สิงหาคม 2567: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,956 คน ใน 1,302 คดี

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 คดี และยังมีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเพิ่มใหม่อีก 2 ราย ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพิ่มอีก 1 คดี สถานการณ์แนวโน้มคำวินิจฉัยคดีข้อหานี้มีทิศทางที่น่าสนใจมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันในชั้นตำรวจและอัยการ ยังเตรียมฟ้องคดี ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-64 เพิ่มเติมอีก

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,956 คน ในจำนวน 1,302 คดี  เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนกรกฎาคม มีคดีเพิ่มขึ้น 3 คดี 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,009 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 273 คน ในจำนวน 306 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 152 คน ในจำนวน 51 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 672 คดี 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 181 คน ในจำนวน 99 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 203 คน ในจำนวน 226 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,302 คดีดังกล่าว มีจำนวน 615 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว (คดีบางส่วนไม่ได้สิ้นสุดลงทั้งคดี เช่น มีการอุทธรณ์คดีเฉพาะจำเลยบางคน แต่จำเลยบางคนคดีสิ้นสุดแล้ว) 

.

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

คดี ม.112 เพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้อีก 2 คดี ขณะผู้ถูกคุมขังก็เพิ่มอีก 2 ราย-จับตาการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดบางส่วน หลังมี พรฎ.อภัยโทษ

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 2 คดี โดยเป็นคดีที่เกิดขึ้นในภาคใต้ คือที่จังหวัดพัทลุงทั้งสองคดี และยังเป็นคดีที่มี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ทั้งสองคดี โดยผู้ถูกกล่าวหาต่างอยู่นอกพื้นที่ภาคใต้ ทำให้มีภาระต้องเดินทางไปต่อสู้คดี

คดีแรก ได้แก่ คดีของ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี ถูกกล่าวหาที่ สภ.เมืองพัทลุง เหตุจากโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กวิจารณ์กลุ่มปกป้องสถาบันฯ โดยกล่าวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 6 แล้วที่ฟ้าถูกกล่าวหา และต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสู้คดีถึงพัทลุง

ส่วนอีกคดีหนึ่ง ทราบว่าตำรวจ สภ. เดียวกันนี้ ได้ออกหมายเรียกประชาชนจากจังหวัดกาญจนบุรีรายหนึ่ง เหตุจากการไปคอมเมนต์โพสต์ข้อความของฟ้าดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างประสานงานการเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับตำรวจ 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ยอดรวมคดีมาตรา 112 หลังปี 2563 เป็นต้นมา เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 306 คดีแล้ว โดยเป็นคดีที่มีทรงชัยไปกล่าวหาไว้ไม่น้อยกว่า 12 คดี

.

.

ขณะเดียวกันในรอบเดือน ยังมีคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาอีกอย่างน้อย 5 คดี แยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 2 คดี, ศาลอุทธรณ์ 2 คดี และศาลฎีกา 1 คดี

คดีที่สำคัญ ได้แก่ คดีของทิวากร วิถีตน กรณีโพสต์สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร คดีนี้เดิมศาลจังหวัดขอนแก่นยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา แต่อัยการอุทธรณ์ต่อ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 กลับคำพิพากษา โดยเห็นว่ามีความผิดในทุกกระทง ลงโทษจำคุก 6 ปี และทิวากรยังไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาอีกด้วย ทั้งที่คำวินิจฉัยสองศาล มีแนวทางแตกต่างกันอย่างชัดเจน

นอกจากนั้นยังมีคดีของ “นิว จตุพร” กรณีแต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ ใน #ม็อบ29ตุลา2563 ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าจากพฤติการณ์ต่าง ๆ จำเลยต้องการแสดงออกว่าตนเองนั้นเป็นพระราชินี ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่หลังถูกคุมขังไป 2 คืน ศาลฎีกาได้อนุญาตให้ประกันตัว เห็นว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี 

ปัญหามาตรฐานในการสั่งประกันตัวของศาล ยังเป็นประเด็นสำคัญ ที่พบว่ามีความไม่แน่นอน และคงเส้นคงวาอยู่เป็นระยะ

.

.

