1,087 กิโลเมตรจากบ้านคือระยะทางที่ “สินธุ” (นามสมมติ) ต้องเดินทางมาต่อสู้คดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถึงศาลจังหวัดพัทลุง หลังจากถูกกล่าวหาว่าไปคอมเมนต์ท้ายโพสต์ในเพจ The MalaengtaD ซึ่งได้เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พร้อมพระราชินี เมื่อปี 2565
คดีนี้มี “ทรงชัย เนียมหอม” สมาชิกกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) เป็นผู้กล่าวหา โดยสินธุต้องเทียวเดินทางไปกลับระหว่างจันทบุรีและพัทลุง มาแล้วกว่า 6 ครั้งในระยะเวลา 1 ปีครึ่ง ทั้งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ตะโหมด ถึง 2 ครั้ง เนื่องจากตำรวจเรียกไปแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติมอีก, เดินทางไปตามนัดฟ้องของพนักงานอัยการ และมาตามนัดต่าง ๆ ของศาลจังหวัดพัทลุง
สินธุยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยแม้บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องเป็นของเขาจริง แต่เขาไม่สามารถเข้าใช้งานได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ และไม่ได้เป็นผู้คอมเมนต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา นอกจากนี้พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมากพออีกด้วย โดยคดีนี้นัดฟังคำพิพากษาในวันจันทร์ที่ 28 ต.ค. นี้
.
อ่านบันทึกสืบพยานคดีนี้ >>> บันทึกการต่อสู้คดี 112 ไกลถึงพัทลุง ของ “สินธุ” ชาวจันทบุรี ยืนยันไม่ได้คอมเมนต์ใต้โพสต์เฟซบุ๊ก หลังถูกสมาชิกกลุ่มพิทักษ์สถาบันฯ กล่าวหา
.
ต้นทุนของการต้องเดินทางไกลหลายครั้ง
ปัจจุบันสินธุอายุ 28 ปี เขาเกิดและเติบโตที่จันทบุรี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายอุปกรณ์ไฟฟ้า และเป็นเสาหลักในการดูแลครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่กำลังเข้าสู่วัยชราและมีโรคประจำตัวรุมเร้า ภรรยา และลูกสาววัย 2 ปี 5 เดือน
“ทั้งชีวิตผมเคยไปภาคใต้ไกลสุดแค่นครศรีธรรมราช” สำหรับสินธุการเดินทางจากจันทบุรีไปพัทลุงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เขาต้องใช้ขนส่งสาธารณะแทบทุกรูปแบบ เริ่มต้นด้วยการขึ้นรถตู้จากขนส่งในเมืองจันทบุรีไปยังสนามบินดอนเมือง จากนั้นก็ต้องขึ้นเครื่องบินไปลงสนามบินตรังหรือหาดใหญ่ ก่อนเดินทางไปยังสถานที่นัดหมายในพัทลุง ยังไม่นับค่าที่พักระหว่างทาง ทั้งในช่วงสืบพยานต่อเนื่องหลายวัน ก็ต้องเช่าห้องพักไว้หลายวันอีกด้วย
“ในครั้งแรกที่ไป ผมไม่รู้ว่าต้องต่อรถอะไรไปพัทลุง เลยตัดสินใจเช่ามอเตอร์ไซค์ขับจากหาดใหญ่ไปพัทลุง” หลังจากนั้นสินธุก็เริ่มเข้าใจเส้นทางว่าต้องขึ้นรถอะไร ลงตรงจุดไหน เพื่อไปให้ถึงที่หมายให้ได้ตามนัด “เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วผมก็ต้องหาทางไปให้ได้เพราะไม่อยากผิดนัด”
ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่เดิมทีก็ไม่ดีนัก ประกอบกับการต้องใช้เงินเก็บแทบทั้งหมดในการเดินทางมาต่อสู้คดีไกลบ้าน ทำให้ปัจจุบันสินธุและภรรยาส่งลูกสาวของตนเองไปให้แม่ของเขาช่วยเลี้ยงดู เดิมเขาเคยส่งเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายของลูกสาวเดือนละ 5,000 บาท แต่ปัจจุบันเขาไม่ได้ส่งเงินมาหลายเดือนแล้ว เพราะต้องสำรองเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพัทลุง ที่แต่ละครั้งจะเสียเงินราว 8,000 ถึง 10,000 บาท
สินธุเล่าว่า เขามีรายได้คิดเป็นรายวันแต่เงินจะออกทุกสิ้นเดือน หากทำงานไม่หยุดเลยอาจมีรายได้ถึงประมาณเดือนละ 15,000 บาท แต่ถ้าเดือนไหนต้องลา เช่น ลาเพื่อมาตามนัดในคดี ก็จะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 13,000 ถึง 14,000 บาท เท่ากับว่าหากเดือนนั้นเขาต้องเดินทางไปพัทลุง เขาจะเหลือเงินเดือนไม่ถึงครึ่งสำหรับการใช้ชีวิตในเดือนนั้น
.
