ตุลาคม 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,930 คน ใน 1,253 คดี

เดือนตุลาคมที่ผ่านไป นับเป็นเดือนที่มีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มากที่สุดเดือนหนึ่ง โดยศาลมีคำพิพากษาเดือนเดียว 16 คดี และมีผู้ถูกคุมขังเพิ่มเติมในรอบเดือนอีก 3 ราย ทำให้จำนวนผู้ถูกคุมขังทางการเมืองยังทยอยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่คดีจากการชุมนุมทางการเมืองพบว่ามีคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นผู้กล่าวหานักกิจกรรมด้วยตนเองทั้งตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,930 คน ในจำนวน 1,253 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 216 คดี 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน คดีเพิ่มขึ้น 4 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,928 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 259 คน ในจำนวน 281 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 177 คน ในจำนวน 90 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 187 คน ในจำนวน 207 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 38 คน ใน 21 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,253 คดีดังกล่าว มีจำนวน 441 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 812 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

แนวโน้มคดี ม.112 ศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาต่อเนื่อง ยอดคำพิพากษาทะลุ 100 คดีในสองปี มีผู้ถูกคุมขังเพิ่มขึ้น 3 ราย ในรอบเดือน

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล ในเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 1 คน ใน 1 คดี โดยเป็นคดีที่เพิ่งทราบข้อมูลว่ามีประชาชนรายหนึ่งถูกฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไปก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดคดี

ในส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมาอีก 10 คดี และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอีก 6 คดี ทำให้ยอดรวมของคำพิพากษาตลอดสองปีที่ผ่านมา ทะลุมากกว่า 100 คดีไปแล้ว

ในส่วนของศาลชั้นต้น แยกเป็นคดีที่มีการต่อสู้คดี 4 คดี และคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพอีก 6 คดี

ในคดีที่ต่อสู้คดีนั้น ศาลเห็นว่ามีความผิดทั้งหมด 3 คดี ในจำนวนนี้ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 2 คดี ได้แก่ คดีของโฟล์ค สหรัฐ (ลงโทษจำคุก 2 ปี) และคดีของบัสบาส มงคล (ลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน) ขณะที่คดีของเบนจา อะปัญ แม้ศาลเห็นว่ามีความผิด แต่เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้

และมีอีก 1 คดี ที่ศาลยกฟ้องจำเลยบางส่วน และเห็นว่าจำเลยอีกส่วนมีความผิด ได้แก่ คดีของตี้ วรรณวลี กับเพื่อนรวม 3 คน กรณีถือป้ายข้อความในม็อบที่กรุงเทพฯ ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องจำเลย 2 ราย ที่เห็นว่าข้อความในป้ายไม่ชัดเจนว่าเข้าข่ายตามมาตรา 112 แต่ศาลลงโทษจำคุกวรรณวลี 2 ปี 8 เดือน แต่ยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

.

.

ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพนั้น มีจำนวน 4 คดีที่ศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้ และมี 1 คดี ศาลให้รอการกำหนดโทษ มีเพียงคดีของเวหา ที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แม้จำเลยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ แต่ยืนยันปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม

ขณะเดียวกัน ในส่วนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยมีคดีที่ต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 2 คดี ได้แก่ คดีของพรชัย ที่ยะลา (ลงโทษจำคุก 2 ปี) และคดีของ “กัลยา” ที่นราธิวาส (ลงโทษจำคุก 6 ปี) โดยกรณีของพรชัยยังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา แต่คดีของกัลยา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เธอถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส

ขณะที่มีคดีของ “วารี” ที่นราธิวาส, คดีของ “พิพัทธ์” ที่สมุทรปราการ และคดีของสุรีมาศ ที่กระบี่ ทซึ่งศาลชั้นต้นล้วนยกฟ้อง และศาลอุทธรณ์เห็นฟ้องตามศาลชั้นต้น และยังมีคดีของจำเลยรายหนึ่งที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เคยลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้

.

.

