ศาลยกฟ้องคดี 112  “หนูรัตน์” กรณีร่วมทำคลิปโฆษณา ชี้ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ไม่ใช่รัชทายาท –  ไม่ควรตีความ ม.112 เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติ 

วันที่ 30 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษามาตรา 112 ของ “หนูรัตน์” หรือ สุภัคชญา ชาวคูเวียง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ อายุ 30 ปี จากกรณีร่วมจัดทำและร่วมแสดงในคลิปโฆษณาแคมเปญ 5.5 ของลาซาด้า เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นการล้อเลียนเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

ในคดีนี้มี ศรีสุวรรณ จรรยา เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาที่ บก.ปอท. ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย. 2565 มัมดิวและหนูรัตน์ พร้อมทั้ง “นารา”  ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวตามหมายจับของศาลอาญา ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

ต่อมา ยังมีการแจ้งข้อหากับสองบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาดังกล่าว และอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีร่วมกับมัมดิวและหนูรัตน์ในคคีนี้ด้วย โดยกล่าวหาจำเลยทั้งสี่ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เฉพาะสองบริษัทยังถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) ตลอดจนร่วมกันใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม ส่วนนาราอัยการได้แยกฟ้องเป็นอีกคดีไปก่อนหน้านั้นแล้ว

กรณีของมัมดิว ซึ่งได้หลบหนีไปก่อนมีการพิจารณาคดี ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีในส่วนของมัมดิวออกจากสารบบชั่วคราว จนกว่าจะสามารถนำตัวจำเลยมาพิจารณาได้ และสืบพยานในส่วนของจำเลยที่เหลือ คือ หนูรัตน์, บริษัทโฆษณา และลาซาด้า (จำเลยที่ 2 – 4)  ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2567 ก่อนศาลมีนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ (30 ต.ค.2567)

เวลา 09.00 น.  ที่ห้องพิจารณาคดี 805 ศาลออกพิจารณาคดี โดยเรียกให้จำเลยที่ 2 – 4 ยืนขึ้นแสดงตัว ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา สรุปใจความได้ว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้อง เป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่ 

โจกท์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยการโฆษณาล้อเลียนพระองค์ซึ่งเป็นรัชทายาทของพระมหากษัตริย์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำว่า “รัชทายาท” ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ได้กำหนดความหมายของคำว่า รัชทายาท คือ เจ้านาย เชื้อพระบรมราชวงศ์ ซึ่งต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ให้สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป 

และเนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงยังมิได้แต่งตั้งองค์รัชทายาท เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ก็ย่อมไม่ใช่เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎมณเฑียรบาลฯ ดังกล่าว ดังนั้น คำว่า รัชทายาท ตามฟ้อง ที่โจทก์กล่าวหา จำเลยที่ 2 (หนูรัตน์) ว่า ดูหมิ่นเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 

และตามฟ้องที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยได้ร่วมการหมิ่นประมาททำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คำว่า “สถาบันกษัตริย์” เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ เมื่อพิเคราะห์ตัวบทกฎหมายแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้บัญญัติการกระทำที่เป็นความผิดไว้ว่า ต้องเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น การกระทำที่เป็นความผิดจึงต้องเป็นการแสดงออกหรือมีถ้อยคำที่หมายถึงตัวบุคคลเท่านั้น การบังคับใช้มาตรา 112 ไม่ควรตีความในทางขยายความให้เกินกว่าข้อบัญญัติของกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดในข้อกล่าวหานี้ 

เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ในส่วนข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีการโฆษณาและเผยแพร่คลิปวีดิโอ จึงย่อมไม่เป็นความผิด 

กรณีที่หนูรัตน์ได้รับการชักชวนจากนาราให้ร่วมทำโฆษณาแคมเปญ 5.5 ของบริษัทลาซาด้า โดยในช่วงต้นคลิปที่ 1 ได้มีการเชิญชวนให้ซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชั่นดังกล่าว ส่วนในคลิปที่ 2 ที่โจทก์ฟ้องว่า มัมดิวแสดงบทบาทเป็นพระพันปีหลวง และหนูรัตน์แสดงเป็นเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โดยมีนาราเชิญชวนให้มัมดิวร่วมกันโฆษณาเซรั่ม ซึ่งเป็นสินค้าของนาราเองนั้น

ศาลเห็นว่า การแสดงบทบาทดังกล่าวไม่สามารถสื่อถึงพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดตามฟ้องได้ โดยจำเลยได้เบิกความว่า การแสดงดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงบทบาทสมมติจากละครย้อนยุคเท่านั้น  ไม่มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลตามมาตรา 112 การกระทำของหนูรัตน์ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามข้อกล่าวหานี้เช่นกัน 

ทั้งการเผยแพร่โฆษณา ซึ่งไม่เห็นว่ามีผลเสียอย่างไร และไม่ปรากฏว่ามีการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้คนในสังคมแตกความสามัคคีกันอย่างไร และจำเลยที่ 3 – 4 ก็ได้มีการทำสื่อโฆษณา ซึ่งลงรายละเอียดตามสมควรและเป็นธรรมต่อผู้บริโภคแล้ว พยานหลักฐานของโจกท์ไม่มีน้ำหนักแสดงให้เห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องอย่างไร ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยสามารถรับฟังได้ พิพากษายกฟ้อง 

.

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ศาลอาญาก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นเดียวกัน ในคดีของ “นารา เครปกะเทย” ซึ่งเป็นคดีที่มีมูลเหตุเดียวกัน โดยศาลได้มีคำพิพากษาที่มีใจความสำคัญที่สอดคล้องกัน ระบุว่า การตีความมาตรา 112 จะต้องกระทำโดยเคร่งครัด การแสดงบทบาทสมมติยังไม่ถึงกับเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่คดีของหนูรัตน์ก็ยังไม่ถือว่าถึงที่สุด และยังต้องรอดูต่อไปว่าจะมีการอุทธรณ์คดีจากอัยการหรือไม่ ซึ่งในส่วนคดีของนารา อัยการก็ได้มีการยื่นอุทธรณ์แล้ว และต้องรอฟังวันนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ต่อไป

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่มีการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลับมาบังคับใช้อีกระลอก โดยเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ศาลมีคำพิพากษาในคดีเหล่านี้แล้วรวมอย่างน้อย 161 คดี โดยเป็นคดีที่จำเลยยืนยันต่อสู้ และมีคำพิพากษาอย่างน้อย 84 คดีแล้ว ทั้งนี้ผลของคดีเหล่านี้หลายคดียังไม่ถึงที่สุด โดยยังคงต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาต่อไป 

.

ดูฐานข้อมูลคดีนี้

คดี 112 “มัมดิว-หนูรัตน์” และบริษัทที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับ “นารา” ทำคลิปโฆษณา ถูกกล่าวหาล้อเลียนสมาชิกราชวงศ์

X