คำสั่งหรือประกาศของ คสช. แม้พระมหากษัตริย์มิได้ทรงตราฯ ย่อมมีสถานะเป็นกฎหมาย ศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นคดีรำลึกรัฐประหารหน้าหอศิลป์ฯ

7 มิ.ย. 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังความเห็นเกี่ยวกับเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลในคดีกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ฯ โดยศาลแขวงปทุมมีความเห็นพ้องกับศาลทหารกรุงเทพว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ ด้านนัชชชา กองอุดม จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศ คสช. ที่ 37 และ 38/2557 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

เวลา 11.15 น. พ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ, พ.อ.นิรันต์ กำศร, และ น.อ.สุรชัย สลามเต๊ะ องค์คณะตุลาการศาลทหารออกนั่งพิจารณาคดีที่ชาติชาย แกดำ และนัชชชา กองอุดม จำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ถูกฟ้องว่าขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จากการร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารหาร 22 พ.ค. 2557 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558

ศาลอ่านความเห็นของศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งเป็นศาลที่จำเลยเห็นว่ามีอำนาจพิจารณาพิพากษาในคดีนี้ และได้ยื่นคำร้องขอโต้แย้งเขตอำนาจศาลไปเมื่อ 5 พ.ย. 2558 ใจความโดยสรุปว่า ที่จำเลยที่ 2 ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย อีกทั้งประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 หัวหน้า คสช. ได้ออกประกาศในฐานะเป็นผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไปด้วย และจำเลยที่ 2 มีสถานะเป็นพลเรือน จึงมิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คือ ศาลแขวงปทุมวัน

ศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นว่า เมื่อ คสช. ได้เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คสช. ย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิก และออกกฎหมายตามระบบแห่งการควบคุมอำนาจ เพื่อบริหารประเทศต่อไปได้ มิฉะนั้น ประเทศชาติจะตั้งอยู่ด้วยความไม่สงบไม่ได้

คำสั่งหรือประกาศของ คสช. แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและความยินยอมของรัฐสภาของประเทศ ย่อมมีสถานะเป็นกฎหมาย อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บรรดาประกาศ และคำสั่ง คสช. เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และประกาศ คสช. ที่ 37/2557 จึงเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับได้ และถือว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งอาศัยอำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเทียบเท่ากับ พ.ร.บ. ซึ่งตราโดยรัฐสภา และถือว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งบัญญัติให้การมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นการกำหนดความผิดและโทษไว้ จึงมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายอาญา ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ม.2

ส่วนประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ปรากฏว่า คสช. ได้ออกประกาศดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจของ คสช. ในฐานะที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์เองโดยตรง ไม่ปรากฏว่าได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เป็นแม่บทหรือฐานอำนาจในการออกประกาศฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด จึงถือว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเทียบเท่ากับ พ.ร.บ. ซึ่งตราโดยรัฐสภาเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีสถานะเป็นกฎหมายลำดับรองหรืออนุบัญญัติตามที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ดังกล่าวสิ้นผลไปพร้อมกับประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกหรือไม่

ศาลแขวงปทุมวันยังวินิจฉัยอีกว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่า จำเลยได้มีความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถือเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ที่ 37/2557

ส่วนที่จำเลยที่ 2 โต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นพลเรือน มิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ศาลแขวงปทุมวันเห็นว่า ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 มีสถานะเป็นกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายเฉพาะ ที่กำหนดเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารเป็นการนอกเหนือจาก พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498

เมื่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 มิได้บัญญัติสถานะของผู้กระทำผิดไว้เป็นการเฉพาะ เหมือนเช่น พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 จึงต้องถือว่า พลเรือนที่กระทำความผิดในฐานความผิด สถานที่ วัน และเวลาที่กระทำความผิดตามที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 บัญญัติไว้ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารด้วย

ความเห็นของศาลแขวงปทุมวันเป็นความเห็นที่พ้องกับศาลทหารกรุงเทพว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ และถือว่าคำสั่งเรื่องเขตอำนาจศาลนี้เป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2552 มตรา 10 วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม นัชชชา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 5 และมาตรา 10 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 และมาตรา 26 และไม่อาจนำบทบังคับใช้ดังกล่าวมาบังคับใช้กับจำเลยในคดีนี้ พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเลื่อนการพิจารณาและพิพากษาคดีออกไปก่อน เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลมีความเห็นว่า คำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดที่ศาลจะต้องพิจารณาหลายประเด็น และขอเวลาให้โจทก์ได้อ่านรายละเอียดคำร้องพร้อมทำความเห็นคัดค้านคำร้องของจำเลยเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน จึงให้รอการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว โดยศาลจะนัดคู่ความมาฟังความเห็นหรือคำสั่งศาลต่อไป

X