ศาลยกฟ้องทุกข้อหา คดี “พุฒิพงศ์” ถูกกล่าวหาเผายางรถ ขณะชุมนุม #ม็อบ15มิถุนา65 แต่ระหว่างสอบสวนถูกคุมขังไป 48 วัน

31 ต.ค. 2566 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ พุฒิพงศ์ สมบุญ ประชาชนวัย 26 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้เข้าร่วมการชุมนุมของทะลุแก๊สบริเวณดินแดง และได้ก่อเหตุเผายางรถยนต์ 2 เส้น เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 

คดีนี้ ‘พุฒิพงศ์’ ถูกออกหมายจับ โดยเป็นคดีของ สน.ดินแดง ก่อนเขาจะเดินทางเข้ามอบตัว เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 พร้อมกับผู้ชุมนุมทะลุแก๊สในคดีอื่น ๆ ในส่วนของพุฒิพงศ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220 ทำให้เกิดเพลิงไหม้จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

พุฒิพงศ์ได้ปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกตำรวจนำตัวไปฝากขังในชั้นสอบสวน โดยไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว ต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 48 วัน จนครบกำหนดฝากขังเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 จึงได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากอัยการยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้อง

จนเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ฦๅชา วัฒนเนติกุล  มีความเห็นสั่งฟ้อง โดยสรุปบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 จําเลยกับพวกอีกเกินกว่า 10 คน ได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายทําร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย กระทําการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันกระทําให้เกิดเพลิงไหม้ ด้วยการเผายางรถยนต์ จํานวน 2 เส้น แม้เป็นของจําเลยเองบริเวณถนนดินแดง ซึ่งเป็นทางสาธารณะที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น

พุฒิพงศ์ได้ยืนยันให้การปฏิเสธข้อหา และคดีมีการสืบพยานไปเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2566 ก่อนนัดฟังคำพิพากษาต่อมา

ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมชุมนุมเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินหรือไม่

เวลา 10.30 น. อนิรุจ ใจเที่ยง ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี อ่านคำพิพากษาโดยสรุป เห็นในช่วงเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า-2019 ในประเทศไทย ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ สังคม โดยกว้าง แม้มาตรการที่รัฐบาล ออกทำให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ก็ได้เริ่มออกมาตรการผ่อนคลายลง แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็ยังมีข้อกำหนดห้ามบุคคลรวมกลุ่มกันเกินกว่า 50 คน

แต่พิเคราะห์จากคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ เห็นว่ามีผู้ชุมนุมประมาณ 15–20 คนเท่านั้น รวมถึงภาพถ่ายในที่เกิดเหตุ ที่ไม่เพียงพอที่จะอนุมานได้ว่าผู้ชุมนุมมีจำนวนเท่าใด เกินกว่าข้อกำหนดในช่วงดังกล่าวหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ทำให้เกิดเพลิงไหม้หรือไม่

พิเคราะห์จากพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งมีพยานบุคคลลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ มีพยานสนับสนุนว่าบุคคลตามภาพถ่ายคือจำเลย แต่พยานหลักฐานที่โจทก์ใช้จะต้องระบุให้เห็นอัตลักษณ์ของบุคคล แม้จะมีพยานในที่เกิดเหตุ แต่พยานก็มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ทั่วไปรอบ ๆ ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ ไม่ได้เห็นผู้กระทำความผิด พิจารณาแค่ภายนอกและภาพถ่าย ว่าคนร้ายคือจำเลย จึงทำให้ประจักษ์พยานมีน้ำหนักน้อย 

และในส่วนของพยานหลักฐานอื่น ๆ ก็ไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์ได้ ซึ่งจำเลยได้เบิกความหักล้าง ให้เห็นว่าตำรวจที่ลงพื้นที่หลายนายสามารถแยกผู้ชุมนุม นักข่าว ได้อย่างชัดเจน บุคคลภาพจึงอาจเป็นผู้ใดก็ได้ในกลุ่มผู้ชุมนุม พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นผู้ทำให้เกิดเพลิงไหม้หรือไม่ จึงยกประโยชน์ให้แก่จำเลย

ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

พิเคราะห์จากพยานหลักฐานของโจทก์ การรวมกลุ่มกันในวันเกิดเหตุ เกิดจากการไม่รู้จักกัน ความวุ่นวายเกิดจากต่างคนต่างทำ 

พยานโจทก์ยังเบิกความว่าผู้ชุมนุมมีการร้องรำทำเพลงกัน ไม่มีการพูดจาโจมตียั่วยุอีกฝ่าย ในส่วนที่ผู้ชุมนุมลงไปในช่องทางการจราจร เพียงแต่ทำให้การจราจรติดขัดบ้าง แต่ก็สามารถสัญจรได้ แม้ว่าตามคำฟ้องจะมีการทำเกิดเพลิงไหม้จากการเผายางรถยนต์ก็ตาม แต่นอกเหนือจากนั้น การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ย่อมไม่เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215

พิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

X