สื่อผสมในชีวิตและคดีความของ “เท็น ยศสุนทร” นักศึกษาศิลปะผู้เผชิญกับ ม.112

มันเป็นชิ้นงานศิลปะที่เต็มไปด้วยรายละเอียด และต้องใช้เวลาเพ็งชมแต่ละองค์ประกอบที่ถูกนำมาหลอมรวมเข้าด้วยกัน เริ่มตั้งแต่แถบแสดงปีคริสต์ศักราชที่ตั้งต้นในปี 1998 ไล่วันเวลามาจนถึงปัจจุบัน ข้อความขีดๆ เขียนๆ ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษกระจัดกระจายไปทั่ว ภาพถ่ายในวัยเยาว์ของใครบางคน ข้อความใน ‘พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์’ และองค์ประกอบที่สะท้อนถึงเอกสารทางคดีความ

ที่ฝาผนังด้านหลัง กระดาษเอสี่พิมพ์ภาพและข้อความถูกแปะไว้สุมๆ กันอยู่ พร้อมข้อความลายมือตัวเล็กตัวใหญ่ที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกอย่าง ‘ความมันส์’ ‘การดิ้นรน’ ‘ความรัก’ ‘ขี้เกียจ’ ‘Alive’ ‘Youth’ ‘Friends’ เป็นอาทิ รวมทั้งซีกส่วนที่ผู้ชมต้องชะเง้อหาทางมองที่มุมๆ ด้านล่างของสิ่งที่อยู่บนผนัง

ข้อความบรรยายประกอบที่ติดแสดงแนวคิดของชิ้นงานให้ผู้ชมอ่าน บอกว่างานชิ้นนี้ชื่อ ‘It fell on me’ ใช้รูปแบบ mixed media หรือสื่อผสม มี ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ เป็นผู้สร้างสรรค์มันขึ้น คำบรรยายนามธรรมที่เปิดปล่อยให้ตีความหมายงานอย่างกว้างๆ บอกว่า

“การพยายามเข้าถึงพื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน ผ่านการปะติดปะต่อความทรงจำในช่วงต่างๆ ที่เผยให้เห็นเส้นตัดสำคัญของแต่ละช่วงชีวิต การถูกโยนเข้ามาให้มีส่วนร่วมกับสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความสัมพันธ์หรือพันธะที่ติดตัวและฝังในประสบการณ์ไปตลอด ไม่ว่าจะเป็น การตาย การลืม การถูกจดจำ และการหวนคำนึง”

เหล่านี้คือองค์ประกอบของชิ้นงานล่าสุดของ ‘เท็น’ ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาสาขา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกแสดงเป็นส่วนหนึ่งในงาน ‘I can see Paradise, But I Can’t Enter’ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ Onion Art Space ใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

.

.

ในวัย 24 ปี เท็นไม่ใช่เพียงนักเรียนที่กำลังจะจบการศึกษามหาวิทยาลัยในสาขาทางสื่อศิลปะ แต่ยังเป็นนักศึกษาผู้ลงมือทำงานศิลปะลองผิดลองถูก ในยุคสมัยที่ศิลปะและศิลปินถูกตั้งคำถามอย่างแหลมคม และในยุคที่การเมืองสำหรับคนหนุ่มสาวร้อนแรงเร่งเร้า เขายังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Artn’t หรือ ชาวศิลปะ “ไม่” ผู้ทำงานศิลปะที่สัมพันธ์เกี่ยวโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย และท้าทายความเป็นศิลปะเสียเอง

เท็นยังกลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ร่วมกับเพื่อนของเขา จากการแสดงงานศิลปะที่มีลักษณะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน ตามพื้นที่กิจกรรมต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ช่วงปี 2564 รวมทั้งถูกดำเนินคดีทวงคืนหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับอาจารย์ผู้สอนอีกสองท่าน ด้วยข้อกล่าหาว่าร่วมกันบุกรุกพื้นที่ของสถานศึกษาตัวเอง

สิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่ปริญญาทางศิลปะที่ใครควรได้รับ แต่ก็กลายเป็นความสัมพันธ์หรือพันธะที่ติดตัวและฝังในประสบการณ์ของเท็นในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย อันค่อยๆ เริ่มถูกสะท้อนออกมาในงานแสดงของเขา

หลังการต่อสู้มากว่าสองปี วันที่ 28 สิงหาคมนี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธง ของ “เท็น” และ “รามิล” สองนักศึกษาผู้ถูกดำเนินคดีในที่สุด แม้จะเป็นคำพิพากษาใน “พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” เพียงชั้นแรก และคดีอาจยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ ก็ตาม

ก่อนถึงวันพิพากษา ชวนปะติดปะต่อถ้อยคำบางส่วนเสี้ยวของ “เท็น” ที่มีส่วนกลายมาเป็นสื่อผสมของชีวิตและคดีความในวันนี้

.

.

ร่างภาพในวัยเยาว์

“ผมเกิดที่ขอนแก่น เพราะพ่อกับแม่ไปทำงานที่นั่นช่วงนั้น แต่ผมมาเติบโตที่จังหวัดสุโขทัยเป็นหลัก เรียนอนุบาลจนถึงมัธยม ก็ที่นั่น พ่อผมเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนมัธยม ที่อำเภอศรีสำโรง ตอนเด็กๆ ตั้งแต่อนุบาลถึงประถม ผมก็อยู่ที่อำเภอนั้นตลอด

“ผมก็เหมือนเด็กทั่วไป แต่พอพ่อเป็นครู ก็ถูกพาไปเล่นหรืออยู่ที่โรงเรียน ไปดูพ่อสอน ก็เลยได้เห็นการสอนศิลปะตั้งแต่เด็ก ก็ไม่เชิงว่าผมสนใจเรื่องศิลปะมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่น่าจะเรียกว่ามีความคุ้นเคยกับศิลปะมากกว่า พ่อผมก็สอนในระดับมัธยม ก็เลยไม่ได้ advance ลงลึกอะไร แต่ก็ทำให้เรามีความคุ้นเคย มาตั้งแต่จำความได้เลย

“ส่วนแม่ผมขายก๋วยเตี๋ยวในโรงเรียนที่พ่อผมสอน เราก็อยู่ด้วยกันในบ้านพักครู บางทีผมก็ไปกับพ่อ บางทีก็ไปกับแม่

“ในช่วงมัธยม ผมย้ายไปในเมืองอำเภอเมืองสุโขทัย ก็เหมือนเด็กทั่วไป เรียนไปเรื่อยๆ เล่นเกมส์ อ่านการ์ตูน แล้วก็ช่วง ม.ปลาย เรียนห้องวิทย์-คณิตด้วย แต่เป็นห้องแบบวิทย์-คณิต อันดับ 3

“สมัยนั้น คนอาจจะมองว่าผมแนวๆ ทรงโอตาคุ ทรงเนิร์ด ผมอ่านการ์ตูนเยอะ เล่นเกมส์ แต่ก็เรียนให้มันจบ ไม่ให้มันติดศูนย์ จบแล้วก็ยื่นแอดมิดชั่นมาที่สายศิลปะ ตอนแรกเลือก ม.ศิลปากร อันดับแรก เลือกกราฟฟิกดีไซน์หรือนิวมีเดียอะไรนี่แหละ

“ตอนนั้นจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร แม้จะอยู่ห้องวิทย์-คณิต แต่ก็โง่วิทย์-คณิตมาก ทำไม่ค่อยได้ และพบว่าตัวเองไม่ถนัด ก็เลยคิดว่าต้องไปทางสายศิลป์ ตอนแรกกะจะเรียนภาษาด้วย แต่ก็ตัดสินใจลองมาทางมีเดียอาร์ต เพราะตอนนั้นเราก็เล่นเกมส์เยอะ เลยคิดว่ามาทางคอมๆ อะไรหน่อยว่ะ ตอนนั้นคิดแค่นั้นเลย ไม่ได้มาดูรายละเอียดอะไรเลย

