วันที่ 12 มิ.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “พิม” แทนฤทัย แท่นรัตน์ กับพวกรวม 6 คน ถูกฟ้องในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ จากกรณีจัดกิจกรรมเดินขบวนเรียกร้องดวงตาให้ “พายุ ดาวดิน” หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC บริเวณลานวงเวียนโอเดี้ยน ถนนเยาวราช เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565
ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดข้อหา ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า มีการเผยแพร่ข่าวสาร เชิญชวน ให้ประชาชนทั่วไป หรือบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ ตามความหมายของการชุมนุมสาธารณะ มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า การชุมนุมสาธารณะ เป็นการเรียกร้องของกลุ่มบุคคลในพื้นที่สาธารณะ หรือแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ ในส่วนข้อหานี้ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด
แต่เห็นว่าเฉพาะ แทนฤทัย แท่นรัตน์ (จำเลยที่ 1), อานุภาพ คงปาน (จำเลยที่ 3), สิทธิชัย ปราศรัย (จำเลยที่ 5) และ พิชัย เลิศจินตวงษ์ (จำเลยที่ 6) มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 108 ให้ปรับจำเลยคนละ 500 บาท
ส่วนภราดร เกตุเผือก (จำเลยที่ 2) และ วรัณยา แซ่ง้อ (จำเลยที่ 4) พิพากษายกฟ้อง เหตุไม่ปรากฏว่าทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เป็นเพียงสื่อมวลชนอิสระที่ทำการบันทึกภาพเหตุการณ์
.
ทบทวนคดี
จากเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 เป็นเหตุให้มีทั้งผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนหลายรายได้รับความเสียหายทั้งด้านร่างกาย และทรัพย์สิน “พายุ ดาวดิน” เป็นหนึ่งในผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จนทำให้สูญเสียดวงตาข้างขวา จนนำมาสู่การเดินขบวน-ชูป้าย “เรียกร้องดวงตาที่หายไปและตามหาความรับผิดชอบจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐกระทืบประชาชน” บริเวณลานวงเวียนโอเดี้ยน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565
เวลาล่วงไปกว่า 8 เดือนหลังจากเหตุในคดี ตำรวจได้มีการออกหมายเรียกลงวันที่ 17 ก.ค. 2566 กับประชาชนทั้งหมด 8 ราย ให้เข้ามารับทราบ 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ (1) ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ (2) เคลื่อนย้ายการชุมนุมหลัง 18.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ (3) ร่วมกันเดินเป็นขบวนแห่ในลักษณะกีดขวางทางจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ โดยมี พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ สุขวัต และ ร.ต.อ.ตนิษฐ์ กองวิบูลศิริ เป็นผู้กล่าวหา
ต่อมาอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด 6 ราย และมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 2 ราย ผู้เป็นสื่อเข้าไปทำการถ่ายภาพในวันเกิดเหตุ โดยสรุปจำเลยทั้งหกในคดี ได้แก่ “พิม” แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, “ลุงดร” ภราดร เกตุเผือก สื่อพลเมืองอิสระ, อานุภาพ คงปาน, “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ สื่อพลเมืองอิสระ, “ออย” สิทธิชัย ปราศรัย, พิชัย เลิศจินตวงษ์ เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 6 ตามลำดับ โดยทั้งหมดต่อสู้คดี (อ่านบันทึกการสืบพยาน)
.
ยกฟ้อง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ลงโทษปรับจำเลย 4 คน คนละ 500 บาท ผิด พ.ร.บ.จราจรฯ แต่สื่ออิสระ 2 คน ยกทุกข้อหา
วันที่ 12 มิ.ย. 2567 ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 702 เวลา 09.00 น. แทนฤทัยและจำเลยในคดีรวม 6 คน พร้อมทนายความเดินทางมาฟังคำพิพากษา
ต่อมาเวลาประมาณ 9.35 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี และเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความสำคัญระบุว่า
ในคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา คดีนี้จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
ตามความหมายของการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า การชุมนุมสาธารณะจะต้องแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ แต่จากพยานหลักฐานของโจทก์ ไม่ปรากฏว่ามีการเผยแพร่ข่าวสารเชิญชวน นัดหมาย ให้ประชาชนทั่วไป หรือบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมด้วยได้ พิเคราะห์ถึงเหตุพยานหลักฐานไม่พอฟังว่า เป็นการชุมนุมสาธารณะในนิยามดังกล่าว จึงวินิจฉัยให้ไม่มีความผิดในข้อหานี้
ต่อมาปรากฏว่า จำเลยที่ 1, 3, 5 และ 6 เข้าร่วมการชุมนุมเดินขบวนไปตามช่องทางจราจรที่ 1 และ 2 ทำให้มีช่องทางการเดินรถน้อยลง เป็นการกีดขวางทางจราจร แม้จำเลยเบิกความต่อสู้ว่าการเดินขบวนอยู่บนทางสัญจรของประชาชนทั่วไป แต่จากพยานหลักฐานของโจทก์นำสืบได้ว่า ไม่ปรากฏว่าหัวหน้าจราจรได้อนุญาตให้มีการเดินขบวนแห่ดังกล่าว ทั้งการเดินขบวนของจำเลยที่ 1, 3, 5 และ 6 มีการกระจายตัว ชูป้ายและส่งเสียงตะโกนให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการชุมนุม จึงมีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ม.108
ส่วนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 เบิกความต่อสู้ว่าจำเลยเป็นสื่อมวลชนอิสระ หรือ Youtuber เท่านั้น ไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมการชุมนุมตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งจากการนำสืบของพยานโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีการเข้าร่วมการชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แม้จำเลยที่ 4 จะมีการเดินไปด้านข้างของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เป็นไปเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ ไม่ได้เป็นการเข้าร่วมเดินขบวนด้วยกัน อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าเนื้อหาสื่อมีลักษณะเป็นไปในทางสนับสนุนการชุมนุมแต่อย่างใด
จึงพิพากษาให้ จำเลยที่ 1, 3, 5 และ 6 มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 ลงโทษปรับคนละ 500 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ยกฟ้อง
ส่วนที่โจทก์มีคำร้องขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นของจำเลยที่ 1, 4, 5 และ 6 เนื่องจากคดีนี้และคดีดังกล่าว ศาลมิได้พิพากษาลงโทษจำคุก คำขอในส่วนนี้จึงให้ยก
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้แก่ บุณยฤทธิ อังศุกุลภัทร
หลังการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น แทนฤทัย, อานุภาพ, สิทธิชัย และพิชัย ต่างไปดำเนินการจ่ายค่าปรับต่อศาลทันที