1 ก.ค. 2567 ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำสั่งงดสืบพยานจำเลย คดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ที่มี “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล และอดีตนักกิจกรรมกลุ่ม WeVo เป็นจำเลย กรณีถูกกล่าวหาว่า ติดตั้งป้ายวิจารณ์การผูกขาดวัคซีน และโพสต์ภาพป้ายในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เมื่อเดือน ม.ค. 2564 หลังทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี อ้างเหตุปิยรัฐติดไปศึกษาดูงานของกรรมาธิการความมั่นคงฯ ที่โปแลนด์
ประมาณ 09.40 น. นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายจำเลยเดินทางมาถึงศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ในนัดสืบพยานจำเลย ก่อนยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ด้วยเหตุว่า ปิยรัฐ จำเลย มีเหตุผลจำเป็นอย่างยิ่ง กรณีที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โดยต้องเดินทางไปศึกษาดูงานที่สาธารณรัฐโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 24 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2567 ซึ่งเลื่อนมาจากวันที่ 17 – 25 มิ.ย. 2567 เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ระหว่างวันที่ 18 – 21 มิ.ย. 2567
อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง จำเลยจึงประสงค์เข้าร่วมการพิจารณาคดีด้วยตนเองตามสิทธิที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ราว 11.00 น. องค์คณะผู้พิพากษา 3 คน ออกนั่งพิจารณาคำร้องขอเลื่อนคดี ประกอบด้วย วีระพงษ์ กล่อมมิตร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เจ้าของสำนวน, เจตน์ รอดอ่อน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และสราวุธ ยงใจยุทธ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งว่า ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีด้วยเหตุผลตามคำร้องดังกล่าว ก่อนสอบถามโจทก์ว่า คัดค้านหรือไม่ อัยการโจทก์แถลงไม่คัดค้าน
อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี โดยอ่านเหตุผลที่พิมพ์มาในรายงานกระบวนพิจารณาแล้วว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นัดที่แล้วเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2567 จําเลยมาศาลและยื่นคําร้องขอเลื่อนคดี อ้างว่าทนายจําเลยติดว่าความอยู่ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลใช้ดุลยพินิจอนุญาตให้จําเลยเลื่อนคดีโดยกําหนดวันนัดสืบพยานจําเลยใหม่ในวันที่ 1 และ 2 ก.ค. 2567 และกําชับให้จําเลยนําพยานมาสืบภายในกําหนดนัด
แต่ตามคําร้องขอเลื่อนคดีของจําเลยพร้อมเอกสารประกอบคําร้อง ปรากฏว่าการประชุมของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ในวันที่ 9 พ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงวันเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐโปแลนด์ เป็นระหว่างวันที่ 24 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2567 ซึ่งเป็นการกําหนดภายหลังจากที่จําเลยทราบวันนัดสืบพยานดีอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าจําเลยก็ไม่ได้โต้แย้งกําหนดเวลาไปศึกษาดูงานว่ามีเหตุขัดข้องเนื่องจากจําเลยมีนัดสืบพยานคดีของจําเลย พฤติการณ์มีลักษณะเป็นการประวิงคดี จึงไม่อนุญาตให้จําเลยเลื่อนคดี และให้งดสืบพยานจําเลย คดีเสร็จการพิจารณา
จากนั้น ศาลถามทนายจำเลยว่า จะส่งแถลงการณ์ปิดคดีหรือไม่ โดยไม่ได้สอบถามว่า คัดค้านคำสั่งงดสืบพยานจำเลยมั้ย ทนายจำเลยจึงแถลงสั้น ๆ ว่า ขอส่งแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลอนุญาตตามที่ขอ ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 ต.ค. 2567 เวลา 09.30 น.
.
ก่อนหน้านี้ ปิยรัฐและทนายจำเลยขอเลื่อนสืบพยานจำเลยมาแล้ว 6 ครั้ง โดยมีเหตุมาจากปิยรัฐติดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ และจากเหตุที่ทนายจำเลยติดสืบพยานในคดีอื่นที่นัดไว้ก่อนและได้แถลงให้ศาลทราบก่อนกำหนดวันนัดแล้ว ซึ่งเป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้ปิยรัฐหรือทนายจำเลยไม่สามารถมาศาลได้ทั้งสิ้น รวมถึงในนัดนี้
เมื่อปิยรัฐซึ่งยังอยู่ระหว่างการดูงานที่โปแลนด์ ทราบคำสั่งงดสืบพยานจำเลยดังกล่าวจากทนายจำเลยแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้สอบถามความเห็นเบื้องต้นของเขาต่อกรณีดังกล่าว ปิยรัฐได้ให้ความเห็นไว้ว่า
“ปกติผมไปศาลทุกนัด จะมีการเลื่อนก็ด้วยเหตุที่ผมไม่อาจจะก้าวล่วงได้เช่นในครั้งนี้ เดิมกำหนดการไปต่างประเทศในฐานะกรรมาธิการเป็นช่วงกลางเดือนมิถุนายน แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญฯ เพื่อพิจารณางบปี 68 ในช่วงนั้นออกมาภายหลัง จึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการไปต่างประเทศไปหลังการประชุมสภาสมัยวิสามัญฯ ครั้งนี้ และทำให้ไปตรงกับนัดสืบพยานในคดีนี้
“การเดินทางไปต่างประเทศในครั้งนี้ เป็นมติของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ที่มี สส. จากหลายพรรคการเมืองร่วมกันลงมติเพื่อกำหนดการเดินทางในครั้งนี้ และเจ้าหน้าที่ได้ทำการขออนุญาตประธานสภาฯ เพื่อขออนุมัติงบประมาณ ร่วมถึงการประสานการต่างประเทศ และประสานหน่วยงานทางการของประเทศปลายทางอย่างโปแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานความมั่นคงทางการทหารของโปแลนด์ด้วย
“ดังนั้น เมื่อมีการอนุมัติรายชื่อผู้เดินทางไปแล้ว จึงไม่อาจจะยกเลิกได้ หากคนใดยกเลิกก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และเรื่องใหญ่กว่านั้นคือ ต้องมีการทำโครงการเพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณกันใหม่ ซึ่งด้วยระยะเวลาในช่วงนั้นไม่อาจจะทำได้ทัน จึงเป็นเหตุผลที่ผมได้ทำคำร้องขอเลื่อนการสืบพยานในครั้งนี้และได้อธิบายเหตุผลไปในคำร้องอย่างชัดเจนแล้ว ไม่ได้มีเจตนาประวิงคดีอย่างที่ศาลเข้าใจ
“ผมคงไม่อาจจะยอมรับว่านี่คือความยุติธรรมสำหรับผม”
.
กรณีนี้ ศูนย์ทนายความฯ มีข้อสังเกตต่อกระบวนการยุติธรรมในการให้โอกาสจำเลยในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนได้ต่อสู้คดีเต็มที่และเป็นธรรม รวมถึงความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจมีคำสั่งทางคดีของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เนื่องจากเห็นได้ว่า มีทั้งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มานั่งเป็นองค์คณะร่วมพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีด้วยใน 2 นัดหลัง โดยไม่ได้เป็นองค์คณะที่นั่งพิจารณาคดีแต่อย่างใด
.
อ่านฐานข้อมูลคดีนี้: คดี 112 “โตโต้-ปิยรัฐ” โยงตั้งป้ายวัคซีนหาซีนให้วังที่กาฬสินธุ์