“ที่บ้านก็ปล่อย ให้เลือกเอาเอง ไม่ได้มีบังคับว่าต้องเรียนอะไร ที่บ้านชิลล์มาก คือบางบ้านจะมีปัญหาใช่ไหม ที่จะพยายามให้ลูกเรียนนู้นเรียนนี่ แต่ที่บ้านผมชิลล์ แต่แม่ก็มีเสนอบ้าง เรียนครูเหมือนพ่อไหม จะได้มีสวัสดิการอะไร แต่ผมก็ลองของผม

“คือจริงๆ ตอนนั้น หรือแม้แต่ตอนเรียนมหาลัยอยู่ ผมไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตจะต้องประกอบอาชีพหรือหาเงินจากอะไรกันแน่ ผมก็เลยเลือกเรียนศิลปะ แต่ไม่ได้ที่ศิลปากร มาได้ที่มีเดียอาร์ต มช. ที่เลือกเป็นที่สอง

“ตอนนั้น เราก็ไม่ได้รู้ความแตกต่างของสายทางศิลปะ ของศิลปากร หรือของ มช. ตอนเด็กๆ เราคิดแค่ว่า ศิลปะก็ต้องศิลปากรเนอะ มันเป็นแบบภาพจำ หรือเรื่องที่ได้ยินเขามา มันมีออร่าบางอย่าง สถาบันศิลปะแห่งแรก เราก็ได้ยินแบบนี้มา ทำให้ผมเลือกเป็นอันดับที่ 1 แต่ปรากฏว่าไม่ได้”

.

.

ขึ้นรูปปั้นร่างความสนใจ

“พอหลุดมาที่ มช. กลายเป็นว่าเปิดโลกไปอีกแบบ ผมคิดว่าตัวเอง culture shock อยู่ช่วงหนึ่ง ปี 1 เทอม 1 เรียกได้ว่าเกรดผมอัปรีย์มาก เปิดมาเจออาจารย์ที่เขาไม่ได้สอนแบบที่เราคุ้นเคยตอนมัธยมเลย มันต้อง alert กว่า active กว่า ต้องฟังในสิ่งที่เราไม่เคยฟังมาก่อน บางอย่างต้องมาปูพื้นฐานใหม่ เปิดเทอมมาเจอ cultural studies (วิชาวัฒนธรรมศึกษา) มีอาจารย์ฝรั่งมาสอนเลย ผมก็โอ้ ไม่รู้เรื่องสักเท่าไรเลย

“การเรียนการสอนที่นี่ อยู่ในคณะวิจิตรศิลป์ก็จริง แต่มันมีความพยายามไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคนิคในการทำงานศิลปะขนาดนั้น บางสาขามันจะเน้นการเวิร์คช็อปที่เอาไว้ทำเทคนิคใดเทคนิคหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ที่นี่เหมือนมันพยายาม blend (ผสมผสาน) วิธีการ และไปโฟกัสที่ความคิด และผสมทฤษฎีอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ทางอาร์ต มันสอนทฤษฎีทางมานุษยวิทยา ปรัชญา สังคมวิทยา ที่พยายามมาอธิบายอาร์ตด้วย หรืออาร์ตมันทำงานกับสาขาพวกนี้ยังไงด้วย

“อย่างวิชาอาจารย์ทัศนัย (เศรษฐเสรี) ก็จะพูดถึงนักคิดคนนั้นคนนี้ พูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของไอเดียต่างๆ ที่มีผลต่อแนวคิดในการทำงานทางศิลปะ การเรียนมันก็แน่น จนเรา overload แต่เราก็ค่อยๆ เรียนรู้มันไป มีช่วงที่ดร็อปไปบ้าง

“ตอนแรกเลย เราก็ยังไปรับน้อง รับน้องจังหวัด รับน้องคณะ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีแว่นในการมองโลกเรื่องพวกนี้ขนาดนั้น แต่การเรียนมันก็ให้แว่นในการมองโลกกับเรา อย่างแว่นในการมองอะไรในเชิงประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในแบบเรียน หรือประวัติศาสตร์แบบของรัฐ สมัยก่อน ผมก็เชื่อแบบนั้นเลย ตอนหลังเริ่มรู้ว่ามันมี minor history ประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งผมแทบไม่เคยรู้มาก่อน

