เส้นทางการต่อสู้คดี 112 ของ “โตโต้” สส.-อดีตนักกิจกรรม WeVo ยืนยันไม่เกี่ยวข้องตั้งป้ายวิจารณ์วัคซีนหาซีนให้วังที่กาฬสินธุ์ ก่อนศาลพิพากษา

11 ต.ค. 2567 “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคประชาชน และอดีตนักกิจกรรมกลุ่ม WeVo มีนัดฟังคำพิพากษาของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) กรณีที่ถูกพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ฟ้องว่า ร่วมกับพวกติดตั้งป้ายวิจารณ์การผูกขาดวัคซีน และโพสต์ภาพป้ายในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2564

ปิยรัฐถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรก รวมถึงเป็นคดีแรกที่ศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งหากศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดตามฟ้อง และลงโทษจำคุก ทั้งไม่ให้ประกันในวันนั้น ปิยรัฐก็พ้นสภาพ สส. ในทันที  

คดีนี้เริ่มสืบพยานตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 อัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบรวม 21 ปาก ใช้เวลาสืบ 6 นัด แต่ฝ่ายจำเลยไม่มีพยานเข้าเบิกความเลยแม้แต่ปากเดียว เนื่องจากศาลมีคำสั่งให้งดสืบพยานจําเลย หลังปิยรัฐขอเลื่อนสืบพยาน 6 ครั้ง จากเหตุติดภารกิจประชุมสภาฯ ไม่สามารถมาศาลได้ 4 ครั้ง และจากเหตุจำเป็นของทนายจำเลยอีกรวม 2 ครั้ง 

ในการขอเลื่อนสืบพยานจำเลยครั้งที่ 7 เนื่องจากปิยรัฐติดภารกิจดูงานที่โปแลนด์ของกรรมาธิการความมั่นคงฯ แต่ศาลกลับเห็นว่าปิยรัฐเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนอีก และให้งดสืบพยานจําเลย แม้ต่อมา ปิยรัฐได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยยืนยันหลักฟังความสองฝ่าย ซึ่งควรให้โอกาสจําเลยได้นําพยานหลักฐานเข้าสืบต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ อันเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาประวิงคดี แต่ศาลก็ยกคำร้อง

.

โจทก์นำพยาน 21 ปาก เข้าเบิกความต่อศาล ซึ่งประกอบด้วย ประชาชนที่เห็นป้ายข้อความและที่อยู่ใกล้เคียงจุดติดตั้งป้าย, ตำรวจฝ่ายสืบสวนและปราบปราม สภ.ยางตลาด, พนักงานสอบสวน, ตำรวจ ปอท., สันติบาล, กอ.รมน., ปลัดอำเภอ, อาจารย์ภาษาไทย, อดีตข้าราชการประจำหอสมุดแห่งชาติ, ทนายความ รวมถึงแม่ของปิยรัฐ  โดยสรุปประเด็นได้ว่า จากการสืบสวนตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ติดตั้งป้ายข้อความที่เกาะกลางถนน แต่รถที่บรรทุกป้ายมาติดตั้งลักษณะเหมือนรถที่ปิยรัฐใช้ ทั้งพบว่าเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่โพสต์ภาพป้าย มีความเชื่อมโยงกับปิยรัฐ จึงเชื่อว่าปิยรัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง

สำหรับความเห็นต่อข้อความบนป้ายนั้น พยานโจทก์มีความเห็นแตกต่างกัน ในส่วนประชาชนเห็นว่า เป็นเพียงข้อความไม่เหมาะสม ขณะพยานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีลักษณะหมิ่นประมาทกษัตริย์ 

โจทก์ยังได้นำพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ซึ่งสอบสวนในคดี 112 กรณีธนาธรไลฟ์สด “วัคซีนพระราชทาน: ใครได้ใครเสีย?” มาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ด้วย โดยพยานระบุว่า ข้อความในป้ายมาจากไลฟ์สดของธนาธร แต่ไม่ทราบว่าคนนำป้ายมาติดเกี่ยวข้องกับธนาธรอย่างไร  

ฝ่ายจำเลยซึ่งมีข้อต่อสู้ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดทำ ติดตั้ง และโพสต์ภาพป้าย อีกทั้งข้อความในป้ายไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แต่ไม่สามารถนำพยานเข้าเบิกความได้ อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ตามประเด็นดังกล่าวไว้ โดยพยานโจทก์รับว่า ไม่ได้ยึดรถที่อ้างว่าใช้ในวันเกิดเหตุไปตรวจสอบ ทั้งไม่ได้ตรวจสอบว่า มีรถลักษณะเดียวกันคันอื่นอีกหรือไม่ และรถคันดังกล่าวโดยปกติก็มีคนอื่นนำไปใช้ ไม่ใช่จำเลยเพียงคนเดียว

นอกจากนี้ พยานโจทก์ยังรับว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่โพสต์ภาพป้าย และใครเป็นผู้โพสต์ เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลทางอิเลคทรอนิกส์ อีกทั้งบัญชีดังกล่าวมีการโพสต์ขณะปิยรัฐถูกคุมขัง 

เกี่ยวกับข้อความบนป้าย พยานก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงเรื่องการจัดหาวัคซีน ไม่ทราบว่ามีการผูกขาดวัคซีนหรือไม่ หรือข้อความดังกล่าวเป็นการวิจารณ์รัฐบาลหรือไม่ อีกทั้งในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้พิมพ์คำให้การที่เป็นความเห็นต่อข้อความไว้ก่อนแล้ว 

.

