ปรับคนละ 1 หมื่น 31 ผู้ชุมนุมประณามการสลาย #หมู่บ้านทะลุฟ้า ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.จราจรฯ ยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 

28 ก.พ. 2567 เวลา 09.00 น ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเย็นวันที่ 28 มี.ค. 2564 เพื่อประณามการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ช่วงเช้ามืดของวันนั้น ซึ่งนักกิจกรรม ประชาชน ศิลปิน และสื่ออิสระ รวม 32 ราย ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต 

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ลงโทษปรับคนละ 10,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง 

รวมจำเลยที่มาฟังคำพิพากษา 31 ราย คิดเป็นค่าปรับที่ชำระแก่ศาลในคดีนี้ทั้งสิ้น 310,000 บาท

มูลเหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากการชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ซึ่งเป็นค่ายพักแรมใกล้ทำเนียบรัฐบาลก่อตั้งโดยกลุ่มเดินทะลุฟ้าตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564 เพื่อปักหลักทำกิจกรรมและยืนยัน 4 ข้อเรียกร้อง ได้แก่  1. ให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วม “ราษฎร” ที่ถูกจับกุมคุมขัง 2. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 4. ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก

โดยในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 28 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 05.50 น. ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 4 กองร้อย ได้นำกำลังเข้าเตรียมสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า อ้างเหตุผลว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีผู้ถูกจับกุมรวม 67 ราย

หลังการควบคุมตัวในช่วงเช้า ราว 15.00 น. กลุ่มนักกิจกรรมได้เริ่มประกาศตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าอีกครั้งที่บริเวณกลางสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีตัวแทนประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันอ่านแถลงการณ์ประณามการสลายการชุมนุมในช่วงเช้า และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว

กระทั่งเวลา 18.00 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนเริ่มประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายใน 15 นาที โดยอ้างว่า ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และให้ผู้สื่อข่าวถอยออกไปจากพื้นที่ แต่ผู้ชุมนุมยังปักหลักต่อไป และแสดงอารยะขัดขืนโดยนอนลงและชู 3 นิ้วให้เจ้าหน้าที่ ต่อมา ชุดควบคุมฝูงชนได้เคลื่อนเข้าปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม และกันผู้สื่อข่าวอยู่ภายนอกวงล้อม ก่อนเริ่มทยอยจับกุมผู้ชุมนุมซึ่งนอนชู 3 นิ้ว โดยมีทั้งการหิ้วปีก และอุ้มไปขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง นำตัวทั้งหมดไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) โดยการจับกุมในช่วงเย็นนี้ มีประชาชนถูกจับกุมทั้งหมด 32 ราย

ซึ่งมีทั้งนักกิจกรรม อาทิ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์, ปวริศ แย้มยิ่ง, กฤษณะ ไก่แก้ว, สิรภพ อัตโตหิ, เฉลิมชัย วัดจัง, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, เอเลียร์ ฟอฟิ, พิสิฏฐ์กุล ควรแถลง, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, นักร้อง ได้แก่ “เอ้”กุลจิรา ทองคง หรือ เอ้ The Voice, สื่ออิสระ ได้แก่ เชน ชีวอบัญชา และประชาชน อาทิ “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง

ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ตั้งข้อหาผู้ชุมนุมในช่วงเย็น 5 ข้อหา เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมในช่วงเช้า ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ต่อมาวันที่ 27 เม.ย. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ยื่นฟ้องคดีทั้ง 32 คนต่อศาลแขวงดุสิต ใน 4 ข้อหา โดยไม่ได้ฟ้องในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ทั้งหมดให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี และศาลแขวงดุสิตได้ทำการสืบพยานไปตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 จนมาสิ้นสุดเมื่อวันที่่ 16 พ.ย. 2566 ก่อนนัดฟังคำพิพากษาต่อมา

ข้อต่อสู้สำคัญของฝ่ายจำเลยในคดีนี้คือ การกระทําของจําเลยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในฐานะประชาชนผู้ได้รับความเดือนร้อนเสียหายจากการบริหารราชการที่บกพร่องของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งมิได้กระทบสิทธิของประชาชนผู้เดินทางสัญจรโดยทั่วไป หรือรบกวนความเป็นอยู่โดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มีจำเลย 1 ราย ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ ไม่ได้อยู่ร่วมการพิจารณาคดี ทำให้จะมีจำเลยมาฟังคำพิพากษาเพียง 31 รายเท่านั้น

