อัยการสั่งฟ้องประชาชน 1 ราย ใหม่ หลังยืนยันให้การปฏิเสธคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุ #ม็อบ17สิงหาไล่ล่าทรราช ปี 64

วันที่ 9 ต.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องประชาชน 1 ราย ข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ17สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อปี 2564 ซึ่งจัดโดยกลุ่ม “ทะลุฟ้า” โดยเป็นการฟ้องเข้ามาใหม่ ภายหลังจำเลยคนอื่น ๆ ได้ให้การรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก และให้ฟ้องจำเลยที่ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาเข้ามาใหม่

.

ย้อนไปในช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีจากการชุมนุมดังกล่าว ทั้งหมด 3 คดี ต่อศาลแขวงปทุมวัน โดยมีประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 6 คน 

คดีแรกของ “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทำให้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 6 พ.ย. 2567 

ส่วนอีก 2 คดี มีจำเลยทั้งหมด 5 คน ก่อนมีจำเลยตัดสินใจให้การรับสารภาพตามฟ้องทั้งสิ้น 4 คนเนื่องจากอยากให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว หรือบางรายอยากเริ่มต้นประกอบอาชีพ ไม่อยากให้คดียืดเยื้อออกไป ก่อนศาลพิพากษาจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท และโทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี 

ส่วนประชาชนอีก 1 ราย คือ “สี่ทัพ” (นามสมมติ) ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีและให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องเข้ามาใหม่

.

วันนี้ (9 ต.ค. 2567) เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการได้สังฟ้องคดีของ “สี่ทัพ” เข้ามาใหม่ ซึ่งจตุพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลอนุญาตให้จตุพลประกันตัวโดยการสาบานตน และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 6 พ.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันเดียวกับนัดตรวจพยานหลักฐานของ “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ

โดยสรุปฟ้องกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 จำเลยได้ร่วมกันเข้าร่วมการชุมนุม การจัดกิจกรรม “ม็อบ 17 สิงหาคม ไล่ล่าทรราช” โดยกิจกรรมชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วม ในลักษณะมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัด โดยไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลมากกว่าห้าคน ที่มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด 19) ให้ขยายไปในวงกว้าง

.

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ จากเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ17สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อปี 2564 ซึ่งจัดโดยกลุ่ม “ทะลุฟ้า” มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 15 คน โดยแยกเป็นคนที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุม 7 คน 

ในวันเกิดเหตุ (17 ส.ค. 2564) กลุ่มผู้ชุมนุมได้นัดหมายที่สี่แยกราชประสงค์เวลา 15.00 น. ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยเตรียมนำสีชมพูไปปายังป้าย สตช. ในระหว่างการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งคาดว่าผสมแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมถึง 2 ครั้ง ก่อนจะมีการนำกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนออกมายืนตั้งโล่บริเวณหน้ารั้วและป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  รวมทั้งมีการจับกุมผู้ชุมนุม โดยมีผู้ถูกจับกุมรายหนึ่งระบุว่าได้รับบาดเจ็บจากการกระชากแขน และอีกคนหนึ่งถูกเหยียบที่ข้อเท้า

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขอให้พิจารณามีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น คดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงที่ยังมีการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน 

อีกทั้งข้อเสนอหนึ่งของกรรมาธิการศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรมประชาชนที่สภาตั้งขึ้นนั้น คือขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีหากเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม แต่อัยการในหลายคดียังคงนัดหมายการสั่งฟ้องคดีในช่วงนี้

X