เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้ายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขอให้พิจารณามีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น คดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หลังพนักงานอัยการในคดีต่าง ๆ ยังทยอยนัดหมายสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 อย่างต่อเนื่อง
หลังจากในช่วงเดือนกันยายน ทางพนักงานอัยการในคดีจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-65 ในหลายคดี ได้ทยอยนัดหมายผู้ต้องหามาสั่งฟ้องคดีต่อศาล แม้เป็นคดีที่มีเฉพาะข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งในหลายคดีก่อนหน้านี้ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปไม่น้อยกว่า 102 คดี และอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปจำนวนไม่น้อยกว่า 66 คดีแล้ว
ขณะเดียวกัน ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาประเด็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอหนึ่งของกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นนั้น คือขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีหากเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม แต่อัยการในหลายคดียังคงนัดหมายการสั่งฟ้องคดี ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดในสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งเตรียมยื่นหนังสือในรายคดีที่อัยการนัดหมายสั่งฟ้องคดีด้วย
.
———————————-
สำหรับหนังสือที่ยื่นต่ออัยการสูงสุดโดยสรุประบุว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีประชาชนถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 1,956 คน ในจำนวน 1,302 คดี โดยเป็นคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 672 คดี และข้อหาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ อย่างน้อย 181 คน ในจำนวน 99 คดี
ภาพรวมคดีส่วนใหญ่ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง รวมถึงพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างน้อย 66 คดี ปัจจุบันมีคดีตามข้อหาดังกล่าวอยู่ระหว่างชั้นอัยการจำนวนอย่างน้อย 33 คดี
การดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมากดังกล่าว นับเป็นการสร้างภาระในทางสังคมและสิ้นเปลืองทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรมและงบประมาณของประเทศอย่างมาก และยังเป็นการทำลายสิทธิพลเมือง รวมทั้งยังสร้างภาระทางคดีให้กับประชาชนและกระบวนการยุติธรรมต้องแบกรับคดีที่ไม่ควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่แรก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องถูกตีตรามีประวัติอาชญากร ส่งผลกระทบทางสังคมทั้งที่ยังไม่ถูกพิพากษา เช่น การห้ามรับราชการ การสมัครงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมได้สรุปรายงานส่งสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญมีข้อสรุปสำคัญ คือ ควรมีการนิรโทษกรรมการกระทำที่มีเหตุแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมติในที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้รวมถึงความผิดข้อหาฝ่าฝืนประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
ศูนย์ทนายความฯ จึงขอให้อัยการสูงสุดอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ โดยการพิจารณามีคำสั่งให้ชะลอการสั่งฟ้อง หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดี ซึ่งคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น คดีความผิดข้อหาฝ่าฝืนประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นต้น โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ต่อประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองโดยเร็ว
การดำเนินการดังกล่าวเพื่อปลดเปลื้องภาระในทางคดีของประชาชน รวมทั้งภาระของกระบวนการยุติธรรมทั้งในแง่งบประมาณและบุคลากร เพื่อให้สังคมได้ตระหนักว่าองค์กรอัยการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยยังคงยึดมั่นและมีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชนต่อไป
.