ในวันที่ 10 ต.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา และเพื่อน รวม 3 คน ซึ่งถูกฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโพสต์ภาพที่ทั้งสามคนชูป้ายข้อความในการชุมนุมช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่กรุงเทพมหานคร และได้ถูก สุกิจ เดชกุล สมาชิกของกลุ่มไทยภักดีเชียงใหม่ แจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่
คดีนี้ผู้ถูกฟ้อง ได้แก่ วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้” นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง, “หนึ่ง“ (นามสมมติ) ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นวิศวกร และ “น้ำ” (นามสมมติ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งสามคนเป็นเพื่อนสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดราชบุรี โดยไม่ได้มีภูมิลำเนาหรือศึกษาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และการชุมนุมที่มีการชูป้ายก็ไม่ได้เกิดขึ้นในเชียงใหม่ แต่ทั้งสามต้องเดินทางไปต่อสู้คดีอย่างต่อเนื่องเกือบสามปีแล้ว
.
ข้อกล่าวหาและที่มาที่ไปในคดี
ที่มาที่ไปของคดีนี้ เหตุเกิดจากโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของ “ตี้ วรรณวลี” จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 เป็นภาพจำเลยทั้งสามคนยืนเรียงหน้ากระดานถือป้ายข้อความคนละป้าย อยู่ในบริเวณการชุมนุม
ต่อมาทราบว่าเป็นการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนเลว บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม โดยวรรณวลีได้เขียนแคปชั่นประกอบภาพด้วยว่า “จงเข้าร่วมกับข้าซะ ทุกคนนน ข้าจะไม่ยอมติดคุกเพียงผู้เดียว 😆 หลังจากนั้นนักข่าวขอถ่ายกับป้ายนี้ตลอดงานจ้า รวมมิตร การ์ด แกนนำ หมอ 🌱” และได้แท็กเฟซบุ๊กของเพื่อนอีกสองคนเอาไว้
ในวันที่ 29 พ.ย. 2563 สุกิจ เดชกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดีเชียงใหม่ ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว กับพวก อ้างว่าข้อความและภาพถ่ายมีลักษณะ “ดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนที่ได้เห็นข้อความหลงเชื่อ และร่วมแสดงความคิดเห็นที่ลักษณะเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ทรงถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
หลังได้รับหมายเรียกจากตำรวจ ทั้งสามคนได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2564 ก่อนตำรวจจะส่งสำนวนให้อัยการเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564
จากนั้นครึ่งปีผ่านไป วันที่ 26 ต.ค. 2564 พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องทั้งสามคนในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่าป้ายข้อความในรูปดังกล่าวมีความหมายไปในทางเสียดสี ดูถูก ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่เป็นความจริงโดยองค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและผู้ใดจะละเมิดมิได้
ทั้งสามคนยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล และศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้สืบพยานไปเมื่อวันที่ 13-16 มิ.ย. 2566 และนัดสืบพยานจำเลยที่ตกค้างเพิ่มเติมอีกครึ่งนัด เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 จนเสร็จสิ้น
.
ฝ่ายจำเลยต่อสู้ข้อความในป้ายไม่เข้าองค์ประกอบ 112 – เพื่อนตี้ไม่ใช่ผู้โพสต์ เพียงแต่ถูกแท็ก
ในการต่อสู้คดีนั้น ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 8 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, ตำรวจฝ่ายสืบสวน 2 นาย, ตำรวจจาก บก.ปอท., ตำรวจสันติบาลจากกรุงเทพฯ, พนักงานสอบสวน, นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และนักวิชาการด้านภาษาไทย
ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 5 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้งสามคน, นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และนักวิชาการด้านภาษาไทย
ข้อต่อสู้ในคดีนี้ จำเลยทั้งสามคนรับว่าเป็นบุคคลที่ยืนถ่ายภาพในฟ้องจริง แต่ข้อความในป้ายทั้งสามไม่เข้าองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 วรรณวลีรับว่าเป็นผู้โพสต์ภาพถ่ายดังกล่าวขึ้นเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังได้มีผู้สื่อข่าวขอให้ยกป้ายถ่ายรูป ซึ่งป้ายดังกล่าวมาจากจุดที่เป็นกิจกรรมในการชุมนุมที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมเขียนข้อความใส่ป้ายจากลังกระดาษ ข้อความบางส่วนก็มีผู้เขียนใส่ป้ายไว้อยู่แล้ว และแต่ละป้ายก็มีความหมายไม่ชัดเจน เป็นเพียงข้อความที่เป็นมุกตลก หรือข้อความจากการ์ตูนเรื่องวันพีซ
ส่วนจำเลยที่ 2-3 นั้น ไม่ได้ร่วมกันนำเข้าโพสต์ดังกล่าวสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามที่โจทก์ฟ้อง เพียงแต่ถูกจำเลยที่ 1 แท็กชื่อไว้เท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโพสต์ ในส่วนที่เกิดเหตุตามภาพถ่ายยังเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ไม่ใช่จังหวัดเชียงใหม่ การกล่าวหาในคดีนี้มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง
.
ภาพประชาสัมพันธ์การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว เดิมประกาศจัดที่แยกราชประสงค์ แต่ย้ายมาที่บีทีเอสสยามแทน
.
การสืบพยานวันแรก พยานโจทก์เบิกความ 4 ปาก
ลำดับการสืบพยานในคดีนี้ ฝ่ายอัยการโจทก์ขอนำพยานผู้เชี่ยวชาญสองปากที่มาให้ความเห็นต่อข้อความ เข้าเบิกความก่อนในช่วงเช้าวันแรก เนื่องจากพยานปากผู้กล่าวหาจะเดินทางมาในช่วงบ่าย
พยานโจทก์ปากที่ 1 พันธุ์ทิพย์ นวานุช คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท–เชียงใหม่
พันธุ์ทิพย์ระบุว่าตนสอนวิชาด้านกฎหมายอาญา และวิธีพิจารณาความอาญา คดีนี้เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 ได้ถูกพนักงานสอยสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เชิญมาให้ความเห็นต่อถ้อยคำว่าเข้าข่ายมาตรา 112 หรือไม่
พันธุ์ทิพย์เบิกวามว่าตำรวจได้นำภาพถ่ายบุคคลสามคนถือป้ายสามป้ายมาให้ดู โดยพยานไม่รู้จักบุคคลในภาพ แต่ให้ความเห็นว่าดูโดยรวมแล้วมีข้อความสองป้ายที่สามารถสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้แก่ ป้ายที่มีคำว่า “วชิราบบบ” “IO” และป้ายที่มีคำว่า “ดีจริงไม่ต้องมี 112 หรือดีไม่จริง?” พร้อมมีข้อความที่ไม่สุภาพ ส่วนข้อความป้ายที่ 3 ไม่ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร กล่าวถึงบุคคลใด จึงเห็นว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 112
ในการตอบทนายจำเลยแต่ละคนถามค้าน โดยสรุป พยานรับว่าตำรวจได้แจ้งล่วงหน้าก่อนพิจารณาข้อความว่าเป็นคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยตำรวจถามรวม ๆ กันทุกป้าย ทั้งพยานรับว่าข้อความในป้ายทั้งสามไม่ได้ต่อเนื่องกัน แต่แยกออกจากกัน และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เขียน
