เมื่องานศิลปะเป็นภัยต่อความมั่นคง: บันทึกการต่อสู้ก่อนพิพากษาคดี ม.112 “งานศิลปะแถบสีคล้ายธงชาติไม่มีสีน้ำเงิน”

ในวันที่ 28 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 2 นักศึกษาและสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t  ได้แก่ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ ‘รามิล’ นักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ และ ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ หรือ ‘เท็น’ นักศึกษาสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธงฯ จากเหตุการแสดงงานศิลปะที่มีลักษณะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน ในงานกิจกรรมชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564

คดีนี้มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง และ ศรีสุวรรณ จรรยา เป็นสองผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ นักศึกษาทั้งสองเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ก่อนพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่จะมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 18 ม.ค. 2565 โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธมาตลอด ก่อนศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งหมด 4 นัด เมื่อวันที่ 8-10 ก.พ. และ 2 พ.ค. 2566

.

ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์กล่าวหาจำเลยหมิ่นกษัตริย์ด้วยการชูแสดงแผ่นพลาสติกคล้ายธงชาติ ไม่มีสีน้ำเงิน มีข้อความหมิ่นกษัตริย์ ด้านจำเลยต่อสู้เป็นการแสดงออกทางงานศิลปะแบบผู้ชมมีส่วนร่วม และไม่ใช่ผู้เขียนข้อความ

สำหรับพฤติการณ์ข้อกล่าวหาคดีนี้ โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 จำเลยทั้งสองได้หมิ่นประมาทกษัตริย์ด้วยการนำแผ่นพลาสติกใส มีรูปลักษณ์คล้ายธงชาติไทย แต่ไม่มีสีน้ำเงิน โดยมีข้อความว่า “FUCK YOU 112 IF YOU USE 112 FUCK YOU TOO”, “พอแล้วไอ้ษัตร์”, “สุนัขทรงเลี้ยงออกไป”, “พอทีภาษีกูเลี้ยงหอย” จำเลยทั้งสองได้ถือวัตถุดังกล่าวคนละด้าน และร่วมกันชูแสดงให้ประชาชนพบเห็น

จำเลยทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยอมรับว่าได้นำแผ่นพลาสติกดังกล่าวไปจัดแสดงเป็นงานศิลปะที่สนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะมีเวทีชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเป็นการแสดงในลักษณะเปิดให้ประชาชนที่พบเห็นมีส่วนร่วม ในลักษณะศิลปะที่สร้างการมีส่วนร่วม สามารถใช้ปากกาเขียนข้อความอะไรก็ได้ลงบนแผ่นพลาสติก ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้เขียนข้อความตามฟ้อง ไม่ได้ตั้งใจชูแสดงข้อความ ไม่ได้อ่านข้อความที่มีผู้เขียนไว้โดยละเอียด และข้อความทั้งหมดก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 อีกทั้งการตีความงาน “แถบสีนามธรรม” ดังกล่าว ยังขึ้นอยู่กับความคิดและการให้ความหมายของผู้ชมงานศิลปะที่แตกต่างกันไป

ก่อนเริ่มการสืบพยานศาลได้อธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองอีกครั้ง และสอบถามจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือจะต่อสู้คดี โดยจำเลยทั้งสองยืนยันให้การต่อสู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่เป็นความผิด ฝ่ายโจทก์จึงได้นำพยานบุคคลเข้าสืบทั้งหมด 7 ปาก และจำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบจำนวน 6 ปาก

.

.

สืบพยานโจทก์

ศรีสุวรรณ จรรยา: อ้างพบเห็นรูปภาพวัสดุคล้ายธงชาติในเฟซบุ๊ก มีข้อความหมิ่นเหม่ จึงรวบรวมหลักฐานแจ้งความแกนนำพรรควิฬาร์ กับทราย เจริญปุระ

ศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะหนึ่งในผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ได้ดูเฟซบุ๊ก  ทราบว่าจะมีการจัดการชุมนุมต่อต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นในวันที่ 14 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 17.20 น. 

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 เวลา 18.00 น. ศรีสุวรรณได้ดูสื่อโซเชียลมีเดีย เห็นว่ามีภาพกิจกรรมการชุมนุมและเห็นป้ายลักษณะคล้ายธงชาติ ซึ่งไม่มีสีน้ำเงิน แต่เป็นแถบสีใส หากเปรียบเทียบสีขาวและสีแดงด้านบนและด้านล่าง มีความกว้างส่วนตรงกลางกว้างกว่าแถบสีอื่นๆ 

พยานได้ขยายดูรูปหลายครั้ง พบว่าบนป้ายดังกล่าวมีตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษคำว่า “Fuck112” ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ประชาชนทั่วไปย่อมทราบดีว่าหมายถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นตัวบทกฎหมายปกป้องสถาบันฯ 

พยานจึงรู้สึกไม่สบายใจ ในหลายๆ ข้อความที่เห็นหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดมาตรา 112 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยร้องทุกข์กล่าวโทษต่อแกนนำกลุ่มพรรควิฬาร์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผู้จัดทำ และ ‘ทราย’ อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงซึ่งมีภาพว่าไปร่วมการชุมนุมดังกล่าว แต่ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อจำเลย 2 คนนี้ และไม่รู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน

ทนายความถามค้าน ศรีสุวรรณรับว่าตนไม่ทราบว่าเฟซบุ๊กที่ตนเห็นภาพกิจกรรมที่สนามรักบี้เป็นของใคร ไม่ทราบว่าผู้ใดเผยแพร่ภาพและผู้ใดทำวัตถุคล้ายธงชาติดังกล่าว ในรูปภาพที่ศรีสุวรรณนำมาแจ้งความมีภาพวัสดุคล้ายธงชาติวางอยู่บนพื้นปูนและไม่ทราบว่าจะเป็นภาพกิจกรรมในวันเกิดเหตุหรือไม่ ทั้งนี้สีขาวและสีแดงก็ประกอบอยู่ในธงชาติของประเทศอื่นทั่วไป 

พนักงานอัยการถามติง ศรีสุวรรณเห็นว่าวัสดุคล้ายธงดังกล่าวไม่ว่าจะวางที่ไหน เวลาใดก็ไม่ใช่สาระสำคัญ

.

ตำรวจผู้กล่าวหา: ได้วัสดุคล้ายธงมาจากคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดทำ เนื่องจากมาแจ้งความว่าถูกลักทรัพย์

พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง รองผู้กำกับสืบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ วันที่ 14 มี.ค. 2564 เวลา 12.00 น. พ.ต.ท.อานนท์ ได้รับแจ้งว่ามีการนัดชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีในช่วงเย็นที่สนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตนกับเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนประมาณ 4-5 คน เจ้าพนักงานชุดสืบสวนภาค 5 และตำรวจสันติบาลเข้าสังเกตการณ์บริเวณดังกล่าวโดยแต่งตัวนอกเครื่องแบบ เนื่องจากหากแต่งชุดตำรวจอาจถูกกดดัน และไม่สามารถเข้าไปสถานที่ดังกล่าวได้

เมื่อไปถึงสนามรักบี้ ตนก็ไม่สามารถเข้าไปในบริเวณงานได้เนื่องจากกิจกรรมมีการคัดกรองบุคคลและเจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าไปมักจะหน้าเดิมๆ จึงยืนอยู่บริเวณขอบสนาม ในกิจกรรมมีพิธีกร 2 คน ผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 70 คน อายุประมาณ 18-30 ปี ทั้งเพศชายและหญิงคละกัน บางส่วนแต่งกายชุดนักศึกษาและชุดธรรมดา

ขณะนั้นมีชาย 2 คน ถือวัสดุคล้ายธงชาติ กว้างประมาณ 1.2 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตรกว่า วัสดุคล้ายธงมีแถบแนวนอน 5 แถบ แถบแนวบนสุดและล่างสุดเป็นสีแดง ถัดมาเป็นสีขาวและตรงกลางเป็นพลาสติกใส โดยแถบที่เป็นพลาสติกใสตรงกลางมีความกว้างกว่าแถบสีที่เหลือ ส่วนแถบสีที่เหลือมีความกว้างเท่ากัน 

เบื้องต้นทางตำรวจเห็นเป็นธง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นธงอะไร จากนั้นพิธีกร 2 คนบนเวทีได้กล่าวถึงการต่อต้านรัฐบาล และได้เชิญชวนให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้ามาเขียนข้อความลงบนวัสดุดังกล่าวที่วางอยู่บริเวณกลางค่อนไปทางขอบสนาม และชาย 2 คนดังกล่าวก็ยืนอยู่บริเวณที่ธงวางอยู่ด้วย

ต่อมา มีประชาชนต่างเข้ามาเขียนข้อความลงบนวัสดุดังกล่าว และอีกราว 20 นาที ชาย 2 คนได้ยกธงขึ้นชู และยืนบริเวณดังกล่าวประมาณ 10 นาที ระหว่างนั้นมีประชาชนส่วนหนึ่งเข้ามาให้ความสนใจและถ่ายรูปไว้ ต่อมาจึงพับเก็บ ระหว่างนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาของพยาน แอบเดินไปถ่ายภาพวัสดุและนำมาเล่าให้ตนฟัง จากนั้นก็มีการชุมนุมต่อ แต่ตนได้กลับไปแล้ว

ตามภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ถ่ายรูปมามีข้อความว่า “พอแล้วไอ้ษัตร์” เมื่อเปิดพจนานุกรมแล้ว ไม่พบคำว่า “ษัตร์” โดยตนเข้าใจว่าตัดมาจากคำว่า “กษัตริย์” นอกจากนี้ยังพ้องเสียงว่าสัตว์ด้วย ส่วนคำว่า “ไอ้” เป็นคำไม่สุภาพ ซึ่งพออนุมานว่าเป็นการด่าพระมหากษัตริย์ว่า “ไอ้สัตว์” 

และคำว่า “Fuck 112 if you use 112 fuck you too” คำว่า Fuck หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นคำสบถด้านลบ ส่วน 112 หมายถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และคำว่า “สุนัขทรงเลี้ยงออกไป” เป็นคำราชาศัพท์ เป็นคำที่ใช้กับพระมหากษัตริย์  และคำว่า “112 NO GOD NO KING ONLY HUMAN 14/3/2564” ซึ่งหมายถึงไม่เอามาตรา 112 ไม่เอาพระเจ้า ไม่เอาพระมหากษัตริย์ เอาแค่มนุษย์

ภายหลังผู้ใต้บังคับบัญชาได้จัดทำรายงานสืบสวน สามารถระบุตัวบุคคลที่ชูวัสดุดังกล่าวได้ คือจำเลยทั้งสอง โดยเปรียบเทียบวัสดุดังกล่าว กับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 ที่มี รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขณะนั้น เข้าไปตรวจสอบที่หอศิลป์ อาคารเรียน Media Arts and Design โดยมีการตรวจยึดผืนผ้าที่มีลักษณะคล้ายธงชาติ ก่อนทางผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ มีมติให้นำส่งวัสดุคล้ายธงชาติดังกล่าวส่งต่อตำรวจ เมื่อดูข้อความทั้งหมดปรากฏว่ามี 35 ข้อความ ที่มีการเพิ่มขึ้นมาจากภาพถ่ายในวันที่ 14 มี.ค. 2564

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 จำเลยทั้งสองเดินทางมาที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ว่าได้ทำการลักทรัพย์ไปจากจำเลยทั้งสอง พ.ต.ท.อานนท์ จึงเข้าใจได้ว่าวัสดุคล้ายธงชาตินี้เป็นของจำเลยทั้งสอง เพราะคณบดีฯ ได้นำมามอบไว้ก่อนแล้ว 

ทั้งนี้พยานเข้าใจว่าคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เป็นครูบาอาจารย์ ประกอบกับตำรวจก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง คงไม่มีการเติมข้อความลงในวัสดุดังกล่าว และเมื่อสอบถามคณบดีฯ แล้ว ก็ได้รับแจ้งว่าไม่ใช่งานศิลปะตามวิชาการเรียนการสอนของคณะวิจิตรศิลป์ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็เรียนอยู่คณะมนุษยศาสตร์ด้วย

ในวันที่ 23 เม.ย. 2564 ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทำรายงานสืบสวนยืนยันตัวผู้กระทำความผิดในคดีนี้คือจำเลยทั้งสอง พยานจึงได้แจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 เนื่องจากเห็นว่าจำเลยใช้วัสดุคล้ายธงที่มีแถบสีใส นำสีน้ำเงินตรงกลางออก และเปลี่ยนเป็นพลาสติกใส ซึ่งสีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

ภายหลัง พ.ต.ท.อานนท์ ได้ทราบว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด และเคยถูกดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าวมาหลายคดี

ทนายความจำเลยถามค้าน ในกิจกรรมวันที่ 14 มี.ค. 2565 ขณะที่จำเลยทั้งสองนำวัสดุดังกล่าวมาวางที่สนามรักบี้ ขณะนั้นพยานรับว่ายังไม่มีตัวอักษรใดๆ บนวัสดุ แม้เห็นจำเลยทั้งสองเดินไปมาบริเวณใกล้เคียง แต่ไม่เห็นทั้งสองเขียนข้อความลงบนวัสดุดังกล่าวแต่อย่างใด

ขณะที่คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ได้ตรวจค้นอาคารเรียน และพบกับวัสดุคล้ายธงดังกล่าว อยู่กลางห้องปฏิบัติการ ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง เป็นไปได้ว่าวัสดุคล้ายธงไม่ได้อยู่กับจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ถึง 19 เม.ย. 2564 แต่ไปอยู่ที่อื่น ซึ่งในระหว่างนั้นอาจมีการเขียนข้อความเพิ่มขึ้นก็ได้ 

ทั้งนี้บนวัสดุยังมีข้อความเป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งไม่ได้ถูกฟ้องมาด้วย หากแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Fuck you mr.ten (the king of germany) พยานเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 ส่วนคำว่า the king of germany น่าจะกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ เพราะทรงเสด็จไปประพาธที่เยอรมนีบ่อยครั้ง ทั้งนี้เป็นความเข้าใจส่วนตัวของตน

ในการชุมนุมบริเวณสนามรักบี้ ในวันที่ 14 มี.ค. 2564 ไม่มีการปราศรัยถึงพระมหากษัตริย์ ในขณะที่จำเลยทั้งสองชูแผ่นพลาสติกคล้ายธงชาติดังกล่าว พยานไม่ได้จับเวลาว่าชูไว้ถึง 10 นาที ตามที่เบิกความไป แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้พับเก็บโดยทันที แต่มีการยกแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ดูก่อนจึงจะเก็บ 

เมื่อเห็นจำเลยทั้งสองยกชูขึ้นแล้ว พ.ต.ท.อานนท์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่เกิน 15 เมตร สามารถอ่านข้อความที่มีขนาดใหญ่ได้ แต่ไม่ได้เข้าจับกุมทันที เพราะต้องนำข้อความไปตีความเสียก่อนว่าเป็นความผิดหรือไม่ โดยได้ทำหนังสือเสนอให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.อานนท์ ก็ยังไม่มั่นใจว่ามีความผิดหรือไม่ อีกทั้งบุคคลภายในบริเวณดังกล่าวก็ไม่มีผู้ใดเข้าไปห้ามหรือตักเตือนจำเลยทั้งสอง

นอกจากนี้ขณะที่มีบุคคลอื่นมาเขียนข้อความลงบนวัสดุดังกล่าว พยานเห็นจำเลยที่ 2 ยืนอยู่บริเวณดังกล่าว แต่ไม่เห็นว่ามีการสั่งให้บุคคลอื่นเขียน ทั้งเมื่อเห็นแล้วข้อความส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ และข้อความทั้ง 4 ข้อความตามคำฟ้องคดีนี้ ก็ไม่มีการเจาะจงว่ากล่าวถึงผู้ใด

พนักงานอัยการถามติง แม้ว่าพยานจะไม่ได้ยึดวัสดุดังกล่าวมาจากจำเลยทั้งสอง แต่ในขณะกิจกรรมวันเกิดเหตุ ตนก็พบเห็นข้อความตามคำฟ้องคดีนี้แล้ว และเหตุที่ไม่สามารถเข้าควบคุมตัวจำเลยได้ทันทีเนื่องจากวันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมประมาณ 70 คน ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเพียง 5 คน จึงไม่สามารถเข้าปะทะกับผู้ชุมนุมได้ 

ทั้งนี้แม้ว่าพยานจะได้เสนอให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาการกระทำว่าเป็นความผิดหรือไม่ก็ตาม แต่แท้จริงแล้ว พยานก็เข้าใจว่าการกระทำน่าจะ ‘หมิ่นเหม่’ ต่อความผิดแล้ว

.

ภาพจากเพจประชาคมมอชอ

.

2 ตำรวจผู้พบเห็นเหตุการณ์: สันติบาลสืบสวนหาข่าว พบชาย 2 คนนำแผ่นพลาสติกมาวางก่อนพิธีกรจะประกาศเชิญชวนบุคคลทั่วไปมาเขียนข้อความ

ร.ต.อ.ชาตรี สกุลโสภิตจิตร กองกับการ 3 กองบังคับการสันติบาล 1 ขณะเกิดเหตุทำหน้าที่สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับความมั่นคง และ ร.ต.อ.รัฐชวพงค์ กันธวงค์ กองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดเชียงใหม่  

ทั้งคู่เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ 14 มี.ค. 2564 ว่าทั้งสองได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปสืบสวนหาข่าวที่สนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองชื่อว่า “ยุทธการไล่ประยุทธ์” ทั้งคู่ไปถึงก่อนเวลาประมาณ 17.00 น. พร้อมกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกคนหนึ่ง โดยไปประจำอยู่บริเวณรอบสนามรักบี้และบริเวณใกล้เคียง พบว่ามีการเตรียมเวทีปราศรัย ห้องสุขา มีประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มเข้ามา โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา

ต่อมามีพิธีกรเพศชาย 2 คนขึ้นมากล่าวเปิดงาน และมีมวลชนทยอยเข้ามาเพิ่ม จนมีประมาณ 70-80 คน จนถึง 17.00 น. เศษ มีชายสองคนเข้ามาบริเวณกิจกรรม พร้อมนำแผ่นพลาสติกสีใสมาคลี่ออกที่บริเวณกลางลานสนาม ห่างจากเวทีประมาณ 20 เมตร แผ่นดังกล่าวมีแถบสีทั้งหมด 5 แถบ ได้แก่ สีแดง สีขาว สีใส สีขาว และสีแดง โดยแถบสีใสมีขนาดใหญ่กว่าสีขาวและแดง จากนั้นพิธีกรได้เชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาเขียนข้อความลงบนแผ่นพลาสติกดังกล่าวประมาณ 20 นาทีก่อนจะมีการเก็บ โดย ร.ต.อ.รัฐชวพงค์ ได้ถ่ายรูปภาพและวิดีโอของกิจกรรมทั้งหมดไว้ 