องค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ในช่วงการสืบพยานตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 – มี.ค. 2567 ประกอบด้วยผู้พิพากษา 2 คน คือ วีระพงษ์ กล่อมมิตร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี และผู้พิพากษาองค์คณะ ซึ่งมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาไปหลายคน 

กระทั่งนัดสืบพยานจำเลยตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 ปรากฏองค์คณะผู้พิพากษาเพิ่มเป็น 3 คน แม้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังคงเป็น วีระพงษ์ กล่อมมิตร เช่นเดิม แต่มีเจตน์ รอดอ่อน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และสราวุธ ยงใจยุทธ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาคดีด้วย โดยปรากฏในคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 ว่า อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ได้มีคําสั่งลงวันที่ 13 มี.ค. 2567 มอบหมายให้ สราวุธ ยงใจยุทธ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 เข้าร่วมนั่งพิจารณาคดีนี้

นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ซึ่งเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีโดยตลอดมีข้อสังเกตว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะต้องปรึกษาผู้บริหารศาลทุกครั้งในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ซึ่งนอกจากการไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยในนัดสุดท้ายแล้ว ศาลยังเคยไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยเลื่อนการถามค้านพยานโจทก์ จากเหตุที่เอกสารประกอบการถามค้านที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกจากสยามไบโอไซเอนซ์และสถาบันวัคซีนแห่งชาติยังได้มาไม่ครบ โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้กล่าวหลังขอไปปรึกษาผู้บริหารศาลว่า ผู้บริหารศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี  

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อสังเกตต่อความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจมีคำสั่งทางคดีของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน  ตลอดจนถึงคำพิพากษาที่จะมีขึ้นด้วยว่า เป็นไปตามหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 188 ที่ได้รับรองไว้หรือไม่ 

.

30 มี.ค. 2564 ขณะปิยรัฐถูกคุมขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ คณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นคดีแรกของปิยรัฐ โดยระบุพฤติการณ์ว่า ปิยรัฐได้ร่วมกับพวกจัดทำป้ายไวนิลเพื่อติดประกาศวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล จำนวน 7 แผ่น และนำไปติดไว้บริเวณเกาะกลางถนน เขตอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ข้อความดังนี้

แผ่นที่ 1 “หาซีนให้วัง”

แผ่นที่ 2 “ผูกขาดบริษัทวัคซีน”

แผ่นที่ 3 “ถ้าเป็นนักการเมืองเราเรียกว่า”

แผ่นที่ 4 “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

แผ่นที่ 5 “แต่พอเป็น…”

แผ่นที่ 6 “เราเรียกว่า”

แผ่นที่ 7 “น้ำพระทัย, พระราชทาน”

ต่อมา มีการถ่ายภาพป้ายทั้งเจ็ด นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ “โตโต้ ปิยรัฐ -Piyarat Chongthep” และทวิตเตอร์ชื่อ “We Volunteer” โดยข้อความตามแผ่นป้ายดังกล่าว มีข้อความที่มีความหมายสื่อเป็นเชิงดูหมิ่น หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 

หลังได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์โดยมีทนายความเข้าร่วม ปิยรัฐให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา

ไม่กี่วันต่อมา ในวันที่ 2 เม.ย. 2564 หลังศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันในคดีอั้งยี่ และปิยรัฐได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตำรวจกลับเข้าอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ออกในวันเดียวกันนั้นในคดีนี้อีก ก่อนควบคุมตัวไป สภ.ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ท่ามกลางความสงสัยของปิยรัฐและทนายความว่า เหตุในการออกหมายจับคืออะไร ในเมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 

เช้าวันที่ 3 เม.ย. 2564 หลังปิยรัฐถูกควบคุมตัวถึง สภ.ยางตลาด คณะพนักงานสอบสวนเข้าแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำปิยรัฐอีกครั้ง อ้างว่า การแจ้งข้อกล่าวหาครั้งแรก ปิยรัฐไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือ ก่อนนำตัวไปฝากขังต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับและคัดค้านการฝากขัง 

อย่างไรก็ตาม ศาลยกคำร้องขอเพิกถอนหมายจับ ก่อนอนุญาตให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกัน โดยอ้างถึงคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่า ผู้ต้องหาเป็นหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าร่วมชุมนุมก่อความวุ่นวาย หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น ทำให้ปิยรัฐถูกขังระหว่างการสอบสวนที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งแต่นั้นมา 

จนกระทั่งในการยื่นประกันครั้งที่ 3 ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์จึงมีคำสั่งให้ประกันปิยรัฐในระหว่างสอบสวนเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 โดยให้วางเงินประกัน 200,000 บาท (ใช้เงินกองทุนราษฎรประสงค์) พร้อมทั้งติด EM คำสั่งให้ประกันระบุด้วยว่า “และเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหามีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ รวมทั้งห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นจะได้รับอนุญาตจากศาล” 

ปิยรัฐจึงได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ รวมเวลาที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีนี้ 33 วัน 

ต่อมา วันที่ 25 มิ.ย. 2564 กิตติกรณ์ บุญโล่ง พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ยื่นฟ้องปิยรัฐต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง โดยบรรยายฟ้องว่า ข้อความในป้ายที่ติดตั้งบนเกาะกลางถนน และมีการนำภาพป้ายไปโพสต์ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นั้น ทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้อ่านเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ผูกขาดการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในลักษณะเสียดสีประชดประชัน สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติยศของพระองค์อย่างร้ายแรง 

ท้ายคำฟ้องอัยการยังได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวปิยรัฐระหว่างการพิจารณาคดีด้วย แต่ศาลได้อนุญาตปล่อยชั่วคราว ทั้งอนุญาตให้ปลด EM ตามที่ปิยรัฐยื่นคำร้อง ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งการใช้อุปกรณ์ EM เป็นภาระเกินสมควรแก่จำเลย แต่เงื่อนไขอื่นในการปล่อยชั่วคราวให้คงเดิม

.

เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 23 ม.ค. 2564 นั้น พงศ์พัชรา สินธุ์ไชย และดาวรุ่ง พงษ์นภิส กำนันตำบลอุ่มเม่า อ.ยางตลาด เบิกความว่า ช่วงเที่ยง ขณะขับรถอยู่บนถนนสายยางตลาด-กาฬสินธุ์ ได้พบเห็นป้ายข้อความหลายป้ายติดตั้งอยู่ที่เกาะกลางถนน พงศ์พัชราจึงได้แจ้งให้ ร.ต.ต.ศุภชัย ภูนกยูง ตำรวจ สภ.ยางตลาด ซึ่งเป็นสามีทราบ จากนั้น ร.ต.ต.ศุภชัย ได้แจ้งให้ชุดสืบสวนทราบเพื่อดําเนินการตรวจสอบ ส่วนดาวรุ่งได้โทรแจ้งป้องกันอำเภอ 

โดย พ.ต.ท.แสงเพ็ชร หอมสมบัติ ผู้กล่าวหา ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กํากับการสืบสวน สภ.ยางตลาด, ร.ต.อ.สำเนียง ภูเป้ว รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สภ.ยางตลาด และ พ.ต.ท.ธนศักดิ์ ปัตตาเน สารวัตรสืบสวน สภ.ยางตลาด เบิกความในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 13.30 น. ได้รับแจ้งว่า มีการนําแผ่นป้ายไวนิลจํานวนหลายป้ายไปติดอยู่ที่เกาะกลางถนน ถนนสายยางตลาด-กาฬสินธุ์ บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ข้อความบนป้ายดังกล่าวมีลักษณะทําให้พระมหากษัตริย์เสียหาย

หลังจากรับแจ้งแล้วพยานกับพวกจึงขับรถไปตรวจที่ถนนตามที่ได้รับแจ้งพบป้ายจํานวน 7 ป้าย ติดตั้งอยู่ที่เกาะกลางถนน โดยป้ายที่ 1 และ 2 มีลวดผูกติดกับต้นไม้ ป้ายที่ 3-6 ผูกอยู่กับเสาไฟฟ้า และป้ายที่ 7 ผูกอยู่กับตอม่อซุ้มเฉลิมพระเกียรติ แต่ละป้ายมีระยะห่างกันประมาณ 30-40 เมตร หันหน้าไปทางอําเภอยางตลาด

พยานกับพวกได้แกะป้ายออกจากบริเวณเกาะกลางถนน นํากลับมาที่ สภ.ยางตลาด ส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวน และรายงานให้ผู้กํากับการ สภ.ยางตลาด ทราบ ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.แสงเพ็ชร กับพวกสืบสวนว่า ใครเป็นผู้ที่นําแผ่นป้ายทั้ง 7 ป้ายดังกล่าวมาติดตั้งไว้

นอกจากนี้ โจทก์ยังนำ นิคม วงษ์เชียงยืน ปลัดอำเภอยางตลาด, พ.ต.ท.ธนัท กฤตย์จิรกร หัวหน้าตำรวจสันติบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และ ร.อ.นิธิสัคค์ จันทร์สว่าง กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ เข้าเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุได้รับแจ้งจากประชาชน และแหล่งข่าวที่ กอ.รมน.จัดตั้ง เกี่ยวกับป้ายวัคซีนหาซีนให้วัง จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ พ.ต.ท.ธนัท ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์ด้วย แต่ตำรวจ สภ.ยางตลาด นำป้ายไปเก็บแล้ว

.

พ.ต.ท.แสงเพ็ชร ผู้กล่าวหา เบิกความอีกว่า หลังได้รับมอบหมายให้สืบสวนว่า ใครเป็นผู้ที่นําแผ่นป้ายทั้ง 7 ป้ายดังกล่าวมาติดตั้งไว้ก็ได้สืบสวนหาข่าวหลายทาง จากการสอบถามบุคคลที่อยู่ในบริเวณที่มีการติดตั้งป้ายได้ความจากสมพร บุญภึก เจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.กาฬสินธุ์ จํากัด ว่า วันเกิดเหตุพบเห็นรถกระบะสีดําขับมาจอดใกล้กับจุดติดตั้งป้าย โดยมีชาย 2 คน ลักษณะผอมสูง ไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด ยืนอยู่ที่ด้านหลังพร้อมกับป้ายไวนิล แต่สมพรไม่ได้ดูในขณะที่มีการติดตั้งป้าย รถกระบะคันดังกล่าวขับมาจากทางจังหวัดกาฬสินธุ์มุ่งหน้ามาทางอําเภอยางตลาด 

หลังจากนั้นพยานก็ได้ทําการตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามถนน โดยตัวที่ 1 เป็นกล้องวงจรปิดบริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท.โนนตาล พบรถกระบะสีดําขับผ่านบริเวณถนนหน้าปั๊มในเวลา 11.50 น. ทิศทางจากเมืองกาฬสินธุ์มุ่งหน้าอําเภอยางตลาด และพบรถตู้โฟล์คสวาเก้นสีเทาขับตามหลัง ทิ้งระยะห่างกันประมาณ 4 นาที บนรถกระบะมีป้ายและชาย 2 คน อยู่ที่ท้ายกระบะด้วย 

กล้องวงจรปิดตัวที่ 2 เป็นของกรมทางหลวง พบรถทั้ง 2 คัน ขับจากทางจังหวัดกาฬสินธุ์มุ่งหน้าไปอําเภอยางตลาด และขับจากอําเภอยางตลาดกลับไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน

พยานยังได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดตัวอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่คาดว่าจะมีการขับรถขนป้ายผ่าน จัดทำเป็นรายงานการสืบสวน 

จากนั้นพยานได้ตรวจสอบข้อมูลของรถยนต์ทั้ง 2 คันดังกล่าว พบว่า รถกระบะวีโก้ มีชื่อแม่ของจําเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่วนรถตู้มีชื่อจําเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยในวันที่ 23 ม.ค. 2564 รถทั้ง 2 คัน มีการใช้ภายในจังหวัดกาฬสินธุ์เท่านั้น ไม่ได้ขับออกไปจังหวัดอื่น

ในวันที่ 26 ม.ค. 2564 พยานให้ชุดทํางานไปตรวจสอบที่บ้านแม่จําเลยในตัวเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า มีรถตู้ดังกล่าวข้างต้นจอดอยู่ที่บริเวณโรงจอดรถภายในบ้าน แต่ไม่พบรถกระบะสีดํา

