บันทึกสืบพยานคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 6 ประชาชน เดินเรียกร้องความเป็นธรรม ‘ดวงตา’ ให้ ‘พายุ ดาวดิน’ จากเหตุสลายชุมนุมช่วงเอเปค

ในวันที่ 12 มิ.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “พิม” แทนฤทัย แท่นรัตน์ กับพวกรวม 6 คน กรณีถูกฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ จากการเดินชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC จนเป็นเหตุให้ พายุ ดาวดิน สูญเสียดวงตาข้างขวา ที่บริเวณลานวงเวียนโอเดี้ยน ถนนเยาวราช เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565

การจัดกิจกรรมในคดีนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 18 พ.ย. 2565 กลุ่มนักกิจกรรมมีการนัดหมายชุมนุม #ราษฏรหยุดAPEC2022 เดินขบวนจากลานคนเมืองไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อไปยื่นหนังสือถึงผู้นำที่เข้าร่วมในการประชุม APEC ถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แต่เมื่อเคลื่อนขบวนมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พบเจ้าหน้าที่วางแนวปิดกั้นบริเวณถนนดินสอ โดยมีเจ้าหน้าที่ คฝ. พร้อมด้วยโล่ และใช้กระสุนยางยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม

ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม มีผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนหลายรายได้รับบาดเจ็บทางด้านร่างกายและทรัพย์สิน โดยมี “พายุ ดาวดิน” เป็นหนึ่งในผู้เสียหายได้รับความรุนแรงทางด้านร่างกายจนเป็นเหตุ ให้สูญเสียดวงตาข้างขวา ทำให้กลุ่มนักกิจกรรมมีการแสดงออกเรียกร้องความเป็นธรรมต่อกรณีดังกล่าว

คดีนี้ ตำรวจมีการออกหมายเรียกลงวันที่ 17 ก.ค. 2566 ต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 8 ราย หลังจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวผ่านไปแล้วกว่า 8 เดือน โดยมี พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ สุขวัต อดีตรองสารวัตรป้องกันและปราบปราม และ ร.ต.อ.ตนิษฐ์ กองวิบูลศิริ อดีตรองสารวัตรจราจร สน.พลับพลาไชย 2 เป็นผู้กล่าวหา 

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 2 ราย ซึ่งเป็นช่างภาพที่ไปถ่ายภาพในที่ชุมนุม และสั่งฟ้องจำเลยในคดีทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ “พิม” แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, “ลุงดร” ภราดร เกตุเผือก สื่อพลเมืองอิสระ, อานุภาพ คงปาน, “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ สื่ออิสระทางยูทูป, “ออย” สิทธิชัย ปราศรัย, พิชัย เลิศจินตวงษ์ เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 6 ตามลำดับ ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

  1. ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 16 (1)
  2. เคลื่อนย้ายการชุมนุม หลังเวลา 18.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 16 (8) 
  3. ร่วมกันเดินเป็นขบวนแห่ในลักษณะกีดขวางทางจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 

หลังศาลรับฟ้อง ได้มีคำสั่งปล่อยตัวจำเลยทั้งหกโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีต่อมา

.

คดีนี้ ศาลมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยในระหว่างวันที่ 22 – 24 เม.ย. 2567 โดยมี บุณยฤทธิ อังศุกุลภัทร เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

ในการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์นำพยานบุคคลเข้าเบิกความทั้งสิ้น 7 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ สุขวัต ผู้กล่าวหาที่ 1, ร.ต.อ.ตนิษฐ์ กองวิบูลศิริ ผู้กล่าวหาที่ 2, ร.ต.อ.กันตพัฒน์ ประเศรษฐสุต รองสารวัตรสืบสวน, พ.ต.ท.อาณัติ อรรคสาร รองผู้กำกับการจราจร, ร.ต.อ.ชัยณรงค์ มาเมือง พนักงานสอบสวน, วิไลรัตน์ แซ่เตีย แม่ค้าในที่เกิดเหตุ และสมบัติ รุ้งแพรวพรรณ ประชาชนทั่วไปในพื้นที่

ส่วนฝ่ายจำเลยอ้างตนเป็นพยานทั้งหมด 2 ราย ได้แก่ แทนฤทัย แท่นรัตน์ และ ภราดร เกตุเผือก จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับ

.

ในการสืบพยาน จำเลยที่ 1 มีข้อต่อสู้ว่า ลักษณะในการจัดกิจกรรมของจำเลย เป็นการเดินขบวนไปเรื่อย ๆ ในช่องทางที่มีการจัดพื้นที่ไว้ให้ และไม่ได้มีการหยุดทำกิจกรรมใดระหว่างทาง โดยปกติถนนเยาวราชเป็นถนนที่มีรถยนต์ติดขัดเป็นประจำอยู่แล้ว บางช่วงจำเลยกับพวกมีการเดินล้ำเข้าไปในช่องทางจราจรบ้าง เพราะมีร้านค้าของผู้ค้าในช่องที่มีการจัดไว้ให้ และมีประชาชนเดินสวนไปมา ซึ่งโดยปกติแม้ไม่ใช่วันดังกล่าว ถนนเยาวราชก็จะมีรถยนต์ติดขัดเป็นประจำอยู่แล้ว

ในการจัดกิจกรรมนั้น จำเลยไม่ได้จัดการชุมนุม เป็นเพียงการจัดกิจกรรมเท่านั้น ด้วยจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีการเปิด หรือเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการทำกิจกรรม จึงไม่เป็นการจัดการชุมนุมสาธารณะที่ต้องมีการแจ้งขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตามที่ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนด

ส่วนจำเลยที่ 2 มีข้อต่อสู้ว่า จำเลยประกอบอาชีพ YouTuber เป็นอาชีพหลักและมีรายได้ทางเดียว การที่จำเลยอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อทำการไลฟ์สดรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น และไม่ได้มีการเข้าร่วมในการเขียนข้อความบนป้ายผ้าแต่อย่างใด

.

พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ สุขวัต ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานรับราชการ เป็นรองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.พลับพลาไชย 2  มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบให้แก่ประชาชนในท้องที่ที่รับผิดชอบ

พยานทราบว่า มีการชุมนุมเดินขบวนกันของกลุ่มผู้ชุมนุมตามที่มีการนัดหมายกันในเฟซบุ๊กชื่อ “แทนใจ แท่นรัตน์” โดยทราบว่าจะมีการชุมนุมกันที่บริเวณวงเวียนโอเดี้ยน ในเวลา 18.00 น. ซึ่งพยานได้รับแจ้งจากผู้กำกับ สน.พลับพลาไชย 2 ที่สั่งการให้พยานนำกำลังเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายจราจร ฝ่ายป้องกันและปราบปราม และฝ่ายสืบสวน ของสน.พลับพลาไชย 2 ประมาณ 20 นาย และกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่ได้รับการสนับสนุนมาประมาณ 100 นาย เข้าร่วมดูแลสถานการณ์ 

เวลาประมาณ 17.45 น. พยานเห็นกลุ่มผู้ชุมนุม อยู่บริเวณโดยรอบวงเวียนโอเดี้ยน โดยพยานสันนิษฐานจากป้ายผ้า ป้ายกระดาษ แต่จะมีข้อความอย่างไร พยานไม่ได้สังเกต ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ได้มีการลงมาเดินบนพื้นผิวถนน มีด้วยกันประมาณ 10 กว่าคน ทยอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

