ประมวลคดีชุมนุมหน้าทำเนียบประณามการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” หลัง 31 นักกิจกรรม-ปชช. ยืนยันใช้สิทธิตาม รธน. ก่อนศาลพิพากษา ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่

28 ก.พ. 2567 ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเย็นวันที่ 28 มี.ค. 2564 เพื่อประณามการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ช่วงเช้ามืดของวันเดียวกันนั้น ซึ่งนักกิจกรรม ประชาชน ศิลปิน และสื่ออิสระ รวม 32 ราย ถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต หลังถูกจับกุมและดำเนินคดีในเหตุการณ์ดังกล่าว 

คดีนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 หลังการจับกุมเพียง 1 เดือน  

การสืบพยานมีขึ้นในวันที่ 1, 2, 23, 24, 29, 30 มิ.ย. 2565, 16 ก.พ., 12 ต.ค. และ 15-16 พ.ย. 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 ก.พ. นี้ ซึ่งเป็นเวลาใกล้ครบรอบ 3 ปี การถูกจับกุมดำเนินคดีของ 32 จำเลยในคดีนี้ 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มีจำเลย 1 ราย ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ ไม่ได้อยู่ร่วมการพิจารณาคดี ทำให้จะมีจำเลยมาฟังคำพิพากษาเพียง 31 รายเท่านั้น

ส่วนผู้ถูกจับกุมในระหว่างการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ช่วงเช้ามืด รวม 61 คน คดียังอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยมีนัดสืบพยานอีกในวันที่ 23 พ.ค. 2567

.

เหตุแห่งคดี: ชุมนุมประณามการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ก่อนนอนชู 3 นิ้ว รอการสลายชุมนุมรอบสอง

สำหรับ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” เป็นค่ายพักแรมใกล้ทำเนียบรัฐบาลก่อตั้งโดยกลุ่มเดินทะลุฟ้าตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564 เพื่อปักหลักทำกิจกรรมและยืนยัน 4 ข้อเรียกร้อง ได้แก่  1. ให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วม “ราษฎร” ที่ถูกจับกุมคุมขัง 2. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 4. ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก 

กระทั่ง เช้าตรู่วันที่ 28 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 05.50 น. ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 4 กองร้อย ได้นำกำลังเข้าเตรียมสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า อ้างเหตุผลว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเจ้าหน้าที่ประกาศให้เวลาเก็บของออกจากพื้นที่เพียง 3 นาที 

แต่ไม่ถึง 3 นาที เจ้าหน้าที่ก็เดินแถวเข้าจับกุมนักกิจกรรมและประชาชนที่รวมตัวอยู่ภายในหมู่บ้านทะลุฟ้า มีผู้ถูกจับกุม 67 ราย เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 6 ราย และมีพระสงฆ์ 2 รูป โดยผู้ถูกจับกุมบางรายระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่เตะระหว่างการจับกุมด้วย รวมเวลาการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าทั้งหมด 15 วัน 

หลังการควบคุมตัวในช่วงเช้า ในช่วงราว 15.00 น. กลุ่มนักกิจกรรมได้เริ่มประกาศตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าอีกครั้งที่บริเวณกลางสะพานชมัยมรุเชฐ โดยมีตัวแทนประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันอ่านแถลงการณ์ประณามการสลายการชุมนุมในช่วงเช้า และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว

ภาพโดย Mob Data Thailand

กระทั่งเวลา 18.00 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนเริ่มประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายใน 15 นาที โดยอ้างว่า ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และให้ผู้สื่อข่าวถอยออกไปจากพื้นที่ แต่ผู้ชุมนุมยังปักหลักต่อไป และแสดงอารยะขัดขืนโดยนอนลงและชู 3 นิ้วให้เจ้าหน้าที่ ต่อมา ชุดควบคุมฝูงชนได้เคลื่อนเข้าปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม และกันผู้สื่อข่าวอยู่ภายนอกวงล้อม ก่อนเริ่มทยอยจับกุมผู้ชุมนุมซึ่งนอนชู 3 นิ้ว โดยมีทั้งการหิ้วปีก และอุ้มไปขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง นำตัวทั้งหมดไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 

