นักกิจกรรม – มวลชนอิสระ 6 ราย เข้ารับทราบข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เหตุจัดกิจกรรมเรียกร้อง “ดวงตา” ให้ “พายุ ดาวดิน” ตั้งแต่ปลายปี 65

วันที่ 3 ส.ค. 2566 เวลา 14.00 น. ที่ สน.พลับพลาไชย 2 นักกิจกรรมและมวลชนอิสระ จำนวน 6 คน ได้แก่ แทนฤทัย แท่นรัตน์, “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ, ภราดร เกตุเผือก, “ออย” สิทธิชัย ปราศรัย, พิชัย เลิศจินตวงษ์ และ ภูษิต จิระวันชัยกุล ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องดวงตาของ ‘พายุ ดาวดิน’ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. เข้าสลายการชุมนุมในกิจกรรม APEC 2022 โดยผู้ต้องหาทั้งหมดได้รวมตัวแห่ขบวนกันชูป้ายข้อความว่า “เรียกร้องตาที่หายไปและตามหาความรับผิดชอบจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐกระทืบประชาชน” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 ที่บริเวณลานวงเวียน โอเดี้ยน เยาวราช 

ในคดีนี้ ตำรวจมีการออกหมายเรียกลงวันที่ 17 ก.ค. 2566 กับประชาชนทั้งหมด 8 ราย โดยมี พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ สุขวัต เป็นผู้กล่าวหา ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลังเวลา 18.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และร่วมกันเดินเป็นขบวนแห่ในลักษณะที่กีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 

ในวันนี้มีผู้ต้องหา 6 ราย ได้เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.ชัยณรงค์ มาเมือง รองสารวัตรสอบสวน สน.พลับพลาไชย 2

เบื้องต้น ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า ก่อนเกิดเหตุ ได้มีรายงานข่าวจากเพจของแทนฤทัย มีข้อความว่า “ชูป้าย @เยาวราช 23 พฤศจิกายน 2565 เวลานัดรวมตัว 18.00 น. เวลาเริ่มเดิน 19.00 น. สิ้นสุดกิจกรรม 20.00 น. เรียกร้องดวงตาที่หายไปและตามหาความรับผิดชอบจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐกระทืบประชาชน” 

ในวันถัดมา เจ้าหน้าที่ได้พบแทนฤทัยและพวกรวม 10 คน ประกอบไปด้วยช่างภาพและยูทูบเบอร์อีกราว 10 คน ได้มารวมตัวกันที่บริเวณวงเวียนโอเดี้ยน ถนนเยาวราช และมีการเขียนข้อความบนแผ่นป้าย แผ่นผ้า โดยไม่ได้ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือเป็นแกนนำในการชุมนุมครั้งนี้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พลับพลาไชย 2 ได้ระดมกำลังสนับสนุนตำรวจเป็นจำนวน 100 นาย เพื่อเข้าดูแลความสะดวกทางการจราจร และได้มีการเจรจาประกาศเตือนว่าการรวมตัวทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ

ทั้งนี้ ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้กล่าวหาว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ฟัง และเดินฝ่าไปตามพื้นผิวถนนของเยาวราช และวนกลับบริเวณหน้าห้างเทสโก้โลตัส สาขาเยาวราชไปที่จุดเริ่มต้น (วงเวียนโอเดี้ยน) อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงมีการประกาศยุติการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับในเวลาประมาณ 20.10 น.

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้ง 6 รายได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติม ภายในวันที่ 21 ส.ค. 2566 

การชุมนุมซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ในวันที่ 18 พ.ย. 2565  หรือม็อบ #ราษฎรหยุดAPEC2022 ซึ่งมีนัดหมายเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เพื่อยื่นหนังสือให้แก่ผู้นำที่มาร่วมประชุม APEC ถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยการเคลื่อนขบวนเริ่มขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันดังกล่าว แต่เมื่อถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็พบเจ้าหน้าที่วางแนวกั้นที่บริเวณถนนดินสอ โดยเจ้าหน้าที่มีการใช้ชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่ และใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าว มีผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนรายหลายได้รับความเสียหายทางด้านร่างกายและทรัพย์สิน โดยพายุ ดาวดิน เป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่ได้รับความรุนแรงทางด้านร่างกายจนทำให้เสียดวงตาที่ข้างขวา

น่าสังเกตว่าเหตุกิจกรรมในคดีนี้ผ่านไปกว่า 8 เดือนแล้ว แต่ตำรวจเพิ่งมีการออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

อ่าวข้อมูลการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 >>> #ม็อบ18พฤศจิกา65 : ราษฎรหยุด Apec2022 : Mob Data Thailand

X