีผู้ต้องขังข้อหานี้ที่คดีถึงที่สุดแล้วอีก 6 ราย โดยเดือนที่ผ่านมา มีคดีของ “วัฒน์” ช่างตัดผมจากราชบุรี ที่ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษาที่ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ทำให้คดีถึงที่สุดไปแล้ว

.

.

คดีชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีคำพิพากษาเป็นระยะ คดีเริ่มขึ้นศาลสูง ขณะคดี 116 ยังมีปัญหาการใช้-ตีความต่อเนื่อง

เดือนพฤศจิกายน ศาลมีคำพิพากษาในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ออกมาอีก 3 คดี โดยมีคดีที่ศาลยกฟ้อง 1 คดี ได้แก่ คดีของ “รุ้ง-ไมค์-ครูใหญ่” กรณีชุมนุม #ม็อบ10กุมภา2564 ที่สกายวอล์คปทุมวัน โดยเห็นว่าพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่าทั้งสามคนเป็นผู้จัดกิจกรรมและโพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุม แต่คดีนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้กลับไปลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาตามมาตรา 215 วรรคท้าย เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการขว้างปาสิ่งของเข้าไปข้างใน สน.ปทุมวัน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม โดยลงโทษจำคุก 9 เดือน ไม่ให้รอลงอาญา แต่ทั้งสามยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

นอกจากนั้น ยังมีคดีคาร์ม็อบปัตตานี ที่มีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ในสองคดีที่พิจารณารวมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยังคงเห็นว่าจำเลยรายหนึ่ง ได้แก่  ซูกริฟฟี ลาเตะ มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกรวม 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

ขณะเดียวกัน ยังมีคดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่งให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่เป็นครั้งที่ 2 หลังมีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาเพียงคนเดียว ในคดีที่ลงโทษปรับเกิน 10,000 บาท ทำให้คำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สถานการณ์การดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2563-65 ยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน และอีกหลายคดียังอาจต้องใช้เวลาหลายปีนับจากนี้เพื่อต่อสู้ต่อไป

.

.

เดือนที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์การดำเนินคดีข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งพบว่ามีคดีที่ศาลยกฟ้อง อย่างคดีแปะใบปลิวสหพันธรัฐไท ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี และคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด อย่างคดีของ “ป่าน ทะลุฟ้า” กรณีถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจทะลุฟ้า โพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุม ซึ่งศาลอาญาลงโทษจำคุกถึง 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยวินิจฉัยในแนวว่าจำเลยมีเจตนาให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน เล็งเห็นผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ศาลยังให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ขณะที่ยังมีคดี “อดีต 14 นักศึกษา” กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) พร้อมทั้ง ส.ศิวรักษ์, บารมี ชัยรัตน์, “ทนายจูน” ศิริกาญจน์ เจริญศิริ กรณีชุมนุมเดินขบวนต่อต้านการรัฐประหาร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558  หลังคดีผ่านไปกว่า 8 ปี อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหาตามมาตรา 116 แล้ว โดยเห็นว่าเป็นเพียงการชุมนุมของผู้มีความคิดเห็นแตกต่างในทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กว่าอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง ก็ใช้เวลาอย่างยาวนาน และอดีตนักศึกษา 14 คน ยังเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวน 12 วันมาก่อนด้วย

การใช้ข้อหามาตรา 116 ที่มีปัญหาทั้งในเชิงตัวบท และการตีความนำมาบังคับใช้ ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามการชุมนุมแและแสดงออกทางการเมือง ยังเป็นสถานการณ์การใช้กฎหมายสำคัญที่เป็นมรดกหนึ่งจากยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

.

X