ร.ต.อ.รัฐชวพงค์ เบิกความต่อว่าเวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่งครบเวลา 20 นาทีที่ให้ประชาชนเข้ามาเขียนข้อความแล้ว พิธีกรมีการเรียกให้ทุกคนยืนเคารพธงชาติ และชายสองคนได้แผ่นดังกล่าวขึ้นมาชูและเคลื่อนที่เล็กน้อยอยู่ประมาณ 10-20 นาที ระหว่างนั้นพยานไม่ได้สังเกตว่ามีข้อความใดบ้างบนวัสดุดังกล่าว จากนั้นทั้งสองก็ได้ม้วนธงเก็บและเดินออกจากสนามไป ต่อมาจึงสืบทราบภายหลังว่าชายสองคนคือจำเลยทั้งสอง

ร.ต.อ.ชาตรี ตอบทนายความถามค้าน ในการอยู่ที่บริเวณสนามรักบี้ ตนได้ดูบรรยากาศรวมๆ เดินไปเดินมารอบๆ ไม่ได้ตรวจสอบประจำที่ใดที่หนึ่ง ในตอนแรก เห็นว่ายังไม่มีข้อความบนแผ่นดังกล่าว  และพยานก็ไม่เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้เขียนข้อความลงบนแผ่นพลาสติกดังกล่าว อีกทั้งในขณะจำเลยทั้งสองยกแผ่นพลาสติกขึ้นนั้น ตนก็ไม่เห็นข้อความอะไร เนื่องจากอยู่ด้านหลัง

ร.ต.อ.รัฐชวพงค์ ตอบทนายความถามค้าน ระหว่างกิจกรรมไม่มีผู้ใดมาห้ามไม่ให้พยานเข้าไปในพื้นที่งานกิจกรรม แต่มีการกั้นเทปสีเหลืองไว้ ในการสังเกตการณ์ พยานจึงนั่งอยู่ประจำจุดและเดินไปเดินมาบ้าง เห็นจำเลยทั้งสองนำแผ่นพลาสติกมาคลี่บริเวณที่ตนนั่งอยู่ จนมีบุคคลเข้ามาเขียนข้อความ และจำเลยทั้งสองชูขึ้นมา แต่พยานไม่เห็นข้อความบนวัสดุดังกล่าว และไม่แน่ใจว่ามีประชาชนเข้ามายืนดูวัสดุหรือไม่

.

นักวิชาการกฎหมาย: เข้าใจว่าข้อความตามฟ้องไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์โดยตรง แต่เมื่อพิจารณาภาพรวม การเขียนอยู่บนธง ทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงกษัตริย์

ผศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ นวานุช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ รับหน้าที่สอนวิชากฎหมายอาญา เบิกความว่าเมื่อประมาณปลายเดือน เม.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้เรียกให้มาเป็นพยานที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อให้มาแปลข้อความ และสอบถามความเห็นทางกฎหมายว่าจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่

พยานเห็นจากภาพว่าวัสดุดังกล่าวมีความคล้ายกับธงชาติไทย และยังปรากฏถ้อยคำไม่สุภาพ เช่น “Fuck112” ซึ่งเลข 112 ย่อมหมายถึงมาตรา 112 และ “พอแล้วไอ้ษัตร์” พยานมองว่าประโยคนี้ไม่เหมือนการด่าแบบคนธรรมดาทั่วไป โดยเหมือนว่ากำลังด่าพระมหากษัตริย์อยู่ เนื่องจากเป็นคำพ้องรูปจากคำว่า “กษัตริย์” โดยข้อความเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่บนธง ประกอบกับธงดังกล่าวไม่มีสีน้ำเงิน โดยรวมแล้วข้อความเหล่านี้เป็นการดูหมิ่น แสดงความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพรัก 

ทนายความถามค้าน นอกจากคดีนี้ตนเคยได้รับหนังสือจากพนักงานสอบสวนไปให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับมาตรา 112 ในคดีอื่นๆ ด้วย และเคยมาเบิกความให้ความเห็นในคดีอื่นมาก่อนแล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ส่วนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัย น่าจะมีการแจ้งกันว่าพยานสอนกฎหมายอาญา จึงมีการเชิญมา

ในการอธิบายถ้อยคำ พันธุ์ทิพย์เห็นว่าคำว่า if you use 112 แปลว่าคุณใช้มาตรา 112 ซึ่งผู้ใช้มาตรา 112 นั้นไม่ใช่พระมหากษัตริย์ และตนไม่ขออธิบายถึงคำว่า “พอทีภาษีกูเลี้ยงหอย” 

พยานระบุว่าความเห็นของพยาน เป็นความเห็นส่วนตัวที่ผู้อื่นอาจเห็นแตกต่างก็ได้ พยานรับว่าเมื่อพิจารณาข้อความทั้ง 4 ตามคำฟ้องแล้ว ไม่ได้สื่อถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันโดยตรง แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับส่วนอื่นๆ และในภาพรวมแล้วเห็นว่าเป็นการสื่อถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ พันธุ์ทิพย์ไม่ขอตอบคำถามที่ว่าเมื่อเห็นว่าคำว่า “พอแล้วไอ้ษัตร์” เป็นคำพ้องรูปคำว่ากษัตริย์นั้น แท้จริงแล้วพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ เราก็เรียกเช่นเดียวกัน หรือกษัตริย์ของต่างประเทศ ก็เรียกว่า ‘กษัตริย์’ เช่นกัน 

พนักงานอัยการถามติง ในการตีความถ้อยคำในทุกคดีที่เคยให้การไปก่อนแล้ว ตนก็ตีความตามหลักวิชาการ และถ้อยคำตามฟ้องคดีนี้ เมื่อเขียนอยู่บนธงชาติไทย จึงเข้าใจได้ว่าหมายถึงกษัตริย์ของประเทศไทย และเนื่องจากคดีนี้เกิดปี 2564 แล้วตนพูดถึงพระมหากษัตริย์ ก็ย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

.

.

นักวิชาการภาษาไทย: 3 ข้อความบนธงไม่หมิ่น มีเพียงข้อความเดียวคือ “สุนัขทรงเลี้ยง” ที่เข้าใจว่าการกระทำของรัฐบาลชุดนี้มีพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลัง

ผศ.ดร.สุนทร คำยอด อาจารย์ด้านภาษาไทย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เบิกความว่าเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขอความคิดเห็นไปที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผ่านทางอธิการบดี ให้ไปเป็นพยานให้ความเห็นทางภาษาไทย

ทางตำรวจให้พยานดูภาพถ่ายวัสดุในคดีนี้แล้ว พยานเห็นว่าคำว่า “Fuck 112” และ “If you use 112 Fuck you too” นั้นไม่มีความเกี่ยวข้อง โดยเป็นเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันฯ และคำว่า “พอแล้วไอ้ษัตร์” นั้นตนเห็นว่าก็ไม่เกี่ยวข้อง เพราะยังไม่ถึงขนาดจะสื่อไปถึงพระมหากษัตริย์ 

ส่วนคำว่า “พอทีภาษีกูเลี้ยงหอย” ก็ไม่มีความหมายเกี่ยวข้อง เนื่องจากรูปประโยคไม่มีประธานในประโยค แต่คำว่า “สุนัขทรงเลี้ยง” ในประโยคเป็นคำราชาศัพท์ โดยบริบทมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งข้อความยังถูกเขียนลงบนธง สามารถสื่อถึงหัวหน้ารัฐบาลมีความหมายทำนองว่า ให้หัวหน้ารัฐบาลไปให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากสุนัขจะต้องมีเจ้าของ แสดงว่าการกระทำของรัฐบาลชุดนี้มีพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลัง

นอกจากนี้ข้อความว่า “ไอ้ษัตร์” หากเติม “ก” เข้าไปแล้วจะมีความหมายได้ โดยจะหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการกล่าวถึงตำแหน่ง คำว่า “ไอ้” เป็นคำสรรพนามที่ใช้เรียกแบบไม่เหมาะสม เป็นคำบริภาษ 

ทนายความถามค้าน นอกจากคดีนี้ตนเคยให้การในคดีมาตรา 112 อีกหลายคดี ตามรูปภาพที่ปรากฏคำว่า “ษัตร์” ตนเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก โดยการตีความคำว่า “ไอ้ษัตร์” นั้นเป็นคำบริภาษ ซึ่งเป็นคำไม่สุภาพหรือคำด่า ซึ่งในประโยคไม่มีประธานของประโยค ส่วนคำว่าสุนัขทรงเลี้ยงนั้น คำว่า “ทรง” เป็นคำราชาศัพท์สามารถใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี และราชวงค์ไล่ลงมาก็ได้

.