“หรือพวกแนวคิด นักคิด ตอนเรียนผมก็รู้สึกว่ามันโหดสัสเลย อย่างเรียนแนวคิดกรัมชี (Antonio Gramsci นักทฤษฎีการเมืองชาวอิตาเลียน) เชื่อมโยงกับการติดตั้งอนุสาวรีย์ ว่ามันมีความหมายยังไง ก่อนหน้านี้เรามองอนุสาวรีย์เป็นแค่อนุสรณ์ที่คนมาจุดธูปนู้นนั่น แต่ความจริงมันมีความหมายในการครอบงำ ควบคุม และสื่อสารอุดมการณ์ทางการเมืองได้ด้วย

“เราก็เรียนรู้เรื่อง ‘อำนาจ’ ศิลปะมันก็มีการใช้อำนาจของมัน หรืออำนาจในที่ต่างๆ เราก็ได้แว่นพวกนี้มาจากการเรียน

“ในด้านของศิลปะที่นี่ มันก็ดูแปลกใหม่ด้วย ด้วยความมันพยายามทำสื่อผสม ช่วงปีต้นๆ มีพวกวิชาถ่ายภาพพื้นฐาน วิดีโอพื้นฐาน เว็บดีไซต์พื้นฐาน กราฟฟิกพื้นฐาน มันก็เหมือนจะเป็นหมด แต่ก็ต้องไปต่อยอด ฝึกฝนแต่ละด้านเอง พอปีสูงๆ มันจะเริ่มโฟกัสเรื่องทฤษฎี การทำงานในเชิงวิจัย มีทำศิลปะนิพนธ์

“ส่วนของผม ทำงานหลายประเภทอยู่ ไม่ได้พยายามจะ fix กับรูปแบบ ตอนปี 4 มันจะมีแล็ปให้เลือก มีแล็ปซาวน์ ก็ให้คุณศึกษาตัวจบในหัวข้อที่เกี่ยวกับเสียง หรือแล็ปวิดีโอ คุณก็พยายามทำภาพเคลื่อนไหว มันก็จะมีหลายแล็ป แบ่งไปตามเทคนิคหรือวิธีการศึกษา

“แต่ผมไปลงแล็ป Ethnography (ชาติพันธุ์นิพนธ์) ของอาจารย์ทัศนัย มันเป็นแล็ปพยายามทำความเข้าใจมนุษย์ ความหลากหลายของคน ผ่านการทำงานศิลปะ อันนี้มันจะไม่ได้มีเทคนิคนำ แต่ต้องไปไล่อ่านหนังสือที่ลิสต์มา อ่านงานมานุษยวิทยา งานปรัชญา ก็ผสมรวมไปทดลองทำ งานมันก็พยายามเข้าใจความทุกข์ของคน ข้อจำกัดของมนุษย์ บางคนก็ทำงานศิลปะจัดวาง ก็ฟรีๆ หน่อย แต่ก็มีความแปลกใหม่ในการสื่อสาร ทั้งในเนื้อหาและวิธีการ”

.

.

งานศิลปะที่ร้องตะโกนว่า ไม่

“สิ่งใดเป็นงานศิลปะ หรือไม่ นั้นเป็นเรื่องลี้ลับ ไร้เหตุผลที่จะนั่งตอบคำถาม ว่า มันหมายความว่าอะไร!! และเป็นเรื่องอุบาทว์ที่มันจะเป็น/ไม่เป็นศิลปะ เพียงเพราะสถาบันทางศิลปะให้คุณค่ามันเช่นนั้น”

บางส่วนของแถลงการณ์ ‘Artn’t Manifesto: ไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา และ ไม่เข้าสู่กระบวนการของรัฐที่ไร้ยางอาย’ ที่หน้า สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564

.

