ในวันที่ 20 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครใต้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ไหม” ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน และ “อาคิน” (นามสมมติ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปที่ประชุม APEC2022 เพื่อยื่นจดหมายบอกให้ผู้นำโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และให้จับตาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565
ทบทวนไทม์ไลน์คดี
คดีนี้ธนพรและอาคินได้รับหมายเรียกจาก สน.ลุมพินี ลงวันที่ 4 ก.ย. 2566 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยในหมายเรียกนั้นระบุว่ามี พ.ต.ท.นฤวัต พุทธวิโร เป็นผู้กล่าวหา และหมายเรียกออกภายหลังเหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 10 เดือนแล้ว
วันที่ 15 ก.ย. 2566 ธนพรและอาคินเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนในข้อหา “ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
นอกจากนี้ ธนพรยังถูกแจ้งข้อหา ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และอาคินถูกแจ้งข้อหา “เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใด ลงบนถนนหรือในทางน้ำ” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 33 เพิ่มอีก ทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ย้อนอ่านเหตุการณ์ชุมนุม : #ม็อบ17พฤศจิกา65 : #WhathappenedinThailand : Mob Data Thailand
ต่อมา วันที่ 12 ต.ค. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 4 (ยานนาวา) ได้ยื่นฟ้องทั้งสองต่อศาลแขวงพระนครใต้ ตามข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับชั้นสอบสวน ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองโดยไม่ต้องวางหลักประกัน
คดีนี้มีการสืบพยานทั้งสองฝ่ายในวันที่ 12-13 มิ.ย. 2567 โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 ส.ค. 2567
ทั้งนี้ ในเหตุการณ์ชุมนุมวันเดียวกันนี้ มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ อีก 4 คน คือ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธํารง, “ใบปอ”, “โจเซฟ” และฉัตรรพี อาจสมบูรณ์ โดยโจเซฟและฉัตรรพีให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและถูกเปรียบเทียบปรับคนละ 1,000 บาท คดียุติลงแล้ว ในส่วนของเก็ทและใบปอคดียังอยู่ระหว่างการสืบพยานของศาลแขวงพระนครใต้
ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุม-ปราศรัย-เทน้ำสีเขียวลงบนถนน ด้านจำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า ตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการชุมนุม ไม่ได้เป็นผู้จัด และไม่ทราบรายละเอียดของกิจกรรมในวันดังกล่าวมาก่อน
ในการพิจารณาคดี มีการสืบพยานไปทั้งหมด 2 นัด ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหา 1 ปาก, เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน 2 ปาก, ตัวแทนจากสำนักงานเขตคลองเตย 1 ปาก และพนักงานสอบสวน 1 ปาก โดยพยายามกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ยังมีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 2 มีการเทน้ำเคมีสีเขียวลงบนถนนตรงแยกอโศก จนทำให้บริเวณดังกล่าวสกปรก
ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบ 1 ปาก คือ ธนพร จำเลยที่ 1 เอง โดยฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุ เป็นการนัดชุมนุมโดยบุคคลอื่นและกลุ่มอื่น ๆ มิใช่ตัวจำเลยทั้งสอง ทั้งจำเลยที่ 1 ยังถูกประสานงานให้ไปเป็นพิธีกรในวันดังกล่าว และไม่เคยทราบรายละเอียดของกิจกรรมในวันดังกล่าวมาก่อน
ตร.ผู้กล่าวหา ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นผู้จัดการชุมนุม โดยเป็นผู้ปราศรัยและเข้าปะทะกับตำรวจ ทำให้มวลชนฮึกเหิม
