MBK39 เข้ารับทราบข้อหา ทั้ง 2 ศาลสั่งปล่อยตัวทั้งหมด

ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนวางกำลังที่หน้าสน.ปทุมวัน ก่อนที่กลุ่ม MBK39 จะเดินทางมาถึง (ภาพจากแฟนเพจ Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

8 ก.พ.2561 สน.ปทุมวัน ผู้ต้องหากลุ่ม MBK 39 จำนวน 34 คน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนจากกรณีที่พวกเขาถูกแจ้งความดำเนินคดีจากเหตุชุมนุมที่สกายวอล์คหน้าห้างสรรพสินค้า MBK(มาบุญครอง) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 ในเบื้องต้นพวกเขาเกือบทั้งหมดปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยังให้การใดๆ กับพนักงานสอบสวน โดยจะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรส่งในภายหลัง มีเพียง 1 รายที่ให้การรับสารภาพ

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาฝ่าฝืนฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ข้อ 12, ข้อหาชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา รวม 3 ข้อหา แก่ผู้ต้องหาจำนวน 5 คนได้แก่ น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายสมบัติ บุญงามอนงค์และนายวีระ สมความคิด

พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ของกลุ่มที่ถูกแจ้งข้อหาตามม. 116 ด้วย สรุปได้ว่า ในเหตุการณ์วันดังนายเนติวิทย์ นายวีระ น.ส.ณัฎฐา นายรังสิมัน โรม นายวิรวิชญ์ นายเอกชัย หงส์กังวาน มีการเสวนาที่สวนครูองุ่นในซอยทองหล่อ ในการเสวนามีการกล่าวถึงการชุมนุมที่สกายวอล์คหน้า MBK หลังเสวนาพวกเขาเดินทางไปรวมชุมนุมด้วย ซึ่งบริเวณที่ชุมนุมดังกล่าวอยู่ห่างจากวังสระปทุม 148.53 ม. ระหว่างชุมนุมได้มีการผลัดกันปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคสช. ว่ามีการทุจริตใช้อำนาจไม่เป็นธรรม และเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง รวมถึงมีการชักชวนให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมโค่นล้มรัฐบาลและ คสช. โดยนายวีระ นายสมบัติ นายเอกชัยได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนพร้อมแสดงป้าย “หมดเวลา คสช.”

นายเนติวิทย์ขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ภาพจากเพจ Netiwit Chotiphatphaisal

ทั้งนี้นายสมบัติและนายวีระ 2 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นเพิ่มเติม พวกเขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าในเหตุการณ์วันนั้นพวกตนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่มาขอสัมภาษณ์เท่านั้นไม่ได้ร่วมขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด ตามที่พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังพราหมณกุล รองผบ.ตร.กล่าวหาพวกตน นายสมบัติยังกล่าวอีกว่ากรณีของนายวีระยิ่งหนักกว่าเพราะอยู่ในบริเวณนั้นเพียงครู่เดียวเท่านั้น
นายสมบัติยังตั้งข้อสงสัยถึงข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร ว่าวันเกิดเหตุ รองผู้กำกับสน.ปทุมวัน เป็นคนชี้จุดให้ทำกิจกรรมเองด้วยตนเอง

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ให้สัมภาษณ์สื่อที่หน้าสน.ปทุมวัน (ภาพจาก ประชาไท)

หลังจากที่ทั้ง 5 คนรับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนได้นำตัวไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง

ส่วนกลุ่มผู้ต้องหา 29 คน ที่พนักงานสอบสวนแจ้ง 2 ข้อหา คือฝ่าฝืนฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ข้อ 12, ข้อหาชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์โดยสรุปได้ว่า พวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง “นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” ของนายรังสิมันต์ นายสิรวิชญ์ น.ส.ณัฎฐา นายอานนท์ นายเอกชัย นายสุกฤษฎ์ นายเนติวิทย์ นายวีระ และนายสมบัติ เป็นแกนนำ บนสกายวอล์คหน้า MBK ซึ่งบริเวณที่ชุมนุมดังกล่าวอยู่ห่างจากวังสระปทุม 148.53 ม. ในการชุมนุมนายรังสิมันตฺและพวกพลัดกันปราศรัยกับผู้ชุมนุมราว 100 คน กล่าวหาการทำงานของ คสช. กรณีเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไป

รายชื่อของบุคคลในกลุ่ม 29 คนนี้ ได้แก่ นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ นางมัทนา อัจจิมา น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ นายเอกศักดิ์ สุพรรณขันธ์ นางรักษิณี แก้ววัชระสังสี นางจุฑามาศ ทรงเสี่ยงไชย นางพรนิภา งามบาง

นายกิตติธัช สุมาลย์นพ นางสุดสงวน สุธีสร นายกันต์ แสงทอง นายนพพร นามเชียงใต้ นายสุวัฒน์ ลิ้มสุวรรณ นางกมลวรรณ หาสาลี นางนัตยา ภานุทัต นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ฉายา “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” นางประนอม พูลทวี นายสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นายสุรศักดิ์ อัศวะเสนา นางพรวลัย ทวีธนวาณิชย์ นางสุวรรณา ตาลเหล็ก นางนภัสสร บุญรีย์

น.ส.อรัญญิกา จังหวะ นายพรชัย ประทีปเทียนทอง นายวรัญชัย โชคชนะ นายคุณภัทร คะชะนา นายสามารถ เตชะธีรรัตน์ น.ส.อ้อมทิพย์ เกิดผลานนท์ นายวราวุธ ฐานังกรณ์ นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด

ผู้ต้องหา 29 คนกำลังเดินไปศาลแขวงปทุมวัน ภาพจาก  iLawFX

บุคคลตามรายชื่อข้างต้น หลังรับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธแล้วต่างเดินทางไปที่ศาลแขวงปทุมวันด้วยตนเองเพื่อทำเรื่องประกัน เนื่องจากคดีนี้พวกเขามารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเองไม่ได้เป็นการจับกุม พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจควบคุมตัวไปศาล

จากนั้นในเวลาประมาณ 15.30น. ศาลแขวงปทุมวันพิจารณาแล้วเห็นว่าให้ผลัดฟ้องไปก่อน ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 28 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้นายนพพร นามเชียงใต้ 1 ในกลุ่ม 29 คนได้ให้การรับสารภาพศาลจึงนัดมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 มี.ค.61

ทางด้านศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังน.ส.ณัฎฐา นายสุกฤษฎ์ นายเนติวิทย์ นายสมบัติ และนายวีระ เป็นเวลา 12วัน ตั้งแต่วันที่ 8-19ก.พ.61 โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้ที่มีโทษจำคุกเกิน 3 ปี และมีพยานต้องสอบเพิ่มอีก 5 ปาก รวมถึงยังต้องสอบประวัติอาชญากรรมด้วย อีกทั้งพนักงานสอบสวนได้ค้านการประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าพวกเขาได้นัดชุมนุมวันที่ 10 ก.พ.นี้ ที่ถนนราชดำเนิน โดยมีการประกาศให้แนวร่วมและประชาชนมาเข้าร่วม ซึ่งพวกเขาได้ทำหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมไปที่ สน.สำราญราษฏร์แล้ว พนักงานสอบสวนจึงเกรงว่าอาจก่อเหตุอันตรายประการอื่นขึ้นอีก

ทั้งนี้ฝ่ายผู้ต้องหาทั้ง 5 คนได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังโดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหาเป็นคนธรรมดาไม่มีความสามารถในการไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งพยานหลักฐานคดีนี้ก็เป็นภาพถ่ายหรือวิดีโอที่อยู่ในคอรบครองของพนักงานสอบสวนแล้วอีกด้วย นอกจากนั้นผู้ต้องหาในคดีนี้ยังเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเองไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใดและพนักงานสอบสวนยังสอบคำให้การไว้หมดแล้ว ส่วนการดำเนินการของพนักงานสอบสวนตามที่ระบุในคำร้องฝากขังก็ไม่ไ่ด้เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาแล้ว

อีกทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช.3/58 ข้อ 12 นั้นเป็นคำสั่งที่ประกาศบังคับใช้โดย คสช.เอง ไม่ได้ผ่านกระบวนการเห็นชอบจากประชาชน ทั้งยังมีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการจัดกิจกรรมและชุมนุมทางการเมืองคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบันนี้มีเพื่อวัตถุประสงค์และผลประโยชน์ทางการเมืองของ คสช. โดยแท้

การใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเครื่องมือที่พลเมืองแสดงออกเจตจำนงเสรีของตน และยังเป็นเครื่องมือกระตุ้นเตือนรัฐบาลให้บริหารราชการแผ่นดินเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรอีก อีกทั้งเสรีภาพในการชุมนุมยังได้รับรองเอาไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR และการใช้เสรีภาพดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นความผิดในตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมาย

ในสถานการณ์ขณะนี้ที่มีคณะรัฐประหารเป็นผู้ปกครองประเทศ ไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย คงมีเพียงศาลยุติธรรมเท่านั้นที่พึงคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการในรัฐสมัยใหม่ จึงขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา มีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ในการไต่สวนคำร้องฝากขัง พนักงานสอบสวนตอบคำถามค้านของทนายความผู้ต้องหา ว่าการชุมนุมในวันที่ 10 ก.พ.มีการทำหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมแล้ว แต่ไม่ทราบผลว่าทางสน.สำราญราษฎร์ให้อนุญาตจัดชุมนุมหรือไม่ แต่ผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในวันที่ 10 ก.พ. การแจ้งจัดการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และการชุมนุม 27 ม.ค.ที่ผ่านมาก็ไม่มีเหตุอันตรายเกิดขึ้น อีกทั้งการชุมนุมไม่ได้มีอันตรายโดยตัวของมันเอง แต่ที่พนักงานสอบเกรงว่าจะเกิดอันตรายเป็นเพียงการคาดเดาของพนักงานสอบสวนเอง

19.10น. ภายหลังการไต่สวนคำร้องฝากขัง ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ศาลให้เหตุผลว่าผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีการหลบหนีเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเองและให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนเป็นอย่างดี ส่วนที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจะไปร่วมชุมนุมแล้วก่ออันตรายประการอื่นนั้นยังเป็นการคาดเดาของพนักงานสอบสวนเองเท่านั้น

จากซ้าย นายสุกฤษฎ์ นายเนติวิทย์ น.ส.ณัฎฐา  นายวีระ และนายสมบัติ

ส่วนบุคคลที่ไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้มี 5 คน ได้แก่ นายรังสิมันต์ โรม ยืนยันว่าจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามวันที่ตนเคยทำหนังสือขอเลื่อนไว้วันที่ 16 ก.พ. นายอานนท์ นำภา ทนายความได้ประกาศฝ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมกระบวนการใดๆ ในคดีนี้ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายเอกชัย หงส์กังวาน

นายนพเก้า คงสุวรรณ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้แล้วเขาให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน ศาลให้ประกันตัวด้วยเงินสด 30,000 บาท แต่เนื่องจากเข้ารายงานตัวเองศาลจึงสั่งคืนเงินประกันวานนี้(7 ก.พ.61)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วาระสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปริมาณคดีเสรีภาพพุ่งแรง

X