ศาลอาญายกฟ้อง “ยุรนันท์” จำคุก “พรพจน์” 6 ปี ก่อนลด 1 ใน 4 คดีปาระเบิดปิงปองใต้ทางด่วนดินแดง #ม็อบ17ตุลา64 ก่อนให้ประกันตัว

28 มี.ค. 2566 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พรพจน์ แจ้งกระจ่าง และยุรนันท์ (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันปาระเบิดปิงปองบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง #ม็อบ17ตุลา64 โดยพรพจน์เคยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายหลังถูกจับกุมตามหมายจับ 133 วัน ส่วนยุรนันท์ถูกคุมขังอยู่ 48 วัน ก่อนได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 

คดีนี้ ธีระ จุลศรี อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้ยื่นฟ้องพรพจน์และยุรนันท์ต่อศาล เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 ในข้อหา ร่วมกันมีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ร่วมกระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ 

อัยการได้บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดว่าเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2564 เวลากลางวัน จําเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน โดยจําเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันมีวัตถุระเบิดแบบแสวงเครื่อง (ระเบิดปิงปอง) รูปแบบการประกอบโดยนําถุงพลาสติกบรรจุสารระเบิดแรงต่ำ (ดินเทา) และก้อนหิน พันทับภายนอกด้วยเทปพันสายไฟสีดํา จํานวน 7 ลูก ซึ่งอยู่ในสภาพใช้ทําการระเบิดได้ด้วยการขว้าง ปา หรือกระทบ เพื่อให้ก้อนหินและสารระเบิดแรงต่ำ (ดินเทา)  ที่บรรจุอยู่ภายในเกิดการเสียดสีหรือกระแทกกันทําให้เกิดระเบิด โดยมีก้อนหินเป็นสะเก็ด และเมื่อระเบิดขึ้นสามารถทําอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บได้ 

นอกจากนี้ จําเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย ด้วยการร่วมกันขับขี่รถจักรยานยนต์จํานวนหลายคันไปตามถนนดินแดง เมื่อมาถึงบริเวณจุดกลับรถใต้ทางด่วน จําเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวจํานวน 7 ลูก เป็นอาวุธขว้าง ปาใส่พื้นถนน ซึ่งขณะนั้นมีประชาชนสัญจรอยู่บนถนนเป็นจํานวนมาก ทําให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น อันเป็นกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ร่วมกระทําความผิด คนหนึ่งคนใดมีอาวุธ

คดีนี้มีการสืบพยานระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค. 2566 โดยโจกท์มีพยาน 3 ปาก เข้าเบิกความต่อศาล ประกอบด้วยตำรวจชุดจับกุมและพนักงานสอบสวน ส่วนพยานผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบวัตถุระเบิดจากหน่วย EOD ฝ่ายจำเลยได้รับข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การของพยานที่ให้การไว้กับพนักงานสอบสวน จึงไม่ได้เข้าเบิกความ ด้านพยานจำเลยมีพรพจน์และยุรนันท์เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง 

เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยคือ จำเลยที่ 1 (พรพจน์) และที่ 2 (ยุรนันท์) ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่

พยานโจทก์ มี พ.ต.ท.พีรรัฐ โยมา รองสารวัตรสืบสวน สน.ดินแดง ในขณะนั้น เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาคนร้าย พยานกับพวกจึงร่วมกันหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ คือ เฟซบุ๊กของพรพจน์ ทราบว่าพรพจน์เป็นคนร้าย ประกอบกับมีภาพวีดิโอจากกล้องวงจรปิด ศาลเห็นว่า แม้ไม่ใช่ประจักษ์พยานแต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงน่าเชื่อว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้เป็นความจริง ประกอบกับพยานแวดล้อมที่พยานโจทก์รวบรวมไว้ ศาลเห็นว่า รับฟังประกอบหลักฐานอื่นได้ 

และเมื่อนำภาพวีดิโอจากกล้องวงจรปิดมาเทียบกับวิดีโอถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กของพรพจน์ พบว่า การแต่งกายของบุคคลในกล้องวงจรปิดและการแต่งกายของพรพจน์ในวิดีโอบนเฟซบุ๊กมีลักษณะตรงกัน แม้ภาพกล้องจากวงจรปิดจะเห็นใบหน้าไม่ชัดเจน แต่พิจารณาจากรูปร่างลักษณะแล้วตรงกัน ทั้งพรพจน์เซ็นรับว่าเป็นภาพของตน ประกอบกับโพสต์ในเฟซบุ๊กของพรพจน์นั้นมีใจความสำคัญว่า ดินแดง กูเอง บื้ม บึ้ม ในลักษณะยอมรับว่าเป็นคนร้าย ทำให้ในทางสืบสวนมีน้ำหนัก เชื่อได้ว่าพรพจน์เป็นชายในคลิปจากกล้องวงจรปิด ซึ่งขว้างวัตถุระเบิดแบบแสวงเครื่องลงพื้นถนนจริง 

เห็นว่า พรพจน์มีความผิดฐาน มีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตไว้ในครอบครอง, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยผู้ร่วมกระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น

ที่พรพจน์นำสืบอ้างว่า การกระทำของจำเลยเป็นการต่อสู้เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ตามขั้นตอน แต่ถ้ายังไม่ได้แก้ก็ต้องปฏิบัติตามไปก่อนแม้ไม่เห็นด้วย นายกฯ ก็มีช่องทางเปลี่ยนแปลงหรือถอดออกตามวิถีทางการเมือง ผู้เห็นต่างสามารถใช้สิทธิโต้แย้งได้ หากกระทำโดยความสงบและสันติ

ในส่วนของยุรนันท์ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ เบิกความว่า ยุรนันท์ซ้อนมอเตอร์ไซค์ และถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กขณะเกิดเหตุไปด้วย พร้อมทั้งพยานโจทก์ได้นำส่งภาพถ่ายเฟซบุ๊กอ้างว่า ยุรนันท์มีการถ่ายทอดสดในที่เกิดเหตุ แต่กลับไม่ปรากฏว่า มีการส่งวิดิโอดังกล่าวมาประกอบการสืบพยานในคดีนี้ ย่อมไม่มีภาพการทำความผิดที่แน่ชัดว่าเป็นยุรนันท์ และไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบเพิ่มเติม ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 (พรพจน์) กระทำผิดตามฟ้อง ลงโทษฐาน ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันใช้ระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้, ทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ร่วมกระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่อง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐาน ใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน และยกฟ้องจำเลยที่ 2 (ยุรนันท์) 

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา พรพจน์ได้ยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 250,000 บาท ในเวลา 16.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวพรพจน์เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป 

X