ในส่วนข้อความนั้น พยานไม่ทราบว่าคำว่า “IO” (ไอโอ) จะมีความหมายถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารได้หรือไม่ และไม่ทราบว่า I นั้นออกเสียงว่า “อาย” ในภาษาอังกฤษ ส่วนข้อความว่า “วชิราบบบ” ตัวอักษรตัวแรกเหมือน “บ” ตัวที่สองเหมือน “ข” ตัวที่สามก็มองว่าเหมือน “บ” ได้
ส่วนป้ายที่มีเลข 112 พยานรับว่าไม่ได้มีข้อความระบุชื่อตัวบุคคลแต่อย่างใด แม้จะมีเลข 112 แต่ก็เป็นไปได้ที่จะไม่ได้สื่อถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากการบังคับใช้มาตรา 112 นั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้บังคับใช้เอง แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่พยานไม่ทราบว่าป้ายนี้อาจจะสื่อถึงคนที่บังคับใช้กฎหมายก็ได้หรือไม่
ส่วนป้ายที่สาม ที่ไม่เข้าใจความหมายชัดเจนนั้น พยานเห็นว่าข้อความเหมือนกับคนเล่นไพ่พูดกัน
พยานทราบว่ามีการถกเถียงในสังคมเรื่องปัญหาการใช้มาตรา 112 ส่วนเรื่องมีการใช้ข้อหามาตรานี้ต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่ พยานไม่ขอตอบคำถามนี้
เมื่อทนายถามถึงองค์ประกอบมาตรา 112 ว่าคำว่าพระมหากษัตริย์ตามตัวบทหมายถึงตัวบุคคลใช่หรือไม่ พยานเห็นว่าหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เพียงตัวบุคคล แม้พยานรับว่าไม่ได้มีคำว่า “สถาบัน” ในตัวบทก็ตาม
ส่วนคำว่า “ดูหมิ่น” ตามมาตรา 112 ต้องใช้การพิจารณาองค์ประกอบตามมาตรา 393 หรือไม่ พยานเห็นว่าไม่ใช่ เพราะมาตรา 393 เป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า การดูหมิ่นตามมาตรา 112 เห็นว่ามีความหมายไม่เหมือนกับมาตรา 393 และคำว่า “หมิ่นประมาท” ในมาตรา 112 ก็มีความหมายไม่เหมือนกับมาตรา 326
เมื่อถามว่าหากมีบุคคลอื่นมาอ่านข้อความในคดีนี้ อาจเห็นเหมือนหรือแตกต่างกับพยานก็ได้ พยานรับว่าใช่ ในส่วนคนที่เห็นแตกต่างไปนั้น จะเป็นเพราะข้อความไม่ได้เฉพาะเจาะจง และชัดเจนพอที่จะบอกใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบคำถามนี้
ทั้งนี้พยานรับว่าถูกตำรวจเชิญไปให้การในคดีมาตรา 112 มาแล้วประมาณ 10 กว่าคดี โดยทราบก่อนไปว่าเป็นการให้ในคดีมาตรา 112 แต่ในคดีต่าง ๆ ที่พยานเห็นว่าเกี่ยวโยงกับมาตรา 112 จริง ๆ มีประมาณ 5 คดี โดยพยานไม่ได้ติดตามคดีที่ไปให้ความเห็น ว่าจะถูกสั่งฟ้องศาลหรือไม่ อย่างไร
ส่วนที่พยานมาเบิกความในชั้นศาลนั้น คดีนี้นับเป็นคดีที่ 4 แล้ว โดยทราบว่ามี 1 คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง
.
พยานโจทก์ปากที่ 2 สุนทร คำยอด อาจารย์ภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
สุนทรเบิกความว่าเกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 ทางตำรวจได้ทำหนังสือมาที่มหาวิทยาลัย ทางผู้บริหารจึงมอบหมายให้พยานมาให้ความเห็น เมื่อไปถึง พนักงานสอบสวนให้พยานดูภาพที่มีการถือป้ายข้อความสามป้าย แล้วถามความคิดเห็น
พยานเห็นว่าการพิจารณาข้อความ ต้องดูบริบทหรือสถานที่ที่เกิดเหตุของข้อความ โดยป้ายที่ 1 เห็นว่าตัวเลข 112 คนทั่วไปสามารถเข้าได้ว่าหมายถึงมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองพระมหากษัตริย์และพระราชินี แต่ในเรื่องนี้ ก็ไม่ได้เป็นการกล่าวถึงบุคคลใด ถ้าดูเฉพาะป้ายนี้ พยานเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลใด
ส่วนป้ายที่ 2 พยานเห็นว่า เมื่อป้ายนี้ถูกชูในการชุมนุม คนที่พบเห็นป้าย อาจะเข้าใจว่ากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ก็เป็นได้ โดยเป็นการแทนพระราชอิสริยายศเดิม คือ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ” ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท ก่อนจะเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน สื่อในลักษณะเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
ส่วนป้ายที่ 3 พยานเห็นว่าข้อความไม่ชัดเจน ไม่สามารถสื่อความหมายได้
ในการให้การ ตำรวจแจ้งพยานว่า ภาพเหล่านี้ได้มาจากเฟซบุ๊กที่มีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่พยานไม่ได้สนใจว่าเป็นเหตุการณ์ที่ใด และมาจากเฟซบุ๊กของบุคคลใด พยานไม่รู้จักจำเลยทั้งสามมาก่อน
ในการตอบทนายจำเลยแต่ละคนถามค้าน โดยสรุปพยานรับว่าในการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนนำภาพถ่ายมาให้ดู แล้วพยานลงชื่อในเอกสาร โดยได้อ่านข้อความที่พิมพ์มาประกอบเป็นบริบทที่ทำให้เข้าใจป้ายดังกล่าว ใช้เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
เมื่อทนายถามว่าผู้เขียนบรรยายข้อความดังกล่าว น่าจะมีอุดมการณ์ในลักษณะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ และรับว่าข้อความบรรยายในลักษณะเกลียดชัง หรือเห็นในทางร้ายต่อฝ่ายตรงข้าม
พยานทราบว่ามีคำว่า “IO” ที่หมายถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐ ส่วนคำว่า “วชิรา” ไม่ใช่คำว่า “วชิราลงกรณ์” และการนำคำว่า “O” กับ “วชิรา” มาประกอบกัน เป็นการตีความของพยานเอง ส่วนจะเขียนอะไรก่อนหรือหลัง พยานไม่ทราบ
เมื่อถามว่าคำว่า “O” ไม่ได้หมายถึง “โอรสราธิราช” เสมอไป พยานรับว่าใช่ ส่วนคำว่า “วชิรา” ก็สามารถหมายถึงบุคคลอื่นได้อยู่ พยานรับว่าใช่
เมื่อทนายถามว่าการมีข้อความปรากฏในกระดาษแผ่นเดียวกัน อาจจะเป็นคนละเรื่องกันก็ได้ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน พยานตอบว่าโดยปกติ มักจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเป็นการจดบันทึก อาจจะเป็นคนละเรื่องก็ได้
นอกจากนั้น พยานไม่ทราบว่ารูปภาพนี้ถูกถ่ายที่ใด แต่ดูจากภาพคนเยอะ ๆ ข้างหลัง ทำให้คิดว่าเป็นม็อบหรือการชุมนุม แต่ไม่ทราบว่าเป็นการชุมนุมที่ไหน เรียกร้องประเด็นอะไร และเมื่อไม่ทราบว่าเป็นการชุมนุมอะไร มีประเด็นอย่างไร ทำให้ไม่สามารถตีความบริบทของป้ายนี้ได้ทั้งหมดใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่
เมื่อถามว่าพยานทราบเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศในช่วงปี 2563 ว่าจะใช้มาตรา 112 เต็มอัตรา การชูป้ายที่มีเลข 112 อาจจะหมายถึงการต่อต้านรัฐบาลก็ได้ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่
พยานไม่ทราบว่าแต่ละป้าย ผู้เขียนจะเป็นคนเดียวกันหรือไม่ แต่เห็นว่าข้อความในป้ายไม่ได้ต่อเนื่องกัน บางส่วนก็เป็นประโยค บางส่วนไม่เป็น และไม่ทราบว่าการมีการเรียงลำดับป้ายหรือไม่ แต่การตีความก็สามารถตีความทีละป้าย แยกกันก็ได้
เมื่อให้พยานตีความทีละป้ายแยกกัน พยานรับว่าป้ายที่ 1 และ 3 อาจตีความไม่ได้ตามที่ผู้แจ้งความกล่าวหา แต่ยืนยันว่าป้ายที่ 2 สื่อถึงตัวบุคคลได้ แต่หากมีบุคคลอื่น ๆ มาอ่านป้าย ก็อาจมีความเห็นแตกต่างจากพยานได้ เพราะข้อความนั้นไม่ได้เขียนเฉพาะเจาะจง จนสามารถเข้าใจได้ตรงกันหมด
พยานรับว่าเคยมาเบิกความที่ศาลในคดีมาตรา 112 แล้ว ประมาณ 5 คดี
ในการตอบคำถามติงของอัยการ พยานรับว่าเคยได้ยินคนพูดคำว่า “O“ ซึ่งสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งมาจากพระราชอิสริยายศเดิม
ส่วนข้อความบรรยายในเอกสารที่ตำรวจให้พยานดู เป็นแค่ข้อความประกอบ แต่พยานตีความหลัก ๆ ก็มาจากข้อความในป้าย 3 อันเท่านั้น และเห็นว่าข้อความในป้ายตรงกลางนั้น สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ได้
.