พันตำรวจเอกนฤวัต พุทธวิโร ผู้กล่าวหาในคดี ขณะเกิดเหตุ เป็นรองผู้กำกับการสืบสวน สน.ลุมพินี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 12.00 น. ได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มคนไปทำกิจกรรมบริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา และมีการแสดงออกทางการเมืองโดยยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่สถานทูต ซึ่งทราบชื่อผู้ร่วมชุมนุมภายหลังว่ามี “ธนพร วิจันทร์” จำเลยที่ 1 ในคดีนี้, “ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์” และ “ใบปอ” (นามสมมติ)
หลังได้รับแจ้ง พยานจึงเดินทางไปที่สถานทูตอเมริกา และพบบุคคลทั้งสามดังกล่าวอยู่ที่หน้าสถานทูต ในลักษณะชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมชุมนุมที่แยกอโศก ในวันที่ 17 พ.ย. 2565 นอกจากนี้ ใบปอยังได้อ่านแถลงการณ์ ในวันดังกล่าวมีตัวแทนเป็นผู้ยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่สถานทูต โดยที่บุคคลทั้งสามยืนอยู่ด้วยกัน
ต่อมา วันที่ 17 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 11.45 น. พยานได้เดินทางไปที่บริเวณแยกอโศก พบว่ามีผู้เริ่มเข้าร่วมชุมนุมประมาณ 30 คน และมีสื่อมวลชนอีกประมาณ 10-20 คน พยานเห็นใบปอ, ฉัตรรพี และธนพร เข้าร่วมชุมนุมด้วย นอกจากนี้ พยานยังทราบชื่อบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมในภายหลังว่ามี โสภณ สุรฤทธิ์ธํารง หรือ “เก็ท”, “โจเซฟ” (นามสมมติ) และ “อาคิน” (นามสมมติ) จําเลยที่ 2 ในคดีนี้อยู่ด้วย โดยทั้ง 6 คนมีลักษณะเป็นแกนนำในการชุมนุม
ระหว่างการชุมนุม พยานเห็นว่าฉัตรรพีใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัย ใบปอใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ ธนพรใช้เครื่องขยายเสียงพูดคุยกับผู้เข้าร่วมการชุมนุม อาคินได้ใช้สีน้ําสาดลงบนแผ่นป้ายที่ผู้ร่วมชุมนุมเตรียมมา โดยสีบางส่วนกระเด็นไปถูกเจ้าหน้าที่ตํารวจซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และบางส่วนสร้างความสกปรกบนพื้นถนน โสภณได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยกับผู้เข้าร่วมชุมนุมและอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ และโจเซฟได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยกับผู้ร่วมชุมนุมเป็นภาษาอังกฤษ
พ.ต.อ.นฤวัต กล่าวว่า ในการชุมนุมจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง แต่จากการตรวจสอบไม่มีการแจ้งการชุมนุมต่อผู้กํากับการ สน.ลุมพินี แต่อย่างใด
กลุ่มผู้ชุมนุมได้พยายามเดินขบวนตามถนนไปที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งขณะนั้นมีการจัดการประชุม APEC2022 โดยรถยนต์ไม่สามารถใช้ช่องทางเดินรถที่ผู้ร่วมชุมนุมเดินได้ ทําให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ผู้กํากับการ สน.ลุมพินี ได้แจ้งให้ผู้ร่วมชุมนุมทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาต อาจเป็นความผิดต่อกฎหมาย ขอให้หยุดการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่หยุด
ในระหว่างการเดินขบวนเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ตั้งแนวไม่ให้ผู้ร่วมชุมนุมเดินลงบนท้องถนนกีดขวางทางจราจร โดยมีผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนใช้กําลังผลักเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและด่าทอ
ต่อมาเวลา 14.00 น. ผู้กํากับการ สน.ลุมพินี ได้ขอให้ผู้ร่วมการชุมนุมยุติการชุมนุมอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จนกระทั่งเวลา 15.00 น. ผู้ร่วมชุมนุมจึงยุติการชุมนุม
ในระหว่างการเคลื่อนขบวน แกนนำได้ปราศรัยโดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่า ต้องการพามวลชนไปที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อยื่นหนังสือกับผู้นําต่างประเทศที่มาร่วมประชุม เรียกร้องให้หยุดฟอกเขียวกลุ่มทุนเจ้า ซึ่งพยานเข้าใจว่าน่าจะหมายถึงกษัตริย์ พยานทราบอีกว่า มีประกาศนัดหมายการชุมนุมผ่านช่องทางทวิตเตอร์ ซึ่งบัญชีทะลุวังเป็นผู้โพสต์เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 20.00 น.