จากการตรวจสอบพบด้วยว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อประมาณวันที่ 12 และ 13 ม.ค. 2563 จําเลยได้ใช้รถกระบะคันที่มีลักษณะตรงกับรถคันที่พบในภาพวงจรปิด จัดกิจกรรมทางการเมืองชื่อ วิ่งไล่ลุง ในเขตอําเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ แม้ภาพวงจรปิดจะเห็นหมายเลขทะเบียนของรถคันที่ขนป้ายมาติดตั้งได้ไม่ชัด แต่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นคันเดียวกับที่จำเลยใช้ ตามที่มีการเปรียบเทียบให้เห็นในรายงานการสืบสวน

จากการสืบสวนยังไม่สามารถสืบทราบได้ว่า ชาย 2 คน ที่ยืนอยู่ด้านหลังรถกระบะเป็นบุคคลใด 

โดยมี พ.ต.ท.ธนศักดิ์ ชุดสืบสวนอีกรายและ พ.ต.ท.ธนัท สันติบาล เบิกความเกี่ยวกับการตรวจสอบกล้องวงจรปิด รถกระบะและรถตู้ในทำนองเดียวกันนี้ แต่ พ.ต.ท.ธนศักดิ์ ระบุว่า ด้านหลังรถกระบะมี 3 คน และจากการสืบสวนไม่ทราบว่าใครเป็นคนนำแผ่นป้ายไปติดตั้ง แต่เห็นว่า ปิยรัฐน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากรถที่ใช้เป็นของปิยรัฐและแม่ 

ด้านณัฐริกา ภูถาดงา และดวงเดือน ดลเจือ พนักงานร้านเสถียรมอเตอร์ซึ่งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ เบิกความเช่นเดียวกันว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 14.00 น. เห็นตำรวจ 2 นาย มาเก็บป้ายบริเวณเกาะกลางถนนเยื้องกับร้าน แต่ไม่เห็นข้อความบนป้าย จากนั้น เวลา 16.00 น. ตำรวจได้มาขอตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่หน้าร้าน เมื่อเจ้าของร้านอนุญาต ทั้งสองจึงอำนวยความสะดวกให้ตำรวจ โดยไม่ได้เข้าไปดู เมื่อถึงเวลาเลิกงานก็เดินทางกลับ โดยให้ยามอำนวยความสะดวกกับตำรวจต่อไป 

อัยการยังนำแม่ของปิยรัฐเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ โดยเบิกความว่า พยานมีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถกระบะวีโก้สีดำ ซึ่งซื้อมาในปี 2552 ต่อมาปี 2557-2560 พยานได้ให้จำเลยนำไปใช้ที่สมุทรปราการ หลังจากนั้นพยานนำมาใช้เองจนถึงปัจจุบัน แต่จำไม่ได้ว่า ในชั้นสอบสวนเคยให้การว่า ให้จำเลยนำรถไปใช้ในปี 2558 – ปัจจุบัน

พยานไม่แน่ใจว่า ภาพรถกระบะในรายงานการสืบสวนเป็นรถของพยานหรือไม่ เนื่องจากไม่มีป้ายทะเบียน และจำไม่ได้ว่าเมื่อวันที่ 22-25 ม.ค. 2564 ได้เอารถให้ใครไปใช้ แต่รับว่าชั้นสอบสวนเคยให้การว่า ช่วงดังกล่าวเอาให้จำเลยใช้

ขณะ พ.ต.ท.ไพศาล  ใจเกษม พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า พยานส่งแผ่นป้ายไปตรวจหา DNA ที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัดกาฬสินธุ์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 4 (รายงานการตรวจพิสูจน์ระบุว่า ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้) พยานยังได้ตรวจสอบทะเบียนรถ พบว่า ผู้ครอบครองรถโฟล์คสวาเกน คือ ปิยรัฐ ส่วนรถกระบะซึ่งไม่ทราบทะเบียน พยานได้นำภาพรถคันดังกล่าวให้แม่จำเลยดู พบว่า เป็นรถของแม่จำเลย ซึ่งมอบให้จำเลยไว้ใช้ตั้งแต่ปี 2558

.

พ.ต.ท.แสงเพ็ชร ยังเบิกความว่า จากการตรวจสอบทางสื่อโซเซียลมีเดียพบว่า ทวิตเตอร์ชื่อ “We Volunteer” ได้เผยแพร่ภาพถ่ายป้ายทั้ง 7 ป้าย พร้อมทั้งข้อความระบุว่ามีการติดตั้งป้ายบริเวณเกาะกลางถนน โดยเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2564 เวลา 13.00 น. และเพจเฟซบุ๊กชื่อ “โตโต้ ปิยรัฐ” ก็มีการเผยแพร่ภาพถ่ายการติดตั้งป้ายดังกล่าวพร้อมข้อความประกอบในเวลา 16.00 น. 

ส่วน พ.ต.ท.ธนศักดิ์ และ พ.ต.ท.ธนัท เบิกความว่า พยานเข้าไปดูเฟซบุ๊ก พบว่าประมาณ 13.00 น. เฟซบุ๊กเพจ WeVo อีสาน โพสต์ว่า มีคนนำป้ายไปติด และเวลา 16.00 น. เพจ โตโต้ ปิยรัฐ โพสต์ว่า ป้ายถูกนำไปเก็บแล้ว และเชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรมกับ WeVo โดยเพจ โตโต้ ปิยรัฐ มีรูปโปรไฟล์เป็นรูปปิยรัฐ

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ไพศาล พนักงานสอบสวน เบิกความว่า พยานส่งหนังสือถึง บก.ปอท.ขอให้ตรวจสอบเฟซบุ๊ก โตโต้ ปิยรัฐ และทวิตเตอร์ We Volunteer ปอท.ยืนยันว่า บัญชีทั้งสองเป็นของจำเลย จึงน่าเชื่อว่า จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้อง

ขณะที่ พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล กองกำกับการ 3 บก.ปอท. เบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบเฟซบุ๊กที่มีการโพสต์ภาพป้ายข้อความเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน และทวิตเตอร์ที่โพสต์ป้ายและข้อความโจมตีนายกรัฐมนตรี ว่า ข้อความที่โพสต์ยังมีอยู่หรือไม่ เมื่อพบว่ามีอยู่จึงจัดเก็บ (แคป) จัดทำรายงานการตรวจสอบส่งให้พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบนำไปเป็นพยานหลักฐานต่อไป 

.

พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ยังเบิกความถึงการตรวจสอบประวัติปิยรัฐ โดย พ.ต.ท.ธนัท สันติบาล เบิกความว่า จากการตรวจสอบพบว่า จำเลยเป็นนักกิจกรรม เคยลงสมัคร สส. ในพื้นที่เมื่อปี 2562 ในนามพรรคอนาคตใหม่ แต่ไม่ได้รับเลือก มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2552 ร่วมกับกลุ่ม นปช. ต่อต้านเผด็จการ จากนั้นตั้งกลุ่ม We Volunteer รับสมัครการ์ดไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ทั้งยังมีการทำกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดกาฬสินธุ์หลายครั้ง 

ก่อนเกิดเหตุ ปิยรัฐกับพวกเดินทางเข้ามาในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2564 โดยเข้าพักที่บ้าน มีวัยรุ่นอยู่ด้วย 15 คน คาดว่าจะมีการทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเย็น

ด้านชุดสืบสวน พ.ต.ท.ธนศักดิ์ เบิกความว่า พยานตรวจสอบประวัติปิยรัฐกับสันติบาลและจากประวัติการถูกดำเนินคดี พบว่า เป็นกลุ่มต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และมีประวัติถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุม ส่วนนิคม ปลัดอำเภอยางตลาด เบิกความว่า พยานสืบทราบทางสื่อโซเชียลว่า จำเลยเป็นแกนนำกลุ่ม WeVo ทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

.

อัยการโจทก์นำพยานหลายปากเข้าเบิกความให้ความเห็นต่อข้อความบนแผ่นป้ายทั้ง 7 แผ่น ได้แก่

บัญญัติ สาลี อาจารย์สอนภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 ได้มีตํารวจไปพบ นําภาพป้ายข้อความไปให้ดูและสอบถามพยานว่า มีความคิดเห็นอย่างไร พยานได้ให้ความเห็นต่อข้อความแรก “หาซีนให้วัง” ว่า คําว่า ซีน พยานไม่ทราบความหมาย แต่คําว่า วัง มี 2 ความหมายคือ ความหมายแรกเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และความหมายที่ 2 หมายถึงวังหรือเวิ้งน้ำ

ข้อความที่ 5 พยานให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนว่า โอ เป็นชื่อของใครก็ได้ ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป หรือบุคคลบางคนอาจจะเข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แต่พยานก็ไม่ได้ยืนยัน เนื่องจากพยานไม่ได้คิดเห็นดังกล่าว ส่วนข้อความอื่น ๆ พยานไม่ได้ให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากมีความหมายตามตัวอักษร

หากนําข้อความที่ 1 ถึง 7 มาเรียบเรียงเข้าด้วยกันแล้ว ผู้อ่านข้อความโดยทั่วไปแล้วอาจมีความเห็นแตกต่างกันได้ว่าเป็นข้อความทั้งที่ดีและไม่ดี 

พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบํานาญ เคยรับราชการอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ เบิกความว่า พนักงานสอบสวนได้นําข้อความมาดูและให้ความเห็น พยานจึงให้ความเห็นไปว่า ข้อความดังกล่าวหากอ่านแล้วสื่อความหมายว่า การกระทําอย่างเดียวกัน ถ้านักการเมืองทำจะมองว่าเป็นความเสียหาย แต่หากเป็นพระมหากษัตริย์จะถูกมองว่าเป็นความดี ซึ่งเป็นคําพูดที่มีการประชดประชัน

พ.ต.อ.พิศิษฎ์ คำชัยภูมิ ทนายความ เบิกความว่า พยานอ่านข้อความแล้วตีความว่า เป็นการร่วมมือของรัฐบาลกับกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ผูกขาดวัคซีนที่นำมารักษาประชาชน กล่าวหาว่า เป็นการหาผลประโยชน์ให้กษัตริย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ข้อความในป้ายพยานเห็นว่า กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 การติดตั้งป้ายข้อความดังกล่าวจึงเป็นการกระทําความผิดฐานดูหมิ่นกษัตริย์ 

พ.ต.ท.ชูชาติ อุทธิสินธุ์ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ให้ความเห็นว่า ข้อความในป้ายไวนิลทั้งหมดอ่านแล้วเข้าใจว่า รัฐบาลนี้ผูกขาดการนำเข้าวัคซีน โดยอ้างว่าเป็นของรัชกาลที่ 10 ทั้งที่ความเป็นจริงมีการนำเข้าหลายบริษัท ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และรู้สึกไม่ดีกับสถาบันกษัตริย์

นอกจากนี้ โจทก์ก็ได้ถามความเห็นต่อข้อความกับพยานปากอื่น ๆ ที่เข้าเบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์การติดตั้งป้ายด้วย โดยพงศ์พัชราและดาวรุ่งให้ความเห็นว่า เป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม

นิคม ปลัดอำเภอ ให้ความเห็นว่า พยานอ่านข้อความจากแผ่นป้ายดังกล่าวแล้วเข้าใจได้ว่า รัฐบาลจัดหาวัคซีน โดยมีผลประโยชน์ให้สถาบันกษัตริย์ เป็นการดูถูก ใส่ความสถาบันกษัตริย์ ด้าน ร.อ.นิธิสัคค์ กอ.รมน. และ พ.ต.ท.ธนัท สันติบาล ก็ให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่า เมื่ออ่านข้อความบนป้ายรวมกัน มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ โดยข้อความบนป้ายสื่อให้เข้าใจว่ากล่าวถึงรัชกาลที่ 10

และ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ตอบโจทก์ว่า พยานเห็นว่า ข้อความทั้งหมดรวมกันคนทั่วไปไม่สมควรพูด

.