.
พยานโจทก์ปากที่ 3 พ.ต.ท.ตรีเพชร ป่าหวาย ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่
พ.ต.ท.ตรีเพชร เบิกความว่าในคดีนี้ หลังผู้กล่าวหามาแจ้งความที่สถานีตำรวจ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 ในวันถัดมา พนักงานสอบสวนได้ให้พยานทำการตรวจพิสูจน์ทราบตัวบุคคลของผู้โพสต์ข้อควา และยืนยันบุคคลในภาพ โดยพยานได้นำภาพและชื่อในเฟซบุ๊กมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในทะเบียนราษฎร จึงทราบว่าน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน และได้จัดทำรายงานส่งพนักงานสอบสวน โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นการสอบสวนเรื่องข้อความในโพสต์อีก
ในการตอบทนายจำเลยแต่ละคนถามค้าน โดยสรุปพยานรับว่าในระบบของตำรวจขณะนั้น พบว่าจำเลยทั้ง 3 ไม่มีประวัติอาชญากรรม และพยานไม่ได้ตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม ไม่ทราบว่ามีการยึดมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของจำเลยหรือไม่
พยานรับว่ามูลเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ แต่มีผู้มาแจ้งความที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ แต่พยานไม่ได้รับมอบหมายให้ดูในเรื่องป้าย มีหน้าที่พิสูจน์ตัวบุคคลอย่างเดียว
พยานรับอีกว่าตนเพียงตรวจชื่อบัญชีเฟซบุ๊กทั้งสาม ว่าตรงกับทะเบียนราษฎร มีใบหน้าคล้ายกัน และชื่อตรงกัน แต่เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นการยืนยันตัวบุคคลว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความ
.
พยานโจทก์ปากที่ 4 สุกิจ เดชกุล ผู้กล่าวหา
สุกิจเบิกความว่า ตนประกอบธุรกิจส่วนตัวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 พยานกำลังเล่นเฟซบุ๊กอยู่ และมีผู้ส่งข้อมูลทางไลน์ซึ่งเป็นภาพถ่ายบุคคลสามคนชูป้ายมาให้ พยานจึงได้เข้าไปดูและเก็บรวบรวมไว้
ต่อมาวันที่ 29 พ.ย. 2563 พยานได้ตรวจสอบข้อมูลเฟซบุ๊กของทั้งสามคน ที่ระบุตัวบุคคลได้ และยังพบว่าโพสต์ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ทำให้บุคคลทั่วไปก็เห็นโพสต์ได้ จึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากเห็นว่าข้อความในป้ายเป็นข้อความบิดเบือนความจริง ใส่ร้ายป้ายสี ลบหลู่ดูหมิ่น เสียภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ ในส่วนของแผ่นป้ายและแคปชั่นในโพสต์ พยานเบิกความว่าน่าจะเป็นใครสักคนในจำเลยทั้ง 3 ที่เป็นผู้เขียน
สุกิจยังรับว่าพยานอยู่ในเครือข่ายรักสถาบันฯ ที่มีการไปแจ้งความคดีมาตรา 112 ทั่วประเทศ โดยพยานเคยไปแจ้งความใน 2 คดี ได้แก่ คดีที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ และ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ (ดูบันทึกคดีแสดง Performance Art ของ “รามิล” ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพยานได้ขอไปให้การต่อตำรวจด้วยตนเอง)
พยานยังเป็นสมาชิกกลุ่มไทยภักดี ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้น ยังไม่ได้ตั้งเป็นพรรคการเมือง มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ – ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ – โดยพยานเคยเป็นประธานของกลุ่มไทยภักดีเชียงใหม่
ในการตอบทนายจำเลยแต่ละคนถามค้าน โดยสรุปพยานยืนยันว่าการไปแจ้งความเป็นไปในนามส่วนตัว แต่รับว่ากลุ่มไทยภักดีในตอนนั้น กับพรรคการเมืองไทยภักดี มีความเกี่ยวข้องกัน และมีนโนบายต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 ส่วนในเรื่องการขอให้เพิ่มโทษกฎหมายนี้ พยานไม่ทราบ
ในส่วนเอกสารโจทก์ 3 ลำดับนั้น พยานรับว่าไม่ได้เป็นผู้จัดทำขึ้นเอง แต่มีผู้นำเอกสารมาให้ และพยานเห็นด้วย จึงมอบให้ตำรวจประกอบการแจ้งความ
พยานเบิกความกลับไปมาถึงประเด็นที่พยานเห็นว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความ โดยตอนแรกระบุว่าจำเลยที่ 1 คือวรรณวลีเป็น “แอดมิน” ของเพจที่โพสต์ แต่พยานแก้ต่อมาว่า เป็นบัญชีส่วนตัว ก่อนระบุว่า “แอดมิน” ที่พยานพูดถึงหมายถึง “บัญชีผู้ใช้” ในช่วงท้าย พยานกลับระบุว่าไม่ทราบว่าใครเป็นคนโพสต์ แต่เข้าใจว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโพสต์
พยานตอบคำถามทนายว่าตนใช้เฟซบุ๊กมาประมาณ 10 ปี แต่ไม่ทราบว่าว่า tag (การแท็ก) คืออะไร และพยานไม่ได้เป็นเพื่อนกับจำเลยแต่ละคนในเฟซบุ๊ก
ส่วนที่พยานเห็นว่าป้ายข้อความเป็นการดูหมิ่นตามมาตรา 112 นั้น ไม่ได้มีใครเป็นผู้บอกพยาน แต่ใช้วิจารณญาณของตน
พยานรับว่าทราบว่าช่วงปี 2561-2562 ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ให้ใช้มาตรา 112 แต่ในส่วนของปี 2563 นั้น พยานไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศว่าจะให้ใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา
สุกิจเบิกความเพิ่มเติมว่าในการเข้าแจ้งความนั้น มีเพื่อนที่มาเป็นพยานให้ด้วย ชื่อว่า “ต่อ” เป็นสมาชิกกลุ่มไทยภักดีเช่นกัน โดยเพื่อนของพยานที่ชื่อ “ต่อ” และ “ปุ๊” เป็นผู้นำเอกสารสามฉบับในเอกสารโจทก์มาให้พยาน และรับว่าเพื่อนของพยานนั้นเป็นผู้เห็นโพสต์ในคดีนี้ก่อน และส่งมาให้พยานในไลน์ แต่พยานต้องการมาแจ้งความด้วยตนเอง เพราะต้องการที่จะแจ้งความคดีในทำนองนี้อยู่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าการทำทุกอย่างเพื่อสถาบันฯ นั้นเป็นหน้าที่ของพลเมือง
พยานรับว่าการตรวจสอบข้อมูลก่อนจะแจ้งความนั้น ทราบว่าจำเลยทั้งสามคนไม่ได้อยู่อาศัยที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่พยานอ้างว่าจำไม่ได้ว่าเหตุใดจึงไม่แจ้งความทันทีที่เห็นข้อความ แต่รออีกสองวัน จึงไปแจ้งความ
อีกทั้ง พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เขียนป้ายข้อความ สถานที่ถ่ายรูปพยานก็ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ใด แต่น่าจะเป็นในกรุงเทพฯ
.