การจับกุมในช่วงเย็นนี้ มีประชาชนถูกจับกุมทั้งหมด 32 ราย ซึ่งมีทั้งนักกิจกรรม อาทิ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์, ปวริศ แย้มยิ่ง, กฤษณะ ไก่แก้ว, สิรภพ อัตโตหิ, เฉลิมชัย วัดจัง, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, เอเลียร์ ฟอฟิ, พิสิฏฐ์กุล ควรแถลง, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, นักร้อง ได้แก่ “เอ้”กุลจิรา ทองคง หรือ เอ้ The Voice, สื่ออิสระ ได้แก่ เชน ชีวอบัญชา และประชาชน อาทิ “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง

ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ตั้งข้อหาผู้ชุมนุมในช่วงเย็น 5 ข้อหา เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมในช่วงเช้า ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

อ่านเพิ่มเติม: สรุปคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า จับมากสุดเป็นสถิติ 99 คน แจ้ง 5 ข้อหา ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด

.

อัยการฟ้อง ปชช. 32 ราย ใน 4 ข้อหา กล่าวหา ชุมนุมแพร่โควิด-กองวัตถุบนถนน-กีดขวางจราจร-ใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมา วันที่ 27 เม.ย. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิต ใน 4 ข้อหา โดยไม่ได้ฟ้องในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ อัยการบรรยายคำฟ้องว่า

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564 จําเลยทั้งสามสิบสองได้ร่วมกันวางแผ่นพลาสติกแล้วนั่ง นอน วางตั้งก้อนกองฟาง ใช้ผ้ากางเป็นป้าย และวางสิ่งของบนช่องทางเดินรถถนนพิษณุโลก บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทําเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นทางสาธารณะในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร รถไม่สามารถแล่นผ่านได้ โดยไม่ใช่เป็นการกระทําในบริเวณที่เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกําหนด โดยไม่ได้รับอนุญาต และโดยไม่มีเหตุจําเป็น 

จากนั้นได้ร่วมกันจัดทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคที่บริเวณดังกล่าวซึ่งอยู่ในเขตที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อจัดการเสวนาและกล่าวถึงการที่เจ้าหน้าที่ตํารวจใช้กําลังเข้าสลายการชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้าในช่วงเช้า อันเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันที่ทางราชการกําหนด

จําเลยทั้งสามสิบสองยังได้จัดเสวนา และแสดงความคิดเห็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตํารวจใช้กําลังเข้าสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าแก่ผู้เข้าร่วมทํากิจกรรมดังกล่าวและประชาชนทั่วไปรับฟัง โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 

ในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยทั้ง 32 ราย ยืนยันให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดีเช่นเดิม 

.

การสืบพยาน: จำเลยต่อสู้ ใช้สิทธิการชุมนุม ไม่ได้ก่อความเสียหาย – รบกวนผู้อื่น

คดีนี้โจทก์นำพยานเข้าสืบทั้งหมด 5 ปาก ได้แก่ ผู้กำกับและชุดสืบสวน สน.นางเลิ้ง, ผู้บังคับกองร้อยควบคุมฝูงชน, ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตดุสิต และพนักงานสอบสวน พยานโจทก์ระบุในทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเสี่ยงแพร่โควิด เนื่องผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง ที่ชุมนุมไม่มีการมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทั้งไม่มีการขออนุญาต ปิดกั้นการจราจร และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ยอมรับว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ใช้สันติวิธี ที่ชุมนุมโล่งแจ้ง และมีการปิดกั้นจราจรก่อนการชุมนุมแล้ว

ฝ่ายจำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 5 ปาก เช่นกัน ได้แก่ จำเลยที่ 5 เฉลิมชัย วัดจัง ผู้ชุมนุมกับหมู่บ้านทะลุฟ้ามาตั้งแต่ต้น เพื่อนำเสนอเรื่องที่มาที่ไปของการชุมนุม การสลายหมู่บ้านไม่ชอบอย่างไร, จำเลยที่ 9 เอเลียร์ ฟอฟิ ในฐานะผู้มาร่วมชุมนุมช่วงเย็น, พัชร์ นิยมศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิในการชุมนุม, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ประจักษ์พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ และฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในช่วงสลายการชุมนุม 