พยานได้รับคำสั่งจากผู้กำกับฯ ให้เข้าทำการเจรจาและแจ้งกับผู้ชุมนุมว่าการชุมนุมและการเดินขบวนไปตามถนนสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ก่อน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะฯ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังยืนยันที่จะชุมนุม และเดินขบวนต่อไปตามที่ได้มีการนัดหมาย พยานจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ คฝ. เข้าประจำตำแหน่งตามที่ได้วางแผนไว้ และให้เจ้าพนักงานตำรวจคอยติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมไปเพื่อระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น โดยการวางกำลังประจำจุดต่าง ๆ ตามแนวถนนเยาวราชทั้งเส้น

เวลาประมาณ 19.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนไปตามถนนเยาวราช มุ่งหน้าแยกราชวงศ์ ในช่องทางจราจร พร้อมถือป้ายผ้าขนาดยาวน่าจะกินพื้นที่ 2 ช่องทางเดินรถ มีข้อความ “ตำรวจยิงประชาชน” และตะโกนส่งเสียงทำนองว่า  “ตำรวจยิงประชาชน” “ตำรวจทำร้ายประชาชน” 

พยานเดินติดตามไปด้านข้างของกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชน เมื่อถึงแยกแปลงนาม พยานก็ไม่ได้เดินติดตามต่อไป เพราะเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สน.จักรวรรดิ พยานจึงไม่ทราบว่า กลุ่มผุ้ชุมนุมเดินไปถึงจุดใด และเดินกลับมาในช่องทางที่ประชาชนทั่วไปเดินสัญจรฝั่งซ้ายของถนน ไม่มีการถือป้ายผ้า แต่ถือป้ายเล็กอื่น ๆ และร้องตะโกนเป็นระยะ โดยระหว่างทางนั้น พยานไม่ได้มีการสั่งให้หยุด หรือเลิกการเดินขบวนอีก

การเดินขบวนของผู้ชุมนุมทำให้รถยนต์ที่สัญจรไปมาติดขัดมากขึ้น เพราะทำให้ช่องทางจราจรจาก 3 ช่องทางเหลือ 2 ช่องทาง ส่วนประชาชนไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก เพราะไม่ได้เดินในช่องทางจราจร

เวลาประมาณ 20.00 น. เศษ ผู้กำกับฯ แจ้งว่า ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม และมีคำสั่งให้พยานเข้าแจ้งความกับกลุ่มผู้ชุมนุม ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และเป็นการกีดขวางทางจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ภายหลังสืบทราบตัวบุคคล พนักงานสืบสวนจึงแจ้งให้พยานทราบ จึงทราบว่าคนที่พยานเจรจาด้วยตอนแรก คือ แทนฤทัย แท่นรัตน์

พยานไม่เคยรู้จัก หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งหก

ตอบทนายจำเลยที่ 1 – 3 ถามค้าน

หากแยกระหว่างกลุ่มผุ้ชุมนุมกับผู้มาทำการไลฟ์สดนั้น พยานไม่แน่ใจว่ามีกี่คนที่เป็นผู้ชุมนุม และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สื่อข่าวบ้าง

พยานได้แจ้งว่า การชุมนุมเป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่พยานไม่ได้แจ้งว่าหากกระทำต่อไป เจ้าหน้าที่จะทำการหยุดหรือแจ้งข้อกล่าวหาต่อกลุ่มผู้ชุมนุม

พยานรับว่า มีรถยนต์จอดริมขอบทางบางส่วน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินได้

สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเดินติดตามกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับกลุ่มที่เห็นต่าง และป้องกันอันตรายจากรถยนต์ที่สัญจรไปมา โดยมีเจ้าหน้าทั้งในและนอกเครื่องแบบติดตามไปประมาณ 10 นาย และประจำจุดต่าง ๆ 100 นาย

พยานเห็นด้วยว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเดินในลักษณะที่ไม่กีดขวางทางจราจร และในวันเกิดเหตุ ไม่ได้มีการปิดถนนเยาวราช แต่ในพื้นที่ของ สน.จักรวรรดิ พยานไม่ได้เดินติดตามไปจึงไม่ทราบ

ในความเห็นของพยาน หากเปรียบเทียบระหว่างรถยนต์เสียกับลักษณะการเดินของกลุ่มผู้ทำกิจกรรมนั้น  เหตุการณ์รถยนต์จอดเสียใช้เวลาประสานงานและเคลื่อนย้ายน้อยกว่าการทำกิจกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เหตุการณ์ที่พยานเห็นว่าทำให้รถยนต์ติดขัดมากที่สุด คือ ช่วงเทศกาลที่มีการมาจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เช่น เทศกาลตรุษจีน

ตอบทนายจำเลยทั้งหกถามค้าน

พยานเคยเข้ารับการฝึกการจัดการควบคุมฝูงชน หรือ คฝ.มาก่อน และทราบว่าผู้ที่มีอำนาจสั่งให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ คือ ผู้กำกับสถานีตำรวจในท้องที่ และหากมอบหมายให้ผู้อื่นทำการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยในวันดังกล่าว พยานได้รับมอบหมายทางวาจาเท่านั้นจากผู้กำกับฯ และตามพยานเอกสาร ไม่มีข้อความระบุว่า ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 สั่งให้เลิกการชุมนุม

ตลอดเส้นทางมีผู้ค้าตะโกนด่าทอบางส่วน แต่ไม่ได้มีการมาแจ้งเหตุกับพยานให้ดำเนินคดี และไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท หรือได้รับแจ้งว่ามีความเสียหายเกิดแก่ทรัพย์สินในระหว่างเดินขบวนแต่อย่างใด

ตอบอัยการถามติง 

แม้จะมีรถยนต์จอดอยู่ริมทางเท้าบางส่วน แต่ประชาชนทั่วไปจะเดินบนทางเท้า ไม่ได้ลงมาเดินบนพื้นผิวจราจรดังเช่นผู้ชุมนุม ส่วนในเขตพื้นที่ของ สน.จักรวรรดิ พยานไม่ทราบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะถือป้ายผ้าในลักษณะเดินเรียงแถวตามแนวของถนนตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนขบวนหรือไม่

การเดินขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้เสียช่องทางจราจรเพิ่ม 1 ช่องทางทำให้รถยนต์ติดขัดมากขึ้น

พยานมาทราบในภายหลังว่า ผู้กำกับฯ เข้าทำการเจรจากับผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน โดยทราบจากคลิปวิดีโอของเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน

.

