10 ปรากฏการณ์สิทธิมนุษยชน รอบปี 2561

ปี 2561 ย่างเข้าปีที่ 5 ที่สังคมไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร การปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก, การจับกุมคุมตัวเข้าค่ายทหาร, การกล่าวหาดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อปิดปากและสร้างภาระทางคดี, การใช้ศาลทหารพิจารณาพลเรือน, ปฏิบัติการข่มขู่คุกคามในรูปแบบต่างๆ ยังเป็นการละเมิดที่เกิดขึ้นและถูกทำให้กลายเป็น “เรื่องปกติ” ปีแล้วปีเล่า

ขณะที่ความต้องการกลับคืนสู่สภาวะปกติของประชาชน นำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องของประชาชนกลุ่มต่างๆ ภายใต้ความเสี่ยงนานาเหล่านั้น ทั้งการเรียกร้องการเลือกตั้ง, การตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ปกครอง, การเรียกร้องเรื่องปากท้องหรือสิทธิเหนือทรัพยากรท้องถิ่นของตน, การโพสต์แสดงความคิดเห็นของตนบนโลกออนไลน์ เป็นต้น

ส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะผ่านไป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมปรากฏการณ์สำคัญบางส่วนที่สะท้อนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังดำเนินอยู่ และการพยายามดิ้นรนต่อสู้กับภาวะดังกล่าวของประชาชน เพื่อหวังว่าปีต่อๆ ไป “ภาวะปกติ” ที่พลเมืองได้รับการเคารพในสิทธิเสรีภาพจะเกิดขึ้นเสียที

“กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” กลุ่มผู้ต้องหาจำนวนมากที่สุดในรอบปี

ภาพโดย Banrasdr Photo

ปี 2561 นับได้ว่าเป็นปีที่เริ่มนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง  นำไปสู่บรรยากาศที่ประชาชนกลับมาตื่นตัวทางการเมืองหลังจากถูกควบคุมปิดกั้นมานานจวนครบ 5 ปี  ซึ่งหาการเลือกตั้งไม่ถูกเลื่อนออกไป ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปบริหารประเทศอีกครั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562   

แต่ก่อนที่ประชาชนทั่วไปหรือนักการเมืองจะได้ออกมาเดินหน้าสู่การเลือกตั้งครั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 2561 มีกลุ่มประชาชนออกมาชุมนุมและแสดงออกถึงเจตนารมณ์ไม่ยอมรับการเลื่อนการเลือกตั้งของ คสช. เรียกร้องกดดันให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว หลัง คสช. มีท่าทีผัดผ่อนไม่ยอมประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนเรื่อยมา โดยกลุ่มที่ต่อมาถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ออกมาชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงออกถึงเป้าหมายดังกล่าว อย่างน้อย 8 ครั้ง ตามสถานที่ต่างๆ

ต่อมา กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกได้ว่าเป็นอิฐก้อนแรกๆ สู่การเลือกตั้งเหล่านี้ กลับถูกดำเนินคดีจากการเรียกร้องดังกล่าว ด้วยข้อกล่าวหาทั้งจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ หรือไปจนกระทั่งพ.ร.บ.การจราจรทางบก แตกต่างกันออกไป

การชุมนุมดังกล่าว ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาดำเนินคดีจำนวน 10 คดี แต่ละคดีมีการใช้ชื่อย่อต่างกันไปตามสถานที่ชุมนุมและจำนวนผู้ถูกดำเนินคดี ได้แก่  MBK39, RDN50, ARMY57, CMU06, PATTAYA12 และ UN62 โดย MBK39, RDN50, ARMY57, และ UN62 ถูกฟ้องแยกเป็น 2 คดี ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  นับเป็นกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีจากจุดมุ่งหมายเดียวกันมากที่สุดในปี 2561 โดยมีผู้ต้องหารวมกันจำนวน 130 คน บางรายก็ถูกดำเนินคดีซ้ำมากกว่า 1 คดี จากการร่วมชุมนุมคนละครั้งกัน

คดีของคนอยากเลือกตั้งเหล่านี้ยังดำเนินอยู่ต่อไป แม้ประเทศจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งแล้วก็ตาม นับเป็นบทสะท้อนถึงภาวะเสรีภาพในการแสดงออกก่อนการเลือกตั้งที่ดูจะไม่เสรีและเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่ง    