ข้อต่อสู้สำคัญของฝ่ายจำเลยคือ การกระทําของจําเลยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในฐานะประชาชนผู้ได้รับความเดือนร้อนเสียหายจากการบริหารราชการที่บกพร่องของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งมิได้กระทบสิทธิของประชาชนผู้เดินทางสัญจรโดยทั่วไป หรือรบกวนความเป็นอยู่โดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ ในการสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากยังประสงค์นำเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จำเลยที่ 20 เข้าเบิกความ แต่จำเลยยังติดธุระ ไม่สามารถมาศาลในนัดดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อน และให้งดสืบพยานปากนี้ โดยอ้างเหตุว่า จำเลยทราบวันนัดสืบพยานล่วงหน้าแล้ว แต่ละเลยไม่รักษาสิทธิของตนเอง ซึ่งทนายจำเลยได้แถลงคัดค้านคำสั่งดังกล่าวไว้

คำเบิกความของพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยบางปากมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

ผกก.นางเลิ้ง รับ ปฏิบัติการของตำรวจแออัดยิ่งกว่าการชุมนุมวันเกิดเหตุ-การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ใช้สันติวิธี

เริ่มจากพยานโจทก์ปากแรก พ.ต.อ.นิมิตร นูโพนทอง ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง เบิกความว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.45 น. ขณะนั้นนายกรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ห้ามการชุมนุม และมีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีข้อกำหนดฉบับที่ 18 ที่ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย

ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งว่ามีการชุมนุมที่สะพานชมัยมรุเชฐ จึงเดินทางไปที่เกิดเหตุ พบผู้ชุมนุมมากกว่า 30 คน นั่งอยู่บนผ้ายางสีฟ้าที่ปูบนพื้นถนนบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ยานพาหนะไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาทุกช่องทางบนสะพาน ลักษณะการชุมนุมมีความแออัด ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ หรือแจกเจลแอลกอฮอล์ 

พยานเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวฝ่าฝืนมาตรการและข้อกำหนด จึงใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมหลายครั้ง ผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางกลับ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังไม่ยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้าจับกุมเฉพาะบุคคลที่นั่งหรือนอนอยู่บนผ้ายางสีน้ำเงิน จำนวน 32 คน ในการชุมนุม ผู้ชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัยในที่เกิดเหตุ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วย 

ภาพโดย Mob Data Thailand

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.นิมิตร ยอมรับว่า การชุมนุมในคดีนี้เป็นไปโดยสงบ ใช้สันติวิธี เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพโดยการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ขณะเกิดเหตุมีสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเป็นต้องป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงจำเป็นต้องทำตามมาตรการและประกาศข้อบังคับข้างต้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายจำเลยให้พยานดูภาพถ่ายกิจกรรมอื่น ๆ ที่จัดในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการชุมนุมในคดีนี้ รวมถึงกิจกรรมรัตนโกเซิร์ฟที่จัดโดยโจอี้บอย พยานเห็นว่า เป็นกิจกรรมที่มีความแออัด รวมถึงการยืนของตำรวจในวันเกิดเหตุมีความแออัดกว่าผู้ชุมนุม แต่เป็นไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง เบิกความตอบทนายจำเลยโดยยืนยันว่า เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า

ชุดสืบชี้ รถสัญจรไม่ได้ตั้งแต่เที่ยง ก่อนเวลานัดหมายของผู้ชุมนุม

พยานโจทก์ปากที่ 2 ด.ต.แหวนเพชร วรรณมาศ ผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.นางเลิ้ง ผู้ถ่ายภาพและจัดทำรายงานการสืบสวน เบิกความว่า หลังมีการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าช่วงเช้าวันที่ 28 มี.ค. 2564 พยานได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาข่าวและทราบว่ามีประกาศเชิญชวนทางโซเชียลมีเดียให้ประชาชนมารวมตัวกันที่สะพานชมัยมรุเชฐ เวลา 15.00 น. พยานจึงเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 10.30 น.

