ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง! “งามแสนหลวง” โพสต์ “บุญรอด” ให้ ตร. ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตา ใน #ม็อบ17พฤศจิกา63 ชี้ไม่มีเจตนาหลอกลวงจนเกิดความเสียหายต่อประชาชน 

21 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม” เจ้าของร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ในข้อหา “นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เหตุจากการโพสต์ข้อความกล่าวถึงกรณีอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากบริษัทบุญรอดฯ ระหว่างการสลายการชุมนุมของราษฎรบริเวณใกล้รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง แต่บริษัทบุญรอดฯ ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง โดยเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนา “ทุจริต” หรือ “หลอกลวง” จากการโพสต์รูปและข้อความเกี่ยวกับบริษัทโจทก์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

.

ก่อนหน้านี้ งามแสนหลวงถูก สุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้บริหารของบริษัท บุญรอดฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่าได้นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ว่า “แก็สน้ำตายิงออกมาจากที่นี่ บริษัทนี้ให้ตำรวจเข้าไปข้างในยิงแก๊สน้ำตาออกมาใส่ประชาชน” โดยที่บริษัทบุญรอดฯ ไม่เคยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้พื้นที่ในการยิงแก๊สน้ำตาแต่อย่างใด

ภายหลังการยื่นฟ้องและไต่สวนมูลฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งรับฟ้องคดีนี้ งามแสนหลวงยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงได้นัดสืบพยาน 2 นัด ในระหว่างวันที่ 9-10 พ.ค. 2566 ก่อนจะมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า จำเลยบอกกล่าวเตือนให้ผู้ชุมนุมระมัดระวังตัว แต่ไม่ได้มีเจตนาพิเศษโดยทุจริตที่บิดเบือนทั้งหมดหรือบางส่วน หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามองค์ประกอบความผิดแห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) แต่อย่างใด

แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดเข้าไปในที่ทำการของโจทก์เพื่อเป็นสถานที่ยิงแก๊สนํ้าตาใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งข้อความที่จำเลยโพสต์ดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงและเป็นความเท็จก็ตาม แต่ก็เป็นความผิดในข้อหาอื่น โจทก์สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีจำเลยต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริษัทบุญรอดฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

วันนี้ (21 ต.ค.​ 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 603 งามแสนหลวงและทนายความเดินทางมาฟังคำพิพากษา ต่อมา ในเวลา 09.53 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและเรียกให้งามแสนหลวงไปฟังคำพิพากษาด้านหน้าห้องพิจารณา จากนั้นจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาเพียงสั้น ๆ 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง โดยเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) มีองค์ประกอบความผิด 6 ประการ คือ 1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 2) ซึ่งเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ 3) เกิดความเสียหายแก่ประชาชน 4) ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา 5) โดยทุจริตหรือหลอกลวง และ 6) เจตนา

ซึ่งหากขาดองค์ประกอบความผิดข้อใดข้อหนึ่งแล้ว การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดในฐานความผิดดังกล่าว

แม้โจทก์จะอ้างว่า จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ เพราะมีผู้หลงเชื่อข้อความที่จำเลยโพสต์ และมีการแชร์ข้อความจนถึงกับบอกว่าจะงดบริโภคสินค้าของโจทก์ แต่พยานหลักฐานของโจทก์เพียงเท่านี้ไม่อาจรับฟังว่า การโพสต์ของจำเลยน่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน ทั้งพยานหลักฐานโจทก์ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาโดยหลอกลวง

พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนา “หลอกลวง” โพสต์รูปและข้อความเกี่ยวกับบริษัทโจทก์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยโพสต์รูปและข้อความดังกล่าว โดยไม่ตระหนักว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หากมีบุคคลนำภาพและข้อความไปเผยแพร่ต่อ และจำเลยไม่ตรวจสอบก่อน ถือว่ารู้อยู่แล้วว่าส่งผลกระทบกับโจทก์แน่นอน เป็นการมีเจตนาเล็งเห็นผลและทุจริตบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์

ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากการกระทำของจำเลยอย่างไร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าการโพสต์ของจำเลยเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริต ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

องค์คณะผู้พิพากษาที่ลงชื่อท้ายคำพิพากษาประกอบด้วย สุดสาคร เวชยชัย, สิทธิชัย จงศิริสถาพร และสุชาดา พรพิพัฒน์ไพศาล 

.

หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น งามแสนหลวงจึงเดินทางกลับบ้านตามปกติ

ทั้งนี้ ในคดีที่สืบเนื่องจากการโพสต์เกี่ยวกับการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากบริษัทบุญรอดฯ ขณะสลายการชุมนุมใน #ม็อบ17พฤศจิกา นั้นมีประชาชนถูกบริษัทบุญรอดฯ ยื่นฟ้องทั้งสิ้น 4 ราย ดังนี้

คดีของธนากร ท้วมเสงี่ยม แอดมินเพจ “ประชาชนเบียร์” ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว

คดีของมนต์ทิพา ซึ่งถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอีก 1 ข้อหา ศาลมีคำสั่งรับฟ้อง และต่อมาได้มีการไกล่เกลี่ยคดี จำเลยยินยอมโพสต์ขอโทษ โจทก์จึงได้ถอนฟ้องคดีนี้ไป

และสุดท้าย คดีของงามแสนหลวงที่มีคำพิพากษาในวันนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน 

และ คดีของสรญา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นควรส่งสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่อีกครั้งหนึ่ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บ.บุญรอดฯ ฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ 4 ประชาชนโพสต์วิจารณ์ให้ ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตาใน #ม็อบ17พฤศจิกา

X