20 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ “หอมแดง” (นามสมมติ) ประชาชนจากจังหวัดเพชรบูรณ์ วัย 57 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากการแชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ที่เผยแพร่ข้อความเรียกร้องให้กษัตริย์ไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในช่วงเดือนตุลาคม 2563
สำหรับคดีนี้ มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบอำนาจให้นายสัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ บก.ปอท. โดยหอมแดงได้รับหมายเรียก และได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2564 โดยถูกกล่าวหาว่าได้แชร์โพสต์ข้อความจากเพจ “สมองโง่ดักดานรัฐบาลตูบฯ” เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 ที่เรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยข้อความบางส่วนมีถ้อยคำหยาบ แต่เขาไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ ประกอบการแชร์โพสต์ดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ร.ต.อ.ทองสุข พิธรรม พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา โดยเขาได้รับการประกันตัวในชั้นศาลโดยวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ก่อนหน้าการเริ่มสืบพยาน หอมแดงได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามฟ้องในวันที่ 5 ต.ค. 2566 โดยศาลสั่งให้สำนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะความประพฤติของจำเลย พร้อมทนายความจำเลยขอยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ และศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
.
เวลา 09.00 น. “หอมแดง” ได้มารออยู่ในห้องพิจารณาพร้อมทนายความ ที่ห้องพิจารณาคดี 713 นอกจากนี้ยังมีนายประกัน และผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
เวลา 10.30 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี โดยก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ศาลใส่กุญแจมือพันธนาการข้อมือของหอมแดงไว้ตามกฎระเบียบ รวมถึงให้ทนายความอ่านรายงานผลการสืบเสาะก่อนครู่หนึ่ง
ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษหนักที่สุดคือ มาตรา 112 เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ทั้งนี้ เหตุที่ไม่รอลงอาญา ศาลได้ระบุโดยสรุปว่า พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะ นับแต่อดีตพระมหากษัตริย์ไทยทรงสร้างชาติสร้างแผ่นดินและมีคุณูปการอันใหญ่หลวงนำพาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยพระบารมีที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาแผ่ไพศาลแก่ชนทุกหมู่เหล่า และเป็นศูนย์รวมของคนไทยทั้งชาติให้อยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีและปกติสุขมายาวนาน
ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 55 ปีเกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงคุณอเนกอนันต์อย่างหาที่สุดไม่ได้ พระองค์มีโครงการในพระราชดำริ มากมายเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทย และในปัจจุบันรัชกาลที่ 10 ยังสานต่อเจตนารมณ์ของรัชกาลที่ 9 ต่อมาจำเลยย่อมประจักษ์ถึงพระราชกรณียกิจและคุณงามความดีอันประเสริฐของพระองค์
การที่จำเลยได้รับฟังข้อความตามฟ้องซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จรุนแรงและหยาบคายต่อพระองค์จากสื่อออนไลน์ จำเลยควรต้องตรวจสอบและไตร่ตรองให้ดีว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่กลับขาดความยั้งคิด แล้วเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อไปอีก แสดงถึงเจตนาไม่เคารพสถาบันและขาดสำนึกต่อพระมหากรุณาธิคุณ กระทบกระเทือนความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติ อาจจะนำไปสู่การสร้างความไม่พอใจ สร้างความแตกแยก และไม่สามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
คดีนี้มี สุธี สระบัว และ ธรรมสรณ์ ปทุมมาศ เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี
ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ก่อนเวลา 16.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวหอมแดง โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าคดีมาตรา 112 ของศาลอาญาก่อนหน้านี้ ที่จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลพิพากษาลงโทษในลักษณะเดียวกับคดีของหอมแดง คือจำคุก 1 ปี 6 เดือน ได้แก่ คดีของวารุณี และคดีของ “วัฒน์” ศาลอาญาได้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา โดยเห็นว่า “ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี” ทำให้ทั้งสองคนยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างอุทธรณ์จนถึงปัจจุบัน