ประมาณ 15.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้คนมารวมตัวกันราว 50-60 คน มีการปูผ้าใบสีฟ้าปิดทุกช่องทางการจราจรที่แยกพาณิชยการ และจัดเสวนาที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ผู้เสวนาหันหน้าไปด้านแยกพาณิชยการ ด้านหลังเป็นแผงเหล็กที่ตำรวจนำมาตรึงพื้นที่กั้น ถ.พระราม 5 จุดหน้าศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ 

ผู้เสวนาบางคนสวมหน้ากากอนามัย บางคนไม่สวม ไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิ หรือให้บริการเจลล้างมือ กระทั่งประมาณ 18.00 น. พ.ต.อ.นิมิตร ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายใน 15 นาที หลังจากนั้นตำรวจควบคุมฝูงชนจึงเข้าจับกุมผู้ที่ไม่ยอมแยกย้ายจำนวน 32 คน นำตัวไปที่ บช.ปส. บางเขน ส่วนตัวพยานตามไปภายหลังเพื่อทำบันทึกจับกุมตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ผู้ถูกจับทั้งหมดให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม 

จากนั้น ด.ต.แหวนเพชร ตอบทนายจำเลยถามค้านโดยมีประเด็นสำคัญว่า ประมาณ 16.30 น. ผู้ชุมนุมเสวนาอยู่ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ พยานอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลกับ พ.ต.อ.นิมิตร และไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดการจราจรบริเวณโดยรอบหรือไม่ แต่รถไม่สามารถสัญจรผ่านสะพานชมัยมรุเชฐตั้งแต่ประมาณ 12.00 น. ไม่ว่าจะมาจากทางฝั่งทำเนียบรัฐบาล ฝั่งแยกนางเลิ้ง หรือด้าน ถ.พระราม 5 ฝั่งวัดเบญจมบพิตร 

ด.ต.แหวนเพชร รับว่า สะพานชมัยมรุเชฐเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท แต่ผู้ชุมนุมรวมตัวในลักษณะแออัด อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับตำรวจควบคุมฝูงชนที่มาปฏิบัติการมากกว่า 100 นายแล้ว ถือว่ามีตำรวจหนาแน่นกว่าผู้ชุมนุม ทั้งยังรับว่า พยานซึ่งลงพื้นที่ถ่ายภาพหมู่บ้านทะลุฟ้ามาตั้งแต่วันแรกไม่เคยรายงานว่า พบการกระทำผิดในหมู่บ้านทะลุฟ้า รวมถึงไม่เคยรายงานว่าจำเลยทั้ง 32 คนทำผิดกฎหมาย รวมทั้งยอมรับว่า การชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลนั้นเป็นลักษณะปกติของการชุมนุมในระบอบประชาธิปไตย

ภาพโดย Mob Data Thailand

เขตดุสิตรับ ไม่มีข้อมูลผู้ติดเชื้อจากการชุมนุมในวันเกิดเหตุ – ผู้ชุมนุมบริเวณทำเนียบไม่เคยยื่นขออนุญาตชุมนุม

พยานโจทก์ปากต่อมา คือ วีระวัลย์ ชาคริตนิรันดร์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตดุสิต เบิกความใจความว่า ในช่วงเกิดเหตุมีประกาศของกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 20 กําหนดให้กิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมเกินกว่า 300 คน จะต้องมีการขออนุญาตจากผู้อำนวยการเขตก่อนและมีมาตรการการควบคุมโรค แต่การชุมนุมในคดีนี้ ไม่ได้มีการขออนุญาตต่อสํานักงานเขตดุสิต และไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเช่นกัน

วันเกิดเหตุ พยานไม่ได้ไปยังสถานที่เกิดเหตุ ได้ดูเพียงภาพถ่ายและพบว่า ผู้ชุมนุมบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย บางคนเว้นระยะห่างเกินกว่า 1 เมตร แต่บางคนก็อยู่ติดกัน ลักษณะดังกล่าวอาจทําให้เกิดการติดเชื้อกันได้ 

ต่อมา วีระวัลย์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่า วันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมเกิน 300 คนหรือไม่ ทั้งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุม

พยานทราบว่า ละแวกใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ มีการชุมนุมของกลุ่มหมู่บ้านบางกลอยเช่นกัน และเท่าที่จําได้ กลุ่มผู้ชุมนุมหมู่บ้านบางกลอยไม่เคยมาขออนุญาตจัดการชุมนุม และเท่าที่พยานทราบ กลุ่มผู้ชุมนุมที่มักจะมาชุมนุมบริเวณรอบทําเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลนั้น ไม่เคยมายื่นขออนุญาตจัดชุมนุมที่สํานักงานเขตดุสิต แต่จะมีการประสานงานมาว่า จะมีการยื่นหนังสือ และจะมีการมอบหมายให้สํานักงานเขตดุสิตลงพื้นที่เพื่อตรวจว่าจะมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดหรือไม่ 

