2 ก.พ. 2561 ผู้ถูกเรียกจากกิจกรรม ‘รวมพลคนอยากเลือกตั้ง’ หรือ ‘MBK39’ ยื่นหนังสือขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน หลังทราบว่าพนักงานสอบสวนจะไม่ปล่อยตัวชั่วคราว และจะนำตัวไปศาลแขวงปทุมวันเพื่อขออำนาจศาลฝากขังต่อทันที
10.00 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ พร้อมผู้ถูกเรียกจากกิจกรรม ‘รวมพลคนอยากเลือกตั้ง’ ที่บริเวณสกายวอล์กหน้าห้างเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ซึ่งถูกเรียกมารับทราบข้อหาฐานชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากวังของพระบรมวงศ์ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน แต่เมื่อทนายความประสานงานกับ พล.ต.ท.ภัคพงษ์ พงษ์เภตรา ทราบว่าพนักงานสอบสวนจะไม่ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา แต่จะนำตัวไปขออำนาจศาลแขวงปทุมวันเพื่อฝากขังต่อทันที ทนายความจึงแจ้งให้ผู้ถูกเรียกทราบและปรึกษากันว่าจะเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหา
ประมาณ 12.00 น. หลังปรึกษาทนายความแล้ว ผู้ถูกเรียก 33 คน มอบอำนาจให้ทนายความยื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ภพธร จิตต์หมั่น ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน ขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวนไปเป็นวันที่ 8 ก.พ. 2561 เวลา 10.00 น.
หนังสือขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวนมีใจความว่า จากการประสานงาน ทราบว่าพนักงานสอบสวนจะพาผู้ต้องหาไปฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวัน ทั้งที่ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี และคดีมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ตามกฎหมายพนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวโดยไม่ต้องเรียกหลักทรัพย์ประกันได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคสาม ผู้ต้องหาที่เดินทางมาในวันนี้จึงไม่ได้เตรียมหลักทรัพย์ประกันตัว และไม่พร้อมที่จะรับทราบข้อกล่าวหา
สำหรับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากวังของพระบรมวงศ์ ตามมาตรา 7 นี้ มีบทกำหนดโทษไว้ในมาตรา 27 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากมีการนำตัวผู้ต้องไปฝากขังต่อศาลแขวงปทุมวันก่อนการพิจารณาคดี ศาลจะมีอำนาจขังได้ไม่เกิน 7 วัน ก่อนคดีจะขึ้นสู่ศาล
ขณะนี้มีผู้ถูกเรียกขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวนในคดีนี้ทั้งหมด 34 คนแล้ว ได้แก่ 1.นายรังสิมันต์ โรม 2.นางสาวณัฏฐา มหัทนา 3.นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ 4.นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 5.นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ 6.นางสาวมัทนา อัจจิมา 7.น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของสิรวิชญ์ 8.นายเอกศักดิ์ สุพรรณขันธ์ 9.นางรักษิณี แก้ววัชระสังสี 10.นางจุฑามาศ ทรงเสี่ยงไชย 11.นางพรนิภา งามบาง12.นายกิตติธัช สุมาลย์นพ 13.นางสุดสงวน สุธีสร 14.นายกันต์ แสงทอง นักวิชาการ 15.นายนพพร นามเชียงใต้ 16.นายสุวัฒน์ ลิ้มสุวรรณ 17.นางกมลวรรณ หาสาลี 18.นางนัตยา ภานุทัต 19.นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” 20.นางประนอม พูลทวี 21.นายสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ 22.นายสุรศักดิ์ อัศวะเสนา 23.นางพรวลัย ทวีธนวาณิชย์ 24.นางสุวรรณา ตาลเหล็ก 25.นางนภัสสร บุญรีย์ 26.นางสาวอรัญญิกา จังหวะ 27.นายพรชัย ประทีปเทียนทอง 28.นายวรัญชัย โชคชนะ 29.นายนพเกล้า คงสุวรรณ 30.นายคุณภัทร คะชะนา 31.นายสามารถ เตชะธีรรัตน์ 32.นางสาวอ้อมทิพย์ เกิดผลานนท์ 33.นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด และ 34.นายวราวุธ ฐานังกรณ์ โดยวราวุธมายื่นขอเลื่อนก่อนแล้วตั้งแต่ 1 ก.พ. 2561 ทั้ง 34 คนจะไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 8 ก.พ. 2561
ขณะที่นายวีระ สมความคิด และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จะเดินทางมาขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวนวันที่ 3 ก.พ. 2561 ส่วนนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายเอกชัย หงส์กังวาน ยังไม่ได้รับหมายเรียก ด้านนายอานนท์ นำภา ประกาศจะไม่เข้าร่วมกระบวนการในคดีนี้และยอมถูกจับกุม
ด้านฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีอาญาโดยทันทีต่อนักเคลื่อนไหวทั้ง 39 คน ซึ่งชุมนุมประท้วงอย่างสงบต่อต้านระบอบปกครองของทหารที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561
เพิ่มเติมข้อมูล
เวลา 14.00 น. แม้ ผกก.สน.ปทุมวัน จะรับหนังสือขอเลื่อนจากทนายความของผู้ถูกเรียกคดี MBK39 แต่ยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อน โดยตำรวจแจ้งต่อทนายความว่าต้องรอ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เป็นผู้สั่งการ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังตั้งแถวหน้าสน.ปทุมวัน เพื่อรอรับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ที่เดินทางมาถึงในเวลา 14.35 น.
จากนั้นเวลา 15.10 น. ทนายความได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าจะไม่อยู่รอร่วมสอบปากคำเกี่ยวกับการรับมอบเอกสารมาเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ล่าช้าและไม่ได้รับมอบอำนาจมาให้ถ้อยคำใดๆ กับพนักงานสอบสวน เพียงแต่รับมอบอำนาจมาเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาเท่านั้น
ต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รอง ผบ.ตร. ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ทางตำรวจไม่อนุญาตให้เลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหา แต่จะทำการออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ก.พ. ส่วนกระบวนการฝากขังนั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ ระบุว่า เป็นคำสั่งของตนเอง ไม่เกี่ยวกับดุลพินิจของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด และระบุว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการดำเนินการตามข้อหามาตรา 116 ต่อนายสมบัติ บุญงามอนงค์ และนายวีระ สมความคิด เพิ่มเติมอีก เนื่องจากมีพยานหลักฐานว่าทั้งสองคนได้ร่วมปราศรัยในกิจกรรมการชุมนุมดังกล่าว