24 ก.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (จำเลยที่ 1), “คาริม” จิตริน พลาก้านตง (จำเลยที่ 2), “ต๋ง” ปนัดดา ศิริมาศกูล (จำเลยที่ 3), “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์ (จำเลยที่ 4) และ “ไดโน่” นวพล ต้นงาม (จำเลยที่ 5) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม, มาตรา 216, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นรวม 7 ข้อหา กรณีทำกิจกรรมหน้าพรรคภูมิใจไทย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 โดยมีการแสดงออกด้วยการติดสติกเกอร์และปาถุงสีแดงใส่บริเวณหน้าพรรค
ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้าคนมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (เข้าร่วมการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคที่มีการรวมตัวกันมากกว่า 5 คน) ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท, ฐานกีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.จราจรฯ ให้ลงโทษตามมาตรา 385 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับคนละ 1,000 บาท, ฐานร่วมกันขีดเขียนพ่นสีฯ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ปรับคนละ 2,000 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับจำเลยที่ 3-5 คนละ 200 บาท
รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 8,000 บาท และลงโทษปรับจำเลยที่ 3-5 คนละ 8,200 บาท โดยภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว ทั้งห้าคนถูกควบคุมตัวไปยังห้องเวรชี้ บริเวณใต้ถุนศาล ระหว่างรอคำนวณหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากจำนวนเงินค่าปรับ
ต่อมาในเวลา 14.47 น. จำเลยทั้งห้าคนถูกปล่อยตัวออกจากห้องเวรชี้ โดยไผ่ไม่ต้องจ่ายค่าปรับอีก เนื่องจากถูกขังในระหว่างสอบสวนรวม 48 วัน คิดอัตรา 500 บาท/วัน เป็นเงิน 24,000 บาท เกินจำนวนค่าปรับ ส่วนอีกสี่คนที่เหลือต้องจ่ายค่าปรับเต็มจำนวน รวมแล้วในคดีนี้ต้องจ่ายค่าปรับทั้งสิ้น 32,600 บาท
.
ทบทวนคดี: “ไผ่” จตุภัทร์ และอีกสามคนถูกออกหมายจับหลังทำกิจกรรมหน้าพรรคภูมิใจไทย ก่อนไม่ให้ประกันตัวไผ่ ในระหว่างสอบสวน ด้าน “ต๋ง” ปนัดดา ถูกแจ้งข้อหาในเรือนจำ
ย้อนไปการชุมนุมเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 กลุ่มทะลุฟ้าได้จัดกิจกรรมเดินทางไปยังพรรคภูมิใจไทยเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากบริหารงานล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าว ไม่ปรากฏบุคคลใดจากพรรคภูมิใจไทยออกมารับหนังสือ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเริ่มติดสติกเกอร์และใช้ถุงสีแดงปาใส่บริเวณด้านหน้าพรรค

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ในขณะที่ “ไผ่” จตุภัทร์ เดินทางไปมอบตัวตามหมายจับที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุร่วมกันสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งวันดังกล่าวมีเพื่อนนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าเดินทางมาให้กำลังใจด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางเขน มาแสดงหมายจับจตุภัทร์, ทรงพล, นวพล และจิตริน กรณีเดินทางไปทำกิจกรรมหน้าพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564
โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานวพลและจิตรินรวม 5 ข้อหา ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทําความผิดนั้น, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม และมาตรา 216, “ร่วมกันขีดเขียนพ่นสี หรือทําให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ ที่กําแพง อาคาร หรือที่สาธารณะ” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
ส่วนจตุภัทร์และทรงพลถูกแจ้งใน 7 ข้อกล่าวหา โดยเพิ่มข้อหา “กีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.จราจรฯ
ต่อมาในวันเดียวกัน หลังพนักงานสอบสวน สน.บางเขน ขออำนาจศาลอาญาเพื่อฝากขังทั้งสี่คน พร้อมกับคัดค้านการประกันตัว โดยระบุเหตุผลที่คัดค้านการให้ประกันจตุภัทร์ว่า กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่กำหนดไม่ให้ก่อความวุ่นวาย ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นวพล, จิตริน และทรงพล ในวงเงินคนละ 35,000 บาท แต่ไม่อนุญาตให้ประกันจตุภัทร์ (ต่อมาจตุภัทร์ได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564 รวมเวลาถูกคุมขังทั้งสิ้น 48 วัน)
หลังจากนั้นในวันที่ 17 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวน สน.บางเขน ได้เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหา “‘ต๋ง” ปนัดดา ขณะถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่น ๆ รวม 7 ข้อหาเช่นเดียวกันกับจตุภัทร์และทรงพล
อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุจากกิจกรรมนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 7 คน นอกจาก 5 คนที่เป็นจำเลยในคดีนี้ ยังมี ‘ชาติ’ ชาติชาย ไพรลิน และ ‘บอมเบย์’ เจษฎาภรณ์ โพธิ์เพชร ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาในทำนองเดียวกัน แต่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษต่ำกว่าวรรคสาม ทำให้ทั้งสองคนถูกแยกฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือ โดยศาลแขวงพระนครเหนือมีคำพิพากษาปรับตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ คนละ 2,000 บาท ยกฟ้องในข้อหาอื่นทั้งหมด
.