ส่วนคดีที่ไปถึงศาลฎีกา ได้แก่ คดีของ “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวในช่วงปี 2558-59 จำนวน 13 โพสต์ เธอเคยถูกดำเนินคดีในศาลทหาร แต่ลง คสช. ยุติบทบาท คดีได้โอนย้ายไปที่ศาลจังหวัดชลบุรี จนต่อสู้มาถึงชั้นศาลฎีกา ศาลสุดท้ายนี้ได้พิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ใน 4 ข้อความ ที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และรัชทายาทในขณะเกิดเหตุ แต่ยกฟ้องในกรณีโพสต์เกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์รายอื่น การวินิจฉัยจำกัดบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ดังกล่าว ทำให้ต้องติดตามคำพิพากษาคดีนี้ฉบับเต็มต่อไป

ขณะที่อีกสองคดีในศาลชั้นต้น ได้แก่ คดีของ “ตี๋” นักศึกษา ม.นเรศวร กรณีแจกหนังสือรวมคำปราศรัยคดี 112 ได้ถูกศาลจังหวัดพิษณุโลกพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง โดยเชื่อตามพยานหลักฐานโจทก์ว่าจำเลยเป็นแกนนำในการทำกิจกรรม และมีข้อความในหนังสือบางส่วนที่ศาลเห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112 จึงลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ศาลเห็นว่ามีเพียงตำรวจที่แฝงตัวไปรับหนังสือ ยังไม่มีบุคคลทั่วไปได้รับหนังสือดังกล่าว จึงยังไม่เกิด “ความเสียหาย” มากนัก จึงพิพากษาให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

ส่วน “อาย” กันต์ฤทัย นั้น กลายเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำรายล่าสุด หลังจากถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี 48 เดือน ในคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ทำให้เธอถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางในปัจจุบัน

จนถึงต้นเดือนกันยายน ยังมีผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 29 คน แยกเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา 16 คน และผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดอีก 12 คน แต่ในเดือนนี้ต้องติดตามสถานการณ์การปล่อยตัวและลดหย่อนโทษลงของผู้ต้องขังในเรือนจำต่าง ๆ หลังมีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษมาในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

.

.

คดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ศาลยกฟ้องต่อเนื่อง พยายามตีความเคร่งครัดมากขึ้น แต่จำเลยก็ต้องต่อสู้คดีก่อน

ในเดือนสิงหาคม ไม่มีรายงานการดำเนินคดีจากการชุมนุมคดีใหม่ มีเพียงคดีที่ศาลมีคำพิพากษาออกมา 1 คดี ได้แก่ คดีของ “ไหม” ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน และ “อาคิน” (นามสมมติ) นักศึกษา จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปที่ประชุม APEC2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565

ศาลแขวงพระนครใต้ได้มีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอจะยืนยันได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว แต่ศาลลงโทษปรับเป็นพินัยเฉพาะอาคิน 5,000 บาท ในฐานเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลลงบนถนนฯ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ พบว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีคำพิพากษาคดีชุมนุมในช่วงการประชุม APEC2022 ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ไปแล้ว 3 คดี นอกจากคดีนี้ ยังมีคดีกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” เดินถือป้ายประท้วงนโยบายจีนเดียว และคดีทำกิจกรรมเรียกร้องดวงตาที่หายไปของ “พายุ ดาวดิน” โดยทั้งสองคดีนี้ ศาลเห็นว่ากรณีไม่เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะ เพราะไม่มีการเชิญชวนให้บุคคลเข้าร่วม 

นอกจากนั้น ยังมีรายงานการยกฟ้องในกรณีผู้จัดเดินขบวนวันแรงงานสากล เมื่อปี 2566 ในปีนี้ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่ากิจกรรมวันดังกล่าวเป็นกิจกรรมตามประเพณี ไม่เข้าข่ายใช้บังคับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ตามมาตรา 3 (2) 

ภาพรวมสถานการณ์ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ดังกล่าว พบว่าหลายศาลมีการพยายามตีความอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ไม่ทำให้ใครก็ได้กลายเป็นผู้จัดการชุมนุม ที่ต้องรับผิดชอบต่อการแจ้งการชุมนุม หรือการแสดงออกสาธารณะในลักษณะต่าง ๆ กลายเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องใช้กฎหมายบังคับทั้งหมด แม้จะยังมีการลงโทษปรับในข้อหาลหุโทษอื่น ๆ อยู่ก็ตาม รวมทั้งยังมีการใช้กฎหมายจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา ให้ประชาชนที่ออกมาชุมนุมต้องไปต่อสู้คดีอยู่ก็ตาม

ขณะเดียวกัน ในปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน คดีชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงปี 2563-64 ที่ค้างคาอยู่ในชั้นสอบสวน พบว่าบางคดีตำรวจหรืออัยการเริ่มมีนัดหมายไปสั่งฟ้องคดีอีก แม้จะอยู่ในช่วงที่สภาเตรียมพิจารณาการนิรโทษกรรมในคดีทางการเมืองเองก็ตาม แต่กลไกในกระบวนการยุติธรรมกลับดำเนินการในคดีชุมนุมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

.

X