ผ่านไป 4 ปี อัยการเพิ่งฟ้องคดี 8 นักกิจกรรม ชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง แม้คดีส่วนใหญ่ศาลยกฟ้อง

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 ที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ได้นัดหมายสั่งฟ้องคดีของ 8 นักกิจกรรม จากการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ในช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพ เพื่อจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน

แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านมากว่า 4 ปี และในช่วงที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ที่มีการต่อสู้คดีเกือบทั้งหมด ทั้งยังอยู่ในช่วงสภาพิจารณาการนิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง แต่อัยการยังคงเดินหน้าสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-64 

.

ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง 9 ราย คดีค้างอยู่ชั้นสอบสวน 4 ปี

สำหรับคดีนี้เดิมมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 9 ราย แยกเป็นส่วนที่ถูกตำรวจ สน.ปทุมวัน ไปร้องขอศาลให้ออกหมายจับในช่วงหลังการชุมนุม ทั้งหมด 5 คน ได้แก่ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, น.พ.ทศพร เสรีรักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ อรรถพล บัวพัฒน์

และมี 4 ราย ที่ถูกตำรวจออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง ได้แก่ สุวรรณา ตาลเหล็ก, ธัชพงศ์ แกดำ, กรกช แสงเย็นพันธ์ และ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ  

ทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 9 และ 11 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทําการอันใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” โดยได้ทยอยถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2563 แล้ว

ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้นัดหมายผู้ต้องหาทั้งหมดไปส่งสำนวนคดีต่ออัยการตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 หลังจากนั้นคดีอยู่ในชั้นอัยการเรื่อยมาเกือบ 3 ปี จนอัยการได้นัดหมายผู้ต้องหาไปสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567

.

ภาพจาก Mob Data Thailand

.

อัยการยืนยันสั่งฟ้อง แม้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม รอพิจารณานิรโทษกรรมคดีการเมือง

ก่อนหน้าวันนัดดังกล่าว หลังทราบว่าอัยการเตรียมจะสั่งฟ้องคดี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้พิจารณามีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาประเด็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอหนึ่งของกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นนั้น คือขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีหากเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม 

หนังสือดังกล่าว ยังได้ยื่นต่ออัยการสูงสุดไปก่อนหน้านั้นเพื่อให้ทบทวนคดีจากการชุมนุมทั้งหมดด้วย แต่อัยการยังคงยืนยันการสั่งฟ้องคดีนี้

สำหรับผู้ถูกสั่งฟ้องคดีนั้น มีทั้งหมด 8 ราย เนื่องจาก “ไมค์” ภาณุพงศ์ ไม่ได้เดินทางมาตามนัด นอกจากนั้นยังมี “ไบรท์” ชินวัตร และ “ขนุน” สิรภพ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในคดีมาตรา 112 ทำให้อัยการสั่งฟ้องโดยไม่ต้องนำตัวมา

ขณะที่ผู้ถูกฟ้องอีก 6 คน ได้แก่ ณวรรษ, อรรถพล, สุวรรณา, กรกช, ธัชพงศ์ รวมทั้ง น.พ.ทศพร ซึ่งปัจจุบันเป็น สส. พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาตามนัด 

ร.ต.ท.สิทธิชัย เกลี้ยงเกลา พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 เป็นผู้เรียงฟ้องในคดีนี้ โดยสรุปคำฟ้องได้เกริ่นนำถึงสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งออกประกาศ ข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุม

คำฟ้องระบุต่อว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 จำเลยทั้งแปดกับพวก ได้บังอาจเข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน อันเป็นเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยการชุมนุมดังกล่าวมีกลุ่มมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก มีการใช้ยานพาหนะติดตั้งเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัย โดยจำเลยทั้งแปดกับพวกได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัย ทำกิจกรรมการชุมนุม 

และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ยุติการชุมนุม ก็ไม่ดำเนินการตามคำสั่งเจ้าพนักงาน อันเป็นการเข้าร่วมชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ซึ่งมีลักษณะกีดขวางการจราจรจนไม่อาจสัญจรได้ตามปกติ กีดขวางทางเข้าออกอาคารสถานที่ ขัดขวางการปฏิบัติงาน การประกอบกิจการ หรือการใช้ชีวิตปกติสุขของประชาชนทั่วไป อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

หลังฟ้องคดี ศาลได้ให้จำเลยทั้ง 6 ที่ไม่ได้ถูกควบคุมตัว สาบานตนว่าจะเดินทางมาตามนัด ก่อนให้ปล่อยตัวไป โดยไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 2 ธ.ค. 2567 เวลา 9.00 น.

.

ภาพจาก Mob Data Thailand

.

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จาก 35 คดี ศาลยกฟ้องไปแล้ว 17 คดี

สำหรับการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน เกิดขึ้นภายหลังมีการสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำกลุ่มราษฎรที่ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าตรู่วันที่ 15 ต.ค. 2563 พร้อมกับรัฐบาลมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เดิมการชุมนุมดังกล่าวได้มีการนัดหมายกันที่แยกราชประสงค์ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นบริเวณแยกปทุมวัน ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและนักเรียนเดินทางมาร่วมชุมนุมกันจนเต็มพื้นที่สี่แยก

ต่อมา ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้าปิดล้อมผู้ชุมนุม โดยมีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำที่ผสมจากสารเคมีสีฟ้าและน้ำผสมแก๊ซน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุม โดยนับเป็นการปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยยุทธวิธีลักษณะนี้ เป็นครั้งแรกในช่วงการชุมนุมปี 2563 

แต่หลังการชุมนุมวันดังกล่าว ยังคงมีการชุมนุมโดยไร้แกนนำของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนอย่างต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว จนรัฐบาลต้องยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในวันที่ 22 ต.ค. 2563

ระหว่างช่วงดังกล่าว มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จำนวนไม่น้อยกว่า 72 คน ใน 35 คดี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหานี้ไปแล้วถึง 17 คดี และอัยการสั่งไม่ฟ้องไปอีก 1 คดี โดยมีเพียงคดีเดียวที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด ได้แก่ คดี #ม็อบ19ตุลา2563 ชุมนุมแยกเกษตรศาสตร์  ขณะที่อีก 11 คดีนั้น ยังไม่สิ้นสุด โดยคดีอื่น ๆ นอกจากคดีที่ถูกสั่งฟ้องดังกล่าว ยังค้างคาอยู่ในชั้นสอบสวน และอัยการในบางคดีก็ได้นัดหมายเตรียมสั่งฟ้องอีก

.

ย้อนอ่านเกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน

ON THIS DAY ชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน : อัยการยังนัดสั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ของ 9 นักกิจกรรม แม้ผ่านไป 4 ปี

X