ฟ้องคดี: จตุภัทร์-จิตริน-ปนัดดา-ทรงพล ได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยมีหนึ่งในเงื่อนไขให้ติดกำไล EM
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 มีคำสั่งฟ้องทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์, “คาริม” จิตริน, “ต๋ง” ปนัดดา และ “ยาใจ” ทรงพล ต่อศาลอาญาทั้งสิ้น 7 ข้อหา
โดยภายหลังจากมีคำสั่งฟ้อง ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 4 คน โดยกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะหรือทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมกิจกรรมใด ๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น อีกทั้งให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน
ต่อมาในวันที่ 9 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการยื่นฟ้อง “ไดโน่” นวพล ใน 7 ข้อหาเช่นเดียวกัน และได้ประกันในวงเงิน 70,000 บาท โดยมีเงื่อนไขประกันเช่นเดียวกับคนอื่นแต่ไม่ต้องติด EM
ในคดีนี้ ทั้งห้าคนได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยรวมทั้งสิ้น 7 นัด ในระหว่างวันที่ 29-31 ส.ค., 1 ก.ย. 2566 และ 14-16 ส.ค. 2567 ก่อนที่จะนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
.
พิพากษาว่าจำเลยทั้งห้าไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม แต่เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมจึงมีความผิดฐานรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีความผิดอีก 4 ข้อหา แต่ยกฟ้องข้อหา ม.215-216 เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีการใช้กำลัง
วันนี้ (24 ก.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 902 จำเลยทั้งห้าคนทยอยเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับทนายความ จนในเวลา 10.25 น. ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยใช้เวลาอ่านประมาณ 30 นาที ซึ่งสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า
ประเด็นที่ 1 ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ แม้เพจทะลุฟ้าจะเป็นผู้ประกาศ และมีจำเลยทั้งห้าเข้าร่วมกิจกรรม แต่โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจำเลยทั้งห้าเป็นแอดมินเพจและเป็นผู้โพสต์เชิญชวน จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ชักชวน
ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นแกนนำกลุ่มทะลุฟ้า แต่การเป็นแกนนำและการเป็นผู้จัดก็แตกต่างกันไป ไม่สามารถนำมาพิจารณาร่วมกันได้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดเตรียมกิจกรรม ส่วนจำเลยที่ 2 แต่งกายด้วยเสื้อยืดทั่วไป ไม่มีลักษณะที่บ่งชี้เป็นพิเศษแต่อย่างใด
ส่วนจำเลยที่ 3-5 สลับกันปราศรัยโดยสามารถสรุปได้ว่า ให้พรรคภูมิใจไทยออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากการบริหารงานที่ล้มเหลว แต่ถ้าไม่มีใครออกมาตอบรับจะยกระดับการชุมนุม แต่ไม่ปรากฏว่ามีการประกาศชวนมาชุมนุม และไม่ปรากฏว่ามีส่วนในการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไร จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้มีพฤติการณ์และบทบาทเป็นผู้จัดการจัดชุมนุม
ในส่วนข้อหาที่ห้ามมิให้ชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เห็นว่าสถานที่กิจกรรมเป็นสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท แต่ไม่ปรากฏว่า กิจกรรมต้องรวมกลุ่มอยู่ในบริเวณเดียว จึงไม่เห็นว่าเป็นสถานที่แออัด อีกทั้งที่จำเลยที่ 3-5 ปราศรัยนั้น ไม่มีผู้ชุมนุมคนใดอาวุธ ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ คำพูดของจำเลยที่ว่า จะยกระดับการชุมนุม ก็เป็นเพียงการติดสติกเกอร์ ปาสี และเผาหุ่นฟาง โดยมีคนคอยดับไฟอยู่ ไม่มีพฤติการณ์ที่จะทำให้เกิดความรุนแรง จึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 ได้รับรองเอาไว้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานนี้
แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคที่มีการรวมตัวกันมากกว่า 5 คน จึงมีความผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 7) ข้อ 1 และฉบับที่ 8
ประเด็นที่ 2 ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม และมาตรา 216
เห็นว่า ผู้ชุมนุมมีวัตถุประสงค์ให้พรรคภูมิใจไทยถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการชุมนุมที่ใช้เวลาไม่นานและเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีการใช้กำลัง กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในฐานความผิดตามมาตรา 216 ด้วย
ประเด็นที่ 3 ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางทางสาธารณะและทางจราจร
เห็นว่า ระหว่างการชุมนุมมีผู้ชุมนุมอยู่บนทางเท้าและบนช่องทางเดินรถที่ 1-2 การจราจรโดยรวมยังเคลื่อนตัวได้ แต่ในช่วงที่มีประกาศให้เลิกชุมนุม ผู้ชุมนุมยืนอยู่บริเวณช่องทางเดินรถที่ 1-3 จนทำให้ต้องปิดการจราจร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกีดขวางทางสาธารณะและทางจราจร
ส่วนข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่า จำเลยที่ 1-2 ไม่ได้ใช้ไมโครโฟน แต่จำเลยที่ 3-5 ใช้ไมโครโฟนในการปราศรัย อีกทั้งการชุมนุมนี้ไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3-5 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ยกฟ้องจำเลยที่ 1-2 ในข้อหานี้
ประเด็นที่ 4 ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
เห็นว่า จำเลยที่ 3-5 ได้พูดปราศรัยทำนองว่า หากพรรคไม่มีการตอบรับ จะมีการติดสติกเกอร์และปาสีแดง จำเลยที่ 1-2 ได้มีการติดสติกเกอร์ ส่วนจำเลยที่ 4 อยู่ในพื้นที่ชุมนุม แต่ไม่ปรากฏว่าติดสติกเกอร์หรือปาสีแต่อย่างใด เห็นว่าจำเลยทราบดีว่า หากไม่มีการออกมารับ จะมีการยกระดับการชุมนุม จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดในฐานะตัวการร่วม จำเลยทั้งห้าจึงมีความผิดในข้อหานี้
ความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรม พิพากษาว่า จำเลยทั้งห้าคนมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (เข้าร่วมการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคที่มีการรวมตัวกันมากกว่า 5 คน) ปรับคนละ 5,000 บาท, ฐานกีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.จราจรฯ ให้ลงโทษตามมาตรา 385 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับคนละ 1,000 บาท, ฐานร่วมกันขีดเขียนพ่นสีฯ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ปรับคนละ 2,000 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับจำเลยที่ 3-5 คนละ 200 บาท
รวมปรับจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 8,000 บาท และจำเลยที่ 3-5 คนละ 8,200 บาท รวมปรับทั้งสิ้น 40,600 บาท โดยภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว ทั้งห้าคนถูกควบคุมตัวไปยังห้องเวรชี้บริเวณใต้ถุนศาล ระหว่างรอคำนวณหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากจำนวนเงินค่าปรับ
ต่อมาในเวลา 14.47 น. จำเลยทั้งห้าคนถูกปล่อยตัวออกจากห้องเวรชี้ โดย “ไผ่” จตุภัทร์ไม่ต้องจ่ายค่าปรับอีก เนื่องจากถูกขังในระหว่างสอบสวนรวม 48 วัน คิดอัตรา 500 บาท/วัน เป็นเงิน 24,000 บาท เกินจำนวนค่าปรับ ส่วนอีกสี่คนที่เหลือต้องจ่ายค่าปรับเต็มจำนวน รวมแล้วในคดีนี้ต้องจ่ายค่าปรับทั้งสิ้น 32,600 บาท
.
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ‘ชาติ’ ชาติชาย ไพรลิน และ ‘บอมเบย์’ เจษฎาภรณ์ โพธิ์เพชร สองสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาในทำนองเดียวกัน แต่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 ศาลแขวงพระนครเหนือได้พิพากษายกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มาตรา 215, มาตรา 216, มาตรา 385, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ แต่ลงโทษเพียงข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ปรับคนละ 2,000 บาท