จับกุม 12 ราย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จาก #ม็อบ16ตุลา และ #15ตุลาไปราชประสงค์

ภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ได้มีประชาชนออกมาแสดงความไม่พอใจและไม่เห็นจำนวนมากจนเกิดการชุมนุมขึ้น

วันที่ 16 ต.ค. 63 มีการนัดหมายชุมนุม #ม็อบ16ตุลา #16ตุลาไปราชประสงค์ #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ตั้งแต่เวลา 16.00 น. การชุมนุมดำเนินไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 18.48 น. เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากพร้อมอุปกรณ์ครบมือเข้าสลายการชุมนุม เริ่มด้วยการประกาศให้ยุติการชุมนุม ตามมาด้วยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำเปล่า, น้ำผสมสี และน้ำผสมสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคือง ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจากบริเวณแยกเฉลิมเผ่า จนกลุ่มผู้ชุมนุมค่อยๆ ถอยร่นไปจนถึงบริเวณแยกปทุมวัน ก่อนจะยึดพื้นที่บริเวณแยกปทุมวัน หลังใช้เวลาในการเข้าสลายการชุมนุมกว่า 2 ชั่วโมง 

ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ได้มีการจับกุมผู้ชุมนุมระหว่างการสลายการชุมนุม จำนวน 9 ราย ขณะเดียวกันภายหลังจากการชุมนุมยุติลงได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับตามที่ออกตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มาตรา 12 เข้าจับกุมตัวแกนนำการชุมนุมก่อนหน้านี้จำนวน 3 ราย โดยรายชื่อผู้ที่ถูกจับกุมทั้ง 2 กลุ่ม ดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 ผู้ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลแขวงปทุมวัน ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 ในความผิดฐานเป็นบุคคลตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 

  1. ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมกลุ่มนนทบุรีปลดแอก
  2. ทัดเทพ เรืองประไพกิจเสรี นักกิจกรรมกลุ่มเยาวชนปลดแอก
  3. สมบัติ ทองย้อย คนเสื้อแดง

กลุ่มที่ 2 ผู้จับกุมตัวในขณะเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม

  1. ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหาร Spaceth.co
  2. อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ นักกิจกรรมกลุ่มเส้นทางสีแดง
  3. กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวประชาไท 
  4. เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ นักกิจกรรมกลุ่มศิลปินปลดแอก 
  5. ชลธิชา คุ้มจันทร์อัด
  6. พรพสุ  ชูรอด
  7. คณิติน  ติเยาว์
  8. อรรคพล วันทะไชย
  9. อินทราช แสงมณี

.

ผู้ถูกจับกุมตัวทั้งหมดได้ถูกส่งไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค 1) เพื่อจัดทำบันทึกจับกุมตัว แจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำ

มีรายงานข่าวว่า หนึ่งในผู้ต้องหาคือ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บก.บริหารของเว็บไซต์ Spaceth.co ถูกจับกุมขณะพยายามนำ #โบว์ขาว ไปมอบให้ตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุม

ต่อมาเวลา 01.45 น. ของวันที่ 17 ต.ค. 63 กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้ถูกปล่อยตัวด้านหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงาน และได้เปรียบเทียบปรับจำนวน 300 บาท 

จนเวลาประมาณ 03.00 น. หลังกลุ่มนักวิชาการ ทนายความ ญาติของผู้ถูกจับกุมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากพรรคฝ่ายค้านเดินทางไปเพื่อขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุม  มีเพียง ส.ส.และทนายความที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมผู้ถูกจับกุมภายใน บก.ตชด.ภาค 1 เท่านั้น 

ภายหลังเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุม ส.ส.พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า มีผู้ถูกจับกุมเพียง 12 รายและจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 100 ราย จริงหรือไม่ ตำรวจใน บก.ตชด.ภาค 1 ไม่สามารถตอบคำถามได้ แต่ภายในห้องควบคุมตัวดังกล่าวได้มีการจัดเตรียมสถานที่พักเพื่อรองรับผู้ถูกจับกุมจำนวน 100 รายไว้พร้อมแล้ว ( https://www.facebook.com/TheReportersTH/videos/1067733423676153/)

จนกระทั่งเวลาประมาณ 05.00 น. พนักงานสอบสวนจัดทำบันทึกจับกุม บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำผู้ต้องหาจำนวน 11 คน จนแล้วเสร็จ พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่า จะนำผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ไปขออำนาจศาลแขวงปทุมวันฝากขังในเวลา 09.00 น. 

สำหรับ ชินวัตร, ทัดเทพ และสมบัติ ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับของศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งระบุว่า “เป็นบุคคลตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9” พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” 

จากพฤติการณ์ ที่ระบุเพียงสั้นๆว่า “ผู้ต้องหาได้ไปปรากฏตามในพื้นที่ที่มีการชุมนุม บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63” ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2553 เวลา 04.00 น. โดยผู้ต้องหาทั้งสามรายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ส่วนผู้ถูกจับกุมตัวขณะสลายการชุมนุมอีก 8 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. อนุรักษ์, เอฐ์เรียฐ์, คณิติน, อินทราช, อรรถพล, ณัฐนนท์ ถูกกล่าวหาว่า “ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปหรือกระทําการอันเป็นการยั่วยุให้ เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” 