วันที่สอง สืบพยานโจทก์อีก 4 ปาก
พยานโจทก์ปากที่ 5 พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร ขณะเกิดเหตุทำงานอยู่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
พ.ต.ต.กิตติพงศ์ เบิกความว่าในช่วงปี 2563 ตนได้รับหนังสือจาก สภ.เมืองเชียงใหม่ ให้ตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 และพวกในคดีนี้ โดยพบว่าในช่วงเดือนมกราคม 2564 วรรณวลีเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว และยังใช้อยู่ แต่เปลี่ยนชื่อโปรไฟล์ เนื่องจากพบว่ามีการโพสต์หมายเรียกคดีต่าง ๆ ที่มีชื่อสกุลของวรรณวลีเอง และยังตรวจสอบภาพที่เฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ พบว่าเป็นคนเดียวกับวรรณวลี ทั้งตรวจพบว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหายังปรากฏอยู่
ส่วนเพื่อนอีก 2 คน พบว่ายังใช้เฟซบุ๊กอยู่ แต่ตรวจสอบระบุตัวบุคคลไม่ได้ พยานไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่สืบสวนเรื่องนี้ต่อหรือไม่ โดยพยานได้จัดทำบันทึกการตรวจสอบส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่
ในการตอบทนายจำเลยแต่ละคนถามค้าน โดยสรุปพยานไม่ได้ตรวจสอบเรื่องเนื้อหาถ้อยคำในภาพ พยานรับว่าเฟซบุ๊กของคนที่เชื่อว่าเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 เพียงแต่ถูก “แท็ก” เท่านั้น แต่คนที่ถูกแท็กไม่จำเป็นต้องมีส่วนรู้เห็นกับโพสต์ข้อความดังกล่าว โดยกรณีนี้คนที่โพสต์และจัดการโพสต์คือจำเลยที่ 1 และรับว่าจำเลยอีกสองคนอาจจะไม่มีส่วนรู้เห็นกับโพสต์
.
พยานโจทก์ปากที่ 6 พ.ต.ต.เรวัติ นวภูวนนท์ รองสารวัตรสืบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5
พ.ต.ต.เรวัติ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 พยานได้รับหนังสือจาก สภ.เมืองเชียงใหม่ ให้ตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 3 บัญชีในคดีนี้ โดยได้ตรวจสอบโปรไฟล์เฟซบุ๊กกับทะเบียนราษฎร์ พบว่าเป็นคนเดียวกันทั้งสามคน และทั้งสามน่าจะเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว แต่พยานตรวจสอบไม่ได้ว่าใครโพสต์อะไร ในเวลาไหน
ในการตอบทนายจำเลยแต่ละคนถามค้าน โดยสรุปพยานยอมรับว่าตามเอกสารแล้ว พยานได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กเฉพาะของจำเลยที่ 1 ก่อน ในช่วงวันที่ 24 ก.พ. 2564 แต่อีกสองเดือนต่อมา ค่อยมีการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยอีกสองคน
พยานรับว่าโพสต์ข้อความในคดีนี้ มีเพียงของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยอีกสองคนถูก “แท็ก” ชื่อเฟซบุ๊กไป แต่พยานไม่สามารถบอกได้ว่าการแท็กนั้นเป็นไปเพื่ออะไร และไม่มีอะไรบอกได้ว่าจำเลยอีก 2 คนเกี่ยวข้องกับโพสต์ดังกล่าว ทั้งจากการตรวจสอบสองครั้ง จำไม่ได้ว่าจำนวนคนกดไลก์หรือกดแชร์โพสต์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และไม่ทราบว่าจำเลยอีก 2 คน จะไปกดไลก์ กดแชร์ หรือคอมเมนต์ในโพสต์ดังกล่าวหรือไม่
.
.
พยานโจทก์ปากที่ 7 พ.ต.ต.วิชญ์พล ทิพย์ชิต เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล
พ.ต.ต.วิชญ์พล เบิกความว่า ขณะนี้ทำงานอยู่ที่กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะ สภ.เมืองเชียงใหม่ ส่งหนังสือมาให้สืบสวนการเคลื่อนไหวของวรรณวลีในกรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 21 พ.ย. 2563 โดยพยานระบุว่าเคยตรวจสอบการเคลื่อนไหวของวรรณวลีก่อนหน้านี้ที่จังหวัดพะเยา
ในส่วนวันที่ 21 พ.ย. 2563 พยานรวบรวมจากเจ้าหน้าที่ภาคสนาม พบว่าวรรณวลีได้ขึ้นปราศรัยในเวทีที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม โดยมีการพาดพิงสถาบันฯ โจมตีรัฐบาล เรื่องเรือดำน้ำ รถถัง และเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและพัฒนาประเทศ
พยานยังเบิกความถึงการขึ้นปราศรัยของวรรณวลีหลังจากนั้น เช่น ในวันที่ 25 พ.ย. 2563 มีการจัดชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ (แต่พยานระบุว่าเป็นธนาคารกสิกรไทย) วรรณวลีก็ได้ขึ้นปราศรัย หรือที่หน้ากรมทหารราบบางเขน เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 ก็เช่นกัน พยานได้รวบรวมข้อมูลและถอดเทปคำปราศรัยของวรรณวลี จัดทำเป็นรายงานการสืบสวน
พยานยังระบุว่าในการไปติดตามการชุมนุมทุกครั้ง พยานไม่ได้ติดตามแค่วรรณวลี แต่มีนักกิจกรรมคนอื่นด้วย และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน
ในการตอบทนายจำเลยแต่ละคนถามค้าน โดยสรุปพยานรับว่าได้จัดทำข้อมูลของจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว เนื่องจากอยู่ในรายชื่อ Watch List โดยวรรณวลีก็เป็น “เป้าหมาย” ที่ทางสันติบาลเฝ้าดูพฤติกรรมอยู่แล้ว ก่อนมีการจัดทำรายงานการสืบสวน
พยานรับว่าเนื้อหาที่ถอดเทปคำปราศรัยของวรรณวลีที่ปรากฏในสำนวนคดีนั้น เป็นคนละวันกับวันที่ 21 พ.ย. 2563 ที่เกิดเหตุในคดีนี้ และไม่ได้ส่งถอดเทปคำปราศรัยและคลิปของวันดังกล่าว
สำหรับการชุมนุมในวันที่ 21 พ.ย. 2563 พยานไม่ได้ไปดูด้วยตนเอง แต่ให้ลูกน้องไปถ่ายรูปและยืนยันตัวตนมาให้ โดยพยานดูไลฟ์และสรุปประเด็น จากนั้นพยานก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีต่อจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด
พยานระบุว่าเคยได้ยินพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่ระบุว่าการใช้มาตรา 112 ทำให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน แต่ไม่ทราบมาก่อนว่ารัชกาลที่ 10 เคยตรัสว่าไม่ให้ใช้กฎหมายนี้ และต่อมานายกรัฐมนตรีประกาศจะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราในเดือนตุลาคม 2563
พยานไม่ได้เป็นผู้ให้ความเห็นต่อโพสต์ในคดีนี้ว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ เพียงแต่รวบรวมข้อมูลของจำเลยที่ 1 และพยานไม่เคยได้ยินชื่อจำเลยที่ 2-3 มาก่อน ในเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
.
