ยกฟ้องรวม 2 ข้อหา คดี “ธนพร-อาคิน” กรณีเดินขบวนไปยื่นหนังสือ APEC2022 แต่ให้ปรับเป็นพินัย 5 พันบาท ฐานทิ้งสิ่งปฏิกูลลงถนนฯ

20 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ไหม” ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน และ “อาคิน” (นามสมมติ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปที่ประชุม APEC2022 เพื่อยื่นจดหมายบอกให้ผู้นำโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และให้จับตาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565

ศาลพิพากษายกฟ้องธนพรและอาคิน ในข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งฯ และยกฟ้องธนพรในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้ปรับเป็นพินัยอาคิน 5,000 บาท ในฐานเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลลงบนถนนฯ

คดีนี้ธนพรและอาคินได้รับหมายเรียกจาก สน.ลุมพินี ลงวันที่ 4 ก.ย. 2566 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยในหมายเรียกนั้นระบุว่ามี พ.ต.ท.นฤวัต พุทธวิโร เป็นผู้กล่าวหา และหมายเรียกออกภายหลังเหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 10 เดือนแล้ว

วันที่ 15 ก.ย. 2566 ธนพรและอาคินเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนในข้อหา “ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

นอกจากนี้ ธนพรยังถูกแจ้งข้อหา ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และอาคินถูกแจ้งข้อหา “เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใด ลงบนถนนหรือในทางน้ำ” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 33 เพิ่มอีก ทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ย้อนอ่านเหตุการณ์ชุมนุม : #ม็อบ17พฤศจิกา65 : #WhathappenedinThailand : Mob Data Thailand

ต่อมา วันที่ 12 ต.ค. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 4 (ยานนาวา) ได้ยื่นฟ้องทั้งสองต่อศาลแขวงพระนครใต้ ตามข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับชั้นสอบสวน ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

คดีนี้มีการสืบพยานทั้งสองฝ่ายในวันที่ 12-13 มิ.ย. 2567 โดยจำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า ตนไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว และไม่ทราบรายละเอียดของกิจกรรมในวันดังกล่าวมาก่อน ต่อมาศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 ส.ค. 2567

ทั้งนี้ ในเหตุการณ์ชุมนุมวันเดียวกันนี้ มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ อีก 4 คน คือ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธํารง, “ใบปอ”, “โจเซฟ” และฉัตรรพี อาจสมบูรณ์ โดยโจเซฟและฉัตรรพีให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน และถูกเปรียบเทียบปรับคนละ 1,000 บาท คดียุติลงแล้ว ในส่วนของเก็ทและใบปอคดียังอยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลแขวงพระนครใต้

วันนี้ (20 ส.ค. 2567) จำเลยทั้งสอง เดินทางมารอฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 พร้อมกับทนายความ ก่อนศาลออกพิจารณาคดี และเริ่มอ่านคำพิพากษา ในเวลาประมาณ 10.00 น. มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มี พ.ต.อ.นฤวัต พุทธวิโร, พ.ต.ท.รัตนาธิเบศ แผ้วไพบูลย์ และ พ.ต.ท.ยุทธภูมิ ฝอยทอง เข้าเบิกความโดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นผู้จัดการชุมนุม

เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 นิยามว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น

โจทก์มี พ.ต.อ.นฤวัต เป็นประจักษ์พยาน เบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 พบจำเลยที่ 1, “ใบปอ” และ “ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์” อยู่ที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ใบปอได้อ่านแถลงการณ์เชิญชวนให้คนไปร่วมชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. 2565 และในวันดังกล่าวมีตัวแทนเป็นผู้ยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่สถานทูต แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีการกระทำในลักษณะเชิญชวนให้บุคคลไปร่วมชุมนุม ต่อมา ฉัตรรพีได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าจะมีการนัดหมายให้คนมาชุมนุมกันในวันที่ 17 พ.ย. 2565 

เมื่อผู้นัดหมายให้มีการชุมนุมคือฉัตรรพี และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ติดต่อสื่อสารกับฉัตรรพีในการตกลงกันว่าจะจัดให้มีการชุมนุมในวันดังกล่าว จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุม

แม้จำเลยทั้งสองจะมีลักษณะแสดงตนเป็นผู้นำในการชุมนุม โดยจำเลยที่ 1 มีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง และจำเลยที่ 2 ได้ใช้ร่างกายตัวเองปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ไม่มีการกระทำตอนใดที่มีลักษณะเชิญชวนให้คนมาชุมนุม ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดในข้อหา ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

ส่วนที่นำสืบว่า มีการใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ ‘ทะลุวัง’ โพสต์นัดหมายให้มีการชุมนุม ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับบัญชีผู้ใช้ดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองใช้สื่อโซเชียลชักชวนให้คนมาเข้าร่วมการชุมนุม เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด และพยานหลักฐานยังมีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมา จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 3, 4, 9 ผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน ในกรณีนี้ผู้ขออนุญาตคือผู้จัดให้มีการชุมนุม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม จึงไม่เป็นความผิดตามข้อหานี้

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้าย จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลลงบนถนนฯ หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มี พ.ต.อ.นฤวัต เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้สีน้ำบางส่วนสาดใส่เจ้าหน้าที่ พ.ต.ท.รัตนาธิเบศ และ พ.ต.ท.ยุทธภูมิ เบิกความว่า จำเลยใช้ขันตักของเหลวสีเขียวเทลงบนถนน พร้อมกับสาดใส่เจ้าหน้าที่ด้วย สอดคล้องกับภาพหลักฐานที่ปรากฏภาพของจำเลยที่ 2 ที่กำลังสาดของเหลวใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอยู่ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 33 วรรค 1 ให้ปรับเป็นพินัย 5,000 บาท ข้อหาอื่นจากนี้ให้ยกฟ้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

บันทึกการต่อสู้คดีของ “ไหม” ธนพร และ “อาคิน” ยืนยันไม่ใช่ผู้จัดชุมนุมเดินขบวนไปยื่นหนังสือ APEC2022 ก่อนศาลพิพากษา 20 ส.ค. นี้

X