ศาลพิพากษา “รามิล-เท็น” ผิด ม.112-พ.ร.บ.ธง คดีแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติไม่มีสีน้ำเงิน จำคุก 3 ปี 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้

วันที่ 28 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 2 นักศึกษาและสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t ได้แก่ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ ‘รามิล’ นักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (จำเลยที่ 1) และ ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ หรือ ‘เท็น’ นักศึกษาสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (จำเลยที่ 2)

ทั้งสองถูกฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 มาตรา 51 ร่วมกันใช้ ชัก หรือแสดงธงที่คล้ายคลึงกับธง โดยไม่มีสิทธิ จากเหตุการแสดงงานศิลปะที่มีลักษณะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน ในงานกิจกรรมชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564

คดีนี้มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง และ ศรีสุวรรณ จรรยา เป็นสองผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จำเลยทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเรื่อยมา โดยยอมรับว่าได้นำแผ่นพลาสติกดังกล่าวไปจัดแสดงเป็นงานศิลปะที่สนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นการแสดงในลักษณะเปิดให้ประชาชนที่พบเห็นมีส่วนร่วม สามารถใช้ปากกาเขียนข้อความอะไรก็ได้ลงบนแผ่นพลาสติก ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้เขียนข้อความตามฟ้อง ไม่ได้ตั้งใจชูแสดงข้อความ ไม่ได้อ่านข้อความที่มีผู้เขียนไว้โดยละเอียด และข้อความทั้งหมดก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112

ย้อนอ่านบันทึกการต่อสู้คดี เมื่องานศิลปะเป็นภัยต่อความมั่นคง: บันทึกการต่อสู้ก่อนพิพากษาคดี ม.112 “งานศิลปะแถบสีคล้ายธงชาติไม่มีสีน้ำเงิน”

.

.

วันนี้ จำเลยทั้งสองและทนายจำเลยเดินทางมาศาล โดยมีนายประกันที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนนักศึกษา และเพื่อนศิลปิน รวมกว่า 10 คน เดินทางมาให้กำลังใจและติดตามคดีของทั้งสองคนที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 

ในช่วงเช้า ศาลได้พิจารณาคดีอื่นๆ ที่นัดไว้ก่อน จนเวลา 11.35 น. จึงได้เรียกจำเลยและทนายความเข้ามาฟังคำพิพากษา ขณะที่ผู้มาให้กำลังใจซึ่งมีจำนวนมากไม่สามารถเข้าห้องพิจารณาได้ทั้งหมด

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุป เห็นว่าพยานโจทก์เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้พบเห็นเหตุการณ์ทั้งสามปาก ได้เบิกความถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 ที่สนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบเห็นชาย 2 คน ถือวัสดุคล้ายธงชาติไปวางไว้ และมีประชาชนมาร่วมกันเขียนข้อความหลายคน โดยพยานจำได้ว่าคือจำเลยทั้งสองในคดีนี้ เจือสมกับการนำสืบของจำเลย ที่เบิกความว่าทั้งสองคนต้องการวางงานศิลปะที่มีการปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในงาน จึงนำวัสดุดังกล่าวไปวาง

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้นำวัสดุดังกล่าวไปวางไว้จริง โดยเมื่อพิจารณาแถบของวัสดุดังกล่าว มีลักษณะใกล้เคียงกับลักษณะของธงชาติ ตามมาตรา 5 อนุ 1 ของ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 แตกต่างเพียงสัดส่วนที่ไม่ตรงกัน แม้จำเลยทั้งสองจะต่อสู้ว่าไม่ได้มีเจตนาทำผลงานคล้ายคลึงกับธงชาติ

ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสามปาก ว่าจำเลยทั้งสองได้ชูวัสดุดังกล่าวขึ้นเป็นเวลาประมาณ 10 นาที โดยพยานทั้งสามปากอยู่คนละจุดกัน แต่เบิกความในลักษณะเดียวกัน โดยมีพยาน 1 ปาก ที่ระบุว่าการชูวัสดุดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่พิธีกรเชิญชวนให้มีการเคารพธงชาติ

แตกต่างจากที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าชูและพับเก็บโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที แต่จากภาพถ่ายพยานหลักฐานในคดี บางภาพเห็นจำเลยทั้งสองหยุดนิ่งกับที่ แต่บางภาพมีการเคลื่อนที่ไปไม่น้อย ไกลเกินกว่าจะเป็นการพับเก็บตามที่จำเลยอ้าง และยังมีภาพที่บุคคลผู้เข้าร่วมกำลังยืนอยู่ด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยชูวัสดุขณะเปิดเพลงชาติ ไม่ใช่การชูขึ้นเพื่อพับเก็บแต่อย่างใด 

นอกจากนั้น ยังพบข้อความที่เขียนบนวัสดุดังกล่าวว่า “Revolution Flag” ย่อมทำให้เข้าใจว่ามีผู้ที่มาเขียนข้อความเข้าใจว่าวัสดุดังกล่าวมีลักษณะคล้ายธงชาติ เมื่อพิจารณารูปแบบ ลักษณะ และช่วงเวลาที่จำเลยชูขึ้นประกอบกัน จึงทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าวัสดุดังกล่าวเป็นธงชาติ เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 มาตรา 51 แล้ว