ส่วนผู้ถูกจับกุมในระหว่างการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ช่วงเช้ามืด รวม 61 คน ถูกแยกฟ้องเป็นอีกคดี และคดียังอยู่ในระหว่างการสืบพยาน โดยมีนัดสืบพยานอีกในวันที่ 23 พ.ค. 2567

อ่านเพิ่มเติม: ประมวลคดีชุมนุมหน้าทำเนียบประณามการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” หลัง 31 นักกิจกรรม-ปชช. ยืนยันใช้สิทธิตาม รธน. ก่อนศาลพิพากษา ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 510 ศาลแขวงดุสิต ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษา โดยสรุประบุว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

พยานโจทก์เบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564 มีการชุมนุมกันของกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ชุมนุมประมาณ 60 คน ต่อมาผู้ชุมนุมมีการรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไป เจ้าหน้าที่มีการประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว เนื่องจากผู้ชุมนุมมีการวางสิ่งของกีดขวางทางจราจร โดยนำผ้าใบยางพลาสติกมาปูบนสะพาน ผู้ชุมนุมบางคนไปนั่งและนอนบนผ้ายาง ซึ่งบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ทั้งการชุมนุมเป็นไปด้วยความแออัด ไม่มีการตั้งจุดคัดกรองและไม่มีการแจกเจลแอลกอฮอล์ และยังมีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เมื่อมีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมกลับนิ่งเฉย เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องเข้ากระชับพื้นที่ โดยจับกุมผู้ชุมนุมจำนวน 32 คน ซึ่งก็คือจำเลยในคดีนี้และนำตัวไปที่ บช.ปส.

เห็นว่า พยานโจทก์ที่มาเบิกความล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณดังกล่าว และย่อมเห็นและรับรู้ข้อเท็จจริงโดยตรง อีกทั้งยังเบิกความสอดคล้องกันเป็นลำดับขั้นตอนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ ทั้งพยานไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน ย่อมไม่มีสาเหตุที่จะเบิกความเป็นเท็จ เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามจริง มีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า การชุมนุมอยู่ในพื้นที่โล่ง ไม่แออัด และมีการสวมหน้ากากอนามัยนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า ผู้ชุมนุมกระทำความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์เพียงว่า จำเลยทั้ง 32 คน เข้าร่วมกิจกรรมโดยการนั่งและนอนบนผ้ายาง ไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีพฤติกรรมเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันชุมนุมเท่านั้น

ส่วนที่จำเลยอ้างว่า การชุมนุมเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นั้น แม้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะรับรองการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่สามารถยกเว้นได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น และมาตรา 26 ระบุไว้ว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันเป็นสถานการณ์ที่อันตรายและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินย่อมมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง สอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ได้เป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้ง 31 คน ร่วมกันชุมนุมจัดทำกิจกรรมโดยไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง เต็มไปด้วยความแออัด และไม่มีมาตรการป้องกันโรค

สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการวางแผ่นพลาสติกและกองฟางแล้วนั่ง นอน รวมทั้งมีการปราศรัยในบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่สามารถระบุได้ว่า จำเลยคนใดจะเป็นผู้นำกองฟางหรือแผ่นพลาสติกมาวาง ทั้งไม่สามารถระบุได้ว่าใครจะเป็นผู้ใช้เครื่องขยายเสียง และจำเลยต่างยืนยันปฏิเสธและให้การต่อสู้มาตลอด จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยทำกิจกรรมนั่งและนอนโดยใช้ผ้าใบพลาสติกมาวางบนช่องทางเดินรถบนถนนพิษณุโลก ย่อมเป็นการกระทำที่กระทบต่อความปลอดภัยและเป็นการกีดขวางทางจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ทำให้รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจมีการปิดกั้นจราจรอยู่ก่อนแล้วนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนตัวลงบนพื้นผิวจราจร การจราจรยังสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ แต่เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวลงบนพื้นผิวจราจร เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องปิดกั้นช่องจราจรส่วนนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม หากผู้ชุมนุมไม่นำสิ่งกีดขวางมาวางบนช่องจราจร เจ้าหน้าที่ก็สามารถเปิดช่องจราจรให้ประชาชนสัญจรได้ตามปกติ ข้ออ้างของจำเลยจึงขัดต่อเหตุและผล ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

ระหว่างการพิจารณา มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 โดยมาตรา 39 ระบุว่า ให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 ท้าย พ.ร.บ. นี้ เป็นความผิดทางพินัย และให้ถือว่าอัตราโทษปรับอาญาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว เป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย จึงให้ปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามสิบเอ็ดมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และเป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางพินัย ให้ลงโทษบทหนักที่สุดคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 10,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง

X