พ.ต.อ.นฤวัต กล่าวต่อว่า ในการชุมนุมโดยใช้เครื่องขยายเสียงจะต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร
ผู้ร่วมชุมนุมได้มีการใช้แผ่นป้าย สเปรย์ สีน้ํา และธงแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นอุปกรณ์ ในการชุมนุมวันดังกล่าว
ต่อมา พยานได้จัดทํารายงานการสืบสวนเสนอผู้บังคับบัญชา ปรากฏภาพถ่ายของจําเลยที่ 1 ขณะใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยต่อผู้ชุมนุม จําเลยที่ 2 ใช้สีน้ําสาดและใช้เท้าถีบเจ้าหน้าที่ตํารวจ และผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้สีสเปรย์ฉีดใส่โล่ของเจ้าหน้าที่ตํารวจ แต่ไม่ทราบว่าผู้ใด
ต่อมา โจทก์ให้พยานดูเอกสารที่อ้างว่าเป็นภาพเจ้าพนักงานตํารวจผู้ควบคุมฝูงชนที่ถูกน้ําสีเขียวสาดใส่ อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยแถลงว่าพยานเอกสารดังกล่าว เป็นพยานหลักฐานที่โจทก์ไม่ได้ยื่นต่อศาลในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน เพื่อให้ฝ่ายจำเลยตรวจสอบก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173/2 ฝ่ายจำเลยจึงขอคัดค้านการรับฟังเอกสารดังกล่าว ศาลจึงบันทึกไว้
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พ.ต.อ.นฤวัต เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันที่ 15 พ.ย. 2565 พยานได้ไปที่สถานทูตอเมริกาภายหลังจากการชุมนุมเริ่มแล้วไปสักครู่หนึ่ง และอยู่กระทั่งยุติการชุมนุม โดยผู้ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. 2565 เวลา 12.00 น. คือ ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์ ทั้งนี้ พยานไม่แน่ใจว่าจะมีการถอดเทปคําพูดของผู้ชุมนุมที่หน้าสถานทูตอเมริกาหรือไม่
วันเกิดเหตุพยานไปที่สี่แยกอโศกตั้งแต่เวลา 11.00 น. แต่ไม่ทราบว่าผู้ร่วมชุมนุมเริ่มใช้เครื่องขยายเสียงเวลาใด
พื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกอโศก เป็นพื้นที่รอยต่อของ สน.ลุมพินี และ สน.ทองหล่อ หากพิจารณาจากฝั่งถนนรัชดา บริเวณถนนเป็นนพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ทองหล่อ แต่ส่วนบนฟุตบาทเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ลุมพินี แต่หากพิจารณาจากทางด้านถนนสุขุมวิทที่ผู้ร่วมชุมนุมอยู่บนฟุตบาทและถนน เป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ลุมพินี โดยขณะเกิดเหตุ มี พ.ต.อ.นิมิตร นูโพนทอง เป็นผู้กํากับ สน.ลุมพินี พ.ต.อ.ดวงโชติ สุวรรณจรัส เป็นผู้กํากับ สน.ทองหล่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตํารวจทั้งสองนายได้ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุด้วย
รายงานการสืบสวนที่ระบุเหตุการณ์วันที่ 15 พ.ย. 2565 ซึ่งพยานรวบรวมจากชุดสืบสวนหลาย ๆ คน ไม่ปรากฏจําเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุ และพยานไม่ได้ตรวจสอบว่า จําเลยที่ 1 ใบปอ และฉัตรรพี มีการติดต่อกับจําเลยที่ 2 ในการเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่
