ตุลาคม 2567: คดี ม.112 ศาลพิพากษาลงโทษ 6 คดี แต่ยกฟ้อง 3 คดี ส่วนอัยการยังเดินหน้าสั่งฟ้องคดีชุมนุมปี 2563-64

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 คดี ไม่มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเพิ่มใหม่ ในขณะที่มีผู้ต้องขังเด็ดขาดได้รับการปล่อยตัว 5 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คน 

การสืบพยานมาตรา 112 ในชั้นศาลเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีบางคดีที่จำเลยไม่สามารถติดต่อได้ ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานลับหลังจำเลย อ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 แม้ทนายความจะยื่นคำร้องคัดค้านการสืบพยานลับหลัง ยืนยันว่าการพิจารณาลับหลังไม่เป็นประโยชน์แก่จําเลย ทําให้ทนายจําเลยไม่สามารถยกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาต่อสู้คดีได้ ไม่เป็นประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม 

อีกทั้งตลอดเดือนที่ผ่านมา มีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ออกมาอย่างน้อย 9 คดี แบ่งออกเป็นคดีที่ศาลยกฟ้อง 3 คดี และลงโทษว่ามีความผิด 6 คดี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสั่งฟ้องคดี พนักงานอัยการยังมีการสั่งฟ้องคดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคดีมาตรา 112 ถึงแม้ว่าจะปัจจุบันจะมีการพิจารณานิรโทษกรรมในคดีทางการเมืองก็ตาม

.

.

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,958 คน ในจำนวน 1,307 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนกันยายน มีคดีเพิ่มขึ้น 2 คดี 

ทั้งนี้ เหตุที่จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1 คน เนื่องจากศูนย์ทนายฯ เพิ่งพบว่ามีข้อมูลบุคคลถูกดำเนินคดีหลายคดี แต่มีการนับจำนวนบุคคลซ้ำซ้อนเข้าไป ทำให้มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีเกินไปในเดือนก่อนหน้า 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,016 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 275 คน ในจำนวน 307 คดี 

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 53 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 673 คดี 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 182 คน ในจำนวน 100 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 207 คน ในจำนวน 229 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,307 คดีดังกล่าว มีจำนวน 638 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว (คดีบางส่วนไม่ได้สิ้นสุดลงทั้งคดี เช่น มีการอุทธรณ์คดีเฉพาะจำเลยบางคน แต่จำเลยบางคนคดีสิ้นสุดแล้ว) 

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

คดี ม.112 เพิ่มในภาคใต้ 1 คดี ส่วนผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดบางส่วนได้รับการปล่อยตัว หลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ แต่ก็มีประชาชนถูกขังเพิ่ม 1 คน หลังถูกสั่งฟ้องในคดีเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิด

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 1 คดี ซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ (จังหวัดพัทลุง) ประชาชนจำนวนสองคนได้รับหมายเรียกคดีมาตรา 112 จาก สภ.เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง กรณีถูกกล่าวหาว่าไปแสดงความเห็นใต้โพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ซึ่งในหมายเรียกระบุว่ามี ทรงชัย เนียมหอม เป็นผู้กล่าวหา

นอกจากนั้นยังมีรายงานกรณี อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากกลุ่มด้วยใจ ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ สภ.บาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยมี ร.อ.นาวิน แจ่มศรีใส รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือ เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ กรณีอัญชนาได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ทำยังไงดีมัสยิดในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ทวงเงินค่าน้ำประปาจากค่ายทหารที่มาใช้น้ำประปาของมัสยิดเป็นเงิน 20,000 บาท ไม่ได้ ต้องไปร้องเรียนที่ใคร” 

กรณีนี้เป็นอีกกรณีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกกองทัพกล่าวหาดำเนินคดีจากการตั้งคำถาม และแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

อีกทั้งในเดือนที่ผ่านมา ยังมีประชาชนจากกลุ่มประชาชนกัญชา ที่จัดการชุมนุมคัดค้านการนำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งในคดีนี้ได้มีการเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง

.

