วันที่ 18 เม.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีที่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “สรญา” (สงวนนามสกุล) ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุจากโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊ก กรณีอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ที่ทำการของบริษัท ขณะที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563
คดีนี้ คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ถึง 18 พ.ย. 2563 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่บิดเบือนทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน สามารถสรุปได้ดังนี้
ข้อ 1 ระหว่างวันที่ 17 ถึง 18 พ.ย. 2563 จำเลยได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เป็นข้อความว่า “ไม่ทราบว่านี่กําแพง บ.บุญรอดรึเปล่าคะ แต่ตอนเราไลฟ์ เรายืนอยู่ตรงหน้าป้าย บ.บุญรอดบลิว” พร้อมทั้งอัพโหลดคลิปเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณถนนหน้าที่ตั้งสํานักงานใหญ่ของโจทก์
ข้อ 2 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 จำเลยยังได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะว่า ตนถูกข่มขู่จะฟ้องจากมีคลิปไลฟ์สดเหตุการณ์หน้าบริษัท บุญรอดฯ และโพสต์ข้อความแรก แต่ตนยืนยันว่าจะไม่ลบ ซึ่งโจทก์อ้างว่า ทั้งหมดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและบิดเบือน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง
หลังการสืบพยานต่อสู้คดี เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2565 ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นได้ชัดเจนว่าหลักฐานตามพยานเอกสารที่โจทก์อ้าง (การจับภาพหน้าจอโทรศัพท์แล้วสั่งพิมพ์ออกมา) เป็นการโพสต์เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 และมีลำดับการโพสต์เป็นมาอย่างไร มีการลบชื่อในขณะโพสต์หรือไม่อย่างไร ซึ่งจำเลยเบิกความว่าไม่เคยเห็นโพสต์ตามเอกสารดังกล่าว จำเลยโพสต์ข้อความแต่เป็นการโพสต์ท้ายแถลงการณ์โจทก์ในเพจประชาชนเบียร์ กรณีจึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง
ต่อมาฝ่ายโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา และวันนี้ (18 เม.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 604 สรญาเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, นายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ และเพื่อนของสรญาอีก 2 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี
ต่อมาผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาโดยสรุปดังนี้
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 จำเลยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของจำเลยว่า “ไม่ทราบว่านี่กําแพง บ.บุญรอดรึเปล่าคะ แต่ตอนเราไลฟ์ เรายืนอยู่ตรงหน้าป้าย บ.บุญรอดบลิว” พร้อมอัปโหลดบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์การชุมนุม และวันที่ 18 พ.ย. 2563 จำเลยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะว่า ตนถูกข่มขู่จะฟ้องจากมีคลิปไลฟ์สดเหตุการณ์หน้าบริษัท บุญรอดฯ และโพสต์ข้อความแรก แต่ตนยืนยันว่าจะไม่ลบ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ แต่ก่อนหน้านั้นต้องวินิจฉัยว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า แม้ภายหลังศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นการยกตามฟ้องของโจทก์ในทั้ง 2 ข้อ แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นบรรยายในคำวินิจฉัยเพียงเกี่ยวกับฟ้องโจทก์ในข้อ 1 ไม่ได้บรรยายถึงฟ้องในข้อ 2 ซึ่งไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) (คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย)
ศาลอุทธรณ์เห็นควรส่งสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ ให้พิจารณาปัญหาตามฟ้องในข้อ 2
ศาลจึงให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามในวันที่ 17 มิ.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ก่อนจะมีการกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่ต่อไป
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้แก่ รติปกรณ์ จงอุตส่าห์
ทั้งนี้ กรณีที่มีการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊กว่า อาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ที่ทำการของบริษัทบุญรอดฯ ขณะที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภาใน #ม็อบ17พฤศจิกา2563 นั้น มีประชาชนรวม 4 ราย ได้ถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
นอกจากคดีของสรญา ยังมีคดีของธนากร ท้วมเสงี่ยม แอดมินเพจ “ประชาชนเบียร์” ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยยกฟ้องตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นอุทธรณ์ไปแล้ว และมีคดีของงามแสนหลวงที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์อีกสุดท้ายคดีของมนต์ทิพา ซึ่งถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอีก 1 ข้อหา ศาลได้รับฟ้องไว้ และต่อมาได้มีการไกล่เกลี่ยคดี จำเลยยินยอมโพสต์ขอโทษ และโจทก์ได้ถอนฟ้องคดี ทำให้ขณะนี้ยังเหลือเพียงคดีของสรญาที่ยังไม่สิ้นสุดลง