พ.ต.ท.อาณัติ อรรคสาร รองผู้กำกับฯฝ่ายจราจร และ ร.ต.อ.ตนิษฐ์ กองวิบูลศิริ รองสารวัตรจราจรและผู้กล่าวหา สน.พลับพลาไชย 2 

ร.ต.อ.ตนิษฐ์ เบิกความว่า เวลาประมาณ 14.00 น. พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่ามีผู้มาชุมนุม ให้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดูแลและสังเกตการณ์ โดยในเวลาประมาณ 17.00 น. พยานนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปราม ฝ่ายสืบสวน และฝ่ายอื่น ๆ ร่วมด้วยกับรองผู้กำกับการจราจร พ.ต.ท.อาณัติ อรรคสาร สน.พลับพลาไชย 2 พร้อมเจ้าหน้าที่จราจรรวมแล้วประมาณ 8 นาย เข้าควบคุมสถานการณ์ด้วย ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีคนมายังบริเวณดังกล่าว จึงได้มีการกระจายกำลังในพื้นที่ประจำจุดต่างๆ ซึ่งพยานได้ประจำจุดแยกเฉลิมบุรี

เวลาประมาณ 18.15 น. พยานเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมมายังบริเวณวงเวียนโอเดี้ยน จำนวนเยอะมาก ประมาณ 20 คน และมีผู้บังคับบัญชาเข้าเจรจา แต่ผู้ชุมนุมไม่ยินยอม และมีการโต้เถียงกัน

กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน หรืออาจมากถึง 50 คน เริ่มตั้งขบวนโดยมีป้ายผ้าค่อนข้างยาวสีขาวประมาณ 2-3 เมตร 1 ป้าย มีป้ายอื่น ๆ อีกที่พยานจำไม่ได้ ขณะเดินขบวนมีการส่งเสียงร้องตะโกน 

พยานเบิกความต่อว่า ถนนเยาวราชมีรถยนต์ติดขัดเป็นประจำ เพราะมีประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก จึงมีการปิดกั้นช่องทางจราจรบางส่วน การที่กลุ่มผู้ชุมนุมเดินเข้าไปในช่องทางจราจรทำให้รถยนต์สัญจรได้ลำบากมากขึ้น ส่วนประชาชนทั่วไปและผู้ค้าก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะจับจ่ายซื้อของไม่สะดวก และมีการตะโกนในทำนองที่ว่า “จะมากันทำไม” 

หลังจากเหตุการณ์ พยานเข้าแจ้งความร้องทุกข์โดยไม่ได้ระบุตัวบุคคล ทราบภายหลังจากการสืบสวนจึงแจ้งความกับบุคคลที่ระบุตัวได้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 เวลา 02.00 น.

ส่วน พ.ต.ท.อาณัติ เบิกความว่า ลักษณะของถนนเยาวราชนั้น ตามนโยบายของกรุงเทพมหานครที่มีการอนุญาตให้ผู้ค้าสามารถทำการค้าขายบนทางเท้าสาธารณะได้ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินได้โดยสะดวก จึงเป็นสาเหตุให้มีการปิดกั้นช่องทางจราจรริมถนนฝั่งซ้ายสุดและขวาสุด เพื่อป้องกันอันตรายจากรถยนต์ที่ผ่านไปมา และเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยบริเวณดังกล่าว

ร.ต.อ.ตนิษฐ์ ตอบทนายจำเลยที่ 1 – 3 ถามค้าน

พยานรับกับทนายจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุกลุ่มผู้ทำกิจกรรมไม่ได้มีการหยุดทำกิจกรรม หรือปักหลักที่ใด เป็นลักษณะการเดินไปเรื่อย ๆ ซึ่งพยานอยู่ประจำบริเวณถนนเยาวราชตัดถนนแปลงนามไม่ได้มีการเดินติดตามกลุ่มผู้ชุมนุม

พยานตอบทนายจำเลยถึงภาพถ่ายที่มีรถยนต์จอดริมทางเท้าจริง แต่บริเวณดังกล่าวยังไม่มีการปิดกั้นให้ประชาชนลงเดินบนพื้นผิวจราจร และแม้บางครั้งที่มีประชาชนบางส่วนเดินเลยจากพื้นที่ที่กั้นไว้ให้เดินสัญจรบนพื้นผิวจราจรบ้าง แต่จะมีเจ้าหน้าที่แจ้งให้เดินในช่องทางที่จัดไว้ให้

พยานรับกับทนายจำเลยว่า มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ประมาณ 100 นาย ประจำจุดต่าง ๆ ในถนนเยาวราช โดยมีบางส่วนเดินติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมไป ซึ่งพยานเชื่อว่า ผู้บังคับบัญชาของพยานเดินด้วยกันกับกลุ่มผู้ชุมนุม

ในการเดินขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาในการเดินอย่างน้อยประมาณ 30 นาที ในลักษณะเดินไปเรื่อย ๆ โดยเป็นการถือป้ายผ้าขนาดยาวไปตามถนน ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง แต่จะมีโทรโข่งหรือไม่ พยานไม่แน่ใจ

ส่วนจะเป็นการเดินขบวนเพื่อเชิญชวนบุคคลอื่นให้มาเข้าร่วมหรือไม่นั้น พยานเห็นว่า น่าจะเป็นการเดินขบวนในลักษณะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์  ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่มีเพื่อนของกลุ่มผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนหน้านี้

ร.ต.อ.ตนิษฐ์ ตอบทนายความจำเลยทั้งหกถามค้าน

พยานทราบว่าจะมีการชุมนุมในเวลา 13.00 น. ของวันเกิดเหตุ โดยผู้บังคับบัญชาเป็นผู้แจ้งให้ทราบ 

พยานไม่ทราบถึงสาเหตุที่ผู้บังคับบัญชามีการขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมากถึง 100 นาย โดยนอกจากเป็นเจ้าหน้าที่จาก สน.พลับพลาไชย 2 แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ สน.จักรวรรดิ ร่วมด้วย เพราะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน

พยานเคยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนเข้าร่วมในการชุมนุมประมาณทั้งสิ้น 20 คน แต่ที่พยานเห็นในวันดังกล่าวน่าจะมีเกือบ 50 คนตามที่เบิกความนั้น หากแยกระหว่างผู้ทำกิจกรรมกับ YouTuber แล้ว จะมีผู้ทำกิจกรรมและ YouTuber ประมาณอย่างละ 10 คน แต่จะมีสื่อมวลชนหรือไม่ พยานจำไม่ได้

พยานได้ยินเสียงตะโกนด่าว่าผู้ชุมนุม เมื่อหันไปดูจึงทราบว่ามาจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า แต่ก็ไม่ใช่ว่าพ่อค้าแม่ค้าทุกคนจะตะโกนต่อว่า และไม่มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ายุติการชุมนุม ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทกัน และเชื่อว่าไม่มีความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนหรือพ่อค้าแม่ค้าเกิดขึ้น รวมไปถึงไม่มีประชาชนเข้าแจ้งความร้องทุกข์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พยานรับกับทนายจำเลยว่า ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมเดินไปตามถนน เจ้าหน้าที่จราจรไม่ได้มีการสั่งให้มีการหยุด หรือเลิกการชุมนุม แต่ไม่แน่ใจว่า ผู้กำกับฯ จะมีการสั่งให้เลิกหรือหยุดหรือไม่

พยานรับว่า มีการจัดกิจกรรมร้องเพลงเปิดหมวกบริเวณริมถนนเยาวราชจริง โดยต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตก่อน เพื่อให้มีการกำหนดจุดจัดกิจกรรม