พยานโจทก์ปากที่ 8 ร.ต.ท.อมรเทพ ชุมวิสูตร พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่
ร.ต.ท.อมรเทพ เบิกความว่าพยานถูกตั้งให้เป็นคณะทำงานของพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีสำคัญ หลังจากมีการแจ้งความของนายสุกิจ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 โดยแจ้งเฉพาะจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมส่งเอกสารสามฉบับไว้เป็นหลักฐาน
พยานได้สอบปากคำพยานปากอื่น ๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักวิชาการสองท่านที่มาให้ความคิดเห็น รวมทั้งจำเลยทั้งสามที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พยานยังได้รวบรวมพยานเอกสารในคดีนี้ โดยมีการไล่เรียงผู้จัดทำของเอกสารแต่ละฉบับ
เมื่อพยานรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว คณะทำงานเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112 จึงส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการต่อไป โดยที่เห็นว่าไม่เข้าข่ายตามมาตรา 116 พยานยังอ้างว่าได้สอบปากคำประชาชนทั่วไปไว้ด้วย ที่มาให้ความเห็นต่อข้อความว่าอาจจะเข้าข่ายมาตรา 112 แต่ประชาชนเหล่านั้นไม่ได้มาเป็นพยาน
พยานปากนี้เริ่มเบิกความในเวลาประมาณ 15.43 น. ทำให้เบิกความได้เพียงส่วนของการตอบคำถามของอัยการโจทก์ และให้เลื่อนถามค้านของฝ่ายจำเลยไปในวันถัดไป
.
วันที่สาม ถามค้านพยานโจทก์ปากสุดท้ายต่อเนื่อง
พยานโจทก์ปากที่ 8 ร.ต.ท.อมรเทพ ชุมวิสูตร ในการตอบทนายจำเลยแต่ละคนถามค้าน โดยสรุป พยานเบิกความว่าหัวหน้าคณะทำงานของพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้คือ พ.ต.อ.วิสุทธิ์ ไพรัตน์ โดยรายชื่อคณะทำงาน รายงานการสอบสวน และดุลยพินิจของคณะทำงาน พยานได้ส่งเอกสารให้อัยการแล้ว แต่อัยการไม่ได้อ้างส่ง
ทนายจำเลยที่ 1 จึงขอศาลออกหมายให้นำสำเนามาสรุปการสอบสวนและความเห็นในคดีของคณะทำงานเข้ามาในสำนวน ศาลได้สอบถามอัยการว่าต้องการส่งหรือไม่ อัยการแถลงว่าหากศาลสั่ง ก็ยินดีให้ดูและใช้ถามค้าน โดยเอกสารดังกล่าวระบุพยานบุคคลมากกว่าที่นำมาเบิกความในชั้นศาล มีประมาณสิบกว่าปาก โดยพยานบางปากให้การว่าป้ายที่จำเลยทั้งสามถือไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10
ร.ต.ท.อมรเทพ เบิกความว่าพยานไม่ได้มีความเห็นส่วนตัวว่าข้อความในป้ายนั้นผิดหรือไม่ผิด แต่ดูจากความเห็นทั้งหมดของพยานที่เรียกมาให้ความเห็น
ในส่วนของผู้กล่าวหา พยานระบุว่าเดินทางมาคนเดียวในวันแจ้งความ โดยอ้างตนว่าเป็นประธานกลุ่มอะไรบางอย่าง ซึ่งพยานจำชื่อไม่ได้ และระบุว่าเปิดกิจการที่พักในจังหวัดเชียงใหม่ ในเอกสารที่สุกิจนำมาส่ง พยานไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้จัดทำ หรือทำมาตอนไหน และไม่ได้สอบถามไว้ แต่สุกิจได้ลงชื่อรับรอง
พยานเข้าใจว่าสถานที่ที่ชูป้ายในภาพน่าจะเป็นบีทีเอสสยามฯ เขตปทุมวัน พยานเคยโทรไปสอบถาม สน.ปทุมวัน ว่ามีการดำเนินคดีนี้จากเหตุนี้หรือไม่ พบว่าไม่มี และไม่ได้ประสานให้ตำรวจ สน.ปทุมวัน มาทำคดีนี้แทน
พยานจำไม่ได้ว่าเคยขอให้ศาลสั่งปิดกั้นการเข้าถึงโพสต์ตามฟ้องหรือไม่ และไม่ได้ตรวจสอบว่าการถอดเทปคำปราศรัยของวรรณวลีในเอกสารโจทก์นั้น ตรงกับข้อความที่ปราศรัยจริงหรือไม่
พยานยังระบุว่าไม่ทราบว่าสุกิจ ผู้แจ้งความ จะรู้เรื่องกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่ใช่นักกฎหมาย และสุกิจไม่ได้แจ้งพยานว่าจะไปแจ้งความที่อื่นหรือไม่ โดยเขาเตรียมข้อมูลมาเองบางส่วน แต่ไม่ได้ระบุว่าการชูป้ายเกิดขึ้นที่ไหน
พยานรับว่าในโพสต์ที่กล่าวหา จำเลยที่ 2-3 เป็นเพียงผู้ถูกแท็กชื่อเท่านั้น ไม่มีเหตุเชื่อมโยงอื่น แต่ในรายงานของตำรวจที่ตรวจสอบเฟซบุ๊กกลับไม่ได้ระบุถึงเรื่องดังกล่าว และในการฟ้องคดีกลับระบุว่าจำเลยทั้งสาม “ร่วมกัน” กระทำ
ขณะเดียวกัน ร.ต.ท.อมรเทพ ยังรับว่าไม่มีพยานที่มาให้การเรื่องพบเห็นจำเลยทั้งสามถือป้ายในขณะเกิดเหตุ จึงไม่ทราบพฤติการณ์ในวันเกิดเหตุ แต่ป้ายทั้งสามนั้นไม่ได้ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกันเป็นประโยคเดียวกัน และไม่ทราบว่าการถือป้ายนั้นมีการเรียงลำดับหรือไม่ แต่เห็นว่าถ้าสลับการเรียงป้าย ความหมายก็ไม่ได้เปลี่ยนไป
พยานรับว่าไม่มีข้อความอาฆาตมาดร้ายในป้าย และป้ายที่มีเลข 112 นั้น แม้มาตรา 112 จะเกี่ยวกับสถาบันฯ แต่ผู้บังคับใช้กฎหมาย คือเจ้าพนักงาน ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่พยานไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวจะสื่อถึง พล.อ.ประยุทธ์ ได้หรือไม่ พยานยังรับว่าป้ายทั้งสามไม่ได้ระบุชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใด ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง การให้ความเห็นอาจตีความไปได้แตกต่างกัน
ในการตอบคำถามติงของอัยการ พยานยืนยันว่าการทำความเห็นว่าจะฟ้องหรือไม่ของคณะพนักงานสอบสวน เป็นการทำร่วมกัน ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว และพยานความเห็นหลายคนก็ให้การว่าถ้านำสามป้ายมารวมกัน จะสื่อไปถึงพระมหากษัตริย์ได้ ส่วนจะเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ก็จะอีกเรื่องหนึ่ง โดยพยานไม่ได้ชี้นำในการสอบปากคำ
พยานยังเบิกความว่าผู้แจ้งความไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมาย การพิจารณาว่าผิดกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน ผู้แจ้งความมีหน้าที่แจ้งข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน และยืนยันแม้คดีนี้จะเกิดเหตุที่กรุงเทพฯ แต่มีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งบุคคลที่เห็นโพสต์ดังกล่าว จะเห็นจากที่ไหนก็ได้ และสามารถไปแจ้งความได้
พยานเบิกความถึงข้อความในป้ายที่วรรณวลีถืออีกครั้งว่า สามารถสื่อถึงพระมหากษัตริย์ได้ มีลักษณะเป็นคำพ้องเสียงที่ทำให้คิดถึงรัชกาลที่ 10 ได้
.