พนักงานสอบสวน: คณบดีวิจิตรศิลป์ช่วยนำวัสดุมาส่งเป็นพยานหลักฐาน พร้อมรายงานเหตุการณ์ภาพนิ่งและเคลื่อนไหว แม้จำเลยไม่ได้เขียนข้อความ แต่นำมาชูแสดงต่อบุคคลทั่วไป

ร.ต.อ.นพรัตน์ วงค์สุตา พนักงานสอบสวนในคดี เบิกความว่าในวันที่ 14 มี.ค. 2564 ขณะที่ตนเป็นพนักงานสอบสวนเวรอยู่ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุของสถานีตำรวจว่ามีการชุมนุมแสดงออกที่บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทำรายงานประมวลเหตุการณ์ส่งไปที่ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง ผู้กล่าวหาคดีนี้ได้เข้ามากล่าวโทษว่ามีการแสดงออกทางการเมืองโดยร้องทุกข์ต่อจำเลยทั้งสองในคดีนี้ ที่ได้ทำการกางพลาสติกคล้ายธงชาติที่มีข้อความเข้าข่ายเป็นความผิดมาตรา 112 และในวันดังกล่าวยังมีนายศรีสุวรรณ จรรยา มากล่าวหาบุคคลอื่นๆ จากกรณีเดียวกันด้วย โดยชี้นำให้มีการสืบสวนเกี่ยวกับกรณีที่มีสำนักข่าวหนึ่งลงภาพบุคคลชูวัสดุคล้ายธงชาติที่มีข้อความเข้าข่ายเป็นความผิด

คดีนี้มีพนักงานสอบสวนร่วมกันประมาณ 10 นาย ทั้งจาก สภ.ภูพิงค์ฯ และตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกัน โดยสรุปความเห็นว่ามี 4 ข้อความที่เข้าข่ายเป็นความผิด

ร.ต.อ.นพรัตน์ ยังได้รับรายงานอีกว่ามีคณะผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มอบวัสดุคล้ายธงชาติแก่ตำรวจชุดสืบสวน โดยมีการจัดทำรายงานประจำวันเป็นหลักฐานไว้ โดยเมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายวัสดุที่มีชายสองคนชูในวันที่ 14 มี.ค. 2564 จึงเห็นว่าเป็นผืนเดียวกัน เจ้าพนักงานสืบสวนจึงได้รวบรวมถ้อยคำที่เขียนอยู่บนวัสดุออกมาเป็นทั้งหมด 35 ข้อความ

ต่อมาพยานได้รับหนังสือจากคณะวิจิตรศิลป์ ลงลายมือชื่อโดย รศ.อัศวินีย์ หวานจริง ถึงผู้กำกับ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ขอส่งประมวลเหตุการณ์ พร้อมภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 โดยมีรายงานเหตุการณ์ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า วัตถุที่ถูกยึดนั้นไม่ใช่งานศิลปะตามที่นักศึกษากล่าวอ้าง แต่เป็นธงชาติที่ไร้สีน้ำเงิน และรายงานระบุว่าในวันที่ 22 มี.ค. 2564 ผู้บริหารได้เดินดูความเรียบร้อยของพื้นที่รอบหอศิลปวัฒนธรรม เห็นกองผ้าถูกวางทับด้วยไม้อัด เมื่อคลี่ออกมาพบว่ามีลักษณะเป็นผืนคล้ายธงชาติไทยดังกล่าว ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย และเมื่อสอบถามนักศึกษาบริเวณดังกล่าวก็ไม่มีผู้ใดรับว่าเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตามเมื่อ ร.ต.อ.นพรัตน์ สอบถามจำเลยทั้งสองจึงทราบว่าวัสดุดังกล่าวเป็นการแสดงผลงานศิลปะของจำเลย ตามความเห็นของพยาน แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้เขียนข้อความ แต่เป็นผู้แสดงข้อความซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตา 112 แล้ว  พยานได้สอบถามความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและนักภาษาไทยแล้ว จำเลยทั้งสองยังชูวัสดุดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีการเคารพธงชาติ จึงมีลักษณะการใช้แทนธงชาติ

ทนายความถามค้าน พยานรับว่ามีธงชาติของต่างประเทศที่มีแถบสีขาวและแดงลักษณะนี้เช่นกัน อีกทั้งวัสดุอื่นๆ ก็สามารถใช้สีขาวและแดงได้ และเมื่อบุคคลอื่นเห็นวัสดุดังกล่าวก็อาจเข้าใจว่าไม่คล้ายธงชาติก็ได้

นอกจากนี้ในชั้นสอบสวน ทางตำรวจไม่เคยเรียกให้คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาให้การในชั้นสอบสวน และตามบันทึกประมวลเหตุการณ์ที่นำมามอบให้นั้น แท้จริงแล้วเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทางตำรวจก็ไม่ทราบ 

แม้ว่าศรีสุวรรณ จรรยา จะมากล่าวหาบุคคลอื่นๆ แต่จากการสืบสวน ก็ไม่พบว่าบุคคลที่ศรีสุวรรณกล่าวหา เป็นผู้เขียนข้อความหรือชูแสดงข้อความดังกล่าว จึงไม่ได้ออกหมายเรียกทั้งสองคนนี้

สำหรับการแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยทั้งสองระบุเพียง 4 ข้อความ ซึ่งไม่มีข้อความใดที่ระบุเจาะจงว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และไม่มีการเรียกบุคคลที่อยู่ในที่ชุมนุมมาให้การว่าเมื่ออ่านข้อความแล้วรู้สึกอย่างไร อย่างไรก็ดีบุคคลทั่วไปเมื่ออ่านข้อความแล้ว ก็อาจมีความเห็นแตกต่างกันได้ และหากไม่พิจารณาดูบริบทใกล้เคียงข้อความดังกล่าว ก็ไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงได้

พนักงานอัยการถามติง พยานรับว่าในวันที่ 22 มี.ค. 2564 มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างผู้บริหาร คณบดีคณะวิจิตรศิลป์กับนักศึกษา แต่วัสดุคล้ายธงที่ตรวจยึดเป็นของกลางนั้นเป็นเหตุจากการชูแสดงที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 มี.ค. 2564 

แม้ว่าพนักงานสอบสวนได้ถอดถ้อยคำตามพยานหลักฐานแล้ว พบสุ่มเสี่ยงมาเพียง 4 คำ ซึ่งในความเห็นของพยาน คำว่า “พอแล้วไอ้ษัตร์” คนทั่วไปเขียนว่า “ไอ้สัตว์” หรือ “ไอ้สัด” ตามภาษาวัยรุ่น แต่เมื่อถ้อยคำนี้ใช้ “ษัตร์” ซึ่งพ้องรูปกับคำว่ากษัตริย์ และเขียนอยู่บนวัสดุคล้ายธงไม่มีสีน้ำเงินย่อมหมายถึงพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยที่เกิดเหตุในปี 2564 จึงย่อมหมายความถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน 

.

.

สืบพยานจำเลย

จำเลยที่ 1: ทำชิ้นงานศิลปะร่วมกับเพื่อน ต้องการให้เป็น ‘งานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ’ โดยมีปฏิสัมพันธ์กับคน บุคคลทั่วไปสามารถเขียนข้อความอะไรก็ได้

ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ ‘รามิล’ เคยเป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกสภานักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ เบิกความว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย สามารถมีการเรียนข้ามคณะอื่นได้ ทั้งนี้ในคณะมนุษยศาสตร์ สาขาปรัชญา ที่ตนเรียนอยู่ ก็มีการเรียนการสอนวิชาสุนทรียศาสตร์ด้วย โดยความคิดเกี่ยวกับศิลปะของตนนั้นเป็นวิชาเกี่ยวกับผัสสะทั้ง 5 ของมนุษย์ ต้องการสื่อถึง “งานศิลปะและการรับรู้ผ่านงานศิลปะ” จึงได้เลือกไปเรียนเพิ่มเติมที่คณะวิจิตรศิลป์ คือวิชาปรัชญาศิลปะ และวิชาศิลปะการแสดงหรือ Performance Art เพราะต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม 

สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 14 มี.ค. 2564 จำเลยทั้งสองอยู่ที่คณะวิจิตรศิลป์ ตึก Media art and design ซึ่งแยกออกมาจากพื้นที่หลักของคณะ จากนั้นเวลา 16.00 นาฬิกาเศษ พยานทราบจากเฟซบุ๊กว่าจะมีการจัดกิจกรรมขึ้นที่สนามรักบี้ ซึ่งตนมีงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ได้ทำไว้ก่อนแล้ว จึงตั้งใจจะนำไปวางกับเพื่อนคณะวิจิตรศิลป์อีกคนหนึ่ง และเรียกประเภทของงานนี้ว่า “งานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ” ซึ่งจำเป็นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อให้ชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์ได้ หากสถานที่มีผู้คนจำนวนมากก็จะทำให้เกิดความหลากหลาย พยานจึงได้จัดทำรูปวาดโดยใช้วัสดุที่มีทั้งผ้า พลาสติก และสีในงานชิ้นนี้

สำหรับการเลือกใช้สี สีแดงและสีขาวเนื่องจาก “การมองเห็นสีและแสง” กล่าวคือเมื่อสีแดงอยู่ในที่มืดจะเป็นสีทึบ แต่สีขาวจะสะท้อนแสง และสิ่งที่อยู่เหนือสัญลักษณ์ต่างๆ คือ “ไม่มีสีหรือสีใส” เพราะในสีนี้เราจะเห็นและไม่เห็นเมื่ออยู่ในพื้นที่แตกต่างกัน หากมีแสงเราจะเห็น แต่ถ้าไม่มีแสงเราจะไม่เห็น 

ในการเลือกตำแหน่งที่จะวางสีต่างๆ พยานจะเลือกตามองค์ประกอบศิลป์ โดยดูภาพรวมของงานที่จะจัดวาง ทั้งนี้งานเป็นวัสดุผ้าและวัสดุที่เป็นพลาสติกโดยใช้สีทาบ้านประมาณ 2-3 ลิตร ราว 4-5 ถัง เนื่องจากต้องการให้มีพื้นผิวที่หนา ทำให้ชิ้นงานมีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม

จากนั้นพยานจึงนำชิ้นงานไปวางไว้ในพื้นที่ชุมนุม ในบริเวณที่จัดงานมีการขายของ เวทีปราศรัย โดยได้เตรียมปากกาเมจิกมาด้วยมากกว่า 1 สี ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าให้คนต้องเข้ามาเขียนและไม่ได้เชิญชวน เมื่อยืนดูผลงานอยู่ครู่หนึ่ง และต่อมาได้ไปนั่งฟังการปราศรัย ทำให้ไม่ได้นั่งเฝ้าอยู่ตลอดเวลา

ต่อมาพิธีกรได้ทำการประกาศเชิญชวนโดยที่ตนไม่ได้ร้องขอ คนที่เขียนก็ตัดสินใจเขียนของเขาเอง  และประชาชนบริเวณนั้นก็ทราบเป็นวิธีปฏิบัติอยู่แล้ว ว่าหากมีสิ่งของหรือชิ้นงานที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ก็สามารถเข้ามาเขียนได้ โดยตนนำงานไปวางไว้ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.10 น. และทิ้งงานไว้ประมาณ 40 นาที ก่อนไปเก็บชิ้นงานเนื่องจากท้องฟ้าเริ่มมืด และคนก็เริ่มไม่มาเขียนแล้ว

ระหว่างที่พยานเข้าไปเก็บชิ้นงานก็ได้ยินเสียงพิธีกรประกาศให้ยืนเคารพธงชาติ ซึ่งตนก็ไม่ได้สนใจเพราะจำเป็นต้องเก็บชิ้นงานก่อน ระหว่างนั้นก็ได้เห็นข้อความที่มีคนเขียนไว้คร่าวๆ แต่ไม่ได้อ่านโดยละเอียด ก่อนเก็บชิ้นงานโดยการพับ เหตุที่พยานและเพื่อนยืนคนละด้านกัน เพื่อพับเก็บชิ้นงานเพราะเกรงว่าสีที่ทาไว้อาจจะแตกได้ 

จากนั้นจึงไปนั่งฟังปราศรัยต่ออีกประมาณ 30 นาทีจึงเดินทางกลับ นำเอาชิ้นงานดังกล่าวไปเก็บไว้ที่ตึกปฏิบัติการ คณะวิจิตรศิลป์ (LAB) ซึ่งเป็นห้องสำหรับเรียนและสามารถเก็บของได้ ทั้งนี้ตนก็ไม่ได้ดูชิ้นงานดังกล่าว แต่ไปทำงานศิลปะชิ้นอื่นๆ  ต่อไป

ต่อมาเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2564 พยานนั่งทำงานอยู่ที่ตึกปฏิบัติการ คณะวิจิตรศิลป์ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในพื้นที่ 2 นาย ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามา แล้วแจ้งว่ามาดูแลความเรียบร้อยให้ และจากนั้นก็เดินทางกลับ 

ต่อมาวันรุ่งขึ้นช่วงกลางวัน จำเลยที่ 2 ทราบข่าวจากเพื่อนว่า “ไม่ทราบใครมาเอางานไป” พยานจึงเดินทางไปที่ตึกปฏิบัติการ คณะวิจิตรศิลป์ พบว่ามีกลุ่มบุคคลใส่ชุดสีเดียวกัน คล้ายเป็นเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมรถขนของจอดอยู่บริเวณหน้าตึก พร้อมเก็บของๆ ตนและเพื่อนใส่ถุงดำพร้อมกับแจ้งว่า “มาเก็บขยะ” แต่สิ่งที่บุคคลกลุ่มนี้ทำคือการเก็บผลงานของนักศึกษาไป 

พยานเห็นเช่นนั้น จึงแจ้งไปว่า “เก็บไปทำไม เอาของออกมาก่อน” จากนั้นนักศึกษาเข้ามาในที่เกิดเหตุจำนวนมากขึ้น  พยานได้ไปพูดคุยกับผู้หญิงในที่เกิดเหตุ ซึ่งมาทราบภายหลังคือคณบดีของคณะวิจิตรศิลป์และเหล่าผู้บริหาร พยานยังได้ไปขวางรถไม่ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำของๆ นักศึกษาออกไปจากพื้นที่

สุดท้ายแล้วกลุ่มบุคคลดังกล่าวออกไป แต่ทิ้งผลงานบางส่วนไว้ พบว่ามีชิ้นงานของตนและเพื่อนๆ อยู่ รวมทั้งชิ้นงานในคดีนี้ด้วย ตนเห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองและเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ จึงไปแจ้งความไว้ในเย็นวันดังกล่าว เนื่องจากชิ้นงานได้รับความเสียหาย

ชิ้นงานดังกล่าวตนได้ทิ้งไว้ที่คณะวิจิตรศิลป์ตั้งแต่ช่วงวันที่ 22 มี.ค. 2564 หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์เป็นช่วงปิดเทอม ทางคณะวิจิตรศิลป์ได้ประกาศปิดตึกในช่วงโควิด-19 กำลังระบาด เพื่อทำการฆ่าเชื้อ โดยทำการปิดทุกพื้นที่ในคณะ แม้นักศึกษาก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้

ต่อมาว่าวันที่ 1 พ.ค. 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาที่เบอร์ส่วนตัวพยาน แจ้งว่า “โดนคดี ม.112” และเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาโดยไม่มีหมายเรียก พยานได้ให้การกับเจ้าหน้าที่ไปว่าตนไม่ใช่ผู้เขียนข้อความ แต่เพียงไปร่วมชุมนุมเท่านั้น และผลงานคล้ายธงนั้นก็เป็นเพียงผลงานชิ้นหนึ่งในวันเกิดเหตุ พยานยังไม่ได้ดูข้อความโดยละเอียด โดยไม่ได้พิจารณาว่าสื่อความหมายอย่างไร ก่อนจะเก็บผลงานเท่านั้น ทั้งนี้พยานเห็นว่าข้อความไม่เข้าข่ายมาตรา 112 แต่อย่างใด

พนักงานอัยการถามค้าน ขณะที่เกิดเหตุพยานไม่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชาใด แต่ผลงานที่ทำนี้จะใช้ประกอบวิทยานิพนธ์ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้ลงทะเบียนวิชาวิจัยวิทยานิพนธ์ แต่มีหัวข้อคร่าวๆ เกี่ยวกับภาพจำของร่องรอยในระบบสัญลักษณ์ 

ทั้งนี้ในวันเกิดเหตุ พยานทราบว่าเป็นงานชุมนุมเกี่ยวกับการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าคนในที่ชุมนุมน่าจะมีอุดมการณ์ในการขับไล่คล้ายกัน โดยสาเหตุที่พยานไม่ได้นำชิ้นงานไปวางเพื่อสำรวจความคิดเห็นที่ตลาดนัด เนื่องจากต้องการบริบทสังคมทางการเมือง อีกทั้งเมื่อถูกยึดชิ้นงานไป จึงไม่สามารถนำไปสำรวจตามพื้นที่อื่นๆ ได้อีก

ทนายความถามติง ชิ้นงานดังกล่าวเป็นงานปฏิบัติทดลองเพื่อเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ โดยผลงานดังกล่าวมีข้อความที่เขียนถึงความรู้สึกที่หลากหลาย ไม่ได้เกี่ยวกับมาตรา 112 อย่างเดียว ข้อความส่วนใหญ่ก็เป็นการตำหนิรัฐบาลอีกด้วย

.

.

จำเลยที่ 2: ไม่มีเจตนาทำงานให้คล้ายธงชาติ แต่ “แถบสีนามธรรม” สะท้อนความคิด-ความหมายของผู้มองงานศิลปะ การตีความย่อมเป็นสิทธิแต่ละคน

ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความว่าตนเคยทำงานศิลปะอื่นๆ มาก่อนทั้งในและนอกวิชาเรียน และยังเคยจัดแสดงงานศิลปะของตนที่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ โดยในสาขาวิชานี้จะสอนการทำงานศิลปะหลายรูปแบบ ผลงานของพยานจึงออกมาหลากหลายรูปแบบเช่นกัน

คดีนี้พยานมีความสนใจในเรื่องปรัชญา และได้เจอจำเลยที่ 1 ตามงานกิจกรรมต่างๆ ผลงานในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่ตนและเพื่อน เกิดไอเดียร่วมกันว่า “งานศิลปะที่ไม่ได้อยู่แค่ในหอศิลป์” และอยากได้ผลงานที่มีผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จึงคุยกันว่าจะทำชิ้นงานที่ทำงานร่วมกันจากเด็กต่างคณะกัน แต่ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องเขียนอะไรในผลงาน และให้ผู้เข้ามาเขียนนั้นคิดและเขียนด้วยตนเอง โดยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเอาเช่นงานชิ้นนี้ไปวางไว้ที่ไหน แต่มีความคิดไว้คร่าวๆ ว่าต้องเป็นสถานที่ที่มีคนเยอะ

ทั้งนี้ตนมีความสนใจที่จะสร้างผลงานที่เป็นภาพจำของผู้อื่น จึงใช้สีและแสงเข้ามาใช้ในงานชิ้นนี้ ตอนแรกคิดว่าจะต้องมีวัสดุแผ่นหนึ่ง และมีผู้คนเข้ามาเขียนในวัสดุนี้ โดยตัดสินใจใช้วัสดุสี่เหลี่ยมเป็นพลาสติกและผ้าเนื่องจากง่ายต่อการทำงานศิลปะ 