อัยการยังนำ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เจ้าของสำนวนคดี 112 ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกกล่าวหา เข้าเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ด้วย 

พ.ต.ท.อธิชย์ เบิกความว่า พยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ แต่ขณะอยู่ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 อภิวัฒน์ ขันทอง มาแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 ธนาธรไลฟ์สดในเฟซบุ๊กชื่อ ธนาธร ลักษณะว่า “วัคซีนพระราชทาน: ใครได้ใครเสีย?” มีเนื้อหาว่า รัชกาลที่ 10 มีส่วนได้เสีย โดยถือหุ้นสยามไบโอไซเอนซ์ 100% และสยามไบโอไซเอนซ์ได้ทำสัญญากับแอสตราเซเนกาเพื่อนำเข้าวัคซีน รัฐบาลนำวัคซีนฉีดให้ประชาชน ซึ่งทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียเกียรติยศ

พยานได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถอดเทป จากการถอดเทปมีข้อความลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงได้รับคำร้องทุกข์ไว้เป็นคดีอาญา

พยานสอบถามนักวิชาการและพยานคนอื่น ๆ หลายปาก ให้การสอดคล้องกันว่า คำพูดของธนาธรมีลักษณะธนาธรหมิ่นประมาทกษัตริย์ จึงสรุบสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องส่งให้อัยการ แต่อัยการฟ้องหรือยังพยานไม่ทราบ

หลังธนาธรไลฟ์สดได้มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนำข้อความไปโพสต์หรือแสดงออก รวมทั้งที่กาฬสินธุ์ซึ่งมีการดำเนินคดี และพนักงานสอบสวนไปสอบปากคำพยานเป็นพยาน โดยนำภาพแผ่นป้ายให้ดู

คนที่นำป้ายมาติดในที่เกิดเหตุจะมีความเกี่ยวข้องหรือร่วมมือกับธนาธรอย่างไร พยานไม่ทราบ 

จำเลยเป็นผู้สมัคร สส.พรรคเดียวกับธนาธร พยานเคยพบเห็นจำเลยหลายครั้ง เนื่องจากไปทำกิจกรรมในท้องที่ สน.นางเลิ้ง และถูกดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง ด้วย 

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ธนัท ยังเบิกความว่า จากการสืบสวนของพยานพบการกระทำในลักษณะใกล้เคียงกันกับคดีนี้ โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 มีการไลฟ์สดกิจกรรมที่อำเภอวังสะพุง ปรากฏป้ายผ้าสีขาวเขียนข้อความลักษณะเดียวกัน

.

ประเด็นที่พยานโจทก์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลย

พ.ต.ท.แสงเพ็ชร ผู้กล่าวหา ตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับการสืบหาผู้ติดตั้งป้ายว่า บริเวณที่ติดตั้งแผ่นป้ายนั้น มีกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียงติดตั้งอยู่ 1 ตัว แต่พยานกับพวกไม่ได้ทําการตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บริเวณที่ติดตั้งแผ่นป้าย เนื่องจากเจ้าของอ้างว่า กล้องวงจรปิดเสียไม่สามารถบันทึกเหตุการณ์ได้ ส่วนรถตู้ที่ขับมาในวันเกิดเหตุก็มีกระจกสีดํา ไม่สามารถมองเห็นภายในได้ จากการตรวจสอบร้านที่รับทําป้ายในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ก็พบว่า ป้ายทั้งเจ็ดไม่ได้จัดทําในจังหวัดกาฬสินธุ์

ด้าน ร.ต.อ.สำเนียง พยานตำรวจอีกราย ก็ตอบว่า ไม่ทราบว่าผู้ใดนําป้ายข้อความมาติดไว้ในที่เกิดเหตุ รวมถึง พ.ต.ท.ธนัท สันติบาล และนิคม ปลัดอำเภอ ก็ไม่ทราบว่า ชาย 2 คน ดังกล่าว สูงเท่าไหร่ ตลอดจนไม่ทราบว่า ใครเป็นคนขับรถทั้งสองคันในวันเกิดเหตุ ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการจับกุมดำเนินคดีจำเลยเพียงคนเดียว ยังไม่มีการจับกุมคนอื่นเลย

ส่วนสมพร ซึ่งเห็นรถกระบะในวันเกิดเหตุ ตอบทนายจำเลยเพียงว่า พยานเห็นรถกระบะจอดอยู่ริมถนนในขณะที่ขับรถผ่านเท่านั้น จึงไม่ทราบว่าบุคคล 2 คน ที่นั่งอยู่ท้ายรถกระบะสวมหน้ากากผ้าอนามัยหรือไม่ 

โดย พ.ต.ท.ไพศาล พนักงานสอบสวนเองก็ระบุกับทนายจำเลยว่า พยานส่งป้ายไปตรวจสอบลายนิ้วมือแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้

.

ประเด็นการตรวจสอบรถกระบะและรถตู้ที่พบจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดนั้น พ.ต.ท.แสงเพ็ชร ชุดสืบสวน และ พ.ต.ท.ธนัท สันติบาล ตอบทนายจำเลยทำนองเดียวกันว่า พยานไม่ทราบว่า ในจังหวัดกาฬสินธุ์มีรถกระบะโตโยต้าวีโก้สีดำจํานวนทั้งหมดกี่คัน และรถที่มีลักษณะเดียวกันกับที่ปรากฏในรายงานการสืบสวนหรือที่มีป้ายทะเบียนเป็นตัวเลข 3 ตัว มีจํานวนกี่คัน 

พ.ต.ท.แสงเพ็ชร ยังรับว่า บันไดข้างและคิ้วกันสาดของรถกระบะสีดํา ซึ่งเป็นจุดสังเกตว่า รถที่จําเลยใช้กับรถที่นําแผ่นป้ายมาติดตั้งในวันเกิดเหตุเป็นคันเดียวกันนั้น เป็นส่วนที่มีการติดตั้งเพิ่มเติมภายหลังซื้อรถ แต่พยานไม่ได้ไปสอบถามร้านภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ว่า มีบุคคลใดบ้างที่นํารถไปติดตั้งบันไดข้างเพิ่มเติม ทั้งพยานก็ไม่ได้ยึดรถกระบะและรถตู้ที่อ้างว่าใช้ในวันเกิดเหตุไปเป็นของกลาง หรือตรวจสอบด้วย 