ต.ค. ​2567 ไม่มีผู้ต้องขังเพิ่ม ส่วนผู้ต้องขังเด็ดขาดได้ปล่อยตัว 5 คน ปัจจุบันยอดผู้ต้องขังรวมเป็นอย่างน้อย 35 คน

ในเดือนที่ผ่านมา ไม่มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองในเรือนจำเพิ่ม แต่มีผู้ต้องขัง 5 คนที่ได้รับการปล่อยตัวในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ “ภูมิ หัวลำโพง” ถูกปล่อยตัวจากสถานพินิจฯ บ้านเมตตา เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 หลังเข้าแผนบำบัดฟื้นฟูครบตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งสิ้น 364 วัน หรือเกือบ 1 ปีพอดี จากกรณีถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112

ต่อมาในวันเดียวกันนั้น มีผู้ต้องขังอีก 3 คน ได้รับการปล่อยตัวหลังเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ คือ “สุดใจ” (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 53 ปี ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง, “กิจจา” (นามสมมติ) ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีมาตรา 112 และ “มาร์ค” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 24 ปี ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีครอบครองวัตถุระเบิด รวมแล้ว ทั้งสามคนถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 370, 350 และ 581 วัน ตามลำดับ

ด้าน “กฤษณะ” (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีสหพันธรัฐไท ถูกศาลฎีกาลงโทษจำคุกข้อหาอั้งยี่ 3 ปี ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยาแล้วเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2567 หลังหลังเข้าเกณฑ์การปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งสิ้น 698 วัน 

.

หลังจากมีผู้ต้องขังถูกปล่อยตัวทั้งสิ้น 5 คนในเดือนตุลาคม และเมื่อวานนี้ (4 พ.ย. 267) มี “ทัตพงศ์” ผู้ต้องขังเด็ดขาดคดีวัตถุระเบิด ได้รับการปล่อยตัวหลังเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เช่นกัน ทำให้ปัจจุบันยังคงมีผู้ถูกคุมขังรวมเป็นอย่างน้อย 35 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 22 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 16 คน)

.

ศาลอาญาสืบพยานคดี 112 ลับหลังจำเลย แม้ทนายคัดค้านการสืบพยานลับหลัง

ในเดือนที่ผ่านมา มีคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดีที่ศาลอาญามีคำสั่งให้สืบพยานลับหลังจำเลย โดยอ้างอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 ซึ่งกรณีนี้มีเหตุสืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับ และปรับนายประกัน หากไม่สามารถจับกุมจำเลยได้ภายใน 3 เดือน เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยไม่ล่าช้า จึงเห็นควรให้สืบพยานลับหลังจำเลย 

กรณีแรก คดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ เหตุร่วมชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ MobFest เมื่อปี 2563 ในนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 พริษฐ์ไม่ได้เดินทางไปศาล ทำให้ศาลออกหมายจับ และเลื่อนให้มาสืบพยานโจทก์ลับหลังจำเลยเมื่อเดือนที่ผ่านมา 

แต่ก่อนวันนัดสืบพยาน พริษฐ์ได้ยื่นคำร้องขอถอนทนายความทั้งหมดในคดีนี้ผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) และแสดงเจตนาที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ทนายความจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความในคดีนี้ตามความประสงค์ของจำเลย อีกทั้งยื่นคําร้องคัดค้านการสืบพยานลับหลังจําเลย ระบุเหตุผลว่า การพิจารณาลับหลังไม่เป็นประโยชน์แก่จําเลย ทําให้ทนายจําเลยไม่สามารถยกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาต่อสู้คดีได้ ไม่เป็นประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม 

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยถอนทนายความ และไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัวตามขอ เนื่องจากคดีจะเดินหน้าต่อไม่ได้ อีกทั้งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบต่อไป โดยให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 20 ธ.ค. 2567

.