ร.ต.อ.ตนิษฐ์ ตอบอัยการถามติง

ในที่เกิดเหตุ แม้จะเป็นบริเวณที่มีรถยนต์จอดริมทางเท้า แต่ประชาชนทั่วไปจะเดินบนทางเท้าไม่ลงเดินสัญจรบนพื้นผิวถนนบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนประชาชนที่มีการเดินเลยพื้นที่ที่จัดไว้ให้ก็จะเดินชิดขอบแผงเหล็กและกรวยยาง ไม่ได้เดินบนพื้นผิวถนน

ในส่วนของผู้ทำกิจกรรมร้องเพลงเปิดหมวกจะทำกิจกรรมอยู่ในบริเวณที่กำหนด ไม่ได้ล้ำเข้าไปในพื้นผิวจราจรที่รถสัญจรไปมา และที่พยานตอบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาประมาณ 30 นาที เป็นเพียงการประมาณเวลาเป็นอย่างน้อย แต่เวลาน่าจะตามที่เคยให้การไปก่อนแล้ว คือ ประมาณ 1 ชั่วโมง

พ.ต.ท.อาณัติ ตอบทนายจำเลยที่ 1-3 ถามค้าน

ในวันเกิดเหตุ พยานอยู่ในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุตลอดเวลาตั้งแต่ต้นและเห็นเหตุการณ์ตลอด ซึ่งขณะนั้นพยานไม่ได้รับแจ้งว่ามีปัญหาการจราจร แต่การที่กลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนบนช่องทางจราจรเป็นสาเหตุให้รถยนต์มีการติดขัด พยานจึงพยายามให้กลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นไปเดินบนทางเท้า 

ส่วนการจัดการเป็นไปตามแผนการที่วางไว้หรือไม่นั้น ในความเห็นของพยาน การที่ไม่มีใครในกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ พยานถือว่าก็เป็นไปตามแผนการที่วางไว้

พ.ต.ท.อาณัติ ตอบอัยการถามติง

ในระหว่างเกิดเหตุการณ์ พยานได้รับแจ้งหน้างานในพื้นที่ว่า มีประชาชน กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่แสดงความไม่พอใจ ด้วยการตะโกนร้องขับไล่แสดงความไม่พอใจ ต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกไปจากบริเวณพื้นที่โดยไว ซึ่งเป็นเพียงการแจ้งด้วยวาจา ภายหลังพยานก็ไม่ทราบว่ามีการมาแจ้งความรายงานความเดือดร้อนหรือไม่

ในการจัดการจราจร มีการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นผิวถนน ให้สัญญาณมือ และกระบองไฟเพื่อให้รถยนต์สามารถสัญจรผ่านไปได้โดยปลอดภัยด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ การวางแผนการจัดการจราจร กำลังพลจำนวนมากที่เข้าควบคุมสถานการณ์ และประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงสามารถทำให้ผ่านไปได้เรียบร้อย 

.

ร.ต.อ.กันตพัฒน์ ประเศรษฐสุต ขณะเกิดเหตุเป็นรองสารวัตรสืบสวน สน.พลับพลาไชย 2 มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดในท้องที่ 

เมื่อวันที่ 16 – 18 พ.ย. 2565 ขณะนั้นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบข่าวหากมีการชุมนุมทางการเมือง และให้คอยแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ 

วันที่ 23 พ.ย. 2565 ในช่วงเช้า พยานได้รับแจ้งจากสายข่าวว่า จะมีการจัดการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ บริเวณวงเวียนโอเดี้ยน จึงแจ้งรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และมีคำสั่งให้พยานลงพื้นที่สืบสวนหาข่าว พยานจึงได้เรียกเจ้าหน้าที่สืบสวนประมาณ 7 – 8 นาย วางแผนลงพื้นที่ประจำจุดต่าง ๆ ถ่ายภาพและวิดีโอเป็นพยานหลักฐาน

พยานเห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นเข้าเจรจาให้มีการยุติการชุมนุม โดยมี พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ เป็นตัวแทนเข้าเจรจา ซึ่งขณะนั้นพยานอยู่ในบริเวณไม่เกิน 10 เมตร เนื้อหาข้อความในทำนองว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นใคร กลุ่มใด มาชุมนุมด้วยสาเหตุใด มีการขออนุญาตในการชุมนุมหรือไม่ 

พยานได้ยินตัวแทนผู้ชุมนุมตอบกลับว่า ไม่ได้มาชุมนุม แต่เป็นการมาเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรม ประท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมมีการตอบกลับเพิ่มเติมว่า ในการรวมตัวกันไม่ได้มีการขออนุญาตมาก่อน โดยพยานมาทราบภายหลังว่า ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมคนดังกล่าว เป็นบุคคลใด แต่จำชื่อไม่ได้ จำได้ว่านามสกุล แท่นรัตน์

ภายหลังจากที่มีการเจรจา กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุม และดำเนินกิจกรรมต่อไป จึงได้มีผู้กำกับฯ สน.พลับพลาไชย 2 พ.ต.อ.พนม เชื้อทอง แจ้งให้ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม และเริ่มต้นการเดินขบวน

ลักษณะของขบวนเป็นการเดินเรียงแถวหน้ากระดาน ถือป้ายไวนิล มีข้อความทำนองว่า “ตำรวจ คฝ. ยิงประชาชน” มีการถือป้ายยาวขนาด 5 – 6 ป้าย ไปตามถนนเยาวราชจากวงเวียนโอเดี้ยนมุ่งหน้าไปทางแยกราชวงศ์ ซึ่งป้ายไวนิลที่ผู้ชุมนุมถือไปในระหว่างการเดินขบวนมีความยาวประมาณ 5 – 6 เมตร และมีป้ายข้อความขนาดเล็กอื่น ๆ ด้วย

หลังจากเหตุการณ์ พยานได้จัดทำรายงานการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเป็นการระบุตัวบุคคลผู้เข้าร่วม 

ส่วนภาพการจัดการชุมนุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.พลับพลาไชย 2 เป็นผู้บันทึกภาพทั้งหมด พร้อมทั้งจัดทำคำอธิบาย ส่วนการระบุตัวบุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุม จะมีเจ้าหน้าที่กองบังคับการสืบสวนนครบาล 6 ซึ่งลงพื้นที่ด้วย เป็นผู้ระบุตัวผู้เข้าร่วม เพราะมีประวัติข้อมูลการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว จึงทำการสืบสวนเปรียบเทียบ และยืนยันตัวบุคคล

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึง 3 ถามค้าน

พยานตอบทนายจำเลยว่า ได้ยินผู้กำกับฯ พูดกับผู้ชุมนุมว่า ตามที่ผู้ชุมนุมจะมาชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมสาธารณะ และไม่ได้มีการขออนุญาตก่อน พื้นที่เยาวราชไม่น่าข้องเกี่ยวกับการชุมนุม และจะกระทบกับผู้ใช้เส้นทางและนักท่องเที่ยวที่มาจับจ่ายใช้สอย ขอให้ยุติการชุมนุมไม่ให้เดินขบวน ซึ่งผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟังและออกเดินขบวนต่อ ผู้ที่พูดข้อความดังกล่าว คือ ผู้กำกับฯ ไม่ใช่ พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ

พยานเดินติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมในลักษณะเดินบนทางเท้า กลุ่มผู้ชุมนุมถือป้ายขนาดเล็ก และป้ายยาวตามที่ได้มีการเบิกความไปก่อนหน้าเดินไปเรื่อย ๆ ไม่มีหยุดทำกิจกรรมที่ใด ซึ่งพยานรับว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง หรือโทรโข่งในการพูดหรือร้องตะโกนส่งเสียง เป็นการใช้เสียงตามปกติ โดยใช้ระยะเวลาเดินขบวนประมาณ 30 นาที

ตอบทนายจำเลยทั้ง 6 ถามค้าน

พยานตอบทนายว่า ในวันเกิดเหตุมีการเจรจาระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุม 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็น พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ และครั้งที่ 2 คือผู้กำกับฯ ในการเจรจาทั้งสองครั้ง ฝ่ายสืบสวนได้มีการถ่ายคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่ได้มีการนำส่งพนักงานสอบสวน และพยานไม่เคยให้การในเรื่องการเจรจาในบันทึกคำให้การ

พยานไม่มีหลักฐานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมรวมถึงจำเลยทั้งหกเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มไหนและรับว่าในการเดินขบวน ไม่มีแกนนำในการจัดการการชุมนุม และไม่ได้มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ร่วมชุมนุมแต่อย่างใด

ต่อมาทนายจำเลยได้ถามพยานว่า ทราบหรือไม่ว่าใครเป็นสื่อที่มีการไปทำข่าวในพื้นที่ชุมนุม  พยานตอบว่า ไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นใคร เพราะพยานไม่ค่อยได้ติดตามสื่อที่ไปทำการติดตามการชุมนุม

ระหว่างนั้น ศาลได้มีการทักท้วงทนายจำเลยว่า ไม่ให้มีการซักค้านในประเด็นที่นอกเหนือจากประเด็นลูกความของตน โดยศาลมองว่าประเด็นที่ทนายจำเลยกำลังซักค้านนั้น เป็นประเด็นของจำเลยที่ 2 และให้ทนายจำเลยซักค้านประเด็นที่นอกเหนือจากลูกความของตนเป็นคำถามสุดท้าย

พยานรับว่า พยานไม่เคยตรวจสอบว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของช่องยูทูป

ตอบอัยการโจทก์ถามติง

พยานไม่ทราบว่า บุคคลใดเป็นแกนนำ ส่วนบุคคลที่เจรจากับ พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ และ ผู้กำกับฯ นั้น เป็นเพียงตัวแทนในการพูดคุยเท่านั้น ซึ่งตอนนั้นพยานไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด มาทราบภายหลังว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมคนหนึ่ง มีนามสกุลว่า แท่นรัตน์

ตอบศาลถามเพิ่มเติม

ศาลมีการซักถามเพิ่มเติมเรื่องกระบวนการในการสืบสวนว่ามีลักษณะเช่นไร โดยพยานตอบว่า ในระหว่างการชุมนุม จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนจาก สน.พลับพลาไชย 2 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนจากกองบังคับการสืบสวนนครบาล 6 ติดตามกลุ่มผู้ชุมนุม แล้วทำการถ่ายรูป และคลิปวิดีโอไว้โดยตลอด ยังไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ในทันที หลังจากนั้นจึงนำพยานหลักฐานที่ได้ไปยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นบุคคลใด มีพฤติการณ์อย่างไร ก่อนจัดทำรายงานการสืบสวน และนำส่งพนักงานสอบสวนเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป

.

วิไลรัตน์ แซ่เตีย เบิกความว่า ประกอบอาชีพค้าขายเกาเหลาเลือดหมู เปิดร้านขายของทุกวันตั้งแต่ 16.00 – 24.00 น. ยกเว้นวันจันทร์ที่ทางกรุงเทพมหานครจะปิดเพื่อทำความสะอาดพื้นผิวถนน ลักษณะร้านค้าเป็นรถเข็นแผงลอยตั้งอยู่บนทางเท้าริมถนนแปลงนาม บริเวณหัวโค้งตัดกับถนนเยาวราช 

วันเกิดเหตุ พยานเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 กว่าคน เดินขบวนถือป้ายผ้า และตะโกนส่งเสียง แต่ป้ายผ้าจะมีข้อความอะไรและขนาดเท่าใด พยานไม่ได้สังเกต เพราะขณะนั้นร้านค้าของพยานกำลังขายดี มีความชุลมุนวุ่นวายแตกตื่น จึงไม่ได้สังเกต แต่ป้ายข้อความน่าจะมีความยาวประมาณ 2 เมตร

พยานเบิกความว่า ความกว้างระหว่างช่องทางจราจรบนถนนเยาวราชมีน้อยกว่าความยาวป้ายผ้าที่กลุ่มผู้ชุมนุมถือมา อัยการจึงพยายามถามพยานว่า ในเมื่อพยานเห็นว่าความกว้างของถนนเยาวราชนั้น มีความกว้างน้อยกว่าความยาวป้ายผ้าที่กลุ่มผู้ชุมนุมถือมา ทำไมพยานจึงเบิกความว่า กลุ่มผู้ชุมนุมนั้นใช้ช่องทางจราจรเพียงช่องทางเดียว พยานก็ยืนยันว่า กลุ่มผู้ชุมนุมนั้นเดินขบวนในช่องทางจราจรเพียงช่องเดียว เพราะเท่าที่พยานเห็น กลุ่มผู้ชุมนุมนั้นเดินถือป้ายผ้าไปในแนวเดียวกันกับถนนเยาวราช ไม่ได้กีดขวางช่องทางถนน จึงใช้ช่องทางเพียงช่องเดียว

ในการเดินขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเดินติดตามและด้านข้างผ่านหน้าร้านของพยานไป ซึ่งใช้เวลาเดินผ่านหน้าร้านประมาณ 4 – 5 นาที ทำให้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะลูกค้าเดินหนีไป เนื่องจากเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมา และทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะรถยนต์สามารถสัญจรได้เพียง 2 ช่องทาง แต่พยานไม่ทราบว่าผู้ค้าคนอื่นได้รับผลกระทบหรือไม่

ภายหลังจากเหตุการณ์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกให้พยานเข้าไปให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พลับพลาไชย 2 ซึ่งที่พยานเคยให้การไว้ไม่ตรงกับคำเบิกความ พยานจึงอธิบายว่า ที่เบิกความไปว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเดินในช่องทางจราจรเพียงช่องเดียวนั้น เป็นข้อความที่ไม่ถูกต้อง เพราะสื่อสารไม่ตรงตามความเข้าใจของพยาน ที่ถูกต้องเป็นไปตามเอกสารพยานหลักฐานบันทึกคำให้การว่า กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ช่องทางจราจรทั้ง 2 ช่อง

พยานไม่เคยรู้จัก หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งหก 

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึง 3 ถามค้าน

พยานเบิกความว่า ถนนแปลงนามเป็นซอยที่แยกลึกเข้ามาจากถนนเยาวราช ผู้ชุมนุมเดินขบวนผ่านถนนเยาวราช ไม่ได้เดินผ่านถนนแปลงนาม