พยานไม่ได้สืบสวนว่า เจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ ‘ทะลุวัง’ เป็นใคร จําเลยมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ และไม่ได้สืบด้วยว่า จำเลยทั้งสองติดต่อสื่อสารกับใบปอและฉัตรรพีหรือไม่
พยานไม่ทราบว่า จําเลยทั้งสองใช้สื่อโซเชียลชักชวนให้คนมาร่วมชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. 2565 หรือไม่ และจําไม่ได้ว่า ระหว่างการชุมนุมจําเลยทั้งสองมีการพูดคุยกับฉัตรรพี, ใบปอ, โสภณ และโจเซฟหรือไม่
พยานไม่ทราบว่า กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยได้มีการนัดหมายชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. 2565 ด้วยหรือไม่
ตามภาพถ่ายเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ซึ่งระบุว่าเป็นเหตุการณ์ในช่วงเวลา 16.30 น. ขณะที่ผู้ชุมนุมแยกย้ายตั้งแต่เวลา 15.00 น. นั้น พยานไม่ได้เป็นผู้ถ่ายภาพดังกล่าว แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนเป็นผู้จัดทำเอกสารนี้มาให้พยาน
วันเกิดเหตุพยานเห็นจําเลยที่ 1 ใช้เครื่องขยายเสียง แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนนําเครื่องขยายเสียงมา และไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเครื่องขยายเสียง รวมทั้งไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดหาสีที่ใช้ในการชุมนุม
พยานจําไม่ได้ว่าจําเลยทั้งสองมาร่วมชุมนุมเวลาใด แต่เห็นจําเลยทั้งสองมาตั้งแต่เริ่มการชุมนุมและมีลักษณะแสดงตนเป็นผู้นําการชุมนุม โดยการพูดปราศรัยให้ผู้ร่วมชุมนุมรับฟัง อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนในการปราศรัยหรือใช้เครื่องขยายเสียงแต่อย่างใด แต่ที่พยานกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการชุมนุมด้วยนั้นเพราะมีลักษณะการนำ โดยใช้ร่างกายปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจ ทําให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีความฮึกเหิม
พยานเห็นผู้ชุมนุมพูดคุยเจรจากับผู้บังคับบัญชาว่า จะขอเคลื่อนขบวนไปที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ไม่ได้รับอนุญาต พยานจําไม่ได้ว่าผู้ชุมนุมที่เจรจาเป็นใคร และไม่ทราบรายละเอียดของการเจรจา ทราบเพียงว่า ผู้บังคับบัญชาขอไม่ให้ผู้ชุมนุมลงถนน เพราะจะทําให้การจราจรติดขัด
พยานจําไม่ได้ว่า จําเลยที่ 2 ได้เป็นตัวแทนในการเจรจาเพื่อขอไปยื่นหนังสือให้กับที่ประชุุม APEC2022 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์หรือไม่
สําหรับสีที่จําเลยที่ 2 ใช้ หากตกบนพื้นก็น่าจะสามารถล้างออกได้ง่าย แต่หากติดเสื้อผ้าน่าจะล้างออกได้ยาก
สองตำรวจ คฝ. เบิกความตรงกัน ผู้ชุมนุมฉีดพ่น สาดสี และกระโดดถีบ คฝ. แต่ไม่พบอาวุธจากผู้ชุมนุม ทั้งจำไม่ได้ว่าใครเป็นตัวแทนเจรากับ ตร.
