เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR), สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH),สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ในห้วงเวลาไม่ถึง 2 ปี จำนวนคำพิพากษาคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มียอดถึง 100 คดีแล้ว ซึ่งคดีส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย และการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงการโพสต์บนโลกออนไลน์
จากข้อมูลที่ศูนย์ทนายฯ รวบรวม ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ถึง 30 ตุลาคม 2566 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในทะลุ 100 คดีที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาไปแล้ว ในจำนวนนี้ จำเลยใน 79 คดี ถูกตัดสินว่ามีความผิด และ 21 คดี ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง อัตราการพิพากษาลงโทษอยู่ที่ร้อยละ 79 โดยอัตราโทษจำคุกที่สูงที่สุดที่ศาลลงโทษในช่วงเวลานี้คือ 28 ปี (คดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร)
ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 27 ตุลาคม 2566 มีบุคคลอย่างน้อย 259 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 20 ราย ถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงบางคนเผชิญการดำเนินคดีภายใต้ข้อหานี้หลายคดี ซึ่งอาจส่งผลให้มีโทษจำคุกสูงถึง 300 ปี
ขณะนี้มีบุคคลอย่างน้อย 16 รายที่ถูกกล่าวหาว่าตามมาตรา 112 กำลังถูกควบคุมตัว โดย 1 รายอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น, 2 รายเป็นเยาวชนถูกคุมขังในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, 10 รายที่กำลังอุทธรณ์คดี และ 3 รายกำลังรับโทษจำคุกจากคดีถึงที่สุด โดยส่วนมากผู้ที่ถูกตัดสินความผิดคดีมาตรา 112 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากยังได้รับการประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์ หรือศาลมีคำสั่งให้รอการลงโทษไว้
องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งสี่จึงร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
แถลงการณ์ระบุถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ว่ามาตรา 112 “เป็นปัญหาในการบังคับใช้” และ “จำเป็นต้องทบทวนเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” อีกวาระหนึ่ง คือ วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายเศรษฐา ระบุว่า ควรแก้ไขมาตรา 112
องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งสี่ยังย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกนโยบายและการดำเนินการปราบปรามของรัฐบาลชุดก่อน ๆ รวมถึงการงดเว้นการจับกุม การดำเนินคดี และการคุมขังบุคคลเพื่อการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสันติและถูกต้องตามกฎหมาย
ดูแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษ Thailand: Lèse-majesté verdicts reach 100 in less than two years