ส่วนที่พยานจำเลยปากหนึ่งเบิกความถึงประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุถึงมาตรฐานของค่าสีของธงชาติ ซึ่งไม่ตรงกับสีกับวัสดุดังกล่าวนั้น ประกาศดังกล่าวก็เป็นแต่เพียงคำแนะนำเท่านั้น 

เห็นว่าการทำสีแถบคล้ายกับธงชาติ แต่มีพลาสติกใสแทนแถบบริเวณสีน้ำเงิน และชูในงานชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเวลาที่มีการเคารพธงชาติ แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ในธงชาติไทย อันเป็นลดทอนคุณค่าของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำปากกามาวางไว้บริเวณวัตถุดังกล่าวเพื่อทำงานศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมนั้น จำเลยทั้งสองย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ชมอาจเขียนข้อความอะไร 

ส่วนข้อความที่ปรากฏบนวัสดุ คำว่า “พอแล้วไอษัตร์” พบว่าถูกเขียนเป็นตัวขนาดใหญ่ ด้านที่จำเลยที่ 1 ยกชูขึ้น เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่าได้เห็นถ้อยคำนี้ก่อนยกชูขึ้น แต่ไม่เข้าใจความหมาย 

คำว่า “ษัตร์” ไม่มีความหมายตามพจนานุกรม แต่ฟังเสียงคล้ายกับคำว่า “ไอ้สัตว์” ที่ใช้กล่าวติเตียน ด่าว่า และพ้องรูปกับคำว่า “กษัตริย์” เมื่อพิจารณาว่าถูกเขียนลงบนวัสดุคล้ายธงชาติ ที่ไม่มีสีน้ำเงิน บุคคลย่อมทราบและเข้าใจว่าความหมายว่า “ให้พระมหากษัตริย์หยุดได้แล้ว” และมีคำว่า “ไอ้” ซึ่งเป็นคำไม่สุภาพ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจความหมายเช่นกัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล และโดยที่พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และคำว่า “พอแล้ว” หมายถึงพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต จึงเป็นการดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ส่วนจำเลยที่ 2 ถืออยู่คนละด้านกับข้อความดังกล่าว และธงยังมีขนาดใหญ่ มีข้อความขนาดเล็กถูกเขียนกระจายกันอยู่จำนวนมาก จำเลยที่ 2 อาจจะมองไม่เห็นข้อความก็เป็นได้ ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เห็นข้อความดังกล่าวหรือไม่ 

ส่วนข้อความอื่นๆ ตามฟ้อง เห็นว่าเป็นตัวอักษรขนาดเล็ก เห็นได้ไม่ชัด และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยทั้งสองเห็นข้อความหรือไม่ และเข้าใจความหมายของข้อความหรือไม่ อย่างไร การกระทำของจำเลยที่ 2 ในการชูวัสดุดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดในกรณีนี้

สำหรับฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำผิดไว้หลายประการ เมื่อมีบางการกระทำที่ครบองค์ประกอบของมาตรา 112 แล้ว จึงเห็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดในข้อหานี้

จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษเป็นกระทงความผิดไป ข้อหาตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี และข้อหาตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 51 ให้ลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท

จำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ข้อหาตามมาตรา 112 คงจำคุก 3 ปี และข้อหาตาม พ.ร.บ.ธง คงจำคุก 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท

รวมโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท เห็นว่าจำเลยทั้งสองยังเป็นนักศึกษา ใกล้สำเร็จการศึกษาแล้ว หากต้องรับโทษจำคุกย่อมเสียประวัติ ประกอบกับจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 3 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยทั้งสอง มีกำหนด 2 ปี โดยให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติทั้งหมด 8 ครั้ง และให้ยึดของกลางในคดีนี้

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี ได้แก่ ภมร อนันตชัย

.

หลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ เวลาประมาณ 12.00 น. ตำรวจศาลได้ควบคุมตัวนักศึกษาทั้งสองคนลงไปห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อรอชำระค่าปรับตามคำพิพากษา โดยต้องรอชำระในช่วงบ่าย 

เวลา 14.10 น. หลังชำระค่าปรับรวม 3,000 บาท ทั้งสองคนจึงได้รับการปล่อยตัว และเดินทางไปรายงานตัวเจ้าหน้าที่คุมประพฤติตามคำพิพากษาของศาล

.

อ่านเรื่องราวของ ‘รามิล’ และ ‘เท็น’ สองนักศึกษาผู้ถูกดำเนินคดีนี้

รู้จัก ‘วิธญา คลังนิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง

สื่อผสมในชีวิตและคดีความของ “เท็น ยศสุนทร” นักศึกษาศิลปะผู้เผชิญกับ ม.112

.

X