เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 คดี และมีการดำเนินคดีมาตรา 116 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 คดี ทั้งยังมีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเพิ่มใหม่อีก 1 ราย ในขณะที่มีผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดี ม.112 ได้ปล่อยตัวอีก 1 คนหลังเข้าเกณฑ์ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ และในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม ศูนย์ทนายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือใช้ดุลพินิจไม่สั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมทางการเมือง
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,959 คน ในจำนวน 1,305 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนสิงหาคม มีคดีเพิ่มขึ้น 3 คดี
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,012 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 274 คน ในจำนวน 307 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 53 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 672 คดี
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 181 คน ในจำนวน 99 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 206 คน ในจำนวน 229 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี
จากจำนวนคดี 1,305 คดีดังกล่าว มีจำนวน 629 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว (คดีบางส่วนไม่ได้สิ้นสุดลงทั้งคดี เช่น มีการอุทธรณ์คดีเฉพาะจำเลยบางคน แต่จำเลยบางคนคดีสิ้นสุดแล้ว)
.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
คดี ม.112 – 116 เพิ่มในภาคใต้อีก 2 คดี ส่วนผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดบางส่วนได้รับการปล่อยตัว หลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ แต่ก็มีประชาชนถูกขังเพิ่ม 1 คน หลังถูกสั่งฟ้องในคดีเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิด
เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีรายงานคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 1 คดี และคดีมาตรา 116 เพิ่มขึ้น 1 คดี โดยเป็นคดีที่เกิดขึ้นในภาคใต้ คือที่จังหวัดพัทลุงทั้งสองคดี โดยมี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ทั้งสองคดี โดยผู้ถูกกล่าวหาต่างอยู่นอกพื้นที่ภาคใต้ ทำให้มีภาระต้องเดินทางไปต่อสู้คดี
ในส่วนของคดีมาตรา 112 คือ คดีของ “ดิเรก” (สงวนนามสกุล) ประชาชนจากจังหวัดกาญจนบุรี ถูกกล่าวหาที่ สภ.เมืองพัทลุง กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวคอมเมนต์ข้อความใต้โพสต์เฟซบุ๊กของ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี ที่วิจารณ์กลุ่มปกป้องสถาบัน โดยกล่าวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งในส่วนของพรหมศรได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ม.112 แล้วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
และในคดีมาตรา 116 คือกรณี “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” หรือ “สิงห์สนามหลวง” บรรณาธิการ-ศิลปินแห่งชาติผู้ถูกถอดถอน ถูกแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.ศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง กรณีแชร์คลิปวิดีโอจากเพจ iLaw เรื่อง “10 ข้อที่คนไม่รู้เกี่ยวกับ #มาตรา112” และเขียนข้อความประกอบว่า “ทำไมจึงต้องยกเลิก ม.112 เราจะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนเรื่อง ‘ยกเลิก ม.112’ #ปล่อยเพื่อนเรา”
นอกจากนั้นยังมีรายงานอีกว่า ประชาชนจำนวนสองคนได้รับหมายเรียกคดีมาตรา 112 จาก สภ.เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง กรณีถูกกล่าวหาว่าไปแสดงความเห็นใต้โพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ซึ่งในหมายเรียกระบุว่ามี ทรงชัย เนียมหอม เป็นผู้กล่าวหาเช่นกัน
กรณีประชาชนแจ้งความในดำเนินคดีในลักษณะนี้ ทำให้สถานการณ์คดีความที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้มีคดีความที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็น 103 คน ใน 54 คดี ซึ่งเป็นคดีมาตรา 112 แล้วมากกว่า 32 คดี โดยคดีทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

ในส่วนของผู้ต้องขังที่ได้ปล่อยตัวในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ “วัฒน์” (นามสมมติ) ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีมาตรา 112 ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 หลังหลังเข้าเกณฑ์การปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งสิ้น 439 วัน
ในขณะเดียวกันก็มีกรณีของ “แดง ชินจัง” หรือ ยงยุทธ ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี หลังถูกสั่งฟ้องในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในปี 2557
.
ขณะเดียวกันในรอบเดือนยังมีคดีมาตรา 112 ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และมีคำพิพากษาออกอีกอย่างน้อย 7 คดี แยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 2 คดี และศาลอุทธรณ์ 5 คดี
คดีที่น่าสนใจจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ได้แก่ คดีของ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ กรณีปราศรัยประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมหน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาจำคุกจตุภัทร์ 2 ปี 12 เดือน และจำคุกอรรถพล 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จึงทำให้ถูกคุมขังระหว่างรอคำสั่งประกันตัวจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต่อมาหลังถูกคุมขังไป 1 คืน ก็ได้รับการประกันตัว เนื่องจากเห็นว่าไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์หลบหนี
ส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดีของประชาชนรายหนึ่ง ที่ศูนย์ทนายฯ ทราบข้อมูลว่าถูกดำเนินคดีจากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก และศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 4 ปี โดยจำเลยให้การรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้ทำกิจกรรมบริการสังคม 48 ชั่วโมง
.
