กันยายน 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,928 คน ใน 1,249 คดี

เดือนกันยายนที่ผ่านไป สถานการณ์ผู้ต้องขังจากการแสดงออกทางการเมืองถูกคุมขังเพิ่มมากขึ้น จากคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 แม้คดียังไม่ถึงที่สุด โดยเดือนเดียวมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 4 คดี และศาลอุทธรณ์อีก 2 คดี และมีจำเลย 3 รายไม่ได้รับการประกันตัวหลังคำพิพากษา ขณะที่ยังมีคดีใหม่จากการชุมนุมเพิ่มขึ้น 5 คดี และคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มอีก 1 คดี โดยทั้งหมดยังเป็นเหตุจากกิจกรรมในช่วงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องจับตาสถานการณ์การใช้กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงออกในรัฐบาลใหม่นี้ต่อไป

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,928 คน ในจำนวน 1,249 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 216 คดี 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 3 คน คดีเพิ่มขึ้น 8 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,922 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 258 คน ในจำนวน 280 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 177 คน ในจำนวน 88 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 186 คน ในจำนวน 205 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,249 คดีดังกล่าว มีจำนวน 429 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 820 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

แนวโน้มคดี ม.112 ในกรุงเทพฯ ศาลอุทธรณ์/ฎีกาสั่งไม่ให้ประกันตัวหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา เพิ่มเป็น 10 ราย

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 คน ใน 2 คดี โดยคดีหนึ่ง เป็นคดีที่ “เก็ท” โสภณ และ “ใบปอ” ถูกออกหมายเรียกโดย สน.ลุมพินี จากกรณีกิจกรรม #ราษฎรหยุดAPEC2022 ที่แยกอโศก ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 แต่ทั้งสองคนยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดีที่ทราบว่ามีประชาชนทั่วไป ถูกดำเนินคดีที่ สภ.ปากเกร็ด และอยู่ระหว่างรอเข้ารับทราบข้อหาเช่นกัน

ในส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมาอีกอย่างน้อย 4 คดี แยกเป็นคดีที่มีการต่อสู้คดี 3 คดี และคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพอีก 1 คดี

ในคดีที่ต่อสู้คดีนั้น ศาลเห็นว่ามีความผิดทั้งหมด 3 คดี ได้แก่ คดีพิมชนก ใจหงษ์ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลลงโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์  ส่วนคดีที่ศาลอาญา อีกสองคดี ได้แก่ คดีของอานนท์ นำภา และวีรภาพ วงษ์สมาน ศาลลงโทษจำคุก 4 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ และได้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ก่อนศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว

ส่วนคดีที่ให้การรับสารภาพ ได้แก่ คดีของธีรวัช ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ศาลพิพากษาโดยให้รอการลงโทษจำคุกเอาไว้

.

.

รูปแบบที่เกิดขึ้นของคดีมาตรา 112 ที่พิจารณาในศาลอาญาช่วงราว 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่าหากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา ไม่ว่าจะให้การรับสารภาพหรือต่อสู้คดี หรือลงโทษในอัตราเท่าไรก็ตาม จะส่งเรื่องการขอประกันตัว ไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา (หากมีการอุทธรณ์คำสั่ง) จะไม่ให้ประกันตัวทั้งหมด โดยอ้างคล้ายกันเรื่องการมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น จึงเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แม้คดีแทบทั้งหมดจำเลยจะไปตามนัดคดีโดยตลอด และไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี

อีกทั้งตาม ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ 2565 หากศาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน และไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ก็สามารถพิจารณาสั่งได้เอง แต่ศาลอาญากลับดำเนินการโดยส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยทั้งหมด 

ขณะที่ในศาลอื่น ๆ ศาลชั้นต้นหลายคดีได้สั่งคำร้องขอประกันตัวด้วยตนเอง แม้จะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก็ตาม

นอกจากนั้นในเดือนที่แล้ว ยังมีคดีมาตรา 112 ที่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ออกมาอีกจำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีของสมบัติ ทองย้อย และคดีของมีชัย ซึ่งทั้งสองคดีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุก แต่คดีสมบัติ ลดโทษเหลือจำคุก 4 ปี คดีของมีชัย จำคุก 2 ปี 8 เดือน เท่ากับศาลชั้นต้น 

แต่ทิศทางการประกันตัวของทั้งสองคดีกลับแตกต่างกัน เมื่อคดีสมบัติ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และต่อมาไม่ได้รับการประกันตัว ขณะที่คดีของมีชัย ศาลจังหวัดสมุทรปราการสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกาด้วยตนเอง

.