ทั้งนี้ ก่อนวันเกิดเหตุ พยานเคยไปแจ้งมาตรการควบคุมโรคที่บริเวณรั้วแผงเหล็กกั้นทางเข้า-ออกที่ชุมนุม (หมู่บ้านทะลุฟ้า) โดยไม่เคยทำหนังสือแจ้งไปยังตำรวจเกี่ยวกับความเห็นในการดำเนินการต่อผู้ชุมนุม และไม่เคยทำรายงานประเมินสถานการณ์การติดเชื้อจากการชุมนุม 

วีระวัลย์รับว่า จากข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศในช่วงในวันที่ 28 มี.ค. 2564 ไม่มีข้อมูลผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม นอกจากนี้ การชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้าเป็นการชุมนุมในที่เปิดโล่ง ขณะที่การนำผู้ถูกจับไปควบคุมในรถผู้ต้องขังมีความแออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรคมากกว่า เช่นเดียวกับการยืนเรียงแถวของตำรวจควบคุมฝูงชน มีความแออัด ไม่สวมหน้ากากอนามัย เสี่ยงต่อการแพร่โรค และการถ่ายภาพคณะรัฐมนตรี แม้อยู่ในที่เปิดโล่ง ไม่แออัด แต่ไม่สวมหน้ากากอนามัยพูดคุยกันก็เสี่ยงต่อการแพร่โรค 

ตร.ชุดจับกุมรับ พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง – มีเพียง ตร.ประเมินเองว่า ผู้ชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโควิด

พยานโจทก์ปากที่ 4 คือ พ.ต.ท.ธนพล กลิ่นเกษร ตำรวจควบคุมฝูงชน ผู้จับกุมจำเลยทั้ง 32 และผู้กล่าวหา เบิกความว่า พยานเป็นผู้บังคับกองร้อยควบคุมฝูงชนกองร้อยที่ 2 กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 (บก.น.4) วันเกิดเหตุพยานได้รับคำสั่งให้นำกองร้อยควบคุมฝูงชนกองร้อยที่ 2 ไปรายงานตัวที่ ก.พ.ร. เวลา 15.00 น. จึงเดินทางไปรายงานตัวตามเวลาดังกล่าว

ประมาณ 17.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มนำสิ่งของมาตั้งวางบนถนนพระราม 5 กีดขวางการจราจร จากนั้นเคลื่อนตัวไปบนสะพานชมัยมรุเชฐ นำผ้าใบยางมาปู และมีผู้ชุมนุมไปนั่งและนอนบนผ้าใบ เป็นการปิดกั้นการจราจรบนสะพาน  

พยานได้รับคำสั่งให้ตั้งแนวที่ ถ.พิษณุโลก คอยระวังผู้ชุมนุม ในเวลาประมาณ 17.30 น. จากนั้น ประมาณ 18.30 น. ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง ได้มาประกาศให้เลิกชุมนุม 

ต่อมา พยานได้รับคำสั่งให้เข้าควบคุมพื้นที่ พยานจึงนำ คฝ.ในกองร้อยเดินหน้าจากทาง ก.พ.ร. ไปทางสะพานชมัยมรุเชฐ และเข้าจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังนั่งและนอนบนสะพานรวม 32 คน แต่ไม่ได้จับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินทางกลับ ขณะจับกุมไม่มีการต่อสู้ขัดขืน 

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ธนพล รับว่า ช่วงที่พยานปฏิบัติหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนไม่มีการอบรมมาตรฐานการควบคุมฝูงชน พยานจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับกองร้อยโดยยังไม่ได้ผ่านการอบรมดังกล่าว พยานจะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด โดยไม่ทราบว่าจะส่งผลรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ แต่โดยหลักแล้ว ตำรวจจะไม่ใช้ความรุนแรง และต้องการให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน

วันเกิดเหตุ หลังได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวที่ ก.พ.ร. พยานได้ไปรายงานตัวกับ พ.ต.อ.พงษ์จักร์ จักรสุรัตน์ รอง ผบก.น.1 วันดังกล่าวตำรวจควบคุมฝูงชนมีเพียงอุปกรณ์ป้องกัน หมวกปราบจลาจล โล่ และกระบอง พยานคาดว่าที่ผู้บังคับบัญชาไม่สั่งให้ติดอาวุธอย่างอื่นเนื่องจากการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ 

