อัยการสั่งฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อประชาชน 6 ราย ใน 3 คดี เหตุ #ม็อบ17สิงหาไล่ล่าทรราช ศาลพิพากษาแล้ว 4 ราย ปรับคนละ 5 พัน

วันที่ 27 และ 30 ก.ย. 2567 ที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ได้ยื่นฟ้องประชาชน 6 ราย ใน 3 คดี ข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุการชุมนุม #ม็อบ17สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อปี 2564 จัดโดยกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ซึ่งมีการนัดหมายกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เวลา 15.00 น. ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

ย้อนไปในวันเกิดเหตุ (17 ส.ค. 2564) ขณะมวลชนเดินขบวนจากสี่แยกราชประสงค์ไปยัง สตช. กลุ่มทะลุฟ้าได้มีการปราศรัยและถือป้ายผ้าและรูปภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากตำรวจตลอดขบวน โดยกิจกรรมในวันนี้คือการนำสีชมพูไปปาป้าย สตช. อย่างไรก็ตามเมื่อมวลชนเริ่มทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดน้ำซึ่งคาดว่าผสมแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมถึง 2 ครั้ง ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ ขว้างปาสิ่งของ และต่อว่าตำรวจ ก่อนจะมีการเปิดรั้วและนำกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนออกมายืนตั้งโล่บริเวณหน้ารั้วและป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกลุ่มทะลุฟ้าได้ประกาศยุติการชุมนุมทันทีที่ทำกิจกรรมเสร็จสิ้น ในเวลาประมาณ 16.30 น.

หลังประกาศยุติการชุมนุม ยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนหลงเหลืออยู่หน้า สตช. บางคนยืนต่อว่าตำรวจ และได้ถูกควบคุมตัวเข้าไปใน สตช. รวม 5 ราย ขณะที่กลุ่มทะลุฟ้าได้เคลื่อนขบวนกลับไปยังบริเวณหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยขณะหลบฝนอยู่บริเวณสะพานลอยหน้าห้าง ประมาณ 17.30 น. ชุดควบคุมฝูงชนได้นั่งรถกระบะเข้ามาบริเวณดังกล่าว จากนั้นลงเดินเท้าพร้อมทั้งใช้ปืนยาว คาดว่ายิงกระสุนยางไปทางผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้า และจับกุมประชาชนอีก 1 คน ออกจากพื้นที่ 

ทั้งหมดถูกจับกุมโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิผู้ต้องหา ประชาชนรายหนึ่งระบุว่าระหว่างจับกุม เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้กำลังกระชากแขน ทำให้บริเวณข้อมือมีรอยขีดข่วน และมีบาดแผลขนาดเล็กที่ข้อศอกขวา ส่วนอีกรายระบุว่า ถูกเหยียบที่ข้อเท้าขวาจนเคล็ด และมีรอยถลอกที่น่องซ้าย

ทั้งหมดถูกนำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) จึงได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาขณะทำบันทึกจับกุม ในเวลา 21.00 น. ทั้งนี้ผู้ต้องหาทุกคนไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ในวันรุ่งขึ้น (18 ก.ย. 2564) พนักงานสอบสวนได้นำตัวประชาชนทั้ง 6 คน ไปขอฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 

ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ส่งสำนวนคดีให้กับอัยการศาลแขวงปทุมวันไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 ก่อนคดีค้างอยู่ในชั้นอัยการมากว่า 2 ปีครึ่ง จนอัยการเพิ่งนัดหมายสั่งฟ้องคดีทั้ง 3 คดี ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 นี้

.

สำหรับคำฟ้องทั้ง 3 คดีมี ร้อยตำรวจโทสิทธิชัย เกลี้ยงเกลา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6) เป็นผู้เรียงฟ้อง โดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 เวลากลางวัน จำเลยทั้งหมดกับพวกได้บังอาจร่วมกันเข้าร่วมการชุมนุม การจัดกิจกรรม “ม็อบ 17 สิงหาคม ไล่ล่าทรราช” โดยจำเลยทั้งหมดกับพวกได้เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มชุมนุมดังกล่าว ได้ร่วมกันส่งเสียงประท้วง และทำสัญลักษณ์ในการชุมนุม โดยกิจกรรมชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วม ในลักษณะมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัด โดยไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลมากกว่าห้าคน ที่มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด 19) ให้ขยายไปในวงกว้าง

การชุมนุมดังกล่าวใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมเป็นเวลานาน เมื่อเจ้าพนักงานประกาศให้ยุติการชุมนุม ก็ไม่ยอมแยกย้ายกลับ ยังคงร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุม และร่วมกันขว้างปาถุงบรรจุสีไปที่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันมีลักษณะเป็นการยุยงกระตุ้นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยที่บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยจำเลยทั้งหมดกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งมิใช่เป็นกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นให้กระทำการดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

.

ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีแรกของ “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ ต่อศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งวรัณยาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลอนุญาตให้วรัณยาประกันตัวโดยการสาบานตน และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 6 พ.ย. 2567 

อีก 2 คดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องในวันนี้ (30 ก.ย. 2567) เวลา 13.00 น. จำเลยตัดสินใจให้การรับสารภาพตามฟ้องทั้งสิ้น 4 คน ใน 2 คดี แม้หลายคนไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว แต่เนื่องจากอยากให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว หรือบางรายอยากเริ่มต้นประกอบอาชีพ ไม่อยากให้คดียืดเยื้อออกไป จึงตัดสินใจให้การรับสารภาพ

ส่วนประชาชนอีก 1 ราย คือ “สี่ทัพ” (นามสมมติ) ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่รับสารภาพทันที เห็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี 

คดีในส่วนของสี่ทัพ ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีและให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องใหม่ภายใน 10 วัน

X