นอกจากนี้ ตามภาพถ่ายในรายงานการสืบสวน ป้ายที่อยู่หลังรถกระบะนั้นไม่ทราบว่ามีข้อความเขียนว่าอย่างไร เนื่องจากมองเห็นเฉพาะด้านหลังของป้าย 

พ.ต.ท.ธนัท ก็รับว่า รถกระบะที่นําแผ่นป้ายมาติดตั้งไม่มีสติกเกอร์เป็นสัญลักษณ์พิเศษใด ๆ ที่แตกต่างจากคันอื่น และภาพจากกล้องวงจรปิดไม่มีเหตุการณ์ขณะติดตั้งป้าย ส่วนรถโฟล์คก็ไม่ได้วิ่งตามหลังรถกระบะในระยะกระชั้นชิด โดยตามภาพจากกล้องวงจรปิดของกรมทางหลวง รถ 2 คัน วิ่งห่างกันประมาณ 11 นาที 

.

ส่วนรถกระบะคันที่มีชื่อแม่ปิยรัฐเป็นเจ้าของ และ พ.ต.ท.ธนัท เบิกความระบุว่า ปิยรัฐใช้ทำกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้งนั้น พ.ต.ท.ธนัท รับกับทนายจำเลยว่า จากการสืบสวนทราบว่า มีการนำไปใช้ในหลายท้องที่ด้วย แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำไปใช้ แม่ปิยรัฐเองก็ยืนยันว่า รถกระบะคันดังกล่าวนอกจากจำเลยใช้แล้ว ญาติพี่น้องก็จะนำไปใช้เป็นประจำ โดยจำเลยมีรถตู้ของตนเอง และนำรถกระบะมาคืนพยานเมื่อประมาณปี 2561 – 2562 หลังเสร็จการเลือกตั้ง

ขณะที่ พ.ต.ท.ไพศาล ก็ตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่ทราบว่า จำเลยไม่เคยขับรถตู้เองเลย โดยมีคนขับให้ หรือนำไปใช้ในกิจกรรมทางการเมืองอย่างอื่น และไม่ทราบว่า นอกจากรถตู้และรถกระบะของแม่ จำเลยมีรถคันอื่นอีกหรือไม่

.

ในประเด็นการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการโพสต์ภาพป้ายนั้น พ.ต.ท.อิสรพงศ์ เจ้าหน้าที่ ปอท. ตอบทนายจำเลยว่า จำเลยถูกดำเนินคดีจากเพจเฟซบุ๊กไม่ใช่บัญชีส่วนตัว และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นเจ้าของเพจ โตโต้ ปิยรัฐ มีเพียงรูปภาพของจำเลย ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.ยางตลาด ไม่ได้ให้พยานตรวจสอบ IP Address และ URL ที่โพสต์ภาพป้ายดังกล่าว จึงบอกไม่ได้ว่าใครเป็นผู้โพสต์

สอดคล้องกับ พ.ต.ท.ธนศักดิ์ หนึ่งในชุดสืบสวน, พ.ต.ท.ธนัท สันติบาล และนิคม ที่รับว่า พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า เพจเฟซบุ๊ก โตโต้ ปิยรัฐ และทวิตเตอร์ We Volunteer ที่โพสต์ภาพป้ายตามฟ้อง  มี URL ว่าอย่างไร ไม่ทราบว่า ใครเป็นแอดมินหรือเป็นเจ้าของ และในการโพสต์ภาพป้าย ผู้โพสต์มี IP Address ว่าอย่างไร โพสต์จากที่ใด ดังนั้น แม้รูปโปรไฟล์ของเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวจะเป็นรูปจำเลย แต่ความจริงจำเลยจะเป็นเจ้าของเพจดังกล่าวหรือไม่ พยานไม่ทราบ

พ.ต.ท.ธนัท ระบุด้วยว่า ไม่มีการยึดโทรศัพท์และอุปกรณ์การสื่อสารของจำเลยไปตรวจสอบว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ภาพป้ายหรือไม่

ด้าน พ.ต.ท.แสงเพ็ชร ผู้กล่าวหา ก็รับว่า มีการนำภาพป้ายไปโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อเป็นชื่อของจําเลย และทวิตเตอร์ที่มีชื่อเป็นชื่อกลุ่มของจําเลย พยานจึงเข้าใจว่าจําเลยน่าจะเป็นผู้โพสต์ แต่ความจริงแล้วพยานไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้โพสต์ อีกทั้งพยานตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กชื่อจําเลยเฉพาะในช่วงที่พบภาพป้ายเท่านั้น แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่าก่อนและหลังช่วงนั้นเพจดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ 

นอกจากนี้ ภาพป้ายในรายงานการสืบสวนนั้น เป็นภาพที่นํามาจากเฟซบุ๊กของกลุ่ม We Volunteer โดยในภาพไม่ปรากฏวันและเวลาที่เผยแพร่ข้อมูล

เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ไพศาล พนักงานสอบสวน ที่ตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่ได้ยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขอให้ศาลออกคำสั่งให้จำเลยอนุญาตให้พยานเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบว่า จำเลยได้เป็นผู้โพสต์ข้อความและภาพตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่

พยานได้ทำหนังสือถึงกระทรวงดิจิตอลฯ (DE) เพื่อขอให้ตรวจสอบ IP Address ของผู้โพสต์ภาพที่กล่าวหา ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากผู้ให้บริการอยู่ต่างประเทศ

พยานไม่ทราบว่า พยานหลักฐานที่นำมากล่าวหาจำเลยในคดีนี้ ไม่ปรากฏ URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ของโพสต์นั้น

พยานทำหนังสือถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เพื่อตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของจำเลยในวันเกิดเหตุว่าอยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์หรือบริเวณที่เกิดเหตุหรือไม่แล้ว แต่ผู้ให้บริการตอบมาภายหลังที่พยานสรุปสำนวนส่งผู้บังคับบัญชา และพยานจำไม่ได้ว่าผู้ให้บริการตอบมาว่าอย่างไร

จำเลยถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2564 – 2 เม.ย. 2564 แต่ตามเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดูทวิตเตอร์ We Volunteer มีการโพสต์ในวันที่ 7 มี.ค. – 1 พ.ค. 2564 และเฟซบุ๊ก โตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ มีการโพสต์ในวันที่ 11 มี.ค. – 27 เม.ย. 2564 ซึ่งช่วงนั้นจำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์

.