ก่อนหน้านั้นมีคำสั่งเรียกตำรวจควบคุมฝูงชนมาก่อนแล้ว กองร้อยของพยานถูกเรียกมาเพิ่มเติมพร้อมกองร้อยที่ 1 บก.น.9 โดย 1 กองร้อยมีตำรวจ 155 นาย ผู้บัญชาการเหตุการณ์วันเกิดเหตุ คือ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย พยานขึ้นตรงต่อ ผบก.น. 1 ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ย่อยตามพื้นที่ โดย ผบก.น.1 อาจมีคำสั่งให้รอง ผบก.น.1 คือ พ.ต.อ.พงษ์จักร์ ถ่ายทอดคำสั่งมายังพยาน ตัวพยานไม่มีอำนาจตัดสินใจ และไม่มีหน้าที่ประเมินสถานการณ์

พยานอยู่ในรั้ว ก.พ.ร. ห่างจากผู้ชุมนุมไม่ถึง 50 เมตร แต่ไม่สามารถแยกได้ว่า กลุ่มคนที่ยืนรวมตัวกันจะเป็นนักข่าว เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ชุมนุม หรือประชาชนที่สัญจรไปมา 

ผู้จับกุมรับกับทนายจำเลยด้วยว่า พยานเป็นผู้สั่งการแต่ไม่ได้จับกุมด้วยตนเอง และการควบคุมผู้ต้องหา 27 คน ในรถ 1 คัน ถือว่าเป็นการแออัด 

นอกจากนี้ พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ส่วนการประเมินว่า ผู้ชุมนุมในคดีนี้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดนั้น เป็นการประเมินของตำรวจเท่านั้น ไม่มีหน่วยงานอื่นร่วมประเมินด้วย 

การชุมนุมเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาลไม่มีพื้นที่สำหรับการชุมนุมโดยเฉพาะ ผู้ชุมนุมจึงอยู่บริเวณโดยรอบ เวลาจับกุมคือ 18.45 น. ทำบันทึกจับกุมประมาณ 20.00 น. เมื่อจับกุมไปที่ บช.ปส. ไม่มีการคัดกรองโรค และไม่อนุญาตให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปใน บช.ปส. เพราะเป็นเวลากลางคืน นอกจากนี้ พยานไม่ทราบเหตุผลที่สลายการชุมนุมวันที่ 28 มี.ค. 2564 แม้จะชุมนุมต่อเนื่องมาก่อนหน้า เป็นไปได้ว่าเพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค

ภาพโดย Mob Data Thailand

.

นายตำรวจระบุ “เบื้องบนสั่งมา” ให้สลายการชุมนุม 

หนึ่งในพยานจำเลย ได้แก่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เบิกความว่า พยานติดตามข่าวการทำกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” จากจังหวัดนครราชสีมามายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ และเคยเข้าร่วมการเดินในบางวันด้วย เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ แล้วผู้ชุมนุมวางแผนจัดกิจกรรมต่อเป็นการปักหลักค้างคืน โดยเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ใช้เส้นทางถนนนางเลิ้ง ระหว่างนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่มาห้ามปราม จนกระทั่งไปถึงข้างทำเนียบรัฐบาลมีผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นปักหลักอยู่ก่อนแล้ว กลุ่มทะลุฟ้าเข้าไปตั้งเต็นท์และปักหลักในบริเวณใกล้เคียง มีจำนวนผู้ชุมนุมไม่ถึง 100 คน

ยิ่งชีพระบุว่า ในช่วงการชุมนุมแบบค้างคืนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผู้ชุมนุมมีการจัดกิจกรรม มีงานเสวนา หรือเล่นดนตรี ในช่วงเวลาเย็น โดยมีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ แจกแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมและประชาชนที่เข้ามายังพื้นที่ของหมู่บ้านทะลุฟ้า พยานก็เคยไปร่วมเป็นวิทยากร พูดคุยเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และก่อนเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมก็ต้องตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้ง 

วันเกิดเหตุ พยานทราบข่าวจากการติดตามทางโซเชียลมีเดียว่า ช่วงเช้ามืดตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมไปจำนวนมาก ในตอนบ่ายจึงมีการประกาศเชิญชวนไปชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50-100 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับหมู่บ้านทะลุฟ้า มารวมตัวกันเพื่อทวงถามถึงข้าวของและแสดงออกถึงความไม่ถูกต้องตามกฏหมายในการเข้าสลายการชุมนุมในพื้นที่นี้ 

