ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยืนยกฟ้อง “รามิล” เหตุแสดง Performance art ชี้หลักฐานโจทก์มีพิรุธ-การแสดงไม่เข้าข่าย ม.112-ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

4 ก.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 11 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ “รามิล” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม artn’t ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเคลื่อนไหวท่าทางต่าง ๆ เช่น ท่าครุฑ และนอนหงายพร้อมใช้เท้าชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์  โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องคดี

.

ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เห็นว่าไม่มีพยานโจทก์ยืนยันว่าเข้าข่าย ม.112 หลักฐานโจทก์มีพิรุธ

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องคดี โดยสรุปได้ว่า ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่ชี้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย ส่วนการหมิ่นประมาทนั้นจะต้องมีการใส่ความด้วยการชี้ยืนยันข้อเท็จจริงบางประการ ส่วนการดูหมิ่นจะต้องระบุตัวบุคคลได้แน่นอนว่าหมายถึงบุคคลใด แต่พยานหลักฐานโจทก์ยังชี้ไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท อีกทั้งการแสดงของจำเลยไม่ได้ระบุเจาะจงตัวบุคคล 

อีกทั้งไม่มีพยานโจทก์ที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยจงใจกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความ “ทรงพระเจริญ” ส่วนการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย รวมทั้งพยานโจทก์ได้เบิกความถึงคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำส่งเข้ามาในการพิจารณาคดีนี้ จึงทำให้พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธสงสัย พิพากษายกฟ้องจำเลย 

ต่อมาวันที่ 18 ต.ค. 2566 นางนาตยา สาลักษณ์ พนักงานอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานการสอบสวน ช่วยราชการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ปฏิบัติราชการในหน้าที่อัยการศาลสูงจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาล ระบุไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลย อ้างว่าการนอนหงานใช้เท้าขวาชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 10 และทำท่าทางศิลปะคล้ายครุฑ เป็นการแสดงกริยาไม่เหมาะสม ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

.

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ชี้พยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ แม้แสดงท่าทางไม่เหมาะสม แต่ไม่เข้าข่าย ม.112 เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

เวลา 9.00 น. ณิชนารา ลิ่มสุวรรณ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเป็นผู้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยจำเลยและทนายความจำเลยมาศาล รามิลได้นำดอกกุหลาบมาด้วยจำนวน 99 ดอก พร้อมเพื่อนนักศึกษาเดินทางมาร่วมให้กำลังใจประมาณ 4 คน 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยสรุป เห็นว่าคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ โจทก์มีประจักษ์พยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 ปาก ได้แก่ ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ จินะธรรม, พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง และ พ.ต.ท.นรากร ปิ่นประยูร เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ และทำรายงานต่อผู้บังคับบัญชา 

ทั้งโจทก์ยังมีการนำพยาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รองผู้อำนวยการจากวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่, เจ้าหน้าที่จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่, ประธานกลุ่มไทยภักดี, นักธุรกิจ และ คณบดีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ เข้าเบิกความ แต่พยานเหล่านี้มิได้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง จึงไม่อาจรับฟังได้

ประจักษ์พยานคือเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ ยังให้การถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าวขัดแย้งกัน จึงไม่อาจรับฟังได้

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ อ้างว่ามีการบันทึกวิดีโอการแสดงไว้ แต่ก็ไม่มีการอ้างส่งพยานหลักฐานคลิปวิดีโอ ทั้งที่ย่อมตระหนักได้ว่าวิดีโอเป็นสาระสำคัญของคดี คำเบิกความของ ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ จึงไม่น่าเชื่อถือ

ส่วนที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยชี้เท้าไปทางพระบรมฉายาลักษณ์นั้น ภาพที่จำเลยแสดงแตกต่างจากภาพที่โจทก์กล่าวหาตามเอกสารพยานของฝ่ายจำเลย โดยจำเลยไม่ได้ชี้เท้าไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ แต่เป็นการแสดงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยจำเลยแสดงถึง 45 นาที การยกเท้าเป็นเพียงท่าทางเพียงครั้งเดียว

แม้การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม แต่ไม่ถึงขั้นเป็นการเหยียดหยามอันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แม้จะมีบุคคลที่พบเห็นไม่สบายใจอยู่บ้าง ก็ไม่เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 และเป็นเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การที่โจทก์สืบพยานว่าจำเลยมีคดีอื่นในลักษณะเดียวกันนั้น ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากระบบศาลไทยเป็นระบบกล่าวหา โจทก์ย่อมมีหน้าที่จะต้องสืบพยานนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาล และการที่จำเลยมีคดีอื่นอยู่แล้ว ก็ไม่อาจรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าจำเลยจะกระทำความผิดเช่นนั้นอีก

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายืน

.

รามิลเหลือต่อสู้คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมอีก 2 คดี

ทั้งนี้ รามิลเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในช่วงปี 2563-64 มากที่สุดคนหนึ่ง คือถูกกล่าวหาไปถึง 9 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 ถึง 2 คดี นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีแสดงงานศิลปะที่ถูกกล่าวหาว่ามีลักษณะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงินระหว่างกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย คดีดังกล่าวศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้รอลงอาญา และสิ้นสุดไปแล้ว

ส่วนคดีจากการชุมนุมอื่น ๆ ส่วนใหญ่รามิลถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งมาตรา 116 ด้วย ส่วนใหญ่คดีสิ้นสุดไปแล้วเช่นกัน โดยยังเหลือคดีที่รามิลต่อสู้อยู่อีก 2 คดี

.

ย้อนอ่านประมวลการสืบพยานคดีนี้

เมื่อ Performance Art ขึ้นสู่ศาล: ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 “รามิล” เหตุราดสี-แสดงศิลปะเคลื่อนไหวร่างกายบนป้าย มช.

อ่านเรื่องราวของ “รามิล” 

รู้จัก ‘วิธญา คลังนิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง

.

X