ส่วนในกรณีของ “ต้นไผ่” ศาลก็มีคำสั่งให้สืบพยานลับหลังจำเลยเช่นกัน โดยก่อนวันนัดสืบพยาน ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการสืบพยานลับหลังจำเลย อย่างไรก็ตาม ศาลยืนยันให้สืบพยานลับหลังจำเลยต่อไป โดยให้เหตุผลว่า จำเลยมาศาลในวันตรวจพยานหลักฐาน ทั้งยังแถลงแนวทางต่อสู้ต่อศาลแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาลเมื่อถึงนัดสืบพยาน ศาลได้ออกหมายจับและยังจับตัวจำเลยมาศาลไม่ได้ ถือว่าจำเลยสละสิทธิ์ที่จะเผชิญหน้ากับพยานโจทก์

ส่วนที่จําเลยยื่นคําร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับหลังและขอถอนทนาย ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต อ้างเหตุว่า จําเลยยื่นคําร้องโดยไม่แสดงตัวว่าเป็นความประสงค์ของจําเลยหรือไม่  

ต่อมาทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคําร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 หรือไม่ ส่วนการพิจารณาของศาลนี้ให้ดําเนินการต่อไป โดยให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา

ตลอดเดือน ต.ค. 2567 มีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 9 คดี: ยกฟ้อง 3 คดี และลงโทษ 6 คดี

ตลอดเดือนที่ผ่านมา ยังมีคดีมาตรา 112 ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และมีคำพิพากษาออกอีกอย่างน้อย 9 คดี แยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 6 คดี และศาลอุทธรณ์ 3 คดี 

คดีที่น่าสนใจจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ได้แก่ คดีของ “หนูรัตน์” สุภัคชญา ถูกฟ้องว่าร่วมแสดงในคลิปโฆษณาแคมเปญของลาซาด้า ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่ากษัตริย์ทรงยังมิได้แต่งตั้งองค์รัชทายาท เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ก็ย่อมไม่ใช่เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎมณเฑียรบาลฯ ดังนั้น คำว่า รัชทายาท ตามฟ้องว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112

เช่นเดียวกันกับคดีของ “โตโต้” ปิยรัฐ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์เองหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย กรณีถูกฟ้องว่าติดตั้งและโพสต์ภาพป้ายวิจารณ์การผูกขาดวัคซีน

ในส่วนของคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษและไม่รอลงอาญา ได้แก่ คดีของ “สินธุ” ประชาชนจากจันทบุรีที่ต้องเดินทางไปต่อสู้คดีถึงพัทลุง กรณีถูกกล่าวหาว่าได้ไปคอมเมนต์ท้ายโพสต์ในเพจ The MalaengtaD ศาลจังหวัดพัทลุงได้พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี เนื่องจากเห็นว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามพยานหลักฐานของโจทก์ อีกทั้งเนื้อหาเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามกษัตริย์และพระราชินี ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

และคดีของ “เก็ท” โสภณ กรณีปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากลเมื่อปี 2565 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี เนื่องจากจำเลยกล่าวถึงชื่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาโดยรวมกับคำปราศรัย เป็นการกล่าวหาหรือยืนยันข้อเท็จจริงว่ารัชกาลที่ 10 ขโมยสวัสดิการและอำนาจอธิปไตยจากประชาชน 

ส่วนคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษแต่ให้รอลงอาญา คือคดีของ ณัฐพล กรณีรีทวีตข้อความในทวิตเตอร์เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษาจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เนื่องจากให้การรับสารภาพ แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี

และในอีกคดีหนึ่ง ของ “ทอปัด” ในคดีนี้ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี

.