พันตำรวจโทรัตนาธิเบศ แผ้วไพบูลย์ และพันตํารวจโทยุทธภูมิ ฝอยทอง สองตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ เบิกความคล้ายคลึงกันว่า ทั้งสองได้รับคำสั่งจากกองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดนและกองบัญชาการตํารวจนครบาลให้ควบคุมกําลังพลไปปฏิบัติหน้าที่บริเวณแยกอโศก ในช่วงวันเกิดเหตุ
ต่อมาในวันที่ 17 พ.ย. 2565 พยานทั้งสองนํากำลัง คฝ. มาประจําบริเวณแยกอโศก และให้วางแนวกําลังบนถนนบริเวณริมฟุตบาทใกล้สถานีรถไฟฟ้าอโศก เพื่อจํากัดบริเวณไม่ให้ผู้ร่วมชุมนุมลงมาบนพื้นถนนและเคลื่อนขบวนไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ทั้งสองเห็นผู้ร่วมชุมนุมปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงโจมตีรัฐบาล มีการชูแผ่นป้ายซึ่งมีข้อความว่า “หยุดฟอกเขียวทุนเจ้า” มีการใช้สเปรย์สีแดงฉีดพ่นใส่โล่ คฝ. และจำเลยที่ 2 ยังได้กระโดดถีบโล่และสาดสีใส่ คฝ. ด้วย
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พยานทั้งสองเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านทำนองเดียวกันว่า จําเลยที่ 2 ยืนอยู่แถวหน้าในการชุมนุม และมีการตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัย
วันเกิดเหตุไม่มีรายงานว่า ตรวจพบอาวุธจากผู้ชุมนุม
สำหรับสีน้ําสีเขียวที่จำเลยที่ 2 ใช้นั้น หากติดบริเวณร่างกายสามารถล้างออกได้ แต่หากติดเสื้อผ้าแล้วจะไม่สามารถล้างออกได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม พยานไม่แน่ใจว่า ได้มีการดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 ที่ทำความเสียหายต่อชุดแต่งกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่
พยานทั้งสองจําไม่ได้ว่า ในวันเกิดเหตุใครเป็นผู้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตํารวจและเป็นตัวแทนไปยื่นหนังสือต่อผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค
นิติกรเขตคลองเตยระบุ ไม่มีชื่อจำเลยเป็นผู้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง แต่รับว่าหน้าที่ขออนุญาตเป็นของผู้จัดการชุมนุม
วสุ อ้นรัตน์ นิติกรปฏิบัติการ สำนักงานเขตคลองเตย เบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายจากเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อํานวยการสํานักงานเขตคลองเตย ให้มาเบิกความ พยานยืนยันว่า ตํารวจ สน.ลุมพินี ได้มีหนังสือถามสำนักงานเขตคลองเตยว่า การชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. 2565 มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงและขอให้เขตคลองเตยส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลการชุมนุมหรือไม่ โดยมีการระบุชื่อของผู้ที่ต้องการตรวจสอบจํานวน 5 คน
สํานักงานเขตคลองเตยได้มีหนังสือตอบกลับ สน.ลุมพินี ไปว่า ไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงและไม่มีการประสานงานให้สํานักงานเขตคลองเตยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลหรือสังเกตการณ์ในพื้นที่ชุมนุม โดยเอกสารรายชื่อบุคคลที่มาขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ไม่มีชื่อจำเลยทั้งสอง
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
วสุตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ผู้ขอจะต้องยื่นคําร้องต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม จากนั้นฝ่ายสิ่งแวดล้อมจะส่งเรื่องให้ผู้อํานวยการเขตพิจารณาต่อ แต่พยานไม่ทราบว่า จะต้องมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตํารวจในพื้นที่ด้วยหรือไม่
พยานรับว่า โดยปกติแล้วการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเป็นหน้าที่ของผู้จัดกิจกรรมหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรม โดยจะต้องขออนุญาตล่วงหน้า แต่ไม่แน่ใจว่า ต้องขอล่วงหน้ากี่วัน
กรณีที่ไม่มีชื่อจำเลยในเอกสารรายชื่อผู้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง แสดงว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนมาขอ และเอกสารดังกล่าวจะเป็นการขออนุญาตในวันใด พยานไม่ทราบ
พนักงานสอบสวนเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยเกี่ยวข้องกับการนัดหรือเตรียมการชุมนุม
พันตํารวจโทพงศักดิ์ การรัตน์ พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กํากับสอบสวน สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 18.00 น. พ.ต.ท.นฤวัต พุทธวิโร รองผู้กํากับการสืบสวน สน.ลุมพินี ได้เข้าแจ้งความให้ดําเนินคดีกับจําเลยทั้งสองและพวกรวม 6 คน ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เหตุเกิดบริเวณแยกอโศก เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 12.00 – 15.00 น.