“กลุ่ม Artn’t เป็นกลุ่มเดียวที่ผมอยู่ คือช่วงโควิด และการเมืองเริ่มเดือด ปี 2563 หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ เราแม่งก็รู้สึกว่าประเทศแม่งอัปรีย์ เราก็รู้สึกกับมัน และก็สงสัยว่าทำไมต้องมีชีวิตแบบนี้ ทำไมมันสิ้นหวัง แล้วเราไม่รู้จะรับมือกับมันยังไง เราก็สงสัยว่ามันทำอะไรกันอยู่ เล่นปาหี่อะไรกันอยู่

“เราก็รู้สึกไม่พอใจ และรู้สึกว่าต้องทำอะไรอย่าง มันเริ่มมาจากสองความรู้สึกนี้ แล้วกระแสทางการเมืองก็เริ่มมา เราก็ได้ไปคุยกับเพื่อนๆ ไปแลกเปลี่ยนกัน คุยไปคุยมา ก็รู้สึกว่าลองทำอะไรด้วยกันไหม หลายคนก็รู้จักกันในช่วงนั้น ที่ไปเจอกันตามม็อบบ้าง

“ก็เริ่มชวนๆ มาลองทำงานด้วยกัน ไหนๆ ก็มีพื้นที่ในมีเดียอาร์ตอยู่แล้ว มันเลยเริ่มเป็น Collective Art ที่เกิดการรวมตัวกัน หลักๆ มันก็แลกเปลี่ยน นั่งคุยกัน แล้วก็ลองทำงาน

“คือในวงการศิลปะ มันก็มีการถูกกดทับในทุกยุคสมัย แต่ก็มีความพยายามจะปลดล็อกตัวเอง ท่าทีของการปลดล็อก มันไม่ได้อยู่แค่ในประวัติศาสตร์ศิลป์อย่างเดียว แต่มันอยู่ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองด้วย มันเข้าไปมีส่วนช่วยในการเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ ทั้งในเชิงร้อน เชิงเย็นๆ หน่อย เช่น หนังสือภาพ ถ่ายภาพ บทกวี บทเพลง ที่แต่งมาในบริบทต่างๆ มันก็ช่วยสนับสนุน movement  

“สำหรับผม แค่เขียนป้าย แล้วแต่งลวดลายหน่อย มันก็เป็นศิลปะแล้ว บางคนอยากจะเอาสีพ่น เป็นกราฟฟิตี้ มันสามารถอยู่ในทุกที่ในการเคลื่อนไหวได้ โดยไม่ต้องไปอิงกับสถาบันศิลปะ ที่ต้องการการมาการันตีคุณค่า

“มันอาจจะมีงานศิลปะบางงาน ที่ทำหน้าที่สื่อสารบางอย่างที่หนังสืออาจจะเขียนสื่อสารไม่ได้แบบนั้น หรือการพูดออกมาอาจจะสื่อสารไม่ได้ แต่งานศิลปะที่มันไม่มีคำพูดมันทำงานได้

“หรือแม้แต่การสร้างบรรยากาศในม็อบ ศิลปะก็มีส่วนในการสร้างมวลอารมณ์ และส่งผลต่อบรรยากาศของคนที่เห็นมัน เขาก็สามารถรู้สึกอะไรกับมันได้

“งานของ Artn’t เราก็พยายามกวนประสาท พยายามยียวนกับโลกศิลปะ ทำให้มันฮาๆ กวนๆ ironic หน่อย ตอนแรกมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่พอเรื่องการเมืองมันแรงๆ เราก็คิดว่ามันเป็นปฏิสภาวะ ทั้งทางการเมือง กับโลกศิลปะด้วย

“เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับโลกศิลปะขนาดนั้น เพราะมันก็มี ecology ของมัน มีระบบอุปถัมภ์ของมัน มีการถูกการันตี มีการเข้ามาตรฐานบางอย่าง

“เราพยายามทำ collective art ที่สะท้อนความผิดหวังต่อโลกศิลปะ ที่คนแสดงอาจจะมีแต่คนหน้าเดิมๆ ที่ establish กันแล้ว แต่เราก็เข้าใจเรื่องการไต่เต้ากันไป เป็นศิลปินก็ต้องใช้ตังค์  แต่เรื่องสัดส่วนของการเปิดพื้นที่ของแบบศิลปินใหม่ๆ หรือเด็กจบใหม่ มันแทบจะไม่มี บางคนจบอาร์ตมาแล้ว ก็ต้องไปทำอย่างอื่น ไปหารายได้ทางอื่นมาเลี้ยงชีพ มันไม่ได้มีพื้นที่ให้เขาได้เติบโตขนาดนั้น บางคนก็ลืมความฝัน หรือ passion ตอนเริ่มงานศิลปะไป มันก็น่าเสียดาย

“เราพยายามล้อปัญหาต่างๆ ที่ generation ของเรา อาจจะรู้สึกแบบนี้ คนที่แก่กว่า อาจจะไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกัน แต่รุ่นเรา มันไม่ได้เห็นหนทางได้ เราก็เลยคิดว่าแม่งกวนประสาทไปเรื่อยๆ

“การกวนประสาทมันก็เหมือนกับการวิพากษ์วิจารณ์แบบหนึ่ง หรือการรีเช็คต่อสิ่งที่เป็นอยู่ เรามีความคิดที่อยากจะทำแบบนี้ ทำไมมันทำไม่ได้ ก็เป็นคำถามดู”

.

.

เมื่องานศิลปะถูกไต่สวนในศาล

“จริงๆ เราก็เคยประเมินกัน เรื่องโดนคดี แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะโดนจริงๆ มันเป็นการประเมินแบบแย่ที่สุด แต่มันก็จัดมาเลย แล้วพอโดนจริงๆ เออ มันรุงรังว่ะ มันมีเงื่อนไขมาเยอะ มันทำให้เราทำอะไรยากขึ้น

“เอาจริงๆ มันก็ไม่ได้ดูน่ากลัวเหมือนกับเมื่อก่อน ในยุคหนึ่ง มันอาจจะหนักกว่านี้มาก อาจจะโดนกระทืบ หรือถูกความรุนแรงได้ง่ายกว่า มันแทบไม่มีที่ยืน แต่ตอนนี้มันก็ปลดล็อกไปบ้าง คนมันเป็นเศษเสี้ยวกระจัดกระจายกันไปหมด ไม่ได้มีความคิดเป็น unity กันง่ายๆ แล้ว มันก็ต้องทำความเข้าใจกันไป เราก็เลยคิดว่ามันเปลี่ยนไป”

“แล้ว movement คนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ช่วงปี 2563 ทางรัฐ เขาก็ใช้คดีเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่ามันเป็นความรุนแรงที่สามารถ public ได้ ความรุนแรงที่ official คือแง่หนึ่ง การใช้กฎหมายมันก็เป็นความรุนแรงที่รัฐใช้ได้ ที่มันมีความชอบธรรมอยู่ระดับหนึ่ง มันก็เลยใช้วิธีนี้ แจกกันเยอะมากเป็นประวัติการณ์เลย

“ยิ่งแจกคดีเยอะๆ คนมันก็เริ่มชิน เริ่มชา เริ่มซึมไปเรื่อย คนที่ไม่คิดว่าจะโดน เขาก็โดนไปด้วย บางคนก็โดนแก๊งค์ขวาจัดไปฟ้อง เนื่องจากข้อหา ม.112 มันใครแจ้งก็ได้ มันก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหนึ่ง ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งลำบากขึ้น หรือต้องยุติไป

“มันไม่ใช่แค่ดึงเวลาเราไปศาล ไปอัยการนะ แต่มันยังทำให้เราดูแย่ ดูเป็นผู้ร้าย ดูเป็นอาชญากร สำหรับคนบางกลุ่ม แล้วโดยกระบวนการที่เกิดขึ้นของรัฐ มันก็พยายามทำให้เราเป็นแบบนั้น