นอกจากนั้นยังมีคดีที่ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาใน 3 คดี โดยมีคดีหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ได้แก่ คดีของ “ปีเตอร์” กรณีปราศรัยเรื่องการพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเดิมศาลชั้นต้นยกฟ้อง และโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษา แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคําพิพากษาศาลชั้นต้นให้เห็นโดยชัดแจ้ง ว่าเป็นคําวินิจฉัยที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้องในข้อใด อย่างใด และที่ถูกควรเป็นเช่นไร อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชัดแจ้ง

ส่วนในคดีของฮ่องเต้ กรณีปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบเชียงใหม่  ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนลงโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน โดยเห็นว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง เป็นการกล่าวถ้อยคำต่อผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก ไม่สมควรรอการลงโทษ

และคดีของ “ต้นไม้” กรณีจัดจำหน่ายปฏิทินตั้งโต๊ะรูปเป็ดเหลืองในเพจเฟซบุ๊ก “ราษฎร”  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อกษัตริย์ โดยในสองคดีหลังนี้ จำเลยไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด ทำให้ศาลออกหมายจับจำเลย และอ่านคำพิพากษาลับหลัง

.

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง “งามแสนหลวง” กรณีโพสต์เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมที่อาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากบริษัทบุญรอด

เดือนที่ผ่านมา ยังมีคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง ได้แก่ คดีของ “งามแสนหลวง” กรณีโพสต์ข้อความกล่าวถึงกรณีอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากบริษัทบุญรอดฯ ระหว่างการสลายการชุมนุมใกล้รัฐสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ในข้อหา “นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนา “ทุจริต” หรือ “หลอกลวง” จากการโพสต์รูปและข้อความเกี่ยวกับบริษัทโจทก์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ในชุดคดีเกี่ยวกับบริษัทบุญรอดนี้ พบว่าจาก 4 คดี มี 3 คดี ที่ศาลล้วนมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งหมด มีอีก 1 คดีที่จำเลยไกล่เกลี่ย และโจทก์ยินยอมถอนฟ้องคดี แต่การฟ้องคดีดังกล่าวก็สร้างภาระให้กับประชาชนผู้ถูกกล่าวหาต้องต่อสู้คดีหลายปี

.

อัยการยังมีคำสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในช่วงที่สภาพิจารณานิรโทษกรรมคดีการเมือง และศูนย์ทนายฯ ได้ยื่นหนังสือให้ชะลอหรือไม่สั่งฟ้องคดี

เดือนที่ผ่านมา พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ของ “บอย” ธัชพงศ์ แกดำ, ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์ และ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา จากเหตุการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อปี 2564 ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ระบุคำแถลงสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน แม้ไม่ได้กล่าวถึงการกระทำของกษัตริย์ ก็ทำให้เข้าใจได้ว่ากษัตริย์เข้ามาปกครองประเทศ ทั้งสามคนยังได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีคำสั่งฟ้องคดีของ 8 นักกิจกรรมต่อศาลแขวงดุสิต จากเหตุชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ในช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน และยังฟ้องคดีของ “สี่ทัพ” ต่อศาลแขวงปทุมวัน ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ17สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อปี 2564 

ถึงแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมากว่า 3-4 ปี และในช่วงที่ผ่านมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ที่มีการต่อสู้คดีเกือบทั้งหมด ทั้งยังอยู่ในช่วงสภาพิจารณาการนิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดขอให้พิจารณามีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 

ในทางตรงกันข้าม ก็พบว่ามีคดีชุมนุมที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่อัยการก็สามารถมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2564 อีกจำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีกิจกรรม “ฉลองวันเกิดไมค์ ระยอง” ที่หน้าเรือนจำ ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหารวม 9 ราย และคดีกิจกรรมเคาท์ดาวน์ปีใหม่หน้าเรือนจำ ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหารวม 24 ราย โดยเห็นว่ากิจกรรมยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและกิจกรรมไม่ถึงกับแออัดจนเสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่แนวทางการวินิจฉัยเช่นนี้ ไม่ได้ถูกใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอัยการคดีต่าง ๆ หลายคดี อัยการยังคงเดินหน้าสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-64

X