สิ่งที่สูญเสียในระหว่างทาง
ในวันแรกที่สินธุรู้ว่าตัวเองถูกดำเนินคดี เขาเกิดความงุนงงว่าถูกดำเนินคดีเพราะอะไรและไม่รู้ว่าตนเองต้องปฏิบัติตัวเช่นไร เขาเปิดเผยว่า ตนไม่เคยรู้จักกับผู้กล่าวหามาก่อนเลย มารู้ตอนที่ถูกแจ้งความ และตำรวจออกหมายเรียกให้เขาไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ตะโหมด จังหวัดพัทลุง “ผมมีความกังวลเกี่ยวกับคดี ไม่รู้จะต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาอย่างไร ไม่รู้เลยว่าคดี 112 คืออะไร ไม่เคยเดินทางไปพัทลุงมาก่อน”
ในตอนเริ่มต้นของคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากจันทบุรี สภ.มะขาม ได้เชิญภรรยาของสินธุไปเป็นพยาน และ สภ.สอยดาว เชิญลูกพี่ลูกน้องของสินธุไปเป็นพยาน หลังรู้ว่าถูกดำเนินคดี ภรรยาของเขาจึงค้นหาข้อมูลและติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ช่วยเหลือในทางคดี เพราะเขาและภรรยาไม่ค่อยมีความรู้ด้านกฎหมาย ทำให้เขามีทนายความเดินทางไปด้วยในตอนที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา
“หลังจากได้พบตำรวจ ได้ไปขึ้นศาล และคุยกับทนาย ผมก็เข้าใจความเป็นมาหลาย ๆ เรื่องมากขึ้น ตอนนี้ก็อยู่ที่ศาลว่าจะตัดสินว่าอะไร” ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้สินธุต้องพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญ พร้อมกับการประคับประคองสภาพจิตใจของตนเองและคนในครอบครัว
“ผมพยายามไม่คิดมากเพราะภรรยาเป็นโรคซึมเศร้า เราเลยพยายามทำตัวให้ไม่เศร้ามากเกินไป ถ้าภรรยารู้ว่าเศร้าเขาจะเครียดมาก แต่จริง ๆ แล้วในใจก็กังวลเรื่องลูก เรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ” สินธุยังเล่าว่าเขากับครอบครัวจะพูดคุยทำความเข้าใจและรับรู้สถานการณ์การถูกดำเนินคดีมาโดยตลอด ทำให้เขาไม่ได้มีปัญหากับครอบครัวมากนัก
ผลกระทบมากที่สุดที่เกิดขึ้นกับสินธุหลังถูกดำเนินคดีคือปัญหาด้านการเงิน เดิมทีเขาเป็นคนเดียวที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและพอจะมีเงินก้อนเก็บไว้ก้อนหนึ่ง “ครั้งแรกที่เดินทางไปพัทลุงก็ยังพอไหว แต่พอต้องเดินทางไปสามสี่รอบ เงินก็เริ่มจะไม่พอใช้”
ภายหลังภรรยาของสินธุต้องเริ่มออกไปหางานทำเพื่อมาจุนเจือค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นจากการที่สามีของเธอตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 “ตอนแรกผมกับภรรยาจดทะเบียนสมรสกัน พอภรรยาไปสมัครงานเอกชน บริษัทก็ไม่รับเพราะเห็นว่าผมมีคดี 112” สุดท้ายเขากับภรรยาจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการจดทะเบียนหย่า ภรรยาจึงสามารถสมัครงานได้
.
หากไม่ต้องถูกบังคับให้ออกเดินทาง
สินธุเล่าว่า หากสุดท้ายแล้วเขาถูกพิพากษาจำคุกจะส่งผลต่อครอบครัวทุก ๆ ด้าน เพราะเขาเป็นเสาหลักของครอบครัว “ผมทำงานได้เงินเท่าไหร่ก็ให้ครอบครัวหมด ไม่ได้เก็บไว้ใช้ส่วนตัวเลย พ่อกับแม่ก็อายุมากใกล้จะ 60 ปีแล้ว ทำงานไม่ไหวเลยต้องส่งเงินให้พ่อแม่ทุกเดือน น้องสาวก็กำลังจะจบ ม.6 ใกล้เข้ามหาวิทยาลัย รายจ่ายสำหรับการศึกษาต่อและรายจ่ายค่าครองชีพก็ค่อนข้างสูง”
เมื่อถูกถามว่าหากไม่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คิดว่าชีวิตของตนจะเป็นอย่างไร สินธุเล่าว่า ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว เขาได้รับการติดต่อจากคนรู้จักให้ไปทำงานที่ด้วยกันที่ระยองในตำแหน่งพนักงานบริการดูแลหลังการขายท่อที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งงานนี้จะทำให้เขามีอาชีพ สวัสดิการ และรายได้ที่มั่นคงกว่างานในปัจจุบัน แต่สุดท้ายเขาก็ต้องปฏิเสธไป เพราะกังวลเรื่องคดีที่ต้องหยุดงานไปตามนัดบ่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้โดนไล่ออกจากงานได้
“สุดท้ายหากศาลตัดสินให้ไม่ต้องจำคุก ผมก็คงจะไปทำงานที่ระยอง เลี้ยงดูครอบครัว” สินธุทิ้งท้าย
.
คดีนี้นับเป็นหนึ่งในชุดคดีมาตรา 112 ซึ่งมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันเป็นผู้ไปกล่าวหาไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งพบว่ามีการดำเนินการไม่น้อยกว่า 12 คดีแล้ว กระจายไปในหลายสถานีตำรวจ
ทั้งนี้ หากสุดท้ายแล้ว ศาลพิพากษาว่าสินธุมีความผิดตามมาตรา 112 และถูกพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา และไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เขาจะถูกคุมขังไกลบ้านถึงเรือนจำกลางพัทลุง