พยานไปถึงที่เกิดเหตุในช่วงบ่าย ซึ่งไม่มีการตั้งจุดตรวจคัดกรองโรค เพราะอุปกรณ์ทั้งหมดถูกตำรวจยึดไปแล้ว พยานเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาเพื่ออธิบายถึงหลักกฏหมายการชุมนุมสาธารณะด้วย โดยระหว่างที่มีการเสวนาบริเวณหน้าศาลกรมหลวงชุมพรฯ มีผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งแจ้งให้ทราบว่า ตำรวจบอกว่าวันนี้จะเข้าสลายการชุมนุม 

ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. พยานเห็นตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาที่เคยรู้จักกัน คือ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ นั่งอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ จึงเข้าไปสอบถามว่าวันนี้จะสลายการชุมนุมจริงหรือไม่ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ ตอบว่า เบื้องบนสั่งมา พี่ทำอะไรไม่ได้ และต้องจับกุมแกนนำ พยานจึงถาม พ.ต.อ.อรรถวิทย์ อีกว่า จะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นแกนนำในวันนี้  พ.ต.อ.อรรถวิทย์ จึงเสนอว่า จะจับกุมเฉพาะคนที่นั่งอยู่บนผ้าใบสีฟ้าเท่านั้น ถ้าใครไม่อยากถูกจับกุมก็ให้ยืนอยู่รอบนอก 

เนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลาเย็นและแสงสว่างเริ่มลดลง และยังมีกลุ่มวัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์บีบแตรวนเวียนอยู่ ยิ่งชีพเกรงว่า อาจมีมือที่สามเข้าแทรกแซง จึงบอก พ.ต.อ.อรรถวิทย์ ว่า ถ้าจะสลายการชุมนุมขอให้ทำตอนที่ยังมีแสงสว่างอยู่ อย่าทำตอนมืด 

หลังจากบทสนทนาดังกล่าวแล้ว พ.ต.อ.อรรถวิทย์ ก็ใช้วิทยุสื่อสารบอกให้ตำรวจออกมาตั้งแถวได้ แล้วก็มีตำรวจควบคุมฝูงชนพร้อมด้วยโล่มากกว่า 100 คน เดินออกมาจากสำนักงาน ก.พ.ร. มาตั้งแถวปิดถนน

ยิ่งชีพระบุว่า เป็นคนเดินไปบอกกับเลิศศักดิ์ จำเลยที่ 20 ที่กำลังถือไมโครโฟนอยู่ว่า จะมีตำรวจมาสลายการชุมนุม และจะจับกุมคนที่อยู่บนผ้าใบสีฟ้า เลิศศักดิ์จึงประกาศว่า ประชาชนที่ไม่พร้อมถูกจับให้ลุกขึ้น ส่วนใครที่พร้อมถูกจับให้นั่งอยู่บนผ้าใบ แต่ตำรวจก็เพียงตั้งแถวปิดถนนอยู่หน้าสำนักงาน ก.พ.ร. เลิศศักดิ์ จึงประกาศให้ผู้ชุมนุมย้ายผ้าใบสีฟ้าไปตั้งบนสะพานชมัยมรุเชฐ และให้คนที่พร้อมถูกจับกุมนั่งอยู่ จากนั้นตำรวจควบคุมฝูงชนก็เดินแถวเข้ามาและล้อมวง กันนักข่าวกับคนที่ไม่ได้นั่งอยู่ให้ถอยหลังออกไปและไม่สามารถถ่ายภาพได้ จากนั้นก็จับกุมคนที่นั่งอยู่บนผ้าใบทั้งหมด

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“เวลาในห้องขังมันผ่านไปช้ากว่าเวลาภายนอกหลายสิบเท่า”: คำบอกเล่าของ ‘วาดดาว’ ผู้นอนชูสามนิ้วเหตุสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ถูกหิ้วไปคุมขังที่ บช.ปส.

“การที่คนยอมนอนให้จับ ก็เพื่อจะบอกว่าคุณทำสิ่งที่ผิดอยู่”: คุยกับ ‘กระเดื่อง’ ศิลปะปลดแอก ว่าด้วยคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า

X