.
วันที่สี่ สืบพยานจำเลย 4 ปาก
พยานจำเลยปากที่ 1 วรรณวลี ธรรมสัตยา จำเลยที่ 1 อ้างตนเป็นพยาน
วรรณวลี เบิกความว่าขณะนี้พยานทำงานขับรถส่งอาหาร และกำลังเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อในปี 2563 พยานเคยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยพะเยา และได้เริ่มเข้าการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากต้องการร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยและช่วยเหลือชาวบ้าน
พยานได้ร่วมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก่อนเริ่มถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคาม จึงไปอยู่ที่กรุงเทพฯ พยานไม่ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใดจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง พยานรู้จักจำเลยที่ 2-3 เพราะเรียนชั้นมัธยมปลายที่เดียวกัน คือที่จังหวัดราชบุรี
ในวันเกิดเหตุ 21 พ.ย. 2563 มีการจัดชุมนุมโดยกลุ่มนักเรียนเลว ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ที่บริเวณบีทีเอสสยาม วันนั้น จำเลยที่ 3 ซึ่งไปเรียนอยู่ต่างประเทศ ทำให้ไม่ได้เจอหน้ากันนาน ได้นัดหมายทานข้าวกับพยานและจำเลยที่ 2
หลังจากทานอาหาร พยานได้ชวนเพื่อน ๆ ไปดูการชุมนุมด้วยกัน โดยพยานตั้งใจจะไปอยู่แล้ว ทั้งสามคนจึงไปเดินดูบูธหนังสือ บูธกิจกรรมให้ความรู้ บูธให้แสดงความเห็น
พยานได้ไปร่วมถือป้ายกระดาษที่มีอยู่ก่อนแล้วในที่ชุมนุม ซึ่งมีทั้งปากกาสีและป้ายจากลังกระดาษให้คนที่ผ่านไปมาเข้าร่วมเขียน เป็นลักษณะการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อต้องการปฏิรูปการศึกษาที่ล้าหลัง ซึ่งถูกเรียกว่า “ไดโนเสาร์”
สำหรับป้ายที่พยานถือ เป็นจุดที่ผู้จัดชุมนุมวางอุปกรณ์ให้ผู้เข้าร่วมร่วมเขียน โดยมีผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ เขียนทิ้งไว้อยู่ก่อนแล้ว บางคนก็นำไปชูต่อ หรือบางคนนำกระดาษลังไปรองนั่ง พยานได้ร่วมแจกป้ายให้แม่ ๆ คนเสื้อแดง ที่อยากได้ป้ายไปถือ จึงมีคนทยอยนำป้ายไป และมีป้ายไหนเหลือ พยานกับเพื่อนก็หยิบมา
จากนั้นมีนักข่าวมาเห็นพยานกับเพื่อน จึงขอให้ชูป้ายถ่ายรูป จึงกลายมาเป็นภาพดังกล่าว และนักข่าวได้ส่งมาให้พยานในภายหลัง
หลังจากที่ถ่ายรูปไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง พยานได้โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นที่ระลึก เพราะไม่ได้เจอเพื่อนอีกสองคนนาน และป้ายดังกล่าวก็ถูกนำไปทิ้ง โดยขณะโพสต์ภาพ จำเลยอีกสองคนไม่ได้อยู่ด้วยกันกับพยานแล้ว และพยานได้แท็กทั้งสองคนโดยไม่ได้บอกก่อน ในวันดังกล่าว พยานยังได้ร่วมขึ้นปราศรัย เนื่องจากมีการเปิดให้ใครก็ได้ไปขอคิวขึ้นปราศรัย
วรรณวลียืนยันว่าตนไม่ใช่แกนนำในการชุมนุมต่าง ๆ เพราะทุกคนก็เป็นแกนนำได้ เพียงแต่พยานร่วมขึ้นปราศรัยในหลาย ๆ การชุมนุม เพราะมีคนชักชวน โดยเน้นปราศรัยเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล และไม่ได้ปราศรัยเหมือนกันในทุกการชุมนุม แล้วแต่หัวข้อและสถานการณ์
พยานเริ่มถูกดำเนินคดีมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ในคดีนี้ พยานก็ยังงงว่าถูกดำเนินคดีที่เชียงใหม่ได้อย่างไร เพราะไม่เคยมาร่วมกิจกรรมที่เชียงใหม่มาก่อน เมื่อเห็นข้อกล่าวหาในคดี ก็ยืนยันว่าตนไม่ได้กระทำความผิด จึงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
วรรณวลีเบิกความถึงแคปชั่นข้อความในโพสต์ดังกล่าว ที่มีข้อความว่า “จงเข้าร่วมกับข้าซะ ทุกคนนน ข้าจะไม่ยอมติดคุกเพียงผู้เดียว” พยานเอามาจากการ์ตูนเรื่องวันพีซ คือไม่ยอมติดคุกคนเดียว โดยในการ์ตูนมีเรือนจำของรัฐบาลโลกที่มี 6 ระดับ คือคุกอิมเพลดาวน์ พยานมองว่าตลกดี ซึ่งแคปชั่นดังกล่าวทำให้พยานถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนในป้ายข้อความ ที่มีข้อความว่า “สายตากูไม่ได้มีฮาคิ” นั้น “ฮาคิ” คือพลังของตัวละครในวันพีซ ซึ่งเป็นการ์ตูนที่พยานชอบ เป็นการล้อเลียนกลุ่มความคิดทางการเมืองขั้วตรงข้ามในประโยค “ไม่ต้องทำอะไรหรอกแค่สายตาก็ล้มสถาบัน” พยานจึงไปเขียนต่อว่าไม่มีฮาคิ เพราะสายตาเราไม่มีฮาคิ ไม่มีพลังพิเศษจะไปล้มได้อย่างไร และป้ายขำ ๆ เช่นนี้ก็มีมากมายในที่ชุมนุม
พยานเข้าใจว่าผู้กล่าวหาคดีนี้ อยู่ในกลุ่มไทยภักดี จึงมีอคติต่อพยานอยู่แล้ว โดยสังเกตได้จากตอนสืบพยาน ที่เบิกความว่าดูก็รู้ว่าผิด 112 ทั้งที่ยังอ่านป้ายไม่ชัดเจน โดยหลายคดีของพยานที่กรุงเทพฯ ก็เกิดจากการที่มีกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามเป็นผู้ไปกล่าวหา
พยานยังตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 2 และ 3 ว่า ในส่วนของเพื่อนอีกสองคน ในตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะไปชุมนุมตั้งแต่แรก แต่เมื่อชักชวน ก็ไปด้วยกัน ทั้งสามคนไม่ได้ตั้งใจชูป้ายอยู่ในที่ชุมนุม แต่มีนักข่าวขอให้ชูเพื่อถ่ายรูป และไม่ได้มีการจัดเรียงป้าย หรือเตรียมกันว่าต้องยืนอย่างไร โดยการยกป้ายถ่ายรูปเกิดขึ้นไม่ถึง 1 นาที
ในคดีหลายสิบคดีที่พยานถูกกล่าวหา ส่วนใหญ่เป็นคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยพยานเคยคิดว่าตนเองถูกจับตาจากตำรวจสันติบาลเพราะไปเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ แต่ในการสืบพยานคดีนี้ ก็พบว่าตนถูกติดตามมาตั้งแต่ที่จังหวัดพะเยาแล้ว
อัยการโจทก์ถามค้าน พยานรับว่าตอนชูป้ายข้อความนั้นพอเข้าใจความหมายของป้าย แต่เพื่อนอีกสองคนจะเข้าใจหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ ในส่วนป้ายทั้งสาม พยานไม่ได้เขียนเองทั้งหมด บางส่วนมีผู้เขียนไว้อยู่แล้ว แต่รับว่าเป็นผู้เขียนแคปชั่นที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กเอง
สำหรับนักข่าวที่ขอถ่ายรูป พยานเคยเจอในการชุมนุมอื่น ๆ แต่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว นอกจากนั้นยังมีคนอื่น ๆ ที่ถือป้ายอยู่ในที่ชุมนุมด้วย เนื่องจากมีจุดที่ให้ร่วมกันเขียนป้ายได้ ซึ่งป้ายส่วนใหญ่จะมีข้อความหรือมุกตลกที่พบเห็นกันอยู่แล้วในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถตีความได้หลายความหมาย
ส่วนกรณีผู้กล่าวหา พยานไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ทราบว่าเคลื่อนไหวทางการเมืองในขั้วตรงข้าม และทราบว่าในตอนนั้นกลุ่มไทยภักดียังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง ส่วนพยานสนับสนุนแนวคิดของพรรคฝั่งประชาธิปไตย
ตอบคำถามติงทนายความ พยานเบิกความเพิ่มเติมว่า หากเป็นผู้สูงอายุอาจจะไม่เข้าใจข้อความที่ใช้กันในป้าย ซึ่งมาจากการ์ตูน โดยพยานไม่ได้รู้จักส่วนตัวกับกลุ่มความคิดทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่พบว่าจะมีคนมาไลฟ์ด่าทอในเชิงที่ว่ายัดเยียดว่าเป็นพวกล้มล้างการปกครอง
.
พยานจำเลยปากที่ 2 “หนึ่ง” จำเลยที่ 2 อ้างตนเป็นพยาน
หนึ่ง เบิกความว่าปัจจุบันตนประกอบอาชีพเป็นวิศวกร ขณะเกิดเหตุ ยังศึกษาอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
พยานรู้จักกับจำเลยที่ 1 เพราะเป็นสายรหัสกันตอนเรียนชั้นมัธยมฯ ที่จังหวัดราชบุรี หลังเรียนจบ พยานมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ส่วนจำเลยที่ 1 ทราบว่าไปเรียนอยู่ที่พะเยา และจำเลยที่ 3 ไปเรียนต่างประเทศ จึงไม่ได้เจอกันอีกเลย
วันเกิดเหตุพยานกับจำเลยอีกสองคน มีนัดไปทานอาหารกัน ระหว่างนั้น วรรณวลีได้ชักชวนไปร่วมกิจกรรมชุมนุมที่สยาม พยานจึงสนใจไปด้วย โดยไปถึงประมาณ 4 โมงเย็น ในตอนแรก พยานไม่ทราบว่าเป็นการชุมนุมอะไร ต่อมาจึงพบว่าเป็นการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปการศึกษา
กลุ่มของพยานได้เดินดูกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ชุมนุมไปเรื่อย ๆ ก่อนพบจุดที่มีกล่องลังกระดาษ และกองปากกา ซึ่งมีคนนั่งเขียนกันอยู่ก่อนแล้ว โดยมีคนที่ถือไปชูบ้าง หรือเอาไปรองนั่งบ้าง กลุ่มของพยานได้หยิบแผ่นลังกระดาษไปเช่นกัน โดยตอนแรกตั้งใจจะนำไปรองนั่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ฝนตก ทำให้พื้นเลอะ พยานเห็นข้อความที่มีคนเขียนคร่าว ๆ แต่ไม่ได้ตีความละเอียด
ในระหว่างนำแผ่นกระดาษเดินไปในที่ชุมนุม ได้มีผู้สื่อข่าวเข้ามาทักทายจำเลยที่ 1 และได้ขอถ่ายรูปทั้งสามคน จึงมีการถ่ายรูปดังกล่าวขึ้น โดยไม่ได้มีการจัดเรียงป้าย จากนั้นพยานก็ได้แยกย้ายกลับ โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะไปร่วมขึ้นปราศรัย ส่วนป้ายดังกล่าว เมื่อพยานจะกลับ ก็นำไปทิ้งลงถังขยะ
ในภายหลัง เมื่อพยานกลับถึงที่พัก ก่อนนอน ก็พบว่าตนเองถูกแท็กในภาพถ่ายของจำเลยที่ 1 แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ให้ความสนใจอะไร และไม่ได้คุยกับจำเลยที่ 1 แต่ต่อมากลับถูกส่งหมายเรียกไปที่บ้าน ให้มาที่จังหวัดเชียงใหม่ในคดีนี้ โดยพยานมารายงานตัวและต่อสู้คดีตามนัดมาโดยตลอด
.
.
