Have you Heard About Me ?
ณ เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา
กับเวลา 15 นาที ในการเยี่ยม “กฤษณะ” ผู้ต้องขังเด็ดขาด วัย 37 ปี หลังถูกศาลฎีกาพิพากษายืนลงโทษจำคุก 3 ปี ในข้อหา “อั้งยี่” กรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการขายเสื้อของกลุ่มสหพันธรัฐไท และถูกจองจำมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565
.
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่เราได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมกฤษณะในเรือนจำแห่งนี้ หลังจากที่เราได้เข้าเยี่ยมช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก ภายหลังศูนย์ทนายฯ ทราบข่าวว่ากฤษณะถูกย้ายเรือนจำที่คุมขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปอยู่ที่เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2567 ตามนโยบายลดความแออัดในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์
ช่วงบ่ายของวันที่ 11 ก.ค. 2567 หลังจากตีเยี่ยมเสร็จ เจ้าหน้าที่ยื่นบัตรคิวรอเข้าเยี่ยมเป็นรอบที่ 2 ก่อนที่จะได้เข้าเยี่ยมที่ห้องเยี่ยมญาติในเวลา 13.40 น.
“สวัสดีค่ะ” เรายกหูโทรศัพท์ทักทายกฤษณะที่เดินมานั่งฝั่งตรงข้ามด้วยกระจกคั่น เขาใส่ชุดนักโทษสีฟ้า แต่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย จึงทำให้เห็นใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
ช่วงนี้เข้าฤดูฝนแล้ว เกรงว่าฝนจะพลอยทำให้กฤษณะป่วยไปด้วย เพราะผู้ต้องขังหลายคนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก็มักจะป่วย เพราะอากาศเริ่มเปลี่ยนเมื่อฝนเริ่มตก เราจึงเริ่มบทสนทนาด้วยการไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบในช่วงนี้
“ฝนที่นี่ไม่ค่อยตกเหมือนที่อื่น ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน เขาบอกกันว่า (ที่นี่) มีคาถาอาคม เมื่อคืนมีฝนตกมาบ้าง แต่ตอนนี้อากาศก็ยังร้อนเหมือนเดิม” เราพยักหน้าเห็นด้วยกับกฤษณะว่าที่นี่อากาศค่อนข้างร้อน ถึงแม้จะมีลมพัดโชยมาบ้างเป็นบางเวลา แต่ไอร้อนจากแดดก็ทำให้ความเย็นของลมหายไปในพริบตา
อย่างไรก็ตาม กฤษณะก็หนีไม่พ้นกับอาการป่วยอย่าง ‘อาการไอและเจ็บคอ’ ที่มักจะมาพร้อมกับฤดูฝน เขาลงชื่อขอรับยารักษา แต่ก็ต้องใช้เวลารอประมาณ 4 – 5 วัน ระหว่างที่รอก็ซื้อยาอมสเตร็ปซิลมากิน แต่เขาบอกว่าตอนนี้ตัวเองหายป่วยแล้ว
ในเรือนจำ เขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ชื่อตำแหน่งว่า “เสมียนโยธา” ทำให้ได้ย้ายออกมานอนในห้องซอยที่นอนกันประมาณ 10-20 คนต่อหนึ่งห้อง จากเดิมที่ต้องนอนรวมกันในห้องขนาดใหญ่ 100-200 คน “มันแออัดจนผมต้องนอนตะแคง”
ตั้งแต่กฤษณะย้ายมาอยู่ที่เรือนจำนี้ ก็ไม่ได้มีเพื่อนหรือครอบครัวมาเยี่ยมแต่อย่างใด นอกจากการทำงานผู้ช่วยเจ้าพนักงานแล้ว เขาชอบใช้เวลาไปกับห้องสมุด ซึ่งช่วงนี้จะเลือกอ่านหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจ และอีกอย่างที่เขาทำมันมาเสมอคือการหันไปพึ่งพิงธรรมะ สวดมนต์ และทำสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบขึ้นและอยู่ข้างในนี้ได้
กฤษณะบอกว่าผู้ต้องขังที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นคดีอื่น ๆ ไม่ได้มีคดีการเมืองเหมือนกับตอนที่อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่เขาก็ยังสามารถพูดคุยกับเพื่อนผู้ต้องขังได้ เพราะส่วนใหญ่ (ที่มีโอกาสได้พูดคุยกัน) ก็จะมีแนวคิดไปทางเดียวกัน
.