คดีชาวบ้าน “ดอยเทวดา”: บทบาททหารที่สุดแห่งปี

ตลอดระยะเวลา 4 ปีกว่า หลังการยึดอำนาจของ คสช. กองทัพได้ขยายบทบาทเข้าไปแทรกอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน แม้จะมีความพยายามปิดกั้น-หลีกเลี่ยงการตรวจสอบเหล่านั้น ทั้งการปิดกั้นสื่อ, การกดดันดำเนินคดีผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารต่อการแสดงความคิดเห็นต่างๆ  

สำหรับปี 2561 พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และเป็นประเด็นในสื่ออย่างกว้างขวางกรณีหนึ่ง ได้แก่ พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารใน จ.พะเยา รายหนึ่ง ต่อกรณีที่กลุ่มชาวบ้านเกษตรกรบ้านดอยเทวดาได้ออกมาเดินเท้าในหมู่บ้านเพื่อสนับสนุนกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” ของเครือข่าย People Go  ทำให้ชาวบ้านจำนวน 10 คน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

ระหว่างกระบวนการทางกฎหมายในคดีดังกล่าว ชาวบ้านดอยเทวดาพยายามเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี ผ่านการร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ จนทำให้ทหารในพื้นที่เกิดความไม่พอใจ จนถึงขนาดที่เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าวรายหนึ่งชูนิ้วกลางใส่กล้องถ่ายทอดสดของเครือข่าย People Go Network ที่ศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา แม้ทหารรายดังกล่าวจะยืนยันว่าตนเพียงแค่สะบัดมือ แต่ต่อมาทั้งทหารรายดังกล่าวและแม่ทัพภาค 3 ก็ออกมาขอโทษชาวบ้าน และถูกคำสั่งย้ายออกจากพื้นที่ จ.พะเยา ในที่สุด

ต่อมา การดำเนินคดีต่อชาวบ้านดอยเทวดายังได้ยุติลง เมื่อทั้งตำรวจและอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าการแสดงออกของชาวบ้านไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารในกรณีนี้ตั้งแต่การเรียกมาสอบ การคุมตัวในที่สถานีตำรวจกลางดึก การกล่าวหาดำเนินคดี และการกดดันชาวบ้านด้วยวิธีการต่างๆ ก็สะท้อนถึงตัวอย่างการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนที่ควรถูกบันทึกไว้ในรอบปีนี้

พ.อ.บุรินทร์: นายทหารผู้รับมอบอำนาจมาแจ้งความมากที่สุด

นับตั้งแต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 จนกระทั่งปัจจุบัน พบว่าในปี 2561 มีผู้ขอรับความช่วยเหลือทางคดีทั้งสิ้น 140 คน คิดเป็นจำนวน 31 คดี ในความผิดซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เช่น การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (9 คดี) ยุยงปลุกปั่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 – 5คดี) หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (มาตรา 112-5 คดี) และการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ (4 คดี) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในอย่างน้อย 17 คดี

เฉพาะปี 2561 กรณีที่ คสช. มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่เข้ากล่าวหาดำเนินคดีต่อบุคคลกลุ่มผู้จัดกิจกรรม เพื่อสกัดกั้นมิให้ชุมนุมโดยสงบซึ่งควรสามารถกระทำได้ มีอย่างน้อย 8 คดี มากที่สุดคือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. จำนวน 5 คดี

ที่มากไปกว่าการแจ้งความดำเนินคดีโดย คสช. คือการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการและตามอำเภอใจ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ยังคงมีอยู่และยังทวีความรุนแรง เมื่อมีการนำข้อเท็จจริงและคำรับสารภาพที่ได้จากการ “ซักถาม” ภายในค่ายทหาร มาใช้ประกอบการขอออกหมายจับหรือดำเนินคดีในศาลยุติธรรมอย่างน้อยใน 2 คดี ขณะเดียวกัน ผู้ถูกดำเนินคดีบางส่วนยังถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นอันเกี่ยวเนื่องจากคดีข้างต้น โดยพนักงานสอบสวน (ความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่) หรือโดยศาล (ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล)  อีกด้วย