การใช้สี กาว และการวางตำแหน่งของแถบสี แต่ละสีก็ทั้งมีความหมายและไม่มีความหมาย ซึ่งจะสะท้อนความคิดของคนที่มีต่อสีนั้น และเหตุผลที่ใช้แถบสีแดง ขาว แล้วใส นั้นเนื่องจากต้องการทำให้ดูโดดเด่น ผู้คนสามารถสังเกตได้ และจะทำให้ผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงานได้ง่าย 

ทั้งนี้ตนไม่ได้มีเจตนาทำให้คล้ายธงชาติแต่อย่างใด การที่พยานโจทก์อาจมองว่าเป็นธง ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใดมองชิ้นงานนี้เป็นสิ่งใด ซึ่งพยานอาจได้ข้อมูลจากการทำงานกลับมาว่ามีผู้คนคิดเห็นว่างานดังกล่าวคล้ายกับธงก็ได้เช่นกัน ส่วนการเลือกใช้สีใสนั้นเนื่องจากต้องการให้มีมิติของสีและโปร่งใสด้วย โดยตนตั้งชื่อผลงานว่า “แถบสีนามธรรม” โดยชิ้นงานดังกล่าวรอให้บุคคลอื่นที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงาน เป็นผู้ตีความหมาย

นอกจากนี้ผลงานชิ้นดังกล่าวเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่พยานสนใจ คือการนำศิลปะออกนอกหอศิลป์ เป็นแนวคิดการทำวิทยานิพนธ์ของตน เนื่องจากช่วงปี 4 พยานยังไม่ผ่านการประเมินจึงดรอปเรียน เนื่องจากต้องการเวลาและเก็บข้อมูลเพื่อทำงานวิทยานิพนธ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งงานชิ้นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทดลองเก็บข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในวิทยานิพนธ์ตัวจริง

พนักงานอัยการถามค้าน เหตุการณ์ในวันที่ 14 มี.ค. 2564 แม้ว่าตนดรอปเรียนไว้ แต่ขณะนั้นเป็นช่วงปี 4 เทอมที่ 2 เมื่อดรอปเรียนแล้ว ตนจึงไม่สามารถลงทะเบียนเรียนวิชาอื่นได้ ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวิทยานิพนธ์ 

ยศสุนทรตอบรับคำถามของอัยการว่าเสรีภาพในการทำงานศิลปะควรได้รับการคุ้มครอง แต่เสรีภาพในการทำงานศิลปะก็ควรอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ทนายความถามติง พยานเข้าใจว่าผลงานศิลปะในคดีนี้ ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ

.

ภัณฑารักษ์: การตีความงานทางนามธรรมเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล และเห็นว่าผลงานในคดีนี้ไม่ใช่ธงชาติ

กิตติมา จารีประสิทธิ์ ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นภัณฑารักษ์ และนักเขียน เบิกความว่าเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้เรียกตนไปให้ปากคำ โดยเชิญมาให้ความเห็นเกี่ยวกับงานศิลปะ 

เมื่อได้ดูภาพในคดีนี้แล้วมองว่าเป็นงานศิลปะที่มีส่วนร่วมกับผู้คน โดยศิลปินจะทำชิ้นงานขึ้นมาหนึ่งชิ้น แต่ชิ้นงานยังไม่เสร็จสิ้น จำเป็นต้องนำงานไปให้ผู้คนมีส่วนร่วมก่อน เช่น ในงานศิลปะของคุณฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินที่ทำแกงเขียวหวานขึ้นมา ให้ผู้คนที่เข้ามาชมงานศิลปะได้ทานและให้ความเห็น  หรืองานศิลปะที่มีการติดตั้งโทรศัพท์และให้ผู้คนโทรไปหาใครก็ได้ โดยงานศิลปะประเภทนี้ ศิลปินจะไม่ได้เป็นผู้เดียวที่ทำงาน แต่คือผู้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ตามที่ได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน ผลงานที่เป็นของกลางในคดีนี้ จำเป็นจะต้องดูกระบวนการทำงานด้วย ซึ่งตามหลักทัศนศิลป์ อย่างแรกที่เห็นจากงานชิ้นนี้ คือแผ่นพลาสติกและมีแถบสี ซึ่งเป็นสีแม่บท หรือสีปฐมภูมิ และเป็นผ้าขนาดยาว แต่อย่างไรก็ดีงานชิ้นนี้ให้ผู้คนมามีส่วนร่วมถึงจะเสร็จสมบูรณ์  โดยผลงานศิลปะบางอย่าง เมื่อดูแล้วจะเข้าใจในทันทีเพราะมีความหมายเดียว แต่งานนามธรรมนั้นสามารถมีความรู้สึกต่องานได้มากมาย 

พยานยังกล่าวถึงลักษณะของสีขาว ซึ่งสื่อความหมายถึงความบริสุทธิ์ สีแดงสื่อถึงความร้อนแรง และ สี 2 สีนี้เป็นคู่สีตรงกันข้ามกัน จะทำให้เกิดการตัดกันของสีในชิ้นงาน

พยานเบิกความว่าตนไม่ทราบเจตนาของศิลปิน การจะตีความจึงต้องตีความตามที่ตาเราเห็นเท่านั้น โดยจะไปกำหนดความหมายงานศิลปะชัดเจนว่าศิลปินเองต้องการเช่นนั้นไม่ได้ การตีความนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ชม โดยผลงานชิ้นนี้ใช้วิธีการมีส่วนร่วมโดยการเขียนลงไปในชิ้นงาน ดังนั้นศิลปินจึงไม่สามารถชี้นำให้ผู้อื่นที่เข้ามาเขียน หรือกำหนดการมีส่วนร่วมได้

สำหรับการพิจารณาว่าผลงานนี้เป็นธงหรือไม่นั้นนั้น จะมีค่าสีที่บ่งบอกว่าคือธงชาติไทยอยู่ โดยค่าสี RGB ของธงชาติไม่ตรงกับผลงานชิ้นนี้ ดังนั้นพยานมองว่าผลงานนี้ไม่ใช่ธงชาติ 

อีกทั้งในอดีตเคยมีการนำธงชาติมาทำเป็นผลงานอยู่ตลอด ทั้งศิลปินแห่งชาติหรือศิลปินในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ก็มีการทำงานศิลปะที่เห็นว่าเป็นธงชาติอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการใช้สีที่มีความใกล้เคียงกับที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 มาตรา 60 อาทิเช่น ผลงานของอาจารย์ในคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2557 เป็นธงชาติที่มี 3 สี และเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาขีดเขียนในธงดังกล่าวได้ โดยศิลปินจะสื่อว่าเป็นงานใดนั้น จะมีการตั้งชื่อว่า “ธง/Flag” 

หรือจะเป็นศิลปินที่ทำผลงานที่มีชื่อว่า “Yellow flag with olive tree sky” ซึ่งงานชิ้นนี้มีการเปลี่ยนสีธงชาติไทยจากที่ใช้สีแดงให้เป็นสีเหลือง โดยให้ความหมายว่า เป็นธงชาติสีเหลืองโดยสื่อถึงกลุ่มอนุรักษ์นิยมในการเมืองของไทย ความหมายนี้ศิลปินเป็นผู้ให้ความหมายด้วยตนเองไว้เลย

นอกจากนี้ในตอนที่พยานเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถมีการเรียนข้ามศาสตร์กันได้ ทำให้นักศึกษาได้เรียนศาสตร์อื่นๆ ด้วย เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจและมีความรู้ในศาสตร์อื่น รวมทั้งวิชาศิลปะร่วมสมัยก็สามารถมีการมุ่งเน้นไปที่ความรู้ทางสังคมและการเมือง หากมีความรู้หลายศาสตร์จะทำให้นักศึกษาเข้าใจและผลิตผลงานได้ดีมากขึ้น การเรียนการสอนสามารถสร้างความร่วมมือกันของคณะต่างๆ เพื่อเปิดสอนรายวิชาให้นักศึกษาที่อยู่คณะอื่นมาเรียนวิชาในคณะวิจิตรศิลป์ได้ และนักศึกษาในคณะวิจิตรศิลป์เอง สามารถไปเรียนในคณะอื่นได้เช่นกัน

พนักงานอัยการถามค้าน พยานรับว่าตาม พ.ร.บ.ธง เพิ่งจะมีการกำหนดค่าของสีในปี 2560 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องรูปธงชาติ ตาม พ.ร.บ.ธง กำหนดค่ามาตรฐานวัดสีธงในลักษณะที่เป็นการแนะนำเท่านั้น ซึ่งมีการใช้ระบบสีเป็น Cielab D64 ไม่ได้กำหนดในรูปแบบของ RGB และตนก็ไม่เคยเห็นศิลปินคนใดนำธงชาติมาเขียนด้วยข้อความหยาบคาย

ทนายความถามติง พยานให้ความเห็นว่าค่า Cielab D64 สามารถแปลงเป็นค่า RGB ได้และค่าสีแบบ RGB เป็นที่นิยมมากกว่า

.

แคมเปญลงชื่อผ่าน change.org คัดค้านและปกป้องนักศึกษาจากการใช้ 112 ไร้ความชอบธรรม ทำลายค่านิยมการแสดงออกอย่างเสรีของศิลปะ 

.

