จับกุมชายวัย 57 ปี คดี พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์ 10 ข้อความ วิจารณ์การเมืองหลังรัฐประหาร ปี 57-58

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า วิจิตร (นามสมมติ) ผู้รับเหมาก่อสร้าง วัย 57 ปี  ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโลยี (บก.ปอท.) และตำรวจภูธรภาค 4 รวมกว่า 10 นาย เข้าจับกุมที่บ้านพักใน จ.ขอนแก่น ตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ก่อนจะถูกนำตัวมายัง บก.ปอท. เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ  

เมื่อวิจิตรถูกควบคุมตัวถึง บก.ปอท. ในกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 19.00 น. จึงได้พบกับทนายความ อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนแจ้งว่า จะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำในวันรุ่งขึ้น (20 ก.ย. 2566) เวลา 10.00 น. ทำให้วิจิตรต้องถูกควบคุมตัวไว้ที่ บก.ปอท. ก่อน 1 คืน 

ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพ์ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 10 ข้อความ

สำหรับรายละเอียดในบันทึกการจับกุมระบุว่า วิจิตรเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2071/2561 ลงวันที่ 11 ก.ย. 2561 ซึ่งต้องหาว่ากระทําความผิดฐาน “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) โดยก่อนทําการจับกุมเจ้าพนักงานตํารวจชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับ (ซึ่งปกปิดนาม ประสงค์รางวัลนําจับ) ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งการให้ทำการจับกุม โดยขณะถูกจับกุมมีภรรยาของวิจิตรอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ในชั้นจับกุมวิจิตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

เวลา 10.00 น. ของวันที่ 20 ก.ย. 2566 เมื่อทนายความเดินทางถึง บก.ปอท. เพื่อเตรียมเข้าร่วมกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา แต่พนักงานสอบสวนแจ้งว่าขอเลื่อนการแจ้งข้อกล่าวหาไปเป็นเวลา 13.00 น. เนื่องจากมีคดีความจำนวนมาก 

เวลา 13.00 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาวิจิตร ในความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) โดยพบว่าคดีนี้มี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา เป็นผู้กล่าวหาเอาไว้ จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กพร้อมภาพประกอบ จำนวน 10 โพสต์ ระหว่างวันที่ 24 ต.ค. 2557 – 20 มิ.ย. 2558 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารในขณะนั้น และมีบางโพสต์พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์

ชั้นสอบสวนวิจิตรยืนยันให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดิม และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน พนักงานสอบสวนแจ้งว่า จะนำตัววิจิตรไปขอฝากขังต่อศาลอาญาในเช้าวันที่ 21 ก.ย. 2566 ทำให้วิจิตรจะยังคงถูกควบคุมตัวไว้ที่ บก.ปอท.อีก 1 คืน

เวลา 10.00 น. ของวันที่ 21 ก.ย. 2566 วิจิตรถูกตำรวจนำตัวไปฝากขังครั้งที่ 1 ที่ศาลอาญา ก่อนศาลจะอนุญาตให้ฝากขัง 

ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 90,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก และห้ามทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยหลักทรัพย์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

ทั้งนี้วิจิตรจะต้องมารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ย. 2566 เวลา 8.30 น. 

รับไม่ได้กับการรัฐประหารในขณะนั้น

สำหรับคดีนี้ ‘วิจิตร’ ไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนและรู้สึกตั้งตัวไม่ทันที่ถูกจับกุม นอกจากนั้นยังตกใจที่โพสต์ดังกล่าวเป็นโพสต์เกือบ 10 ปีมาแล้ว  

พื้นเพของ ‘วิจิตร’ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโบถส์และวิหาร โดยรับจ้างก่อสร้างทั่วประเทศ เขาเล่าให้ฟังว่าในช่วงที่มีการปฎิวัติรัฐประหาร กิจการของตนเองแทบจะอยู่ไม่ได้และเกือบจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย เนื่องจากการทำบุญของคนซบเซาลงมาก วัด โบสถ์ที่ถูกว่าจ้างให้สร้างมีทั้งยกเลิกงานและไม่มีเงินมาจ่าย เขาบอกว่ารายได้ที่เสียไปเป็นหลักล้านบาททุกงาน ทำให้เขามีภาวะเครียดเป็นอย่างมาก จนปัจจุบันก็ยังคงต้องประนีประนอมเรื่องหนี้สินและยังต้องใช้หนี้อยู่

เขาบอกว่า สำหรับเรื่องการเมือง เขาเพียงอยากจะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ได้เห็นด้วยความรักต่อชาติบ้านเมือง อย่างไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใครเพราะรู้สึกรับไม่ได้ที่ผู้มีอำนาจปฎิบัติต่อประชาชนอย่างไม่มีมาตรฐานในช่วงเวลานั้น

“ผมรู้สึกว่าประเทศชาติของเราไม่ควรปล่อยให้ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายตามอำเภอใจแบบนี้ แล้วเราจะเหลือสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ประชาชนได้ยึดมั่นว่าหากถูกดำเนินคดีแล้วจะได้รับความเสมอภาคทางกฎหมาย ผมเป็นห่วงจุดนี้มากที่สุด 

“ถ้าทุกคนศิโรราบ ซึมกะทือ (ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์) อยู่เป็นไปเสียหมด เขาก็จะยิ่งได้ใจ อยู่ในอำนาจต่อไป แล้วชาติบ้านเมือง ลูกหลานของเราจะเป็นยังไง”

สำหรับความกังวลของเขาเมื่อถูกแจ้งข้อกล่าวหาและมีคดีความ มี 2 เรื่อง คือ ลูกๆทั้ง 3 คนของเขาที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัย เนื่องจากตนเองเป็นเสาหลักของครอบครัว นอกจากนี้ยังมีเรื่องงานของเขา ซึ่งวิจิตรบอกว่างานสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาต้องใช้ความชำนาญในการก่อสร้าง เป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะ หาคนจะมาทำแทนได้ยากและยังมีวัดที่รอการก่อสร้างอยู่จำนวนมาก ถ้าหากเขาต้องติดคุกจากคดีความเช่นนี้ เขาจะไม่ได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการทำประโยชน์ให้พุทธศาสนา  


X