วันที่ 30 ก.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในคดีของ 2 เยาวชนนักกิจกรรม ได้แก่ “ฮาบีบี” และ “แซน” จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้ามืดและต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 28 มี.ค. 2564
ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 6,000 บาท ตามศาลชั้นต้น ส่วนในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น พิพากษาแก้เป็นยกฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ยังคงลงโทษปรับ 90 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับจำเลยที่ 1 (ฮาบีบี) 4,000 บาท และปรับจำเลยที่ 2 (แซน) 4,060 บาท
.
คดีนี้ฮาบีบีและแซนต่อสู้คดีโดยยืนยันว่า กิจกรรมการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าที่หน้าทำเนียบฯ เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวาย และเป็นไปตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ในระหว่างกิจกรรม อีกทั้งทั้งคู่ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม เป็นเพียงแต่ผู้เข้าร่วมเท่านั้น
วันที่ 24 ส.ค. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาในคดีนี้ สรุปได้ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด
ขณะกระทำความผิด จำเลยทั้งสอง อายุ 15 ปีเศษ จึงลดอัตราโทษให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมการชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุมในสถานที่แออัด ปรับคนละ 6,000 บาท และฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 90 บาท รวมปรับคนละ 6,090 บาท
เนื่องจากการนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 4,060 บาท
ต่อมา ฮาบีบีและแซนได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลเยาวชนฯ ต่อศาลอุทธรณ์ นำมาสู่การนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้
.
พิพากษาแก้ ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ยกฟ้องฮาบีบี ส่วนข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่าการกระทำจำเลยทั้งสองเป็นความผิด คงปรับคนละ 4 พัน
วันนี้ (30 ก.ย. 2566) เวลา 09.10 น. ที่หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 10 ฮาบีบีและแซนทยอยเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมที่ปรึกษากฎหมาย ต่อมา เจ้าหน้าที่ศาลได้เรียกให้จำเลยและที่ปรึกษากฎหมายเข้าห้องพิจารณาคดี โดยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าร่วม
ต่อมาเวลาประมาณ 10.20 น. ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่า แม้ไม่ปรากฏภาพจำเลยทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุม แต่จับกุมจำเลยทั้งสองได้ในที่เกิดเหตุ จึงพิจารณาได้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุม แม้สถานที่ชุมนุมบริเวณถนนเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แต่มีคนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นสถานที่แออัด
ส่วนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงนั้น แม้ไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ออกข้อกำหนดเพิ่มเติม แต่เห็นว่าประกาศดังกล่าวออกข้อกำหนดในเรื่องเดียวกันและเกี่ยวพันกับข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อความปลอดภัยและควบคุมโรคระบาด หัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ จึงมีอำนาจออกประกาศดังกล่าวได้
เห็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมชุมนุมจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบ เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ เห็นว่า ไม่ปรากฏในคำฟ้องว่า มีคำขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 (ฮาบีบี) ในฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้
ส่วนจำเลยที่ 2 (แซน) นั้น แม้ไม่ปรากฏภาพจำเลยที่ 2 ใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุม แต่มีพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่สองเป็นผู้ช่วยพิธีกร พยานไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงเชื่อว่าเบิกความตามความเป็นจริง ให้ลงโทษปรับ 90 บาท ทางการนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับ 60 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
.
อนึ่ง เกี่ยวกับการชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ดังกล่าว เป็นการปักหลักชุมนุมพักแรมใกล้ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564 เพื่อยืนยัน 4 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ ให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วม “ราษฎร” ที่ถูกจับกุมคุมขัง, จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งในช่วงเย็น ยังมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ทำกิจกรรมคัดค้านการจับกุมผู้ร่วมหมู่บ้านทะลุฟ้าอีก
รวมแล้ว วันดังกล่าวมีนักกิจกรรม ประชาชน และเยาวชนถูกจับกุมไปทั้งหมดรวมถึง 99 คน ถูกนำตัวไปควบคุมที่กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ซึ่งนับเป็นกรณีที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมมากที่สุดในช่วงปี 2563-64
ต่อมาอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนฯ จำนวน 3 คน โดยเยาวชน 1 ราย ได้ยินยอมเข้าสู่มาตรการพิเศษแทนการพิพากษา ส่วนฮาบีบีและแซนตัดสินใจต่อสู้คดี
ส่วนคดีของผู้ใหญ่ซึ่งแยกเป็น 2 คดีนั้น ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาแล้ว 1 คดี ได้แก่ คดีการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเย็นวันที่ 28 มี.ค. 2564 เพื่อประณามการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ในช่วงเช้ามืดของวันนั้น ซึ่งมีจำเลยทั้งหมด 32 คน ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุดคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 10,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
ส่วนคดีของผู้ใหญ่อีกคดี ได้แก่ คดีสลายการชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ซึ่งเป็นค่ายพักแรมใกล้ทำเนียบรัฐบาล ในเช้าตรู่วันที่ 28 มี.ค. 2564 ศาลแขวงดุสิตสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น.
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง :