จำคุก 6 เดือน “มานี-จินนี่” คดีดูหมิ่นศาล ไม่รอลงอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ระบุ ‘เป็นเรื่องร้ายแรง-กระทบความเชื่อมั่นศาล’ ก่อนให้ประกันชั้นอุทธรณ์

วันที่ 19 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีดูหมิ่นศาลของ เงินตา คำแสน หรือ “มานี” และ จิรัชยา สกุลทอง หรือ “จินนี่” กรณีปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 1 ปี เนื่องจากจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ระบุ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กรศาลยุติธรรม จึงไม่เห็นสมควรให้รอการลงโทษ

ย้อนไปเมื่อช่วงค่ำวันที่ 25 ส.ค. 2565 มีรายงานกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมทั้งสองตามหมายจับออกโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 19 ส.ค. 2565 โดยมีตำรวจ สน.ยานนาวา เป็นผู้ขอออกหมายจับ จากนั้นทั้งสองถูกนำตัวขึ้นรถตำรวจก่อนเดินทางไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ ทั้งนี้ เงินตาและจิรัชยาระบุว่าไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนหน้านี้

คดีนี้มีสันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ มอบอำนาจให้ เนติพันธ์ สมจิตต์ เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเงินตาและจิรัชยา กรณีที่ทั้งสองปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 โดยผู้กล่าวหาเห็นว่าคำพูดของทั้งสองคนทำให้ศาลหรือผู้พิพากษาได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง 

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาต่อทั้งคู่ ได้แก่ 1.ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณหรือพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 2.ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และ 3.ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 โดยทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ภายหลังการสอบสวน ตำรวจได้นำตัวทั้งสองไปฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในเช้าวันที่ 26 ส.ค. 2565 โดยศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของทั้งคู่ถือเป็นภัยอันตรายอย่างร้ายแรงต่อศาล ทำให้เงินตาและจิรัชยาถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางทันที และถูกคุมขังระหว่างสอบสวนอยู่นาน 9 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 3 ก.ย. 2566 โดยกำหนดวงเงินคนละ 70,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นในลักษณะเดียวกันนี้อีก

หลังจากนั้น พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 โดยทั้งคู่ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในตอนแรก ก่อนจะแถลงขอถอนคำให้การเดิม และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการในเวลาต่อมา

การอ่านคำพิพากษามีขึ้นที่ห้องพิจารณาคดีที่ 604 เงินตาและจิรัชยาเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัวและเพื่อนที่มาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

ศาลได้พิจารณาคดีอื่น ๆ ที่นัดไว้ก่อน จนเวลา 09.40 น. จึงได้อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีใจความสรุปได้ว่า จากรายงานการสืบเสาะและพินิจของเจ้าพนักงานคุมประพฤติ จำเลยทั้งสองยังไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีอื่นมาก่อน โดยในคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ และมีแถลงการณ์ขอโทษผู้เสียหายและศาล พร้อมทั้งมีการโพสต์ขอความขอโทษลงในเฟซบุ๊กของตนเอง

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, 328 และ พ.ร.บ. .ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 เนื่องจากการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามมาตรา 198 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และเนื่องจากจำเลยทั้งสองสำนึกในการกระทำความผิด ตลอดจนมีการแถลงขอโทษตามคำแถลงให้การรับสารภาพ จึงเห็นสมควรให้ลงโทษสถานเบา จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน

พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะ แม้จำเลยจะสำนึกในการกระทำความผิด และให้การรับสารภาพ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองมีถ้อยคำกล่าวหาผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่ไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วยถ้อยคำหยาบคาย โดยกล่าวหาว่าผู้พิพากษามีความประพฤติไม่ดี ไม่มีความเป็นกลางในการพิจารณาคดีด้วยตนเอง ต้องรอคำสั่งของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าศาลอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของบุคคลอื่น ซึ่งจำเลยทั้งสองยอมรับว่าการกล่าวถ้อยคำของจำเลยไม่มีมูลความจริง

หากจำเลยทั้งสองได้ใช้ความระมัดระวัง และศึกษาข้อมูลมากกว่านี้ในขณะเกิดเหตุ คงไม่กระทำความผิด จำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่า ศาลยุติธรรมได้อำนวยความยุติธรรมในการพิจารณาคดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีการเมือง ซึ่งจำเลยทั้งสองเข้าใจผิดไปว่า ศาลไม่ให้ประกันตัวนักโทษในคดีการเมือง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเรื่องร้ายแรง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กรศาลยุติธรรม จึงไม่เห็นสมควรให้รอการลงโทษ คงจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

หลังศาลมีคำพิพากษา เงินตาและจิรัชยาถูกเจ้าหน้าที่ศาลพาตัวไปไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล ก่อนที่นายประกันจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ต่อมา รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันเพิ่มคนละ 35,000 บาท รวมเป็นคนละ 105,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

อนึ่ง คดีนี้นับเป็นคดี “ดูหมิ่นศาล” คดีแรกของเงินตาและจิรัชยาที่ศาลมีคำพิพากษา สำหรับเงินตายังมีคดีดูหมิ่นศาลอีก 1 คดี เป็นคดีที่เธอถูกจับกุมพร้อมแจ้งข้อหา ม.112-ดูหมิ่นศาล จากกรณีร่วมร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ระหว่างการทำกิจกรรมหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ และสำหรับจิรัชยาก็ยังมีคดีดูหมิ่นศาลอีก 1 คดีเช่นกัน เป็นคดีที่เธอถูกจับกุม จากกรณีปราศรัยเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวของ “ไบรท์ ชินวัตร” ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

X