ยกฟ้อง! “โตโต้” สส.-อดีตนักกิจกรรม WeVo คดี 112 ป้ายวิจารณ์ผูกขาดวัคซีนที่กาฬสินธุ์ ศาลชี้ ไม่มีพยานโจทก์ยืนยัน โตโต้ร่วมติดตั้งป้าย-โพสต์ภาพป้าย 

11 ต.ค. 2567 ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์พิพากษายกฟ้อง “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคประชาชน และอดีตนักกิจกรรมกลุ่ม WeVo ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) กรณีที่ถูกพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ฟ้องว่า ร่วมกับพวกติดตั้งป้ายวิจารณ์การผูกขาดวัคซีน และโพสต์ภาพป้ายในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2564

คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นผู้ติดตั้งป้ายและโพสต์ภาพป้ายตามฟ้องเองหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบของกลางคือป้ายไวนิล 7 แผ่น และลวด 2 เส้น

โดยในเวลา 09.15 น. ปิยรัฐ, แม่, ทนายจำเลย ประชาชนที่มาให้กำลังใจ รวมถึง ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทยอยเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 

ราว 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ขณะที่ตำรวจศาลและตำรวจประจำศาลซึ่งมีหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเดินเข้ามานั่งในห้องพิจารณาเช่นกัน จากนั้นไม่นานศาลเริ่มอ่านคำพิพากษามีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยเป็นคนนำป้ายไปติดตั้งบริเวณที่เกิดเหตุตามฟ้องจริงหรือไม่

เห็นว่า พยานโจทก์ที่พบเห็นแผ่นป้ายติดตั้งบริเวณที่เกิดเหตุต่างเบิกความเพียงว่า มีคนนำแผ่นป้ายไปติดตั้งที่บริเวณที่เกิดเหตุจำนวน 7 แผ่น และเห็นรถที่บรรทุกป้าย แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเลยยืนยันว่า เห็นจำเลยในที่เกิดเหตุหรือยืนยันว่าเห็นจำเลยเป็นคนติดตั้งแผ่นป้ายดังกล่าว

ส่วนที่ตำรวจชุดสืบอ้างว่ารถที่บรรทุกแผ่นป้ายไปติดตั้งเป็นรถของแม่จำเลย และรถตู้ของจำเลยขับตามรถที่บรรทุกแผ่นป้ายในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน น่าเชื่อว่าจำเลยจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผ่นป้ายในบริเวณที่เกิดเหตุนั้น

แต่เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ได้ความเพียงว่า จำเลยเคยใช้รถดังกล่าวในการทำกิจกรรมทางการเมือง และรถตู้ที่ขับติดตามมาเป็นรถของจำเลย ไม่พบว่าพยานโจทก์ปากใดทราบว่า จำเลยเดินทางมาร่วมติดตั้งป้ายในบริเวณที่เกิดเหตุด้วย การจะรับฟังพยานหลักฐานที่มีเพียงว่า รถที่บรรทุกป้ายมาติดตั้งเป็นรถที่จำเลยเคยใช้ โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า จำเลยเดินทางมาร่วมติดตั้งป้ายในบริเวณที่เกิดเหตุ มาพิจารณาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่

แม้ ร.อ.นิธิสัคค์ จะเบิกความว่า แหล่งข่าวรายงานว่า ผู้ติดตั้งป้ายคือจำเลย ก็เป็นเพียงการที่พยานทราบข้อมูลจากแหล่งข่าว โดยไม่ปรากฏว่าแหล่งข่าวเป็นใคร หรือมีพยานหลักฐานอย่างไร พยานหลักฐานโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นผู้นำป้ายไปติดตั้งในที่เกิดเหตุจริงหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง 

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยเป็นคนนำภาพป้ายไปโพสต์ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ตามฟ้องหรือไม่

