ศาลให้สืบพยานลับหลัง “เพนกวิน” คดี 112 ปราศรัยใน MobFest แม้จำเลยขอถอนทนาย – ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ด้านทนายแถลงไม่ขออยู่ในห้องพิจารณา เหตุขัดเจตนาจำเลย

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดสืบพยานในคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ MobFest ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 

คดีนี้เริ่มสืบพยานมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 สืบพยานโจทก์ไปแล้ว 18 ปาก แต่ยังไม่หมดพยานโจทก์ กระทั่งในนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 พริษฐ์ไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัดและไม่สามารถติดต่อได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ และปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกัน หากไม่สามารถจับกุมจำเลยได้ภายใน 3 เดือน เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยไม่ล่าช้า จึงเห็นควรให้สืบพยานลับหลังจำเลย อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 และนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18 ต.ค. 2567

ต่อมา ก่อนวันนัดสืบพยานดังกล่าว พริษฐ์ได้ยื่นคำร้องขอถอนทนายความทั้งหมดในคดีนี้ผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) และแสดงเจตนาที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม โดยห้ามไม่ให้ทนายความคนใดทำหน้าที่เป็นทนายความแก้ต่างให้อีกต่อไป และไม่ประสงค์ขอมีส่วนร่วมใด ๆ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล การดำเนินการใด ๆ ในคดีนี้ไปโดยพลการถือเป็นการทำให้เขาเสียสิทธิการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนาของเขา

วันที่ 18 ต.ค. 2567 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 802 ทนายความจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความในคดีนี้ตามความประสงค์ของจำเลยที่ไม่ประสงค์ให้ผู้ใดเป็นทนายความว่าความแก้ต่างแทน พร้อมทั้งแถลงต่อศาลว่า ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ทราบเพียงว่าจำเลยอยู่ต่างประเทศ และได้ยื่นคำร้องขอถอนทนายความมาทาง CIOS ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความด้วย ขอให้ศาลพิจารณาอนุญาตทนายความถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลย และจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะจับตัวจำเลยได้ 

นอกจากนี้ ทนายจำเลยยังยื่นคําร้องคัดค้านการสืบพยานลับหลังจําเลย ระบุเหตุผลว่า การพิจารณาลับหลังไม่เป็นประโยชน์แก่จําเลย ทําให้ทนายจําเลยไม่สามารถยกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาต่อสู้คดีได้ ไม่เป็นประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม ทั้งขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ศาลสอบถามพนักงานอัยการว่า คัดค้านการสืบพยานลับหลังหรือไม่ พนักงานอัยการแถลงว่า ขอให้เป็นดุลยพินิจของศาล แต่เห็นว่าควรให้จำเลยได้นั่งฟังการพิจารณาคดี สู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้มีข้อกังขา

ศาลกล่าวว่า ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยถอนทนายและไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัวตามขอ เนื่องจากคดีจะเดินหน้าต่อไม่ได้ 

ทนายความจำเลยแถลงว่า ไม่มีข้อบังคับตามกฎหมายใด ๆ ให้ศาลต้องสืบพยานลับหลังจำเลยในกรณีที่จำเลยไม่มาศาล โดยหากศาลเห็นว่าเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมก็สามารถรอให้จับตัวจำเลยก่อนได้ ทนายความจึงมีความไม่สบายใจในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปซึ่งขัดต่อความประสงค์ที่ชัดเจนของจำเลยในการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมและถอนทนายความ

พนักงานอัยการจึงเขียนคำร้องขอเลื่อนคดีระบุโดยสรุปว่า ขอเลื่อนคดีไปจนกว่าจะสามารถจับตัวจำเลยได้ เนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องขอถอนทนายและห้ามไม่ให้คนใดทำหน้าที่ทนายความแก้ต่าง แม้ศาลไม่อนุญาตให้ถอนทนาย แต่ทนายความไม่สบายใจที่จะปฏิบัติหน้าที่

ศาลได้ขอไปปรึกษากับผู้บริหารศาลอาญา ประมาณ 15 นาทีต่อมา ศาลออกนั่งพิจารณาอีกครั้งพร้อมแจ้งว่า ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เพราะจะเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบต่อไป

ทนายความแถลงว่า  ถ้าจะสืบพยาน ทนายความขอไม่อยู่ในห้องพิจารณาคดี ด้วยเหตุที่จำเลยแสดงเจตนาชัดเจนแล้วว่าไม่ให้ผู้ใดทำหน้าที่ทนายความแก้ต่าง ดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนทนายความ แต่ทนายก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากจะขัดต่อความประสงค์ของจำเลย พร้อมกันนี้ทนายความได้ยื่นคำแถลงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความต่อศาล

