ศาลเยาวชนฯ ปรับ “ฮาบีบี-แซน” คนละ 4,060 บาท กรณีร่วมหมู่บ้านทะลุฟ้า เห็นว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

วันที่ 24 ส.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 2 เยาวชนนักกิจกรรม ได้แก่ “ฮาบีบี” และ “แซน ภูเขียว” จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้ามืดและต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 28 มีนาคม 2564

การสืบพยานในคดีนี้เสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 โดยจำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า กิจกรรมการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าที่หน้าทำเนียบฯ เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวาย และเป็นไปตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ในระหว่างกิจกรรม ทั้งคู่ยังไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม เป็นเพียงแต่ผู้เข้าร่วมเท่านั้น

ช่วงเช้าที่ห้องพิจารณา 10 “ฮาบีบี-แซน” และผู้ปกครองของจำเลยทั้งสอง นายประกันกองทุนราษฎรประสงค์ และที่ปรึกษากฎหมาย ได้ทยอยเข้ามานั่งในห้องพิจารณาเพื่อรอฟังคำพิพากษา 

ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้สอบถามผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาโดยละเอียดว่ามีความเกี่ยวข้องใดกับจำเลย โดยศาลจะอนุญาตแค่ให้ที่ปรึกษากฎหมายและผู้ปกครองของจำเลยอยู่ฟังการพิจารณาเท่านั้น ผู้อื่นไม่อนุญาตให้ร่วมการพิจารณา โดยอ้างเหตุผลว่าคดีเยาวชนเป็นการพิจารณาแบบลับ 

เวลา 10.00 น. ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา โดยสรุปเนื้อหาว่า จากพยานหลักฐาน จำเลยทั้งสองยอมรับว่าเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลจริง ซึ่งเห็นว่าการจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบ เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ศาลเห็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด 

ขณะกระทำความผิด จำเลยทั้งสอง อายุ 15 ปีเศษ จึงลดอัตราโทษให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษปรับฐาน “ร่วมการชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุมในสถานที่แออัด” คนละ 6,000 บาท และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 90 บาท รวมปรับคนละ 6,090 บาท 

เนื่องจากการนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือปรับคนละ 4,060 บาท

อนึ่ง เกี่ยวกับการชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ดังกล่าว เป็นการปักหลักชุมนุมพักแรมใกล้ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564 เพื่อยืนยัน 4 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ ให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วม “ราษฎร” ที่ถูกจับกุมคุมขัง, จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งในช่วงเย็น ยังมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ทำกิจกรรมคัดค้านการจับกุมผู้ร่วมหมู่บ้านทะลุฟ้าอีก

รวมแล้ว วันดังกล่าวมีนักกิจกรรม ประชาชน และเยาวชนถูกจับกุมไปทั้งหมดรวมถึง 99 คน ถูกนำตัวไปควบคุมที่กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ซึ่งนับเป็นกรณีที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมมากที่สุดในช่วงปี 2563-64

ในจำนวนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นเยาวชน 6 คน เยาวชนชายรายหนึ่งระบุว่าในการถูกจับกุม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ใช้เคเบิ้ลไทร์มัดที่มือ และมีเยาวชน 2 รายที่ได้รับความบาดเจ็บ โดยรายหนึ่งบาดเจ็บที่ขา ระบุว่าเหมือนโดนเจ้าหน้าที่เหยียบระหว่างช่วงชุลมุนในการจับกุม อีกรายโดนเจ้าหน้าที่จับที่แขนค่อนข้างรุนแรง ทำให้มีอาการปวด ต้องปฐมพยาบาลโดยใช้ผ้าพันข้อมือที่บาดเจ็บในเวลาต่อมา  

ต่อมาอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนฯ จำนวน 3 คน โดยเยาวชนหนึ่งรายได้ยินยอมเข้าสู่มาตรการพิเศษแทนมีคำพิพากษา ส่วนฮาบีบีและแซนต่อสู้คดี ส่วนในคดีของผู้ใหญ่ ซึ่งแยกเป็น 2 คดี ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานยังไม่เสร็จสิ้นที่ศาลแขวงดุสิต

.

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพียง 1 เดือน หลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ช่วงเช้ามืด อัยการยื่นฟ้องนักกิจกรรม-พระ-คนไร้บ้าน 61 ราย

สรุปคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า จับมากสุดเป็นสถิติ 99 คน แจ้ง 5 ข้อหา ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด

X