“แล้วพอชีวิตเราเริ่มเปลี่ยนเฟส ต้องคิดเรื่องการเริ่มทำงานมากขึ้น จากเคยเคลื่อนไหวคล่องตัวมากกว่า อยู่ในรั้วมหาลัยได้ประมาณหนึ่ง แต่ตอนนี้มันใกล้หมดเวลา เงื่อนไขของคดีที่เกิดขึ้น มันก็ส่งผลทำให้เรายากขึ้น มันเป็นชนักเราไว้อยู่

“พอเราเข้าไปในศาล เรารู้สึกว่าคนอื่นๆ พยายามมาพูดแทนเรา ตำรวจพยายามพูดแทน เขาพยายามมา justify เราตลอดเวลา คนที่มาฝั่งโจทก์ มันเหมือนกับเป็นการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์ ว่างานศิลปะของเรามันไม่ได้ทำอันตราย ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งดับสูญลงไป หรือทำให้ใครเสียหายอะไร

“เราไม่ได้อ้างว่าทุกอย่างมันเป็นศิลปะ แต่เราพยายามทำงานสื่อสารทางศิลปะไปด้วย เอางานไปรับฟังความคิดเห็นของคน ในที่ชุมนุม ในพื้นที่ต่างๆ แค่นั้นเอง แล้วรัฐเอง มาทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่เอง

“เหมือนผมได้ยินว่าในหลายประเทศยุโรป มันก็มีกฎหมาย lese majeste แต่ก็ไม่ได้เอามาใช้อะไร มันมีแต่ไม่ใช้ ก็กึ่งๆ สิ้นผลไป แต่ของเรา มันพร้อมถูกนำมาใช้ขย้ำคนเห็นต่าง หรือคนที่แสดงออกไม่ถูกความหมายของรัฐ”

.

ศิลปินในภาวะเสี่ยง

“ช่วงเดือนพฤษภาคม ผมได้ไปออสเตรียมา ถูกเลือกไปร่วมการประชุมเรื่อง artist at risk มันก็สัมพันธ์กับเรื่องที่เราโดนคดี แล้วก็ไปเจอกับศิลปินในประเทศต่างๆ ที่เจอกับความเสี่ยงจากการทำงานศิลปะที่แตกต่างกัน

“หลักๆ เราก็ไปฟังว่าโลกเขากำลังพูดถึงอะไรกัน ความเสี่ยงของศิลปินตอนนี้คืออะไร แล้วทำไมถึงได้รับความเสี่ยงนั้น  มันก็เห็นจุดร่วมว่าเพราะไปขัดต่ออำนาจ หรือการต่อต้านต่ออำนาจอะไรบางอย่าง มันก็โดน reaction จากอำนาจ ทำให้เกิดความเสี่ยงในชีวิต หรือด้านต่างๆ ต่อศิลปิน มีตั้งแต่โดนคดี โดนเนรเทศ โดนลอบสังหาร

“มีเพื่อนชาวบังกลาเทศคนหนึ่ง เขาทำสำนักพิมพ์ online publishing พูดเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพในประเทศบังกลาเทศ เขาโดนลอบสังหาร ต้องลี้ภัยอะไร มันอาจจะไปขัดต่ออะไรที่ละเอียดอ่อนในบ้านเขา  มีนักกิจกรรมที่ฟิลิปปินส์ ก็โดนดำเนินคดีคล้ายๆ กับผมหรือศิลปินคนอื่นโดน เขาก็พยายามคุยเรื่องวิธีการรับมือ การเยียวยา หรือการลดความเสี่ยง

“คนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ก็เป็นห่วงกันหมด ที่บ้าน เขาก็ตกใจที่รู้ข่าวว่าผมโดนคดีข้อหานี้ แต่เขาก็ไม่ได้มาด่าว่านะ เขาเป็นห่วง แล้วก็เตือนๆ มา แต่เขาก็พยายามเข้าใจเรามากขึ้น

“แล้วก็มีพวกมาบอกว่าเราโดนล้างสมองจากอาจารย์ จากทฤษฎีฝรั่งที่เรียน คิดว่าเราถูกหลอก ถูกล้างสมอง คือเราเรียนเราก็ไม่ได้ไปเบียว ไปท่องพวกนั้นอย่างเดียว หรือฟังมาโดยไม่คิด เราก็แค่พยายามทำความเข้าใจผ่านสิ่งที่เรียน เราก็หวังดีกับสังคม อยากให้มันเวิร์คขึ้น