ได้ความจาก พ.ต.ท.แสงเพ็ชร, พ.ต.ท.ธนศักดิ์ และ พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ว่า หลังเกิดเหตุมีผู้นำภาพป้ายไปโพสต์และหลังจากเจ้าหน้าที่เก็บป้ายแล้ว เฟซบุ๊ก โตโต้ ปิยรัฐ ได้โพสต์ทวงถามหาป้ายที่เจ้าหน้าที่เก็บไป จากการสืบสวนทราบเพียงว่า มีการนำภาพไปโพสต์โดยอ้างว่าทวิตเตอร์ We Volunteer เป็นบัญชีกลุ่มที่จำเลยเป็นสมาชิก และเพซบุ๊ก โตโต้ ปิยรัฐ เป็นบัญชีที่ระบุชื่อของจำเลย โดยไม่มีพยานโจทก์ปากใดยืนยันว่า เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดังกล่าวเป็นของจำเลย และจำเลยเป็นผู้โพสต์ภาพดังกล่าวเอง

ทั้งพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.อิสรพงศ์ เบิกความว่า เฟซบุ๊กที่โพสต์ภาพป้ายเป็นเพจไม่ใช่เฟซบุ๊กส่วนตัว และไม่ทราบว่าเจ้าของเพจและคนโพสต์ภาพป้ายตามฟ้องเป็นใคร กับมี พ.ต.ท.ไพศาล พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. – 7 เม.ย. 2564 จำเลยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งระหว่างนั้นเฟซบุ๊กดังกล่าวยังมีการโพสต์อยู่ แสดงว่าคนที่โพสต์ในเพจดังกล่าวอาจเป็นคนอื่นก็เป็นได้ 

พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ภาพป้ายตามฟ้องเองหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง 

พิพากษายกฟ้อง แต่ป้ายไวนิลข้อความทั้ง 7 ป้าย และลวด 2 เส้น ของกลางในคดี เป็นวัตถุในการกระทำความผิดจึงให้ริบ

.

หลังศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาของวันนี้เสร็จ ผู้ที่มาร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจโตโต้ต่างเดินออกจากห้องพิจารณาคดีด้วยสีหน้าดีใจและโล่งใจ โดยเฉพาะโตโต้และแม่ โดยทนายความได้พาแม่ซึ่งเป็นนายประกันในคดีนี้ไปยื่นคำร้องขอคืนเงินประกันของกองทุนราษฎรประสงค์จำนวน 200,000 บาท ที่วางประกันไว้กับศาลในชั้นพิจารณาคดี 

เมื่อถามความรู้สึกของแม่หลังฟังคำพิพากษา เธอกล่าวสั้น ๆ ว่า ตั้งแต่ได้รับหมายนัดของศาลเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา แม่ก็นับวันในปฏิทินทีละวัน เพิ่งมีวันนี้วันแรกที่รู้สึกโล่งอก

.

ปิยรัฐถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรกในจำนวนทั้งหมด 3 คดี รวมถึงเป็นคดีแรกที่ศาลมีคำพิพากษา โดยอีก 2 คดี คือ คดีจากการปราศรัยในการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง เมื่อ 22 ส.ค. 2563 ที่ จ.อุบลฯ และคดีจากการโพสต์วิจารณ์ตำรวจสลายวีโว่ขายกุ้ง พาดพิงการใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดอุบลฯ และศาลอาญาตามลำดับ

ในชั้นสอบสวนของคดีนี้ ปิยรัฐถูกออกหมายจับ แม้ก่อนหน้านั้นตำรวจจะได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาแล้วขณะเขาถูกขังในคดีอั้งยี่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนถูกควบคุมตัวมาฝากขังต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จนกระทั่งในการยื่นประกันครั้งที่ 3 ศาลจึงอนุญาตให้ประกันโดยติด EM ต่อมา หลังอัยการยื่นฟ้อง ศาลจึงอนุญาตให้ปลด EM ตามที่ปิยรัฐยื่นคำร้อง รวมเวลาที่ปิยรัฐถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีนี้ 33 วัน และต้องติด EM อีกเกือบ 2 เดือน ก่อนศาลพิพากษายกฟ้องในวันนี้
.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:

เส้นทางการต่อสู้คดี 112 ของ “โตโต้” สส.-อดีตนักกิจกรรม WeVo ยืนยันไม่เกี่ยวข้องตั้งป้ายวิจารณ์วัคซีนหาซีนให้วังที่กาฬสินธุ์ ก่อนศาลพิพากษา

ดูฐานข้อมูลคดีนี้: 

คดี 112 “โตโต้-ปิยรัฐ” โยงตั้งป้ายวัคซีนหาซีนให้วังที่กาฬสินธุ์

X