พยานยืนยันว่า ลักษณะการเดินขบวนของกลุ่มผู้ทำกิจกรรมไม่ได้เป็นลักษณะขวางถนน และในช่องทางจราจรที่มีรถยนต์จอดอยู่ กลุ่มผู้เดินขบวนจึงต้องเดินหลบรถยนต์ที่จอดอยู่เข้าไปในช่องทางจราจร โดยกลุ่มผู้เดินขบวนมีจำนวนคนประมาณ 20 คน ในจำนวนนั้นมีตำรวจรวมอยู่ด้วย ซึ่งมีส่วนทำให้พยานตื่นตกใจ 

การเดินขบวนขากลับ ผู้ชุมนุมเดินมุ่งหน้าวงเวียนโอเดี้ยน ซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามร้านของพยาน และไม่ได้มีมาเกี่ยวข้องบริเวณหน้าร้านค้าของพยานอีก เป็นการเดินผ่านไปเฉย ๆ และเดินกลับไปบริเวณวงเวียนโอเดี้ยนอย่างปกติ ไม่มีสถานการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น รถยนต์สามารถสัญจรได้ตามปกติ ต่างจากการเดินขบวนช่วงขาไปของกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้รถยนต์ไม่สามารถเลี้ยวเข้าซอยแปลงนามได้ เพราะว่าติดขบวนกลุ่มผู้ชุมนุม

ในวันเกิดเหตุพยานสามารถเปิดร้านขายของได้ปกติจนถึงเวลาปิดร้าน

ตอบทนายจำเลยทั้งหกถามค้าน

พยานตอบทนายว่ารู้จักกับ สมบัติ รุ้งแพรวพรรณ ซึ่งมาเป็นพยานอีกคนในคดีนี้ แต่ในส่วนนี้ศาลไม่ได้บันทึกคำเบิกความ

วันเกิดเหตุ ช่วงประมาณ 19.00 – 20.00 น. บริเวณร้านค้าของพยานคนเดินผ่านไปมาไม่เยอะ และไม่มีตำรวจมาประชาสัมพันธ์ว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนทำกิจกรรม และพยานไม่เห็นว่ามีตำรวจเข้าไปพูดคุยอะไรกับกลุ่มผู้ชุมนุม

พยานตอบทนายความว่า ในวันเวลาปกติ คนทั่วไปจะใช้เวลาในการเดินจากปากซอยเข้ามาถนนแปลงนามประมาณ 2-3 นาที 

ทนายจำเลยถามพยานว่า ในช่วงเดือนดังกล่าว พยานพอจะทราบหรือไม่ว่ามีกลุ่มอื่นมาทำกิจกรรมบริเวณถนนเยาวราชอีกหรือไม่ พยานไม่ทราบ เพราะพยานไม่ได้สนใจว่ามีกลุ่มอื่นอีกหรือไม่ แม้ว่าพยานจะเปิดร้านขายของตามปกติทุกวัน

ตอบอัยการถามติง

เท่าที่พยานเห็น เฉพาะคนที่เดินถือป้าย และส่งเสียงร้องตะโกน มีประมาณ 10 กว่าคน ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินผ่านบริเวณหน้าร้านค้าของพยานถือป้ายผ้าตามแนวถนน ส่วนในการเดินขบวนช่วงอื่น ๆ จะเป็นการถือในลักษณะแบบใดนั้น พยานไม่ทราบ

พยานตอบว่า โดยปกติประชาชนทั่วไปจะเดินในช่องกรวยยางที่มีการจัดไว้ให้ แต่ถ้าในขณะนั้นมีผู้คนบนทางเท้าเป็นจำนวนมาก ก็จะมีประชาชนบางส่วนที่ลงมาเดินบนช่องทางจราจร โดยหากมีประชาชนเดินจับจ่ายใช้สอยมีความหนาแน่น ก็อาจจะมีการเดินล้ำเข้าไปในช่องทางจราจรได้เช่นกัน แต่พยานก็ไม่เคยเห็นประชาชนเดินล้ำในช่องทางจราจรถึงขนาดเท่ากับการเดินในลักษณะเช่นกลุ่มผู้ชุมนุม และถ้าไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุม พยานก็ไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเดินบนถนนเช่นกัน

.

สมบัติ รุ้งแพรวพรรณ ประกอบอาชีพรับจ้าง บ้านพักอาศัยอยู่ในซอยใกล้กับโรงพยาบาลสมิติเวช ถนนเยาวราช

ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 18.00 น. พยานขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากบ้านเพื่อหาอาหารกินที่ถนนข้าวหลาม เมื่อมาถึงปากซอยจะออกถนนเยาวราชก็เจอขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมถือป้ายผ้า และได้ยินเสียงร้องตะโกนในทำนองคล้ายตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประมาณ 10 – 20 คน ทำให้พยานไม่สามารถขับรถจักรยานยนต์ออกจากซอยได้

พยานได้รับความไม่สะดวกจากการจัดกิจกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะไม่สามารถไปกลับรถบริเวณแยกเฉลิมบุรีซึ่งเป็นบริเวณที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่าน ทำให้ต้องจอดรถจักรยานยนต์รอประมาณ 5 นาที ซึ่งในขณะปกติ พยานสามารถกลับรถได้ทันทีตามสัญญาณไฟจราจร 

พยานไม่ได้ทำการติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมไป โดยเท่าที่พยานมองเห็น กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ช่องทางจราจร 2 ช่องทางในการเดินขบวนไปตามถนนเยาวราช ประชาชนไม่สามารถเดินสัญจรได้โดยสะดวก จากบริเวณแยกเฉลิมบุรีเป็นต้นไปเพราะการเดินขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนนักท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าว

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึง 3 ถามค้าน

พยานรับว่า ช่วงที่ออกจากปากซอย พยานพบเข้ากับช่วงท้ายปลายขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ไม่ใช่ในช่วงต้นของขบวน และเส้นทางที่พยานเดินทางไป ไม่ใช่เส้นทางเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม

ตอบอัยการถามติง

ในการเดินขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้การจราจรบนท้องถนนถามปกติติดขัดมากกว่าปกติหรือไม่นั้น  พยานไม่ทราบ แต่การทำกิจกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้พยานติดขัด ได้รับความไม่สะดวก และเสียความรู้สึก เพราะพยานต้องไปกลับรถบริเวณดังกล่าว

พยานไม่แน่ใจและไม่เห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีการยืนรอสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกเฉลิมบุรีหรือไม่ แต่รู้ว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นทางให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านไปได้โดยสะดวก แล้วจึงให้รถยนต์ผ่านไปได้

.

ร.ต.อ.ชัยณรงค์ มาเมือง ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวน สน.พลับพลาไชย 2 มีหน้าที่สอบสวนอาญาจราจรในท้องที่ที่รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 02.00 น. พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ และ ร.ต.อ.ตนิษฐ์ เข้าแจ้งความ แทนฤทัย แทนรัตน์ กับพวกรวม 8 คน ในข้อหาเกี่ยวกับการร่วมชุมนุมสาธารณะตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และข้อหาเดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เหตุที่มีการชุมนุมที่บริเวณวงเวียนโอเดี้ยน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 18.00 น. หลังจากนั้นได้มีการเดินขบวนไปตามถนนเยาวราชในเวลา 19.10 น. ถึง 20.10 น. 