“ทางจิตใจ แรกๆ ก็อาจจะมีความกังวล ความหลอนบ้าง ว่าเราจะเผชิญอะไรบ้าง มันมีความไม่แน่นอนสูง แต่ตอนนี้ก็นิ่งมากขึ้น ถ้าติดคุกจริงๆ ก็ไป ไปลองใช้ชีวิตในคุกสักห้วงหนึ่ง อาจจะหาอะไรทำ เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ผมก็ลองจินตนาการดูนะ ว่าถ้าติดคุก เราจะทำอะไร เป็นยังไง แต่แน่ๆ คือเราก็คงไม่ตาย แต่จะเป็นยังไง เรายังไม่รู้”

.

.

สหภาพศิลปิน กับการสร้างภาวะแวดล้อมใหม่ๆ

“ตอนนี้ส่วนตัวผม ก็คิดว่าคงพยายามทำงานศิลปะ ทั้งเชิงเย็น เชิงร้อน หาทางผลิตต่อไป และพยายามคิดเรื่องการขายให้ได้ด้วย คือก่อนหน้านี้ เราไม่เอาการขาย แต่พอจะเรียนจบ เราก็ต้องคิดเรื่องพวกนี้มากขึ้น

“ตอนนี้ก็เรียนตัวเดียว ตัวสุดท้ายที่จะจบ แล้วก็พยายามรับจ็อบ หรือทำอะไรอื่นๆ ที่สนใจไปด้วย เพื่อนๆ ก็ชวนไปทำงานแสดงบ้าง มีอะไรก็ชวนๆ กันทำ แล้วก็ใจหนึ่งก็อยากไปเรียนต่อ อาจจะต้องมีตังค์ประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปเรียนที่ไหน ยังไง

“ตอนนี้ กลุ่มเพื่อนๆ มันก็แยกย้ายไปตามความสนใจ อาจจะมีผลงานใหม่ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อน หรือเป็นงานเชิงร้อน ที่มีบริบททางการเมืองส่งมา

“มันก็มีความตั้งใจที่ว่าต้อง develop งานต่อเรื่อยๆ เพราะมันก็โดนจากงานที่เราทำกัน เราก็คิดว่าอาจจะหาทางเอามันมาพูดถึงใหม่ แต่มันก็ยังอยู่ในภาวะสุญญากาศ ที่ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการในคดี อาจจะพูดถึงสิ่งนี้ไม่ได้เต็มปากมากนัก แต่คิดว่าถ้ามันเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว ก็อาจจะเอางานเดิมกลับมาพัฒนาใหม่ ให้เป็นงานแสดงจากคดี ถ้ามันชนะคดีจริงๆ ก็อาจจะเป็นประวัติศาสตร์หนึ่งในการต่อสู้ทางศิลปะ

“สิ่งที่อยากเห็นในวงการศิลปะ ผมคิดถึงสหภาพศิลปิน ซึ่งมันอาจจะมีปัญหาร่วมกัน คือผมอยากให้มันมีการรวมตัวกัน เพื่อสร้างการต่อรองกับโลกศิลปะ เพราะวงการศิลปะมันมีอำนาจของมัน เป็นเงินทุน เป็นมูลค่าในเชิงสัญลักษณ์ มีระบบอำนาจของเรา เราก็ต้องรวมตัวกัน แม้จะคนกลุ่มเล็กๆ เพื่อที่จะหาทางสร้างอำนาจต่อรองกันได้ ทั้งศิลปินตัวเล็กตัวน้อย หรือศิลปินรุ่นใหญ่ แต่พยายามมาร่วมกันสร้างความมั่นคงให้กับคนที่จะเลือกเส้นทางนี้ซะหน่อย”

.

ย้อนอ่านเรื่องราวของ ‘รามิล’ คู่คดีของ ‘เท็น’

รู้จัก ‘วิธญา คลังนิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง

.

X