จากพฤติการณ์การชุมนุมในวันที่ 16 ต.ค. 63 บริเวณแยกปทุมวัน ที่มีผู้ชุมนุมประมาณ 50-60 คน แต่งกายด้วยเสื้อยืดสีดำ พร้อมตะโกนขับไล่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งมีการแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว และผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตํารวจ กองกํากับการควบคุมฝูงชนทําการกระชับพื้นที่ โดยประกาศเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงกระชับพื้นที่ด้วยการฉีดน้ำ แต่ปรากฏว่าผู้ถูกจับไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมเห็นว่าผู้ถูกจับทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงจับกุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน 

2. พรพสุธ และชลธิชา ถูกกล่าวหาว่า “ ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และนํายานพาหนะซึ่งบรรทุกเครื่องขยายเสียงและเครื่องกําเนิดไฟฟ้า เคลื่อนที่เข้ามาใช้ในพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดรถยนต์,  เครื่องกําเนิดไฟฟ้าเคลื่อนที่, แท่นขยายเสียง, ลําโพง , ไมค์ , แอมป์ขยายเสียง, ปลั๊กพ่วง และถังสี ไว้เป็นของกลาง พรพสุธ ให้การภาคเสธ รับว่ารถยนต์ของกลางเป็นของตนเองและเป็นผู้ขับเข้าที่ชุมนุม แต่เครื่องเสียงไม่ใช่ของตน ส่วนชลธิชา ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

สำหรับพฤติการณ์ที่ทั้งสองถูกกล่าวหาคือ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 ผู้ถูกจับได้ร่วมกับพวกจัดการชุมนุม หลังมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร พรพสุธได้ขับรถยนต์พร้อมเครื่องเสียงเข้าไปยังพื้นที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกปทุมวัน ใช้เป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ ชุดจับกุมจึงได้เข้าแฝงตัวเป็นผู้ร่วมชุมนุมเพื่อบันทึกภาพในระยะใกล้ชิด และได้เห็นพฤติการณ์การกระทําความผิด โดยกลุ่มผู้ต้องหาได้เคลื่อนตัวออกจากแยกปทุมวันหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้ยุทธวิธีในการสลายการชุมนุม ชุดจับกุมจึงได้สะกดรอยติดตามเพื่อทําการจับกุมในทันทีทันใดและโดยขณะก่อนเข้าทําการจับกุม ชุดจับกุมได้แต่งกายนอกเครื่องแบบเพื่ออําพรางสะกดรอยติดตามกลุ่มผู้กระทําความผิด ก่อนแสดงตัวเข้าจับกุม และส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตามกฎหมาย 

.

ไม่อนุญาตฝากขัง 8 ผู้ต้องหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จาก #ม็อบ16ตุลา

17 ต.ค. 63 เวลา 9.50 น. ผู้ถูกจับกุมจากการสลายการชุมนุม #ม็อบ16ตุลา คืนวานนี้ รวม 8 คน ถูกควบคุมตัวถึงศาลแขวงปทุมวัน พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหาทั้งแปดไว้ในระหว่างการสอบสวน เป็นเวลา 6 วัน ตั้งแต่ 17-22 ต.ค. 63

ต่อมา เวลา 10.40 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนผัดฟ้อง เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่ยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา เนื่องจากผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ผู้ถูกจับกุมทั้งแปดจึงได้รับการปล่อยตัวแล้ว

.

.

ให้ประกันตัว ทัตเทพ-สมบัติ-ชินวัตร ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์

17 ต.ค. 63 เวลา 11.30 น. ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี แกนนำเยาวชนปลดแอก, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมกลุ่มนนทบุรีปลดแอก และสมบัติ ทองย้อย คนเสื้อแดง ถูกควบคุมตัวถึงศาลแขวงปทุมวันเพื่อขออำนาจศาลฝากขังไว้ในระหว่างสอบสวน หลังในช่วงดึกคืนวานนี้ ทั้งสามถูกจับกุมตามหมายจับศาลแขวงปทุมวัน ลงวันที่ 16 ต.ค. 63 ฐานเป็นบุคคลตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี เป็นเวลา 1 คืน เพื่อทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา

พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหา เป็นเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 17-22 ต.ค. 63 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพียง 48 ชั่วโมงก่อนส่งฟ้อง ทั้งนี้ หากศาลอนุญาต ทั้งสามจะถูกนำตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

เวลา 11.43 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหาทั้งสาม ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากเป็นการจับตามหมายจับ

ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสามคนโดยใช้เงินสดจากกองทุนนิรนามเป็นหลักทรัพย์ประกันคนละ 20,000 บาท ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยให้ทั้งสามมารายงานตัวในวันที่ 16 พ.ย. 63

ทัตเทพ-ชินวัตร-สมบัติ ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จากพฤติการณ์ “ปรากฏตามในพื้นที่ที่มีการชุมนุม บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63” ในชั้นสอบสวนทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ ในระหว่างควบคุมตัวทัตเทพไป บก.ตชด.ภาค 1 กลางดึกคืนวาน โดยมี เจมส์-ภานุมาศ ติดตามขึ้นรถไปด้วยในฐานะผู้ไว้วางใจ และเจมส์ได้ใช้โทรศัพท์มือถือไลฟ์สดเพื่อรายงานสถานการณ์บนรถ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจห้าม และพยายามแย่งโทรศัพท์จากเจมส์ จนเจมส์เลือดออก และยุติการไลฟ์ไป
.

X