เช้าวันรุ่งขึ้นพยานจึงได้สอบคำให้การพยานทั้งหมดในคดีนี้ และทำการรวบรวมเอกสารพยานหลักฐาน นำส่งคลิปวิดีโอให้กองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจสอบพิสูจน์แล้ว ไม่พบร่องรอยการตัดต่อวิดีโอดังกล่าวแต่อย่างใด 

พยานจึงมีความเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนน่าจะกระทำความผิดจริง จึงมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งแปดโดยในวันที่ 3 ส.ค. 2566 มีผู้ต้องหาทั้งหมด 6 คนเข้าพบพยาน และมีผู้ต้องหาอีก 2 คน เข้ามาพบพยานในวันที่ 16 ส.ค. 2566 พยานได้ทำการแจ้งสิทธิและข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทั้งแปดทราบ ทั้งหมดให้การปฏิเสธ พยานจึงได้สอบคำให้การไว้ และต่อมาถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีนี้ จำนวน 6 คน

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึง 3 ถามค้าน

พยานไม่ทราบว่า จำเลยที่ 2 มีอาชีพเป็น YouTuber ที่ถ่ายทำกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง เพราะพยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ จึงไม่เห็นเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าว พยานดูพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนจัดทำมา

จำเลยที่ 2 จะเพียงยืนไลฟ์สดตามที่ทนายความถามค้านเพียงอย่างเดียวไม่ได้ร่วมเดินขบวนด้วยหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ หรือแม้แต่จะมีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่าง ๆ และ YouTuber รวมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ

พยานไม่เคยเห็นคลิปขณะ พ.ต.อ.พนม ซึ่งเป็นผู้กำกับฯ เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมให้หยุดการชุมนุมและเดินขบวนแต่อย่างใด เท่าที่พยานทราบ น่าจะเป็นสารวัตรป้องกันปราบปรามเป็นคนเจรจา แต่ศาลไม่ได้บันทึกคำเบิกความในส่วนนี้

ตอบทนายจำเลยทั้ง 6 ถามค้าน

พยานรับว่า วันดังกล่าวมีการมาแจ้งความร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  โดยยังไม่มีการระบุมาตราที่กระทำผิด และในการจัดกิจกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ได้มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนจากเพจเฟซบุ๊ก หรือเฟซบุ๊กส่วนตัวใด ๆ ทั้งไม่ปรากฏว่า บุคคลใดเป็นแกนนำ

พยานรับว่า ตามภาพถ่ายเอกสารพยานหลักฐาน จำเลยที่ 4 เดินติดตามทำการไลฟ์สด

พยานไม่ได้มีการรวบรวมภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอเหตุการณ์เพิ่มเติมด้วยตนเอง โดยภาพถ่ายและคลิปเหตุการณ์ พยานรับมาจากฝ่ายสืบสวน และได้ส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานกลางตรวจสอบแล้ว

ประชาชน 2 คน คือ วิไลรัตน์ และสมบัติ ที่พยานเรียกมาสอบคำให้การ เป็นพยานบุคคลที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปราบปรามแจ้งให้ทราบว่าเป็นบุคคลที่รู้เห็นพฤติการณ์ในคดีนี้ ให้เรียกมาสอบคำให้การเป็นพยานไว้

ตอบอัยการถามติง

ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การ จำเลยที่ 2 ไม่เคยให้การว่า ประกอบอาชีพ YouTuber พยานจึงมีความเห็นสั่งฟ้อง เพราะปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปรวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมก็ทำการไลฟ์สดอยู่โดยตลอด มิใช่ว่าหากไลฟ์สดแล้วจะเป็นผู้สื่อข่าวแและไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่อย่างใด

พยานมีเพียงภาพ พ.ต.อ.พนม ซึ่งเป็นผู้กำกับฯ เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่จะมีการสั่งให้เลิกหรือหยุดการชุมนุมหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้กำกับฯ ป้องกันปราบปรามน่าจะเป็นคนสั่งให้มีการเลิกหรือหยุดทำการชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งตามที่พยานทราบ การแจ้งให้เลิกหรือยุติการชุมนุมเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจในการสั่ง 

ในการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น ผู้แจ้งความร้องทุกข์ไม่จำเป็นต้องระบุมาตราที่ประสงค์จะให้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา

สาเหตุที่พยานมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 4 แม้ว่าจำเลยที่ 4 เพียงใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการไลฟ์สด เนื่องจากพยานเห็นว่าในปัจจุบันกลุ่มผู้ชุมนุมก็มีการไลฟ์สดตามปกติอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 2

.

แทนฤทัย แท่นรัตน์ จำเลยที่ 1 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษาปริญญาตรี คณะวิทยาการจัดการ สาขาธุรกิจการบิน สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

พยานเบิกความว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 มีม็อบ #ราษฎรหยุดAPEC2022 บริเวณลานคนเมือง และมีเหตุการณ์การปะทะกันระหว่าง กลุ่มผู้ชุมนุม กับเจ้าหน้าที่ คฝ. ทำให้ พายุ ดาวดิน ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ดวงตาจนได้รับบาดเจ็บ ดวงตาขวาบอด พยานในฐานะที่เป็นเพื่อนกับพายุ รู้สึกว่าพายุไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเริ่มต้นจัดกิจกรรม โดยการพูดคุยกับ “เค้ก” เพื่อนของพายุ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม

พยานได้มีการเตรียมป้ายผ้าและป้ายข้อความกระดาษมาเขียนบริเวณวงเวียนโอเดี้ยน มีข้อความเกี่ยวกับ “ตำรวจยิงตาประชาชน” และ “APEC เลือด” เพื่อสื่อสารถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ให้มีการออกมาร่วมรับผิดชอบกับการกระทำที่ทำให้พายุได้รับบาดเจ็บสาหัสจนตาบอด

เวลาประมาณ 18.00 น. พยานมาตามนัดหมายที่มีการแจ้งทางสื่อโซเชียลมีเดีย โดยขี่รถจักรยานยนต์มาคนเดียว ในที่เกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นจำนวนมาก ประมาณ 20 – 30 นาย และมีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท, YouTuber ช่องต่าง ๆ และสื่อหลายช่องอยู่บริเวณวงเวียนโอเดี้ยนด้วยเช่นกัน

เวลาประมาณ 19.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาพูดคุยเจรจาถามว่า มีผู้มาทำกิจกรรมกันกี่คน จะทำกิจกรรมในเส้นทางใด พยานจึงตอบไปว่า มีผู้มาร่วมทำกิจกรรมประมาณ 20 คน ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ ด้วย จะเดินไปตามถนนเยาวราชชิดขอบทางฝั่งขวา ตั้งใจไว้ว่าจะเดินทำกิจกรรมถึงแยกถนนแปลงนามและวกกลับมาชิดถนนฝั่งซ้าย ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ตั้งแต่ 19.30 – 20.00 น. ซึ่งเวลาที่ใช้ในการเดินขบวนก็เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้

กลุ่มผู้จัดกิจกรรมเดินทำกิจกรรมในช่องที่มีการจัดไว้ให้ประชาชนสัญจร บางช่วงต้องเดินล้ำเข้ามาในช่องทางจราจร เพราะมีร้านค้าและผู้คนที่เดินสวนทางผ่านไปมา จึงต้องเดินออกมานอกพื้นที่มีการจัดไว้ให้ ซึ่งตลอดการเดินขบวนทำกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกประกบทางด้านข้างฝั่งที่มีรถยนต์วิ่งสัญจรผ่านไปมา

