3 นศ. ถูกสมาชิกไทยภักดีเชียงใหม่ กล่าวหา ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์ภาพชูป้ายในม็อบ

22 ม.ค. 64 เวลา 11.00 น. ที่สภ.เมืองเชียงใหม่ สามนักศึกษาที่ได้รับหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกครั้งที่ 2 แม้ก่อนหน้านี้จะขอเลื่อนออกไป เนื่องจากไม่มีใครมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม

คดีนี้มีนายสุกิจ เดชกุล สมาชิกของกลุ่มไทยภักดีเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา โดยผู้ถูกออกหมายเรียก 3 ราย ได้แก่ น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คู่ขนานเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยพะเยา, “หนึ่ง“ (นามสมมติ) นักศึกษาชายคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยในจังหวัดนนทบุรี และ “น้ำ” (นามสมมติ) นักศึกษาหญิงจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ก่อนหน้านี้ทั้งสามคนได้หมายเรียกครั้งแรก ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 ม.ค. 64 แต่ไม่มีใครอาศัยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้ขอเลื่อนการรับทราบข้อหาออกไป เนื่องจากความลำบากของการเดินทางในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเดิมจะขอเลื่อนไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ ร.ต.ท.อมรเทพ ชุมวิสูตร รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ทันที โดยระบุให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 22 ม.ค. 64 ทั้งสามจึงเดินทางมายังสภ.เมืองเชียงใหม่ 

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบ พร้อมตำรวจตระเวนชายแดนวางกำลังหน้าสภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อนนักศึกษาทั้งสามรายจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

ในวันนี้ ที่หน้าสภ.เมืองเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กั้นรั้วทางเข้าอาคารสถานีและตั้งจุดคัดกรองคนเข้าออก พร้อมตรวจวัดอุณหภูมิ โดยมีกำลังตำรวจทั้งใน-นอกเครื่องแบบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กว่า 20 นายประจำการอยู่ โดยมีมวลชนราว 30 คน เดินทางมาให้กำลังใจนักศึกษาผู้ถูกดำเนินคดี

การแจ้งข้อกล่าวหาวันนี้ มี พ.ต.ท.สันติ คำใส, พ.ต.ท.สมคิด ภูสด และ พ.ต.ท.วัชรพล ยมเกิด โดยทั้งสามนายมีตำแหน่งเป็นสารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสามคน 

ข้อกล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 63 นายสุกิจ เดชกุล มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งมีชื่อเดียวกันกับน.ส.วรรณวลี กับพวก ที่ได้โพสต์ข้อความและภาพถ่ายในลักษณะ “ดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนที่ได้เห็นข้อความหลงเชื่อ และร่วมแสดงความคิดเห็นที่ลักษณะเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ทรงถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ 

สำหรับโพสต์ที่ถูกกล่าวหา ข้อกล่าวหาอ้างว่าถูกโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 63 มีข้อความประกอบว่า “จงเข้าร่วมกับข้าซะ ทุกคนนน ข้าจะไม่ยอมติดคุกเพียงผู้เดียว หลังจากนั้นนักข่าวขอถ่ายกับป้ายนี้ตลอดงานจ้า รวมมิตร การ์ด แกนนำ หมอ” และมีภาพบุคคลซึ่งถือป้ายข้อความสามป้าย ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าข้อความในป้ายเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เคารพสักการะ อยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้ จึงอยู่เหนือการติชมทั้งปวง ทำให้สมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ เสื่อมเสียพระเกียรติ 

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสามคนใน 2 ข้อหา ได้แก่ “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” 

นักศึกษาทั้งสามคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน แต่ทางพนักงานสอบสวนระบุว่าต้องให้เวลาในการจัดทำสำนวนด้วย จึงกำหนดให้ผู้ต้องหาทั้งสามยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายในวันที่ 19 ก.พ. 64 

ต่อมาทางพนักงานสอบสวนระบุว่าในคดีนี้เป็นคดีความผิดที่เกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย จึงจะขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีด้วย โดยได้มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฉพาะทางจากตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมด้วยคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีในการตรวจสอบมาด้วย แต่ทางผู้ต้องหาทั้งสามรายให้การปฏิเสธและไม่ยินยอมให้มีการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากไม่ได้มีหมายศาลใด ด้านพนักงานสอบสวนจึงระบุว่าจะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

จากนั้นจึงได้มีการนำตัวผู้ต้องหาไปพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ และนัดให้มารายงานตัวต่อไปในวันที่ 1 มี.ค. 64 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในคดีนี้ไม่ได้มีเหตุเกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด โดยภาพที่โพสต์นั้นพบว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 และผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ผู้กล่าวหาระบุว่าตรวจพบภาพและข้อความจากระบบคอมพิวเตอร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มาแจ้งความกล่าวหาที่สภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อให้เกิดภาระทางคดีกับผู้ถูกกล่าวหาในการเดินทางและต่อสู้คดี

อีกทั้งยังสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้สามารถถูกกลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาอีกด้วย

ดูตารางสถิติคดีมาตรา 112 >> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X