ศาลพัทลุงลงโทษจำคุก 2 ปี คดี ม.112 ของ “สินธุ” ประชาชนจากจันทบุรี ก่อนให้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์

28 ต.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดพัทลุงนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “สินธุ” (นามสมมติ) พนักงานขายอุปกรณ์ไฟฟ้าชาวจันทบุรี วัย 28 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากถูกกล่าวหาว่าได้ไปคอมเมนต์ท้ายโพสต์ในเพจ The MalaengtaD ซึ่งได้เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พร้อมพระราชินี เมื่อปี 2565

คดีนี้มี “ทรงชัย เนียมหอม” สมาชิกกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.ตะโหมด สินธุต้องเดินทางจากจังหวัดจันทบุรีไปต่อสู้คดีนี้ 

การมาฟังคำพิพากษาครั้งนี้นับเป็นการเดินทางครั้งที่ 7 แล้ว โดยมีภรรยาของเขาเดินทางมาให้กำลังใจด้วย ทั้งคู่ต้องเดินทางออกจากภูมิลำเนามาล่วงหน้า 2 วัน เข้ากรุงเทพฯ และต้องนอนรอการเดินทางที่สนามบินในช่วงคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางมายังจังหวัดตรัง และนั่งรถต่อมายังพัทลุง

ในการสืบพยานเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม จำเลยต่อสู้คดีว่า บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องเป็นของจำเลยจริง แต่ไม่สามารถเข้าใช้งานได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้เป็นผู้คอมเมนต์ข้อความตามฟ้อง ตามพยานเอกสารของโจทก์ URL ของคอมเมนต์ตามฟ้องและต้นโพสต์ที่ปรากฏไม่ตรงกัน และไม่มีการตรวจสอบ IP Address เพื่อระบุตัวตนของผู้โพสต์ นอกจากนี้ รายงานการตรวจสอบต้นโพสต์จากเพจ The MalaengtaD ของ บก.ปอท. ก็ไม่ปรากฏว่ามีคอมเมนต์ตามฟ้อง

เวลาประมาณ 9.20 น. เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ที่ 3 เรียกให้สินธุ พร้อมญาติ และทนายความ ที่รออยู่หน้าห้องพิจารณา เข้าฟังคำพิพากษาเป็นคดีแรกของวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลเข้าใส่กุญแจจำเลยเอาไว้ ก่อนศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา

ศาลได้เริ่มวินิจฉัยในประเด็นที่ฝ่ายจำเลยโต้แย้ง ว่าระหว่างสืบพยานปากผู้กล่าวหา พนักงานอัยการได้มีการอ้างส่งเอกสารที่ผู้กล่าวหาได้รวบรวมให้พนักงานสอบสวนหลายฉบับต่อศาล ซึ่งเป็นพยานเอกสารที่ไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและไม่ปรากฏว่าโจทก์นำส่งต่อศาลเพื่อให้ฝ่ายจำเลยตรวจสอบในนัดตรวจพยานหลักฐานมาก่อน โดยศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าว ไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี จึงสามารถรับไว้พิจารณาได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

จากนั้น ศาลได้วินิจฉัยในส่วนข้อต่อสู้ของคู่ความ โดยสรุปเห็นว่าจากพยานหลักฐานโจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กตามฟ้องจริง โดยเห็นว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเคยโพสต์ทะเบียนสมรสและป้ายทะเบียนรถ ที่เป็นข้อมูลส่วนตัวของจำเลย และจำเลยก็รับว่าเคยใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจริง แต่ระบุว่าตนไม่สามารถเข้าใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2565 

ศาลเห็นว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงในการพยายามนำบัญชีเฟซบุ๊กคืน ไม่ได้แจ้งกับทางเฟซบุ๊กถึงปัญหาการเข้าถึงดังกล่าว และจำเลยไม่ได้ให้การในประเด็นดังกล่าวไว้ในชั้นสอบสวน เพิ่งยกมาต่อสู้ในชั้นศาล อีกทั้งเห็นว่าพยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ 

ในส่วนถ้อยคำตามฟ้องที่โพสต์แสดงความคิดเห็นใต้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์นั้น ศาลเห็นว่ามีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์และพระราชินี ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานความคิดเห็นของฝ่ายโจทก์

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ที่เป็นบทหนักสุด ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี เห็นว่าความผิดเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร จีงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำเลย

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี ได้แก่ ณปภัช ศรีสุวรรณ 

หลังฟังคำพิพากษา จำเลยได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปยังห้องขังของศาล ขณะที่นายประกันได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์

จนเวลา 14.10 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ให้วางหลักทรัพย์ประกัน 200,000 บาท (โดยเพิ่มจากเดิมที่วางในชั้นสั่งฟ้อง 50,000 บาท) แต่หากผิดสัญญาประกัน ให้ปรับนายประกัน 300,000 บาท โดยหลักประกันได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

ทั้งนี้ คดีนี้ระหว่างสืบพยาน ศาลได้สั่งไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกในห้องพิจารณา แต่ไม่ได้ให้พิจารณาเป็นการลับ ตามคำขอของอัยการโจทก์

คดีนี้นับเป็นหนึ่งในชุดคดีมาตรา 112 ซึ่งมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันเป็นผู้ไปกล่าวหาไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งพบว่ามีการดำเนินการไม่น้อยกว่า 12 คดีแล้ว กระจายไปในหลายสถานีตำรวจ 

.

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยานคดีนี้

X