พยานรู้จักกับจำเลยทั้ง 6 คนในคดีนี้ แต่มีความสนิทสนมที่แตกต่างกัน พยานรู้จักจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของช่องยูทูปที่มาไลฟ์สดทุกครั้งที่มีการทำกิจกรรมทางการเมือง ทั้งสองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมการเขียนป้ายผ้า เพียงแต่มาเดินติดตามเพื่อทำการไลฟ์สดเท่านั้น

พยานทราบว่า ในการจัดการชุมนุมจะต้องมีการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในท้องที่ที่จะมีการไปจัดกิจกรรม แต่เหตุการณ์ในวันดังกล่าว พยานไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะเห็นว่ากิจกรรมไม่ใช่การจัดการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งในการชุมนุมสาธารณะนั้นต้องมีการเปิดให้คนนอกเข้าร่วมการชุมนุมด้วย แต่ในการจัดกิจกรรมของพยานนั้น ไม่ได้มีการเปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วม

ในระหว่างที่มีการจัดกิจกรรม กลุ่มผู้ทำกิจกรรมไม่มีปัญหาทะเลาะกับพ่อค้าแม่ค้า เดินทำกิจกรรมไปตามปกติ ซึ่งคนทั่วไปที่เดินผ่านไปผ่านมาก็เดินได้ปกติ มีบางคนอ่านป้ายข้อความบ้าง

ตอบอัยการถามค้าน

พยานรู้จักกับ “เค้ก” จากการเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านการประชุม APEC ซึ่งการจัดกิจกรรม เค้กเป็นผู้ริเริ่ม และแจ้งการนัดหมายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย พยานไม่แน่ใจว่า มีการโพสต์นัดหมายผ่านช่องทางใด และในวันเกิดเหตุ เค้กไปร่วมการทำกิจกรรมด้วย โดยพยานไปถึงวงเวียนโอเดี้ยนก่อน แต่เค้กไม่ได้เป็นจำเลยในคดีนี้

สาเหตุที่พยานมีการนัดทำกิจกรรมบริเวณถนนเยาวราช เพราะเป็นที่สาธารณะที่มีคนเดินผ่านไปมา และเพราะในการประชุม APEC มีผู้นำประเทศและผู้เข้าร่วมการประชุมเดินทางไปบริเวณถนนเยาวราชหลายคน และน่าจะมีคนเห็นข้อความเป็นจำนวนมาก

ในการเดินขบวนทำกิจกรรม กลุ่มผู้ทำกิจกรรมมีการเดินขบวนถือป้าย มีการร้องตะโกนส่งเสียงไปด้วย

อัยการมีการชี้ภาพเอกสารพยานหลักฐานให้พยานตอบ พยานตอบว่า ในภาพดังกล่าว กลุ่มผู้ทำกิจกรรมมีการเดินในช่องทางจราจรจริง แต่เพราะมีรถยนต์จอดอยู่ อัยการจึงกล่าวว่า อัยการให้ตอบแค่คำถามของอัยการว่า มีการเดินเข้ามาในช่องทางจราจรหรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

พยานรับกับอัยการว่า พยานไม่ได้มีการแจ้งหรือขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อนทำกิจกรรม และในระหว่างที่มีการทำกิจกรรมนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลการทำกิจกรรมของกลุ่มผู้ทำกิจกรรม

พยานรับว่า จำเลยที่ 2 และ 4 เดินร่วมกันไปกับกลุ่มผู้ทำกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นที่บริเวณวงเวียนโอเดี้ยน ไปจนย้อนกลับมา

พยานไม่ทราบว่า คลิปวิดีโอของจำเลยได้มีการส่งเป็นพยานหลักฐานด้วยหรือไม่

ตอบทนายจำเลยทั้ง 6 ถามติง

ในระหว่างที่มีการเดินขบวนทำกิจกรรมนั้น มีประชาชนคนทั่วไปที่เดินนอกเขตกรวยยางด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว ผู้คนที่มาทำการจับจ่ายใช้สอย เดินออกมาในช่องทางจราจร เพราะมีรถยนต์จอดอยู่ และมีนักท่องเที่ยวเดินไปมาเป็นจำนวนมาก

.

ภราดร เกตุเผือก จำเลยที่ 2 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็น YouTuber เป็นอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียว ผ่านช่อง “ลุงดร เกตุเผือก” มีรายหลักทางเดียว ไม่ได้มีการประกอบอาชีพอื่น ๆ

พยานไปทำการไลฟ์สดเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองเหตุการณ์อื่น ๆ ด้วย โดยเป็นการทำข่าวทางการเมืองให้ประชาชน เผยแพร่เป็นสาธารณะทั่วไป เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของนักกิจกรรมที่มาทำการเคลื่อนไหว

เวลาประมาณ 18.00 น. เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พยานพบเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจกระจัดกระจายบริเวณวงเวียนโอเดี้ยนไม่ต่ำกว่า 50 นาย พยานเห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่ คฝ. และเจ้าหน้าที่เทศกิจ พยานจึงทำการไลฟ์สด และพยานไม่ได้เข้าร่วมการในการเขียนข้อความบนป้ายผ้า หรือเข้าร่วมในการจัดกิจกรรมแต่อย่างใด 

พยานรู้จักกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ในวันเหตุการณ์มีนักข่าวจากหลายช่อง ทั้งสื่อหลัก, สื่อทั่วไป และ YouTuber ด้วยกันเอง ไม่ต่ำกว่า 5 ราย

พยานมาถึงบริเวณวงเวียนโอเดี้ยนก่อนที่นักกิจกรรมจะมาถึง โดยพยานอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการทำกิจกรรม และการเดินทำกิจกรรมใช้เวลาในการเดินจากถนนเยาวราช ถึงวงเวียนโอเดี้ยน ทั้งเที่ยวไปและกลับไม่ต่ำกว่า 30 นาที

ตอบอัยการถามค้าน 

พยานทราบข่าวการจัดกิจกรรมจากเพื่อนนักข่าวด้วยกัน ก่อนหน้าหนึ่งวันก่อนมีการจัดกิจกรรม

พยานไม่เคยยื่นเอกสารพยานหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบอาชีพเป็น YouTuber ของพยานส่งให้กับพนักงานสอบสวน รวมทั้งคลิปวิดีโอที่ทำการไลฟ์สดที่ไม่ได้มีการเอามาอ้างเป็นพยานหลักฐาน

ทนายความถามติง

พยานไม่เคยทราบมาก่อนว่า กลุ่มผู้ทำกิจกรรมจะเดินไปในเส้นทางใดบ้าง ในวันนั้นพยานได้เดินติดตามเพื่อทำการไลฟ์สด

การที่พยานให้การว่า ไม่ได้มีการให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานประกอบอาชีพ YouTuber นั้น เพราะเคยได้แจ้งกับพนักงานสอบสวนด้วยวาจาแล้วในชั้นตำรวจ แต่พยานไม่มีเอกสารในการยืนยัน และการมาศาลในครั้งนี้ของพยานก็มาเพื่อยืนยันกับศาลว่าพยานประกอบอาชีพ YouTuber

X