ศาลเชียงใหม่ลงจำคุก 2 ปี 8 เดือน คดี ม.112 “ตี้ วรรณวลี” ถือป้ายถ่ายรูปในชุมนุมกรุงเทพฯ แต่ยกฟ้องเพื่อนอีก 2 คน ก่อนให้ประกันตัวตี้

10 ต.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา และเพื่อน รวม 3 คน ซึ่งถูกฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยพิพากษาลงโทษเฉพาะวรรณวลี จำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ส่วนจำเลยอีก 2 คน พิพากษายกฟ้อง

คดีนี้ผู้ถูกฟ้อง ได้แก่ วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้” นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นจำเลยที่ 1, “หนึ่ง“ (นามสมมติ) ปัจจุบันประกอบอาชีพวิศวกร โดยในช่วงเกิดเหตุยังเป็นนักศึกษา เป็นจำเลยที่ 2 และ “น้ำ” (นามสมมติ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นจำเลยที่ 3

ทั้งสามคนเป็นเพื่อนสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดราชบุรี ถูกกล่าวหาจากกรณีวรรณวลีโพสต์ภาพที่ทั้งสามถือป้ายข้อความสามป้าย ซึ่งถ่ายในระหว่างการชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนเลว บริเวณสถานีบีทีเอสสยาม เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 ก่อนได้ถูก สุกิจ เดชกุล สมาชิกของกลุ่มไทยภักดีเชียงใหม่ ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ทำให้ทั้งสามต้องเดินทางไปต่อสู้คดีที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องเกือบสามปีแล้ว

ย้อนอ่าน บันทึกสืบพยานคดี ม.112 “ตี้ วรรณวลี” กับเพื่อน เดินทางไกลสู้ถึงเชียงใหม่เกือบสามปี หลังถูกสมาชิกไทยภักดีกล่าวหา

.

วันนี้ จำเลยทั้งสามเดินทางมาจากกรุงเทพฯ โดยวรรณวลีเดินทางมาโดยรถไฟ เนื่องจากยังติดกำไล EM อยู่ ทำให้ไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้ วันนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จาก iLaw พร้อมประชาชน ประมาณ 5-6 คน ผูกโบว์ขาวที่ข้อมือ เดินทางมาให้กำลังใจและสังเกตการณ์ในการฟังคำพิพากษา

ศาลใช้เวลาพิจารณาคดีอื่นก่อน จนเวลาประมาณ 10.45 น. จึงเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีนี้

โดยสรุป ศาลพิเคราะห์ในสองประเด็นหลัก ประเด็นแรก ปัญหาอำนาจในการฟ้องของโจทก์ เนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมและชูป้ายถ่ายรูปเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แต่ศาลเห็นว่าความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ถือว่าท้องที่ที่เปิดดูข้อความในเฟซบุ๊กได้ เป็นท้องที่ที่กระทำความผิด ผู้กล่าวหาคดีนี้เปิดพบโพสต์ภาพและข้อความในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ และคดีนี้เป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย ก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในคดีนี้

ประเด็นที่สอง จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลได้ไล่เรียงคำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์ ทั้งผู้กล่าวหาที่พบโพสต์ข้อความตามฟ้อง ตำรวจฝ่ายสืบสวนที่ยืนยันการตรวจสอบตัวบุคคลที่ถือป้ายว่าเป็นจำเลยทั้งสามกับทะเบียนราษฎร์ ตำรวจสันติบาลที่ติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองของวรรณวลี พยานนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และภาษาไทยที่มาให้ความเห็นต่อข้อความ และพนักงานสอบสวนที่ทำสำนวนคดี

ก่อนพิเคราะห์ถึงข้อความในป้ายที่จำเลยที่ 1 ถือในภาพ โดยเห็นว่าทั้งผู้กล่าวหา และนักวิชาการอีกสองปาก เบิกความสอดคล้องกันว่าข้อความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และตีความได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10

ทั้งพยานปากตำรวจสันติบาลยังเบิกความถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของจำเลยที่ 1 ว่าหลังจากการโพสต์ข้อความตามฟ้อง 4 วัน จำเลยได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ มีข้อความถึง “วชิรา” และสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในหลายคดี จากการปราศรัยในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์

พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าข้อความในป้ายที่จำเลยที่ 1 ถือ มีความหมายสื่อถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน เป็นการดูหมิ่นถึงสถานะและพฤติการณ์ของพระมหากษัตริย์ แม้โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนป้ายดังกล่าวหรือไม่ แต่จำเลยนำภาพป้ายข้อความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าข้อความสื่อถึงทหารและปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงเห็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้อง

ส่วนป้ายข้อความที่จำเลยที่ 2 ถือ พยานโจทก์นักวิชาการทั้งสองปาก เบิกความเห็นว่าไม่ได้สื่อถึงบุคคลใด แม้จะมีความหมายถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ก็ไม่ใช่การกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นเพียงกล่าวถึงกฎหมาย

ป้ายข้อความของจำเลยที่ 3 พยานโจทก์นักวิชาการทั้งสองปากก็เบิกความว่ามีข้อความไม่ชัดเจน ไม่ได้กล่าวถึงบุคคลใด และไม่ได้สื่อถึงพระมหากษัตริย์ 

แม้จำเลยที่ 2 และ 3 จะยืนถือป้ายร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่ข้อความในป้ายก็ไม่ได้มีเนื้อหาเรียงต่อกัน ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 และ 3 เป็นผู้เขียน และเมื่อจำเลยที่ 1 โพสต์ภาพ พร้อมแท็กจำเลยทั้งสองไป จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้กดยอมรับ หรือกดไลท์ กดแชร์โพสต์ดังกล่าว จึงยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 และ 3 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3

ส่วนจำเลยที่ 1 เห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ที่มีโทษหนักสุด ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ ได้แก่ สมพงษ์ จิวะวิทูรกิจ

.

หลังอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้เข้ามาใส่กุญแจมือวรรณวลี และเมื่อเซ็นเอกสารเสร็จสิ้น จึงนำตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ก่อนทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

จนเวลา 15.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัววรรณวลีระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ประกัน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ หลังจากทำสัญญาประกัน วรรณวลีจึงได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังใต้ถุนศาล

ทั้งนี้ ตี้ วรรณวลี ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 4 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีที่สองที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ก่อนหน้านี้ มีคดีที่ศาลอาญาธนบุรี พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือนเช่นกัน จากกรณีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ในการชุมนุม 6 ธ.ค. 2563 โดยศาลให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ขณะที่อีกสองคดียังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นศาล

.

ดูฐานข้อมูลคดีนี้

คดี 112 “ตี้-วรรณวลีและเพื่อน” หลังไทยภักดีเชียงใหม่แจ้งความ เหตุโพสต์ภาพชูป้ายในม็อบที่กรุงเทพฯ

.

X