อีกทั้ง ยังมีคดีของเยาวชน 2 ราย ที่ให้การรับสารภาพ แต่ศาลเยาวชนมีคำสั่งให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา แต่สั่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 132 วรรค 2 โดยสั่งให้ควบคุมตัวไว้ในสถานพินิจ และให้เข้าอบรมฝึกวิชาชีพ ได้แก่ คดีของ “ภูมิ หัวลำโพง” (ควบคุมตัว 1 ปี) และคดีของ “ภัทรชัย” (ควบคุมตัว 6 เดือน) ทำให้ทั้งสองคนถูกนำตัวไปยังสถานพินิจฯ บ้านเมตตา

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม มีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณาเท่าที่ทราบข้อมูลเพิ่มขึ้น 3 ราย (เป็นเยาวชน 2 ราย) รวมยอดผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จำนวน 13 ราย 

แนวโน้มคดีที่ทยอยมีคำพิพากษาในศาลที่สูงขึ้น หากศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา จำเลยอาจไม่ได้รับการประกันตัว แม้ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีก็ตาม

.

.

คดีจากการชุมนุมเพิ่ม 1 คดี ส่วนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลพิพากษาเดือนเดียวอีก 9 คดี

เดือนตุลาคม มีคดีจากการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกแจ้งข้อหาเป็นคดีใหม่ อีก 1 คดี ได้แก่ คดีของนักกิจกรรมและนักศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ รวม 4 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารของมณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวหาในข้อหาทั้งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากกรณีทำกิจกรรม “แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566

คดีนี้ พบว่าเจ้าหน้าที่กล่าวหาตามมาตรา 116 จากเพียงที่ตัวแทนผู้ชุมนุมอ่านประกาศคณะราษฎร 2475 ในการชุมนุม ทั้งที่เป็นเอกสารและข้อความทางประวัติศาสตร์ แต่ทหารกลับกล่าวหาว่าเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพกฎหมายหรืออาจล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องจับตาการพิจารณาสำนวนคดีของตำรวจและอัยการในคดีนี้ต่อไป

ในส่วนคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 พบว่าเดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมาอีก 9 คดี มีคดีที่ศาลยกฟ้อง 3 คดี โดยมีคดีของผู้ชุมนุมที่ดินแดงรายหนึ่ง ที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน โดยไม่ได้รับการประกันตัว 48 วัน แต่ศาลได้พิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

ขณะที่อีกจำนวน 6 คดี ศาลเห็นว่ามีความผิด โดยส่วนใหญ่พิพากษาให้ลงโทษปรับ แต่มีคดีจากการชุมนุม #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร ที่ห้าแยกลาดพร้าว และคดีของเบนจา อะปัญ ที่ถูกฟ้องพ่วงกับข้อหามาตรา 112 ที่ศาลลงโทษจำคุกโดยให้รอลงอาญาไว้ (คดีแรกนั้น มีจำเลยที่เป็นแกนนำสามราย ศาลไม่ให้รอลงอาญา แต่ยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์)

ขณะเดียวกัน อัยการยังมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองเพิ่มอีก 4 คดี โดยเป็นคดีในภาคอีสานทั้งหมด ได้แก่ คดีคาร์ม็อบนครพนม 3 คดี และคดีคาร์ม็อบที่ขอนแก่นอีก 1 คดี

.

.

นอกจากนั้น ควรบันทึกไว้ด้วยว่ามีคดีของวันทนา ประชาชนในจังหวัดราชบุรี ที่ถูกกล่าวหาจากการไปแสดงออกขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างลงพื้นที่ ซึ่งถูกศาลแขวงราชบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกเต็มอัตรา 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ใน 3 ข้อหาตามคำฟ้อง ทั้งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน, ส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน แต่ศาลยังให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ 

เดือนที่ผ่านมา ยังมีนักกิจกรรมทยอยได้รับหมายเรียกข้อหาละเมิดอำนาจศาล ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยทราบว่ามีผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ทำให้ถูกกล่าวหา ต้องติดตามการไต่สวนคดีต่อไป

.

X