ในส่วนคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่าจำเลยมีความผิด ได้แก่ กรณีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร เหตุโพสต์เฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 คงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 รวม 4 ปี ทำให้ปัจจุบันมงคลถูกพิพากษาลงโทษจำคุกรวมกันทั้งสามคดีสูงถึง 81 ปี ก่อนลดโทษหนึ่งในสาม เหลือจำคุก 54 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 หลังลดโทษที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เท่าที่ทราบข้อมูล
เช่นเดียวกันกับคดีของ “สายน้ำ” กรณีเหตุแต่งเสื้อครอปท็อปเข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และเขียนข้อความบนร่างกายในการชุมนุม #ภาษีกู เมื่อปี 2563 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนจำคุก 12 เดือน และให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี โดยเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นปฏิปักษ์ต่อกษัตริย์ไม่ได้ แม้ไม่ได้เขียนข้อความเอง แต่การกระทำเป็นการดูหมิ่นตาม ม.112
และในคดีของ “ปาฏิหาริย์” กรณีแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ แต่เนื่องจากจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล จึงออกหมายจับเพื่อนำตัวจำเลยมารับโทษ
.
ในขณะที่อีกสองคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง ได้แก่ คดีของ “รามิล” ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ กรณีแสดง Performance art ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคดีนี้อัยการโจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษา ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนยกฟ้อง โดยเห็นว่าพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ แม้แสดงท่าทางไม่เหมาะสม แต่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และเป็นเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ
อีกคดีหนึ่งคือ “แต้ม” ผู้ป่วยจิตเวช กรณีทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 รวม 3 จุด ในจังหวัดอุบลราชธานี โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนยกฟ้อง โดยเห็นว่าแม้การกระทำเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่เมื่อจำเลยกระทำขณะมีความผิดปกติในลักษณะที่มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน จึงเป็นการไม่แจ้งชัดว่ามีเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์หรือไม่
.
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กลับคำพิพากษาคดี “วันทนา” ตะโกนไล่ประยุทธ์ โดยอ้างอิงกติการะหว่างประเทศเรื่องเสรีภาพการแสดงออก
คดีที่น่าสนใจของเดือนนี้อีกคดีหนึ่งในเดือนกันยายน คือ คดีของ “วันทนา โอทอง” หลังถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงราชบุรี ในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน, ส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน เหตุจากจากเหตุยืนรอขบวนนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่และตะโกนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าวันทนามีความผิดทุกข้อหา ลงโทษจำคุก 6 เดือน 10 วัน และปรับ 1,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา
ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นยกฟ้องทุกข้อหา โดยแนวทางการวินิจฉัยแตกต่างจากศาลชั้นต้นทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งของคำพิพากษาได้อ้างอิงถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นต่อการบริหารรัฐกิจ และการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ
ศาลเห็นว่าผู้ที่ได้รับอาณัติจากประชาชนจะต้องอดทนต่อการตั้งคำถามและการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดีประชาชนที่แสดงความเห็นต่างหรือสื่อมวลชนเพื่อปิดกั้นการแสดงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมประชาธิปไตยที่เคารพหลักนิติรัฐและนิติธรรม
คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีนี้นับว่าน่าสนใจและมีความสำคัญต่อการนำกติการะหว่างประเทศ ด้านสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเป็นภาคี เข้ามาพิจารณาประกอบคำพิพากษา

.
ศาลยังมีคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อเนื่อง ขณะศูนย์ทนายฯ ยื่นหนังสืออัยการสูงสุดให้ชะลอฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดี ระหว่างสภาฯ พิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม
เดือนที่ผ่านมา ศาลยังมีคำพิพากษาในคดีชุมนุม ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกสี่คดี อย่างในคดีของคณะราษฎรอีสานจำนวน 19 คน เหตุจากการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 หลังมีการสืบพยานยาวนานถึง 2 ปี ศาลอาญาก็มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีนี้ ยกเว้นวชิรวิชญ์ที่ศาลพิพากษาให้มีความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ฯ จากกรณีสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ และจตุภัทร์มีความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้จัดชุมนุม
เช่นเดียวกันกับคดีของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 5 คน กรณีทำกิจกรรมหน้าพรรคภูมิใจไทย และในคดีของ 2 นักกิจกรรมเยาวชน กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้ามืดวันที่ 28 มี.ค. 2564 โดยทั้งสองคดีนี้ ศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค
อีกคดีหนึ่งที่ศาลมีคำพิพากษาออกมา เป็นคดีของประชาชน 4 ราย เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ หลังถูกสั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ม็อบ17สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อปี 2564 ทำให้ศาลมีคำพิพากษาออกมาว่ามีความผิดตามฟ้อง
จนถึงปัจจุบัน ยังมีคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ที่ยังไม่สิ้นสุดอีกไม่น้อยกว่า 372 คดี โดยนักกิจกรรมและประชาชนหลายคนยังมีคดีค้างคาอยู่อีกหลายคดี และมีภาระในทางคดีอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนที่ผ่านมา คดีชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ค้างคาอยู่ในชั้นสอบสวนอีกอย่างน้อย 285 คดี พบว่าอัยการได้นัดหมายไปสั่งฟ้องคดีต่อศาลอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาการนิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง ซึ่งในข้อเสนอหนึ่งของกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้น คือขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีหากเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม
สิ้นเดือนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขอให้พิจารณามีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น คดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ หรือคดีมาตรา 116
การดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมากดังกล่าว นับเป็นการสร้างภาระในทางสังคมและสิ้นเปลืองทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรมและงบประมาณของประเทศอย่างมาก และยังเป็นการทำลายสิทธิพลเมือง รวมทั้งยังสร้างภาระทางคดีให้กับประชาชนและกระบวนการยุติธรรมต้องแบกรับคดีที่ไม่ควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่แรก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องถูกตีตรามีประวัติอาชญากร และส่งผลกระทบทางสังคมทั้งที่ยังไม่ถูกพิพากษา