อานนท์-จ่านิว-โรม: 3 ผู้ถูกดำเนินคดีมากที่สุดตั้งแต่หลังรัฐประหาร

ภาพโดย Banrasdr Photo

นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ การใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนก็ถูกจำกัด และมีผู้ถูกคุกคามจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว ไปจนถึงถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐหรือทุน เพื่อปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ของตน เช่น กรณีเหมืองแร่ทองคำ-เหมืองแร่โปรแตช กรณีที่ดินป่าไม้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือแม้แต่กรณีกลุ่มนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ตรวจสอบการทุจริต หรือเรียกร้องการเลือกตั้ง

ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี ผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกกล่าวหาดำเนินคดีถึง 11 คดี รองลงมาคือสองนักกิจกรรม “จ่านิว” หรือนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกกล่าวหาจำนวน 10 คดี และนายรังสิมันต์ โรม ถูกกล่าวหาจำนวน 9 คดี

ทั้งสามคนล้วนถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทั้งสิ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีข้อกล่าวหาที่ซ้ำกันในหลายคดีอยู่ 3 ข้อหาหลักๆ คือ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  จึงอาจอนุมานได้ว่า ทั้งสามข้อหาเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองภายใต้ระบอบ คสช. ซึ่งประชาชนอีกหลายร้อยคนก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเหล่านี้เช่นกัน

ข้อหาที่มีการดำเนินคดีมากที่สุด

ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 แห่งการครองอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. นอกจากมีการใช้กำลังในการยึดอำนาจแล้ว การใช้กฎหมายเพื่อจัดการประชาชนในฐานะเป้าหมายทางการเมืองก็เป็นไปอย่างกว้างขวางก็เป็นวิธีการหนึ่งในการครองอำนาจยาวนานของคณะรัฐประหาร ซึ่งการใช้กฎหมายดังกล่าว มีหลากหลายตั้งแต่การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก, อำนาจตามรัฐธรรมชั่วคราว พ.ศ. 2557, การใช้อำนาจตามประกาศ/คำสั่งของ คสช., การตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติขึ้นมาเป็นการเฉพาะ, รวมถึงการถ่ายโอนคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเข้าไปไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ทั้งหมดส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเผชิญกับการถูกตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งมีบทลงโทษตั้งแต่เสียค่าปรับเล็กน้อยไปจนกระทั่งการถูกจองจำยาวนาน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า นับแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา ข้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับการเมืองที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีมากที่สุด คือ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 79 คดี จำเลยอย่างน้อย 108 คน จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก การแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และรวมไปถึงการดำเนินคดีต่อผู้ป่วยจิตเวช

ส่วนข้อหาที่มีผู้ถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำนวนอย่างน้อย 43 คดี จำเลยอย่างน้อย 341 คน ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์ประชามติ และเรียกร่้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้ง โดยส่วนใหญ่คดีความยังไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะคดีที่พิจารณาในศาลทหารนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า

6,440,000 บาท: ยอดเงินประกันตัวรอบปี 2561

ปี 2561 เป็นปีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีลูกความหน้าใหม่มากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งมา นับถึงวันที่ 30 พ.ย. 2561 มีคนที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีในยุค คสช. มาก่อนจำนวน 141 คน แต่หากรวมผู้เคยถูกดำเนินคดีแล้วก็จะมากถึง 254 คน ที่ถูกดำเนินคดีในปีนี้ ส่วนใหญ่มาจากคดีการทำกิจกรรมของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ในพื้นที่ต่างๆ

ปริมาณผู้ต้องหาและจำเลยที่มาก ก็มาพร้อมค่าใช้จ่ายในการประกันตัวซึ่งกลายเป็นภาระของผู้ถูกกล่าวหา โดยมีคดีที่ใช้หลักประกันตัวรวมกันสูงสุด ใช้หลักทรัพย์มูลค่าถึง 1,500,000 บาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา 15 คน ในคดีคนอยากเลือกเลือกตั้ง ชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ ซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 2561

หากนับเป็นรายบุคคล คดีที่ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวมูลค่าสูงสุดเป็นคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยสกันต์ (สงวนนามกุล) จำเลยในศาลอาญา และอัญชัญ (สงวนนามกุล) จำเลยในศาลทหารกรุงเทพ ใช้หลักทรัพย์เท่ากันที่ 500,000 บาท เป็นหลักประกันการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล เช่นเดียวกับณัฐพรรณ์ หลุ่มบางล้า จำเลยคดีครอบครองระเบิด RGD5 ในศาลทหารกรุงเทพที่ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน ก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท

ทั้งปีนี้ นับถึงวันที่ 30 พ.ย. 2561 ลูกความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนใช้หลักทรัพย์ประกันมูลค่ารวม 6,440,000 บาท ที่น่าสนใจคือ ปีนี้เป็นปีที่เริ่มใช้อุปกรณ์ติดตามตัวหรือ EM ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่มีหลักทรัพย์ใช้เงินน้อยลงแลกกับการติดอุปกรณ์ ก็อาจได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็สร้างภาระในการใช้ชีวิตปกติเมื่อต้องมีอุปกรณ์ดังกล่าวติดอยู่กับตัวตลอด 24 ชั่วโมง  

“เอกชัย” ผู้ไม่หวาดหวั่น: เดินหน้าทำกิจกรรมต่อเนื่องแม้ถูก ฉุด-ตี-คดี ตลอดปี

ภาพโดย Banrasdr Photo

ตั้งแต่เกิดกรณี “นาฬิกาป้อม” หรือนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อปีที่แล้ว กระทั่งเรื่องเริ่มหายไปจากหน้าสื่อ แต่ยังมีคนที่กัดไม่ปล่อย คอยทวงถามเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบที่มาของนาฬิการาคาแพงทั้ง 25 เรือนอย่างต่อเนื่อง

เอกชัย หงส์กังวาน คือบุคคลที่ยังคงติดตามเรียกร้องเรื่องนี้อยู่จนถึงขั้นเลือดตกยางออก จากเหตุชายนิรนาม 3 คนดักทำร้ายที่บริเวณทางเข้าบ้านย่านลาดพร้าวเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2561 หลังเขาเดินทางกลับจากทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทุจริตและที่มาของนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร แต่ปัจจุบันคดีที่เอกชัยถูกทำร้ายร่างกายก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ก่อนหน้านั้นไม่กี่สัปดาห์ เอกชัยยังถูกคนลอบปาน้ำปลาร้าใส่ และเคยถูกตำรวจคุมตัวไปจากหน้าบ้านของตนเอง ก่อนที่เขาจะเดินทางไปร่วมรดน้ำดำหัว พล.อ.ประวิตร ถึงบ้านในวันสงกรานต์ที่ผ่านมาด้วย

แต่ใช่เพียงเรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร ที่เอกชัยตามติด ล่าสุดหลัง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ตอบคำถามนักข่าวว่า “หากการเมืองไม่เป็นเหตุให้เกิดจลาจล ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น” หลังถูกนักข่าวถามว่าจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่ เอกชัยก็เดินหน้าแจ้งความ ผบ.ทบ. คนล่าสุด ฐานเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 แต่กลายเป็นว่าถูกแจ้งความกลับด้วยข้อหาแจ้งความเท็จ

ตลอดปีที่ผ่านมา เอกชัยถูกดำเนินคดีหลายคดี แบ่งเป็น 3 คดี จากการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้ง ร่วมกับกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง”  อีกคดี คือ คดีโพสต์เล่าประสบการณ์ชีวิตในเรือนจำของตนเอง ซึ่งถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ทำให้ปีนี้ปีเดียวเขามีคดีสะสมอยู่ถึง 5 คดี ที่มาพร้อมประสบการณ์การเรียกร้องให้ตรวจสอบกองทัพแทบทุกเดือน

ปีแห่งคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์: แก้ไขแล้ว แต่คดียังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หลังจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ประกาศใช้ โดยมีเนื้อหาบางส่วนถูกแก้ไขโดยเฉพาะมาตรา 14 ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมานานว่ามีการนำมาใช้กับเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตประกอบการดำเนินคดีหมิ่นประมาท และการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพราะควรถูกใช้แต่กับประเด็นการปลอมแปลงทางเทคนิคคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ปีที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้ ก็ยังมีแนวโน้มถูกนำมาใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอยู่เช่นเดิม