คำแถลงระบุว่า หากผู้ร้องยังปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายจำเลยต่อไป ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของตัวจำเลยซึ่งเป็นตัวความที่แท้จริงอย่างชัดเจน เช่น หากผู้ร้องถามค้านพยานโจทก์ หรือนำพยานจำเลยเข้าเบิกความต่อศาล ย่อมเป็นการขัดต่อความประสงค์และเจตนาของจำเลยอย่างชัดแจ้ง และอาจเป็นการผิดต่อกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติทนายความ

แม้ผู้ร้องจะยังเป็นทนายจำเลยเนื่องจากว่าศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต แต่ผู้ร้องไม่สามารถถามค้านหรือถามความใด ๆ รวมทั้งทำคำร้อง คำแถลง และนำพยานเข้าสืบได้ เนื่องจากตัวจำเลยมีคำสั่งห้ามไว้

ดังนั้น หากมีการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ต่อไป ผู้ร้องก็ไม่อาจนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีระหว่างการพิจารณาคดีได้

ศาลสอบถามทนายความเพิ่มเติมเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการสืบพยานลับหลังจำเลยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เข้ามาในคดีนี้ ทนายความแถลงว่า ในเรื่องนี้ต้องติดต่อมารดาจำเลยเพื่อให้สอบถามจำเลยก่อน เนื่องจากจำเลยแสดงเจตนาชัดเจน ทนายความไม่สามารถทำโดยพลการได้ 

จากนั้นศาลให้นำพยานโจทก์ชุดสืบสวนที่โจทก์ยังซักถามไม่เสร็จในนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 เข้าเบิกความต่อ พนักงานอัยการแถลงว่า โจทก์สืบครบถ้วนแล้ว ไม่มีคำถาม ส่วนทนายจำเลยแถลงว่า ไม่ถาม เนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องชัดเจนว่า ไม่ให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ว่าความแก้ต่างแทน ดังนั้นจึงไม่สามารถว่าความแก้ต่างพยานปากนี้ได้

ต่อมา พนักงานอัยการแถลงขอเลื่อนสืบพยานโจทก์อีก 3 ปาก ไปในนัดหน้า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 20 ธ.ค. 2567

ทนายความจำเลยในคดีนี้ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ในทางกฎหมาย หากจำเลยมีทนายความ การกระทำใด ๆ ที่ทนายความได้ทำไปในขอบเขตอำนาจย่อมถือเสมอว่าจำเลยกระทำด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้พริษฐ์ได้แสดงเจตนาชัดเจนในการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมและถอนทนายความทั้งหมด พร้อมทั้งห้ามไม่ให้ผู้ใดดำเนินการใด ๆ ในคดีไปโดยพลการ ดังนั้น แม้ศาลจะต้องการให้ทนายความทำหน้าที่ แต่ทนายความก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะเป็นการทำแทนในส่วนที่จำเลยไม่ต้องการให้ทำซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมายได้

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกของพริษฐ์ที่มีการสืบพยานลับหลัง หลังจากที่เขาลี้ภัยทางการเมือง โดยในคดีอื่นซึ่งมีพฤติการณ์คล้ายคลึงกัน เช่น คดีมาตรา 112 ของพริษฐ์และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรณีโพสต์และแชร์ข้อความเกี่ยวกับ the land of compromise เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ซึ่งมีนัดสืบพยานที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา พริษฐ์ได้ยื่นคำร้องขอถอนทนายและปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ทนายความจึงยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้ และศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนทนายและจำหน่ายคดีในส่วนของพริษฐ์ออกจากสารบบความชั่วคราวจนกว่าจะจับตัวได้

นอกจากนี้ พริษฐ์ยังมีคดีมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ จากกรณีโพสต์ถึงปัญหาของ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯ โดยยกตัวอย่างการพยายามจะเอาพระแก้วมรกตไปขายในสมัย ร.7 ซึ่งพริษฐ์ได้มีการยื่นคำร้องขอถอนทนายความและไม่ประสงค์จะให้มีใครว่าความในคดีด้วยเช่นกัน โดยในนัดฟังผลการจับกุมวันที่ 16 ก.ย. 2567 ทั้งพนักงานอัยการและทนายความจำเลยได้แถลงคัดค้านการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ซึ่งศาลจังหวัดเชียงใหม่จะมีคำสั่งในวันที่ 30 ต.ค. นี้ว่าจะให้สืบพยานลับหลังจำเลยหรือจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

.

X