.

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณาเท่าที่ทราบข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 10 ราย ได้แก่ วุฒิ (ขังระหว่างต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น), เวหา-ทีปกร-วารุณี -วัฒน์-โสภณ-อานนท์-วีรภาพ (ขังระหว่างอุทธรณ์) และ อุดม-สมบัติ (ขังระหว่างฎีกา)

แนวโน้มดังกล่าว ทำให้น่ากังวลถึงสถานการณ์คำพิพากษาและการประกันตัวในช่วงต่อไป

.

คดีใหม่ส่วนใหญ่เป็นข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขณะที่คดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังต้องต่อสู้ในชั้นศาล

เดือนกันยายน ยังมีคดีจากการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกแจ้งข้อหาเป็นคดีใหม่ อีก 5 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีข้อหาหลักตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จำนวน 4 คดี ได้แก่ คดีทำกิจกรรม #กระชากกวีซีไรต์ เรียกร้องให้ถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ออกจาก สว. ที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566, คดีขี่รถจักรยานยนต์รณรงค์ให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองบริเวณวัดพระแก้ว, คดีแต่งกายชุดนักโทษแสดงออกบริเวณสยามพารากอน-สยามสแควร์-หน้าโรงพยาบาลตำรวจ

นอกจากนั้น ยังมีคดีที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ย้อนออกหมายเรียกนักกิจกรรม 4 คน ไปแจ้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะและข้อหาลหุโทษอื่น ๆ จากการร่วมกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปงาน APEC2022 เพื่อยื่นจดหมายบอกให้ผู้นำโลก ตั้งแต่ช่วงวันที่ 17 พ.ย. 2565 คดีเริ่มดำเนินการหลังเกิดเหตุเกือบ 10 เดือน

ส่วนอีกคดี เป็นกรณีเกี่ยวกับจุดพลุไฟโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างกิจกรรมประท้วงที่หน้าพรรคเพื่อไทย

.

.

นอกจากนั้น ยังมีคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกจับกุมเป็นคดีใหม่อีก 1 คดี แต่เป็นกรณีการโพสต์ข้อความตั้งแต่ช่วงปี 2557-58 หลังการรัฐประหารของ คสช. ได้แก่ คดีของ “วิจิตร” ผู้รับเหมาก่อสร้างในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา มาดำเนินคดีที่ บก.ปอท. จากการโพสต์ข้อความวิจารณ์การเมือง 10 โพสต์ คดีนี้พบว่าหมายจับออกตั้งแต่ปี 2561 โดยวิจิตรไม่เคยได้รับหมายเรียก และไม่เคยทราบว่าถูกดำเนินคดีมาก่อน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม โดยเขาได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน

ในส่วนคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 พบว่าเดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมาอีก 9 คดี มีคดีที่ศาลยกฟ้อง 4 คดี โดยแนวคำวินิจฉัยเห็นว่ากิจกรรมที่ถูกกล่าวหายังเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ และมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดน้อย 

ขณะที่อีกจำนวน 5 คดี ศาลเห็นว่ามีความผิด โดยส่วนใหญ่พิพากษาให้ลงโทษปรับ และมี 1 คดี ที่ให้รอการกำหนดโทษไว้ โดยแนวคำวินิจฉัยไปทำนองว่าการชุมนุมไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-2019 ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

.

นอกจากนั้น ยังมีคดีที่มีคำพิพากษาในระดับของศาลอุทธรณ์อีก 2 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบยะลา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนเห็นว่ากลุ่มจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 2 เดือน โดยให้รอลงอาญาไว้ และยังมีคดีของ “ภูมิ” เยาวชนกรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ13ตุลา2563 ที่ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุก เป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่ศาลอุทธรณ์ได้เปลี่ยนเป็นให้รอการลงโทษจำคุกเอาไว้ 2 ปี แทน

ในเดือนกันยายน ยังมีคำพิพากษาคดีข้อหาดูหมิ่นศาลของ “มานี” และ “จินนี่” หลังทั้งคู่ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กรศาลยุติธรรม แต่ศาลให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดีต่อไป 

.

X