จากนั้น พยานได้รับคําสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ และได้รับมอบรายงานการสืบสวนจาก พ.ต.ท.นฤวัต ซึ่งปรากฏภาพถ่ายของจําเลยที่ 1 กําลังใช้เครื่องขยายเสียง ภาพจําเลยที่ 2 ใช้สารเคมีสีเขียวสาดใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจ ภาพจําเลยที่ 2 ใช้เท้าถีบไปที่โล่ของเจ้าหน้าที่ตํารวจ และภาพความเสียหายของโล่ของ คฝ. พร้อมทั้งบันทึกการถอดเทปข้อความปราศรัยของผู้ร่วมชุมนุม
จากการสอบสวน พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า การกระทําของจําเลยทั้งสองกับพวกเป็นความผิดฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และจําเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
พยานมีหนังสือขอตรวจสอบการอนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียงของจําเลยทั้งสองกับพวก ไปยังสํานักงานเขตคลองเตย ก่อนได้รับแจ้งว่าจําเลยทั้งสองไม่เคยได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียง
นอกจากนี้ จําเลยที่ 2 ยังมีความผิดฐาน “เทสิ่งเปรอะเปื้อนหรือสิ่งปฏิกูลลงบนพื้นถนน” ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 โดยจากการสอบสวนไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 มีการใช้เครื่องขยายเสียงระหว่างการชุมนุม
ต่อมา พยานได้แจ้งข้อกล่าวหา จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พยานยังได้ตรวจสอบประวัติการกระทําความผิดของจําเลยที่ 1 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับการชุมนุม หลังการรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองตามข้อกล่าวหาที่ได้แจ้ง
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พ.ต.ท.พงศักดิ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ย. 2565 ซึ่งมีการชุมนุมหน้าสถานทูตอเมริกา แต่มีเจ้าหน้าที่ตํารวจ สน.ลุมพินี ไปทําการตรวจสอบ ซึ่งพยานจําไม่ได้ว่ามีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและถอดข้อความคำพูดของผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวไว้ด้วยหรือไม่
บุคคลที่ให้สัมภาษณ์ว่าจะจัดการชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. 2565 คือฉัตรรพี อาจสมบูรณ์ โดยไม่ปรากฏภาพของจําเลยที่ 2 ยืนอยู่ด้วย
จากการสอบสวนไม่ปรากฏว่า จําเลยทั้งสองกับผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ‘ทะลุวัง’ มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร และไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองใช้สื่อโซเชียลชักชวนให้คนมาเข้าร่วมการชุมนุม พยานไม่ทราบด้วยว่า จําเลยทั้งสองกับฉัตรรพีมีการตกลงกันว่าจะจัดให้มีการชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. 2565 หรือไม่
จากการสอบสวนไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดเตรียมเครื่องขยายเสียง รวมทั้งป้ายผ้าและสีมาใช้ในการชุมนุม และตามกฎหมายผู้มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมคือผู้ที่จัดให้มีการชุมนุม
