ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน “ฮ่องเต้” คดี 112-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปราศรัยกิจกรรม “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” จำคุก 1 ปี 7 เดือน

9 ต.ค. 2567 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ฮ่องเต้” ธนาธร วิทยเบญจางค์ บัณฑิตจากสาขาวิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ถูกฟ้องในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากกรณีอ่านแถลงการณ์และปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบเชียงใหม่ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน โดยเห็นว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง เป็นการกล่าวถ้อยคำต่อผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก ไม่สมควรรอการลงโทษ

.

ทบทวนคดี ‘ฮ่องเต้’: ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 1 กระทง แต่ลงโทษอีก 1 กระทง และเห็นว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ย้อนกลับไป สำหรับคดีนี้ฮ่องเต้ถูกฟ้องข้อหามาตรา 112 จำนวน 2 กระทง ได้แก่ 1. เหตุการณ์อ่านแถลงการณ์ที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 และ 2. เหตุการณ์ปราศรัยที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  เนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าว

ในการสืบพยานช่วงวันที่ 16-19 พ.ค. 2566 ฮ่องเต้ได้ให้การรับสารภาพข้อหามาตรา 112 ในกระทงกรณีปราศรัยหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และให้การปฏิเสธในข้อหามาตรา 112 ในเหตุการณ์อ่านแถลงการณ์ที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 และปฏิเสธข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ต่อมาวันที่ 21 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง ในเหตุการณ์อ่านคำแถลงการณ์ที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ระบุตัวบุคคล แต่พิพากษาลงโทษในเหตุการณ์ปราศรัยหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ลงโทษจำคุก 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และยังเห็นว่ามีความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 เดือน รวมโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ

จำเลยได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยต่อสู้ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขอให้ศาลรอการลงโทษในข้อหา 112 ในเหตุการณ์ที่รับสารภาพไป ส่วนฝ่ายโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาอีก

จนวันที่ 27 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่ฮ่องเต้ไม่ได้เดินทางไปศาล ศาลจึงมีคำสั่งออกหมายจับ ปรับนายประกันเต็มจำนวน และเลื่อนนัดฟังคำพิพากษามาเป็นวันที่ 9 ต.ค. 2567 

.

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น – ไม่รอการลงโทษ

วันนี้ ทนายความจำเลยและนายประกันเดินทางไปที่บัลลังก์ 2 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลได้แจ้งคำพิพากษาลับหลังตัวจำเลย โดยเป็นการแจ้งสรุปประเด็นคำพิพากษาสั้น ๆ ไม่ได้อ่านในรายละเอียด ระบุว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษา “ยืน” ตามศาลชั้นต้น หรือเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว โดยมีประเด็นที่วินิจฉัยเพิ่มเติม 3 ประเด็นหลัก คือ

  1. ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ย่อมรู้ดีว่าอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 จึงมีความผิดฐานนี้แล้ว
  2. สำหรับการกำหนดโทษของศาลชั้นต้นนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่าเป็นการกำหนดตามอัตราโทษขั้นต่ำแล้ว
  3. สำหรับข้อหามาตรา 112  ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่าจำเลยมีกล่าวถ้อยคำต่อหน้าผู้ชุมนุมจำนวนมาก เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ไม่เห็นสมควรให้รอการลงโทษ

ทั้งนี้หลังจากการพิพากษาลับหลังนี้ หากฮ่องเต้ไม่ปรากฏตัวต่อศาลจะไม่สามารถยื่นฎีกาต่อศาลได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันฟังคำพิพากษา และอายุความคดีอาญาในคดีนี้ คือ 10 ปีนับแต่คดีสิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 

สำหรับ “ฮ่องเต้” ธนาธร จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศึกษาต่อในสาขาวิชาปรัชญา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563-65 เขาเคยมีบทบาทในฐานะสมาชิกของกลุ่มพรรควิฬาร์ หรือ “แมวดำ” ซึ่งทำกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ธนาธรถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกรวมแล้ว 10 คดี (สิ้นสุดไปแล้ว 5 คดี) โดยส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีคดีมาตรา 112 คือคดีนี้จำนวน 1 คดี

.

อ่านเพิ่มเติม เมื่อ “ฮ่องเต้” โดนข้อหาหมิ่นกษัตริย์

X