เรื่องราวนอกรั้วเรือนจำ – ตั้งตารอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เกิดขึ้นจริง
กฤษณะยังเล่าถึงอาหารการกินที่นี่ว่า เวลาเติมอาหารก็จะเติมได้แค่ข้าวอย่างเดียว เขาเลยเลือกซื้อข้าวแกงกินถุงละ 30-40 บาท แล้วนำมาแบ่งกันกินกับเพื่อนผู้ต้องขังแทน
ส่วนในห้องขังก็จะมีโทรทัศน์ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นที่จะเปิดเพลง ไฮไลท์ฟุตบอล หรือรายการตลก ไม่ได้เปิดข่าวสารการเมือง แต่เขาก็รับรู้ได้ผ่านจากการบอกกล่าวของเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกัน ทำให้กฤษณะได้ทราบเรื่องการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ด้วย
“ผมเข้าใจ เขาคือนักสู้ สู้สุดชีวิต แต่อยากให้เรื่องนี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะเขาออกมาเรียกร้อง อดอาหาร และอยากเห็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ รวมคดีมาตรา 112” กฤษณะกล่าว
เราอัปเดตสถานการณ์สังคมและการเมืองข้างนอกให้กฤษณะฟังพอสังเขป อย่างงานนิรโทษกรรมประชาชน เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา เขาดูรูปกิจกรรมในวันนั้นที่มีผู้ต้องหาทางการเมืองหลายร้อยคน รวมถึงสแตนดี้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกตั้งอยู่ในงานด้วย เขายิ้มออกมาและพูดว่า “ช่วยส่งรูปนี้เข้ามาให้ผมหน่อยได้ไหม จะได้เป็นกำลังใจเวลาอยู่ข้างในนี้”
กฤษณะสนใจและคาดหวังเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เป็นพิเศษ เขามักจะถามถึงความคืบหน้าของกระบวนการ และจะตั้งใจฟังเมื่อเราเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
จากนั้นเราก็เล่าเรื่องภาพรวมสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมืองที่จำนวนเพิ่มขึ้นและไม่มีใครได้ประกันตัวออกมา อย่างกรณีของ “ธนพร” แม่ลูกอ่อนที่ต้องเข้าเรือนจำหลังศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 2 ปี ในคดีมาตรา 112 รวมไปถึงแนวโน้มของ “อานนท์” และ “ไบรท์” ชินวัตร ที่อาจต้องย้ายไปถูกคุมขังในเรือนจำกลางคลองเปรม หากถูกลงโทษจำคุกด้วยโทษเกิน 15 ปี กฤษณะตั้งใจฟังและพยักหน้าเข้าใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว
ช่วงท้ายของบทสนทนาเราถามกฤษณะว่าอยากให้เล่าเรื่องอะไรให้ฟังไหม กฤษณะจึงเลือกถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของเพื่อนผู้ต้องขังที่เคยอยู่แดนเดียวกันในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ อย่าง “บุ๊ค” ธนายุทธ และ จิรวัฒน์ และเล่าให้ฟังอีกว่าเขาได้ส่งจดหมายคุยกับ “มาย” ชัยพร ซึ่งเป็นการส่งจดหมายจากรั้วเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา
“ผมอยากให้กำลังใจคนข้างนอก ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวยากหมากแพง อยากให้กำลังใจทุกคนในการดำเนินชีวิต นักกิจกรรมกำลังพยายามเต็มที่ในการเรียกร้องเรื่องพวกนี้” กฤษณะกล่าวทิ้งท้ายก่อนที่จะหมดเวลาเยี่ยม
กฤษณะโบกมือลา วางหูโทรศัพท์ และเดินกลับเข้าไปในเรือนจำเช่นเดิม
.
กฤษณะเป็นหนึ่งในจำเลยของคดีเกี่ยวเนื่องกับสหพันธรัฐไท เพราะถูกกล่าวหาว่าแจกใบปลิวและมีเสื้อที่มีสัญลักษณ์ “สหพันธรัฐไท” ไว้ในครอบครอง ต่อมาถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 209
.
กฤษณะถูกศาลฎีกาพิพากษายืนลงโทษจำคุก 3 ปี ในข้อหาเป็นอั้งยี่
เขาต้องเข้าเรือนจำทันทีหลังศาลอ่านคำพิพากษานั้นทันที
เขาสูญเสียอิสรภาพมาแล้ว 597 วัน
นับเวลาถอยหลังสู่อิสรภาพอีกครั้งใน 467 วัน (หรือประมาณ 1 ปี 3 เดือนเศษ)
ปัจจุบัน กำหนดพ้นโทษของกฤษณะคือวันที่ 27 ต.ค. 2568
กฤษณะยังเฝ้ารอคอยการอภัยโทษในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. นี้ ถ้ามีการอภัยโทษเกิดขึ้น ก็อาจได้ออกจากเรือนจำประมาณเดือนหน้า (ส.ค. 2567) แต่ถ้าไม่มี เขาก็น่าจะได้ออกจากเรือนจำปลายปีหน้าตามเดิม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
“กฤษณะ” จำเลยคดีสหพันธรัฐไท ผู้ต้องใส่ EM มากว่า 4 ปีแล้ว นานที่สุดตั้งแต่มีรัฐประหาร 57
ศาลฎีกายืนจำคุก 3 ปี คดีแจกใบปลิว-เสื้อโลโก้สหพันธรัฐไท “กฤษณะ-วรรณภา” เข้าเรือนจำทันที