นักวิชาการสื่อศิลปะ: มช. มีวัฒนธรรมการเรียนข้ามศาสตร์ ศิลปะแบบมีส่วนร่วมชวนให้ตั้งคำถาม เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย และศิลปินไม่สามารถคาดเดาผลของงานได้

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความว่า ปัจจุบันตนสอนวิชาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทัศนา ทฤษฎีการวิพากษ์วิจารณ์ทางศิลปะและศิลปะร่วมสมัย โดยการเรียนการสอนเน้นเรื่องการผสมผสานความคิดเชิงปรัชญา แนวคิดทางสังคมศาสตร์ และกระบวนการทำงานทางศิลปะ 

การเรียนการสอนทำตั้งแต่กระบวนการทางความคิดและกระบวนการทางศิลปะ ทั้งนี้กระบวนการทางปรัชญามีความสำคัญในมหาวิทยาลัยทั่วโลก เนื่องจากทำให้เห็นกระบวนการตั้งคำถามและปฏิบัติการ การเปลี่ยนแปลงทางความคิดในทางปฏิบัติ และทำให้เกิดความคิดเชิงวิพากษ์

ทั้งนี้ งานศิลปะไม่สามารถกำหนดได้ว่าผู้ชมจะมีความคิด หรือมีส่วนร่วมอย่างไร โดยงานในแต่ละงาน ผู้ชมสามารถตีความหมายได้ด้วยตนเอง ซึ่งศิลปินอาจมีความรู้สึกหรือความคาดหวังอยู่ภายใน แต่ศิลปินไม่สามารถคาดเดาผล หรือคำตอบ หรือผลของการมีส่วนร่วมของผู้ชมได้ และยังสามารถมองได้ว่างานศิลปะยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประชาธิปไตย โดยการเปิดโอกาสให้ผู้คนมีส่วนร่วมได้

ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนข้ามคณะกันได้ หรือนักศึกษาอาจมาขออนุญาตอาจารย์ผู้สอนเพื่อนั่งฟัง (Sit in) ด้วยก็ได้ เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกมาลงเรียนได้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการเรียนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตั้งแต่ตนเป็นนักศึกษา พยานเห็นว่าจำเลยทั้งสองเคยมานั่งเรียนในคณะวิจิตรศิลป์ 

สำหรับวัตถุประสงค์ในการทำงานศิลปะมีหลากหลาย มีงานศิลปะแบบหนึ่งที่เรียกว่า ‘งานศิลปะแบบมีส่วนร่วม’ กล่าวคือศิลปินต้องการให้คนมีส่วนร่วมโดยการแสดงความคิดเห็น เป็นส่วนสำคัญในการสร้างให้สาธารณะชนรู้ว่าเขากำลังเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตชิ้นงานได้ เมื่อสังคมตั้งคำถามในประเด็นใด งานศิลปะประเภทนี้ก็มีส่วนในการช่วยตั้งคำถามและหาคำตอบจากผู้ชม มีลักษณะใกล้เคียงกับการทำโพล

ชิ้นงานศิลปะในคดีนี้เป็นเพียงผืนผ้าที่มีแถบสี ไม่มีลักษณะเป็นธง โดยข้อความที่ปรากฏอยู่บนงานศิลปะ ข้อความว่า “FUCK 112 IF YOU USE 112 FUCK YOU TOO” เห็นว่าเป็นเพียงถ้อยคำหยาบคายที่ไม่ใช่การร่วมเพศ และผู้บังคับใช้มาตรา 112 ก็ไม่ใช่กษัตริย์ 

คำว่า “ษัตร์” ในเชิงภาษาศาสตร์ก็ไม่มีความหมาย คำว่า “พอทีภาษีกูเลี้ยงหอย” อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นการตั้งคำถามมากกว่าจะสื่อความหมายชี้นำทางใดทางหนึ่ง 

ส่วนคำว่า “สุนัขทรงเลี้ยงออกไป” คำว่าสุนัขตนคิดถึงคุณฟูฟูและคุณทองแดง ซึ่งไม่เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทแต่อย่างใด ดังนั้นข้อความทั้ง 4 ขึ้นอยู่กับผู้อ่านและการตีความของแต่ละบุคคล เข้าใจว่าเมื่อจำเลยทั้งสองอ่านอาจจะเข้าใจว่าไม่เป็นการหมิ่นประมาทก็ได้

พยานทราบว่าในขณะเกิดเหตุที่คณะวิจิตรศิลป์มีการปิดกั้นการแสดงงานศิลปะของนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามมิให้นักศึกษาแสดงผลงานที่เกี่ยวกับการเมือง แต่ตนเห็นว่างานศิลปะที่นักศึกษาทำนั้นอยู่ในกรอบของการเรียนการสอนและไม่ควรถูกปิดกั้น 

เมื่อเกิดเหตุคดีนี้คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ควรเรียกนักศึกษาไปพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน การไปแจ้งความดำเนินคดีจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้คณะผู้บริหารยังเคยไปเก็บผลงานของนักศึกษาที่ยังทำงานไม่เสร็จ โดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากรเคยออกแถลงการณ์ยืนยันที่จะรักษาสิทธิและเสรีภาพในการสร้างสรรค์ของศิลปินด้วย

พนักงานอัยการถามค้าน แม้ว่าตนเคยศึกษาด้านสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ แต่ไม่เคยเรียนด้านนิติศาสตร์ ทั้งนี้พยานเห็นว่างานศิลปะย่อมต้องเข้าใจและรู้จักกฎหมายมากขึ้น ในขณะเดียวกันนักกฎหมายก็ย่อมต้องรู้จักงานศิลปะและสุนทรียะด้วยเช่นกัน ในการตีความทางศิลปะของแต่ละบุคคลสามารถมีความแตกต่างกันได้ แต่ไม่ควรนำความคิดเห็นหนึ่งมาอยู่เหนือความคิดเห็นอื่นๆ

.

นักวิชาการปรัชญา: การตีความและการสื่อความหมายถ้อยคำทั้ง 4 นี้ไม่มีความชัดเจน บุคคลสามารถเข้าใจแตกต่างกันได้ และความหมายของถ้อยคำอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสังคม

อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาปรัชญาและศาสนา เบิกความว่าปรัชญาเป็นเรื่องของการตีความ โดยวิชาปรัชญาจะมีศาสตร์ของการตีความ โดยมีหลักว่าระหว่างความจริงและภาษาในการสื่อสารนั้น ภาษาไม่สามารถแสดงออกได้ตรงตามความจริงทั้งหมด จึงจำเป็นจะต้องมีการตีความ และการตีความต้องอาศัยความคิดทางปรัชญา

เมื่อระหว่างความจริงและภาษาในการสื่อสารมีช่องว่างอยู่จึง จำเป็นต้องตีความให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงใกล้เคียงที่สุด ซึ่งสามารถแบ่งประเภทการสื่อสารออกเป็น 2 วิธีคือ Connote และ Denote โดย Connote หมายความถึงการที่เรากำหนดคำๆ หนึ่งแล้วนิยามความหมายให้กับคำนั้น เนื่องจากคำๆ หนึ่งไม่ได้สื่อถึงสิ่งของนั้นโดยตรง เนื่องจากผู้ฟังอาจมีความแตกต่างทางด้านภาษา 

แต่อีกวิธีการหนึ่ง Denote คือการสื่อสารด้วยวิธีอื่นที่บ่งชี้ถึงความจริงนั้น เช่น การชี้สิ่งของก็จะสื่อถึงสิ่งนั้นโดยตรง ทุกคนก็จะเข้าใจตรงกัน ดังนี้จึงควรมีการแบ่งแยกคำให้หลากหลายมากขึ้นให้ครอบคลุมกับความจริงให้มากที่สุด เมื่อเวลาสื่อสารจะได้มีคำที่ตรงกับความเป็นจริง มิฉะนั้นหากไม่มีคำที่ตรงกับความจริงก็จะต้องใช้หลายถ้อยคำเพื่ออธิบายความจริง ซึ่งจะเป็นการตีความและอาจจะได้ความหมายไม่ตรงความจริงได้

เพื่อการสื่อความหมายที่ไม่คลุมเครือ การสื่อความหมายของคำต้องมีการตกลงกันมากกว่า 1 คน ไม่ใช่สิ่งที่ถูกบัญญัติโดยคนเดียว ดังนั้นการจะสื่อสารภาษาที่จะสื่อความจริงได้ คนในสังคมจะต้องเข้าใจความหมายตรงกัน โดยที่พจนานุกรมมีหน้าที่กำหนดความหมายของแต่ละคำ ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตามคำอาจมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอด กรณีการบัญญัติคำใหม่ หากผู้บัญญัติคำไม่ได้อธิบายความหมายเอาไว้ ทำให้ผู้เห็นข้อความนั้นอาจตีความหรือเข้าใจความหมายไม่ตรงกับเจตนาของผู้บัญญัติคำนั้นก็ได้ และผู้ที่อ่านแต่ละคนอาจให้ความหมายที่ไม่ตรงกันก็ได้

ทั้งนี้ภาษาและสังคมสอดคล้องกัน เมื่อภาษาเปลี่ยนก็จะทำให้สังคมเปลี่ยนไป และเมื่อภายหลังสังคมเปลี่ยนก็สามารถทำให้ภาษาเปลี่ยนไปได้เช่นกัน 

พยานเห็นว่าคำว่า “สุนัขทรงเลี้ยงออกไป” และ “พอทีภาษีกูเลี้ยงหอย” เป็นวลีไม่ใช่ประโยค สื่อความหมายไม่ชัดเจน ส่วนคำว่า “FUCK YOU 112 IF YOU USE 112 FUCK YOU TOO” ไม่สื่อความหมาย และคำว่า “ษัตร์” ไม่มีความหมายตามพจนานุกรม

พนักงานอัยการถามค้าน ในวันเกิดเหตุคดีนี้ตนไม่ได้อยู่ที่สนามรักบี้ด้วย และเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่ไม่ได้ให้ความเห็นสำหรับคำทั้ง 4 ข้อความนี้ไว้

.