เห็นได้จากจำนวนคดีที่มีการใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มาแจ้งความดำเนินคดี เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามพบว่า มีคดีใหม่จำนวน 14 คดี ในปีนี้ ดำเนินคดีกับบุคคลที่แชร์โพสต์จากแฟนเพจ ได้แก่ กรณีแชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” และ “KonThaiUK” หรือแม้กระทั่งแฟนเพจที่มีเนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองโดยตรงอย่าง “CSI LA” ทั้ง 3 กรณีมีผู้ถูกดำเนินคดีรวมกันอย่างน้อย 28 คน โดยโพสต์ที่ถูกแชร์ต่อออกไปเป็นเพียงการวิจารณ์หรือตั้งข้อสังเกตต่อการทำงาน การใช้งบประมาณหรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และ คสช. เท่านั้น ไม่รวมถึงการขู่ตั้งข้อหากับผู้ที่แชร์คลิปเพลง “ประเทศกูมี”

แม้กระทั่งการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่รวม 3 คน วิจารณ์การ “ดูด” อดีต ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมกลุ่มที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานำเข้าข้อมูลเท็จที่อาจจะกระทบความมั่นคงได้ แม้ในช่วงเวลาเดียวกันทางกลุ่มสามมิตรเองก็แสดงตัวชัดเจนในประเด็นนี้ และสื่อก็นำเสนอเป็นการทั่วไป แต่ไม่มีบุคคลอื่นถูกดำเนินคดีจากกรณีนี้เพิ่มอีก

ในปีนี้ นักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรม และนักการเมือง ที่มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นต่อสังคม จึงตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาจากคดีจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลายราย อาทิ  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล, อานนท์ นำภา, วัฒนา เมืองสุข, พิชัย นริพทะพันธุ์, เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต หรือ “หมวดเจี๊ยบ”, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, แกนนำพรรคเพื่อไทยแถลงผลงาน คสช. รวมทั้งกรณีเอกชัย หงส์กังวาน โพสต์เล่าประสบการณ์ชีวิตในเรือนจำของตนเอง

1,643 วันของสิรภพ: คดีอันแสนล่าช้า และการเลื่อนอันไม่สิ้นสุด

ปัจจุบันในคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย มีคดีที่พลเรือนยังต้องขึ้นศาลทหาร อีกจำนวน 28 คดี เป็นที่ทราบว่าคดีในศาลทหารมีกระบวนการพิจารณาเนิ่นนานและเลื่อนสืบพยานบ่อยครั้ง นอกจากนี้จำเลยส่วนหนึ่งที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือ ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว แม้ว่าจะมีการยื่นประกันหลายครั้ง

หนึ่งในจำเลยผู้ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวและถูกคุมขังยาวนานที่สุดคือ นายสิรภพ หรือ “รุ่งศิลา” นักเขียนและกวีการเมือง ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการเขียนบทกวีและเผยแพร่ข้อความในเว็บไซต์จำนวน 3 ข้อความ  นับตั้งแต่การฝากขังครั้งแรกจนถึงสิ้นปี 2561 สิรภพถูกคุมขังมาแล้วจำนวน 1,643 วัน หรือราว 4 ปี 5 เดือน โดยยื่นประกันตัวกว่า 7 ครั้ง แต่ศาลทหารไม่อนุญาต

คดีของสิรภพยังเป็นพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารยาวนานเป็นอันดับ 2  คือถูกดำเนินคดีมาแล้วจำนวน 1,560 วัน ตั้งแต่คดีถูกสั่งฟ้องเข้าสู่ชั้นศาล มีการสืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 3 ปากในเวลาสี่ปีครึ่ง โดยพยานโจทก์ซึ่งเป็นพลเรือน 2 ใน 3 ปากนั้น ไม่มาศาลด้วยเหตุผลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงเหตุที่อัยการไม่สามารถติดตามพยานมาได้ จนทำให้เกิดการเลื่อนสืบพยานถึง 7 ครั้ง

ส่วนคดีที่ครองแชมป์การพิจารณายาวนานที่สุดคือคดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการโพสต์ชวนชู 3 นิ้ว หลังรัฐประหาร ใช้เวลานับตั้งแต่ฟ้องคดีไปแล้ว 1,617 วัน และปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างสืบพยานจำเลย