พยานจำเลยปากที่ 3 “น้ำ” จำเลยที่ 3 อ้างตนเป็นพยาน
น้ำ เบิกความว่า ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยพยานจบชั้นมัธยม 6 แล้วก็ไปเรียนด้านการแพทย์ที่ประเทศจีนเป็นเวลา 1 ปี และประเทศโปแลนด์เป็นเวลา 2 ปี แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ได้ดรอปเรียน และกลับมาอยู่ประเทศไทย พยานเป็นเพื่อนสนิทกับจำเลยที่ 1 ตอนเรียนชั้นมัธยม จึงได้พูดคุยกันเป็นระยะ
ในวันเกิดเหตุ พยานได้นัดหมายกับจำเลยที่ 1 และ 2 ไปกินอาหาร และได้ตัดสินใจไปร่วมกิจกรรมที่สยามกับอีกสองคน โดยต่อมาทราบว่าเป็นกิจกรรมของกลุ่มนักเรียนเลว
กลุ่มของพยานไปพบกองป้ายลังกระดาษที่มีคนเขียนข้อความต่าง ๆ ไว้ บางส่วนจำเลยที่ 1 ก็ได้เข้าไปเขียนด้วย และมีการแจกจ่ายป้ายกัน โดยกลุ่มของพยานหยิบป้ายไปแบบไม่ได้เลือก เพื่อเตรียมไปใช้รองนั่ง พยานเห็นข้อความอยู่นิดหน่อย แต่ไม่ได้ตั้งใจอ่าน
หลังจากนั้น มีผู้มาขอถ่ายภาพทั้งสามคน โดยยกป้ายที่ถือมา โดยพยานไม่ได้สังเกตว่าเป็นนักข่าวหรือไม่ แต่การชูถ่ายรูปก็เกิดขึ้นเพียงแป๊บเดียว หลังจากนั้น พยานไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 จะนำรูปไปโพสต์ แต่มาเห็นภาพในวันถัดมาแล้ว โดยเฟซบุ๊กของพยานได้ตั้งค่าว่าต้องให้มีการอนุญาตก่อน รูปที่ถูกแท็กจึงจะปรากฏบนหน้าบัญชีเฟซบุ๊กของตนเอง แต่โพสต์นี้พยานไม่ได้กดอนุญาต เพราะกลัวทางบ้านเห็นว่าไปชุมนุมทางการเมือง ภาพจึงไม่เคยปรากฏหน้าเฟซบุ๊กของพยานแต่อย่างใด ทั้งบัญชีเฟซบุ๊กของพยานยังตั้งค่าเป็นส่วนตัว ไม่ได้มีโพสต์สาธารณะอีกด้วย
อัยการโจทก์ถามค้าน พยานเบิกความว่าในระหว่างชูป้ายถ่ายรูป ตนไม่ได้เห็นป้ายของเพื่อน ๆ ว่าเขียนว่าอะไร ส่วนคำที่พยานถือนั้น คิดว่าก็เป็นคำที่พบเห็นตามโซเชียลมีเดีย เป็นมุกตลกที่ใช้กัน และไม่ได้สื่อถึงบุคคลใด
.
พยานจำเลยปากที่ 4 อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พยานปากนี้ได้จัดทำคำให้การที่ให้ความเห็นต่อป้ายข้อความตามหลักวิชาภาษาไทยมายื่นต่อศาล หลังจากได้ดูภาพถ่ายและข้อความในคดีแล้ว โดยสรุปเห็นว่าภาษาที่ถูกใช้ในป้ายทั้งสาม ไม่ใช่ภาษาปกติที่ใช้กัน แต่มีลักษณะเป็นภาษาของกลุ่มเฉพาะ อย่างภาษาของการ์ตูน หรือภาษาวัยรุ่น การตีความและเข้าใจความหมายจึงอาจจะต่างกันไปตามประสบการณ์ของผู้อ่านแต่ละกลุ่ม
โดยรวมแล้ว ข้อความทั้งสามไม่ได้มีความหมายที่ชัดเจน แม้จะมีตัวเลข 112 ซึ่งอาจจะหมายถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ผู้เขียนก็อาจแสดงความเห็นที่เกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย หรือการบังคับใช้
ส่วนคำว่า “IO” และคำว่า “ราบบบ” ในป้ายเดียวกัน ก็อาจะทำให้นึกถึงทหารและกองทัพได้ เนื่องจากมีคำว่า Information Operation หมายถึงปฏิบัติการข่าวสาร
ในการตอบคำถามค้านของอัยการ พยานรับว่าอาจจะมีคนที่ตีความข้อความในป้ายทั้งสามว่า หมายถึงสถาบันกษัตริย์หรือรัฐบาลก็ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของคนอ่าน พฤติการณ์แวดล้อม หรือบริบทการใช้คำ ข้อความในภาพจึงไม่ได้มีความหมายชัดเจนสำหรับทุกคน
.
วันที่ห้า นัดตกค้าง
พยานจำเลยปากที่ 5 กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พยานรับหน้าที่สอนวิชากฎหมาย กฎหมายรัฐธรรมนูญ และอื่น ๆ มีความสนใจและมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์กฎหมาย ประวัติศาสตร์การเมือง และเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ พยานไม่รู้จักกับจำเลยทั้งสามมาก่อน แต่ได้รับการติดต่อมาให้ความเห็นทางวิชาการในคดีนี้ จึงได้จัดทำความเห็นหลังจากดูรายละเอียดคดี มาเป็นลายลักษณ์อักษร
ความเห็นของพยาน เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองตัวบุคคลตามตัวบท โดยการคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศ ไม่ใช่ความมั่นคงแห่งรัฐ ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงต่ออำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ การตีความตามมาตรา 112 จะต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามหลักกฎหมายอาญา
ในประเด็นเรื่องคำในแผ่นป้ายที่จำเลยทั้งสามถือ พยานมีความเห็นโดยสรุปว่า ข้อความในแผ่นป้ายมีความหมายไม่ชัดเจน เป็นการตั้งคำถามซึ่งประชาชนพึงทำได้ ไม่ได้มีเนื้อหาที่สื่อถึงองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง นอกจากนั้นคำที่ใช้ในแผ่นป้ายมีลักษณะเป็นการล้อเลียน
ในทางวิชาการแล้ว การล้อเลียนยังแสดงให้เห็นว่าผู้กระทำยังมีความเคารพอยู่ หากไม่มีความรู้สึกเคารพแล้ว ย่อมจะต้องแสดงออกโดยการดูหมิ่นหรือลดคุณค่าต่อผู้ถูกสื่อถึงโดยตรง และส่วนข้อความแคปชั่นในโพสต์ที่ว่า “จงเข้าร่วมฯ” เป็นข้อความที่มีการใช้ภาษาลักษณะเดียวกับที่มักใช้ในการ์ตูน
เมื่อพิจารณาการยืนถือป้ายตามภาพ พยานไม่มีทางทราบว่าใครเป็นผู้เขียนป้าย นอกจากนั้นเห็นว่าแต่ละข้อความอาจพิจารณาแยกกัน โดยไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน และข้อความที่อยู่ในแต่ละป้ายนั้นมีความหมายในตัวเอง เมื่อนำป้ายทั้งสามมาเรียงกันหรือสลับที่กันก็ไม่ทำให้ความหมายของแต่ละป้ายเปลี่ยนแปลงไปหรือมีความหมายอะไรเพิ่มเติม
พยานดูเอกสารของทนายจำเลย เป็นเอกสารเกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร (IO) ที่ช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการอภิปรายในสภาเกี่ยวกับประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของ IO ซึ่งหากประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารและถูกปฏิบัติการโดย IO จึงทำให้เกิดความไม่พอใจ
อัยการโจทก์ถามค้าน ในประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่พยานเห็นว่าเป็นแต่เพียงการวินิจฉัยในขอบเขตของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการตีความกฎหมายอาญาจะสามารถใช้การตีความเป็นพิเศษได้
ส่วนความเห็นที่พยานอ้างมา มาจากคำพิพากษาและตำราของอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ที่มีสาระสำคัญว่าการดูหมิ่นไม่ใช่การล้อเลียน
.
ดูฐานข้อมูลคดีนี้
คดี 112 “ตี้-วรรณวลีและเพื่อน” หลังไทยภักดีเชียงใหม่แจ้งความ เหตุโพสต์ภาพชูป้ายในม็อบที่กรุงเทพฯ
.