.

นักวิชาการนิติศาสตร์: ม.112 ไม่ใช่กฏหมายความมั่นคงโดยแท้ การกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบ การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความระมัดระวัง เพราะอาจส่งผลร้ายต่อความเชื่อมั่นของประชาชนด้วย

กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้ทำความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติธงฯ มายื่นส่งต่อศาล โดยสรุปได้เป็น 4 ส่วน 

1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายความมั่นคงโดยแท้ แต่เป็นกฎหมายที่คุ้มครองเกียรติยศส่วนบุคคลของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ซึ่งเกียรติยศส่วนบุคคลนั้นย่อมมิใช่ความมั่นคงของรัฐ และ คำพูดและการแสดงออกของบุคคลย่อมไม่สามารถสั่นคลอนความมั่นคงของสถาบันการเมืองใดๆ ในระดับที่จะเป็น “ภัย” ได้โดยสภาพ 

2. องค์ประกอบความผิดของปมาตรา 112 ประกอบไปด้วย การกระทำ 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การดูหมิ่น 2) การหมิ่นประมาท และ 3) การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคล 4 สถานะ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต้องมีเจตนาในการกระทำความผิด ได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาย่อมเล็งเห็นผล 

โดยพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ คือจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของแผ่นไวนิลที่ประกอบไปด้วยสีแดงและสีขาว โดยจำเลยทั้งสองอนุญาตอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเขียนข้อความลงไปบนแผ่นไวนิลดังกล่าว ซึ่งข้อความที่ปรากฎบนแผ่นไวนิลที่ถูกกล่าวหาล้วนแต่มิใช่ข้อความที่จำเลยทั้งสองเขียน

นอกจากนี้ บนแผ่นไวนิลดังกล่าวยังปรากฎถ้อยคำอื่นๆ ที่เป็นการติชมการทำงานของรัฐบาลโดยชอบธรรมกระจัดกระจายกันอย่างไม่เป็นระบบ ลักษณะโดยรวมของข้อความทั้งหมดจึงเป็น ‘การบ่น’ ที่คลุมเครือจับใจความไม่ได้ เนื้อหาสาระโดยรวมจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการ “ใส่ความ” และการกระทำของจำเลยจึงมิได้มีลักษณะที่ชัดเจนว่าต้องการสื่อสารข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยตรงต่อบุคคลอื่น

3. สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยกลายเป็นประเด็นถกเถียงในการเมืองไทยร่วมสมัยตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เพราะประชาชนกลุ่มหนึ่งได้เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ในขณะนั้นใช้พระราชอำนาจเพื่อแทรกแซงกระบวนการทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่สถานการณ์ที่ประชาชนสองฝ่ายขัดแย้งซึ่งกันและกันและมีการใช้ผรุสวาทต่อกันในทางสาธารณะมาเกือบสองทศวรรษ 

สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่อยู่ในบรรยากาศของการวิวาทกันระหว่างประชาชนในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน ซึ่งในบริบทของการวิวาทะระหว่างกันนั้น การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เรียบร้อยกลายเป็นสถานการณ์ปกติ ทั้งนี้ ในประเด็นของการดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบกับมาตรา 393 นั้น การดูหมิ่นกันไปมาระหว่างการมีวิวาทะกันไปมานั้นย่อมไม่เข้าลักษณะของการดูหมิ่น

4. การใช้และการตีความกฎหมายอาญานั้นย่อมส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบการเมืองและระบบกฎหมาย เกียร์ติขจร วัจนะสวัสดิ์ จึงอ้างถึงข้อเสนอของเฮอร์เบิร์ต แอล. แพคเกอร์ (Herbert L. Packer) เรื่องนโยบายการใช้กฎหมายอาญาภายใต้ข้อจำกัดของมาตรการทางอาญา (Limit of the Criminal Sanction) ไว้ 6 ประการ เพื่อเป็นหลักในการพิจารณาความเหมาะสมของการตรากฎหมายและการใช้กฎหมายอาญา ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวิสัยทัศน์ในการพิจารณากรณีตามฟ้องได้ ดังนี้

ประการแรก การกระทำที่ถือว่าควรเป็นความผิดอาญานั้นต้องเป็นที่เห็นได้ชัดในหมู่ชนส่วนมากว่า เป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสังคม และหมู่ชนส่วนมากมิได้ให้อภัยการกระทำเช่นนั้น 

ในประเด็นนี้ ถ้อยคำตามฟ้องทั้งสี่ในคดีนี้นั้นมีความหมายที่ไม่ชัดเจน และมีลักษณะเป็นเพียงการล้อเลียนเสียดสี ซึ่งไม่ใช่การเหยียดหยาม หรือการใส่ความ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่สบายใจต่อข้อความดังกล่าว แต่ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่ถึงระดับของการดูหมิ่นที่ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ประการที่สอง การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญาจะไม่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์การลงโทษ ทั้งนี้ ในบริบททางการเมืองปัจจุบัน ที่มิได้มีฉันทามติที่ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยมีความชั่วร้าย หากมีการลงโทษเกิดขึ้น ย่อมนำมาสู่สภาวะ “ยอมรับโทษ แต่ไม่ยอมรับผิด” ซึ่งย่อมไม่นำไปสู่ความเป็นไปได้ในการข่มขู่ป้องปรามผู้กระทำผิด หรือการปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยของผู้กระทำ และจะกลายเป็นพื้นฐานให้เกิดความขัดแย้งเกลียดชังระหว่างประชาชนสองฝ่ายและกระทบต่อสถานะและความนิยมต่อพระมหากษัตริย์ในทัศนะของประชาชนต่อไปมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม

ประการที่สาม การปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญาจะไม่นำไปสู่การลดลงของการกระทำที่สังคมเห็นว่าเหมาะสม กล่าวคือในสังคมประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ย่อมยึดถือหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนรวม ตลอดจนแสดงออกทางการเมือง เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพสำหรับตนเองและผู้อื่น หรือที่เรียกในทางวิชาการว่า “ประชาสังคม” (Civil Society) ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวและสนใจปัญหาสังคม โดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชน พฤติกรรมของจำเลยจึงมิใช่อาชญากร จึงไม่สมควรรับผิดและโทษเยี่ยงอาชญากร

ประการที่สี่และห้า การใช้มาตรการทางอาญาต้องกระทำโดยเสมอหน้าและเสมอภาค ตลอดจนรัฐต้องมีความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ 

ในกรณีนี้ ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นมิใช่ข้อความที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้เขียน ทั้งสองเป็นแต่เพียงเจ้าของแผ่นไวนิลที่อนุญาตให้ประชาชนเขียนลงไปอย่างอิสระเท่านั้น ดังนั้น หากรัฐพิจารณาว่าข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงก็สมควรที่จะดำเนินการต่อผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน 

การเจาะจงดำเนินการต่อจำเลยทั้งสองที่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ย่อมน่าสงสัยในทัศนะของสาธารณชนว่าการดำเนินคดีอาญากับกรณีดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากจุดยืนทางการเมือง และเป็นการดำเนินคดีเพื่อขัดขวางการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งมิใช่ภารกิจของกฎหมายอาญาที่พึงมีต่อสังคม

และประการสุดท้าย การลงโทษทางอาญาควรถูกใช้เป็นมาตรการสุดท้ายในการควบคุมสังคม เพราะการลงโทษทางอาญานั้นมีต้นทุนทางสังคมสูง และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมสำหรับกรณีนี้ 

เมื่อข้อความที่ถูกกล่าวหามีความหมายไม่ชัดเจนว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามตามนัยของวิญญูชนที่เป็นกลางทางการเมืองแล้ว การลงโทษทางอาญาจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรงว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง  

ด้วยเหตุที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มิได้มีลักษณะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของรัฐ และยังส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก การใช้และการตีความกฎหมายดังกล่าวจึงต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพราะผลของการตีความนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของจำเลยและประชาชนโดยตรงแล้ว ยังจะส่งผลร้ายต่อความเชื่อมั่นต่อระบบกฎหมายของประชาชนด้วย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองยังไม่แสดงให้เห็นจนปราศจากข้อสงสัยว่าข้อความดังกล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม หรือเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ไปในทางที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระองค์ ซึ่งทำให้การกระทำของจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

พนักงานอัยการถามค้าน สำหรับความเห็นทางวิชาการนี้ตนได้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากหนังสือและบทความทางวิชาการของอาจารย์กฎหมายหลายคน เป็นความเห็นทางวิชาการส่วนตัว อาจมีผู้อื่นให้ความเห็นที่แตกต่างออกไปก็ได้

อ่านเรื่องราวของ ‘รามิล’ และ ‘เท็น’ สองนักศึกษาผู้ถูกดำเนินคดีนี้

รู้จัก ‘วิธญา คลังนิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง

สื่อผสมในชีวิตและคดีความของ “เท็น ยศสุนทร” นักศึกษาศิลปะผู้เผชิญกับ ม.112

.

X