พยานไม่ทราบว่า ศาลอาญาเคยมีคําพิพากษาว่า การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม ทั้งไม่ทราบว่า มีกลุ่มที่ใช้ชื่อในทางโซเชียลมีเดียว่า “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” นัดหมายชุมนุมในวันเกิดเหตุด้วย
พยานไม่ได้เก็บตัวอย่างสีที่จําเลยที่ 2 ใช้สาดใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจและลงถนนไปตรวจสอบ จึงไม่ทราบว่าสีดังกล่าวเป็นสีน้ําหรือสีน้ํามัน พยานไม่ทราบว่า จําเลยที่ 2 ได้มีการปราศรัยกับผู้ร่วมชุมนุมหรือไม่
ไม่มีรายงานการตรวจพบอาวุธจากผู้ร่วมชุมนุม
ธนพรระบุ ได้รับการประสานให้ไปเป็นพิธีกร ยืนยันไม่ได้เป็นผู้จัด และไม่รู้จักคนที่นำเครื่องขยายเสียงมาในที่ชุมนุม
ธนพร วิจันทร์ จำเลยที่ 1 เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า ตนเป็นแกนนําสหภาพแรงงาน เคยร่วมการชุมนุมเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 พยานไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตอเมริกาและทราบจากการประกาศของหญิงคนหนึ่งว่า จะมีการประชุมในวันที่ 17 พ.ย. 2565 ต่อมา วันที่ 16 พ.ย. 2565 ได้มีผู้ประสานงานกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยหรือ DRG ซึ่งพยานเคยเจอตามงานชุมนุมประชาธิปไตย แต่ไม่ได้สนิทกัน ได้เชิญพยานไปเป็นพิธีกรวันที่ 17 พ.ย. 2565 โดยแจ้งกําหนดการให้ทราบเบื้องต้น
วันเกิดเหตุพยานเดินทางมายังจุดชุมนุมโดยลําพัง ถึงจุดชุมนุมเวลาประมาณ 12.00 น. ขณะนั้นมีผู้เข้าร่วมชุมนุมบางส่วนมาถึงแล้ว และมีเจ้าหน้าที่ตํารวจประมาณ 100 นาย มีการตั้งแผงเหล็ก จากนั้นประมาณ 20 นาที ผู้ประสานงานกลุ่ม DRG ได้นําสคริปท์การดําเนินกิจกรรมมาให้พยานอ่าน และแจ้งว่า จะมีทีมงานเจรจากับเจ้าหน้าที่ตํารวจโดยเฉพาะ นอกจากนี้ เขายังนําชุดไดโนเสาร์มาให้พยานใส่ แต่ในวันดังกล่าวอากาศร้อน พยานจึงไม่ได้ใส่
สคริปท์ที่พยานได้มามีเนื้อหาว่า จะเรียกผู้ชุมนุมในช่วงเวลาใด และอ่านคําแถลงการณ์เวลาใด เมื่อพยานอ่านสคริปท์แล้ว จึงได้แจ้งให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมมารวมกลุ่มกัน พยานเห็นว่ามีชาย 2 คน นําเครื่องขยายเสียงมาที่จุดชุมนุม โดยพยานไม่รู้จักชายทั้งสองมาก่อน
ขณะที่พยานใช้เครื่องขยายเสียง พยานยืนอยู่บนถนนซึ่งตํารวจได้จัดเตรียมพื้นที่ถนนให้ 1 ช่องทาง การจราจรในบริเวณดังกล่าวเป็นไปอย่างสะดวก
พยานได้รับแจ้งข้อมูลจากผู้ประสานงานฯ ว่า ตัวแทนผู้ชุมนุมได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตํารวจขอเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือต่อผู้เข้าร่วมประชุมเอเปคที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ตํารวจไม่อนุญาต ผู้จัดการชุมนุมจึงได้จัดให้มีคนอ่านหนังสือดังกล่าวต่อสื่อมวลชนแทน ภายหลังการอ่านหนังสือแล้ว ผู้ประสานงานฯ ได้บอกพยานให้แจ้งยุติการชุมนุม หลังจากนั้นพยานจึงเดินทางกลับจังหวัดสระบุรี