หากคำนวณออกมาเป็นวันเวลาที่เสียไปแล้ว ก็นับว่าสิรภพต้องรอคอยให้มีการสืบพยานอีกครั้ง รวมทั้งสิ้นกว่า 637 วัน โดยคิดเป็นความล่าช้ากว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของระยะเวลาตั้งแต่ถูกฟ้องคดี การพิจารณาที่ล่าช้าในศาลทหารประกอบกับการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิเบื้องต้นที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม ส่งผลกระทบสำคัญต่อชีวิตของจำเลยที่ต้องการต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง

คุณยายวัย 80 ปี กับเยาวชนวัย 18 ปี สองผู้ถูกดำเนินคดีชุมนุมต่างวัย

เรียกได้ว่าปี 2561 เป็นปีแห่งการเรียกร้องการเลือกตั้ง ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งคณะรัฐประหารครองอำนาจมานานเกิน 4 ปี และการเลือกตั้งก็ทำท่าจะเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ การชุมนุมของ “คนอยากเลือกตั้ง” ที่ปรารถนาบรรยากาศเปิดในแบบสังคมประชาธิปไตย จึงเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง และถูก คสช. แจ้งความดำเนินคดีแทบทุกครั้ง และไม่เลือกว่าจะเป็นคนในวัยใด

ผู้ถูกกล่าวหาที่ครองแชมป์จำเลยที่อายุมากที่สุดแห่งปี มาจากการใช้เสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออก ได้แก่ คุณยายกองมาศ รัศมิทัต ผู้ชุมนุมวัย 80 ปี ขณะที่ผู้ถูกดำเนินคดีในกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่อายุน้อยที่สุดคือ ธนวัฒน์ พรหมจักร นักศึกษาวัย 20 ปี ทั้งสองถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมแล้วเดินขบวนไปหน้ากองทัพบก ธนวัฒน์ยังถูกดำเนินคดีอีกคดีจากการขึ้นเวทีปราศรัยในการชุมนุมวาระครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร ทั้งนี้ หากศาลเห็นว่า การเข้าร่วมชุมนุมของคุณยายกองมาศ และการขึ้นปราศรัยของธนวัฒน์ เพื่อให้ คสช. จัดการเลือกตั้งในปี 2561 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย คุณยายในวัย 80 กว่า อาจมีโทษสูงสุดคือจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ขณะที่ธนวัฒน์อาจมีโทษสูงสุดถึงจำคุกคดีละ 7 ปี จากข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

พบด้วยว่า ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีคนอยากเลือกตั้ง 130 คน เป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ถึง 26 คน หรือร้อยละ 20 พอๆ กับจำนวนคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งถูกดำเนินคดี 28 คน โดยมากกว่าครึ่งยังเป็นนักศึกษา

ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีที่อายุน้อยที่สุด มากจากกลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา จ.พะเยา ซึ่งจัดกิจกรรมเดินในหมู่บ้านเพื่อสนับสนุนกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” เพื่อร่วมเรียกร้องในประเด็นปัญหาที่ดิน และการใช้สิทธิเสรีภาพ ก่อนถูกทหารแจ้งความดำเนินคดี  โดยนายบุญยืน แสงแก้ว เยาวชนวัย 18 ปี ถูกดำเนินคดีร่วมกับชาวบ้านและนักศึกษารวม 10 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปี ถึง 3 คน อย่างไรก็ตาม คดีนี้ตำรวจและอัยการมีความเห็นไม่ฟ้องคดี ทำให้คดีสิ้นสุดลงแล้ว

เห็นได้ว่า ในยุคสมัยที่ผู้กุมอำนาจบริหารประเทศ ใช้และสร้างกฎหมายมากมายควบคุมประชาชน และวางแผนประเทศไปอีก 20 ปี เกินกว่าครึ่งเป็นคนวัยเกษียณหัวอนุรักษ์นิยม (ร้อยละ 60 ของ คสช., ร้อยละ 75 ของ สนช. และกว่าร้อยละ 65 ของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ) ก็ยังมีคนในวัยเดียวกันอีกส่วนหนึ่งลุกออกมาปฏิเสธสิ่งเหล่านั้นร่วมกับวัยรุ่นอายุน้อย ภาพหวังต่ออนาคตของคนทั้งสองกลุ่มคงแตกต่างกัน และผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับในวันนี้ก็ต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่เชื่อว่าคนกลุ่มหลังยังมีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพไม่ว่าในปีหน้าหรือปีต่อไป

X