เกี่ยวกับความเห็นและความเข้าใจต่อข้อความที่ปรากฏในแผ่นป้ายนั้น พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยแตกต่างกันออกไป โดยพยานหลายปากไม่เข้าใจว่า คำว่า “ซีน” ในข้อความ “หาซีนให้วัง” มีความหมายอย่างไร บางคนเข้าใจว่าหมายถึงยาหรือวัคซีน บางคนไม่ทราบว่า คนที่เป็นผู้หาซีนคือใคร บางคนระบุว่า เป็นการพูดถึงคนจัดหาวัคซีน 

นอกจากนี้ เมื่อทนายจำเลยถามพยานโจทก์แต่ละปากว่า ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนตามที่ปรากฏเป็นข้อความบนป้ายหรือไม่ พยานโจทก์หลายปากระบุว่า ไม่ทราบที่มาและบริบทของการนําป้ายทั้งเจ็ดมาติด ไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับการนําเข้าวัคซีนโควิด-19 และการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลว่ามีการผูกขาดหรือไม่ ใครเป็นผู้ผูกขาด หรือบริษัทใดได้รับอนุญาตให้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าในประเทศไทย และใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทดังกล่าว 

พยานที่ให้ความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาก็ตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่ทราบรายละเอียดและที่มาของข้อความที่พนักงานสอบสวนนํามาให้ดูและให้ความเห็น โดยพยานให้ความเห็นตามตัวอักษรเท่านั้น 

มีเพียง พ.ต.ท.แสงเพ็ชร ผู้กล่าวหา ที่ตอบว่า พยานทราบว่า อํานาจในการจัดซื้อวัคซีนโควิดนั้นเป็นอํานาจของคณะรัฐมนตรี และทราบข่าวการนําวัคซีนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย แต่ไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน อีกทั้งทราบว่า บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าในประเทศไทยคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงคนเดียวคือรัชกาลที่ 10 โดยรัฐบาลไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 600 ล้านบาท ให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ใช้ในการผลิตวัคซีน 

ด้าน พ.ต.ท.อธิชย์ พนักงานสอบสวนในคดีไลฟ์สดของธนาธร ตอบว่า พยานทราบว่า บริษัทที่มีสิทธินำเข้าวัคซีนคือ สยามไบโอไซเอนซ์ แต่ไม่รู้ว่า เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตบริษัทเดียวหรือไม่ หรือมีการผูกขาดวัคซีนหรือไม่ และทราบว่าสยามไบโอไซเอนซ์มีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ไม่ทราบว่าจำนวนเท่าไหร่ ส่วนสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาล 600 ล้าน เพื่อผลิตวัคซีนหรือไม่ พยานจำไม่ได้  

พยานไม่ทราบด้วยว่า รัฐบาลไทยปฏิเสธเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนในระดับโลก แต่มาทำสัญญากับสยามไบโอไซเอนซ์ 

ส่วน พ.ต.ท.ไพศาล พนักงานสอบสวน รับว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 และ 132 กำหนดให้พยานต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของจำเลย แต่พยานไม่ได้ออกหมายเรียกพยานเอกสารและพยานบุคคลมาเพื่อพิสูจน์ว่า มีการผูกขาดวัคซีนโควิดหรือไม่ พยานจึงไม่ทราบว่า มีการผูกขาดวัคซีนจริงหรือไม่ 

พยานได้ทำหนังสือไปขอรายงานการสืบสวนจาก สน.นางเลิ้ง ในคดีที่ธนาธรเป็นผู้ต้องหา เพื่อนำมาดูประกอบหาความเชื่อมโยงกับข้อความบนป้ายในคดีนี้ เนื่องจากพยานเห็นว่าข้อความคล้ายกัน แต่พยานไม่ได้พิสูจน์ว่า ข้อความที่ธนาธรพูดเป็นความจริงหรือไม่

และเมื่อทนายจำเลยถามว่า ข้อความบนป้ายรวมถึงไลฟ์สดของธนาธรวิจารณ์ว่า รัฐบาลผูกขาดวัคซีน โดยไม่ได้กล่าวหากษัตริย์ ใช่หรือไม่ ปลัดนิคมตอบว่า ไม่ทราบ ส่วน พ.ต.ท.อธิชย์ ไม่ยืนยัน

.

ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ด้วยว่า ข้อความ วัคซีนพระราชทาน นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นคนแรกที่พูดใช่หรือไม่ พ.ต.ท.แสงเพ็ชร ตอบว่า พยานเคยได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ พูดข้อความดังกล่าว ส่วนพยานคนอื่นไม่เคยทราบ และบางคนแสดงความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลบอกว่าเป็นวัคซีนพระราชทานแล้ววัคซีนมีคุณภาพต่ำ ก็จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียไปด้วย

ทนายจำเลยถามพยานบางคนด้วยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า เป็นวัคซีนพระราชทานก็เพื่อสร้างความนิยมและความชอบธรรมให้กับรัฐบาลเอง เพื่อไม่ให้ถูกวิจารณ์หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ

.

เกี่ยวกับการให้ความเห็นต่อข้อความที่ปรากฏในแผ่นป้ายนั้น ยังมีประเด็นที่ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ถึงบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนซึ่งมีการให้ความเห็นไว้เหมือนกัน โดยพยานหลายปาก เช่น  ร.ต.อ.สำเนียง, ร.ต.ต.ศุภชัย, พ.ต.ท.ชูชาติ, ร.อ.นิธิสัคค์, ดาวรุ่ง รับว่า คําให้การของตนมีข้อความเหมือนกับพยานปากอื่นทุกตัวอักษร เนื่องจากตำรวจได้พิมพ์คำให้การไว้แล้ว และให้พยานตรวจดูก่อนเซ็นชื่อ

.

X