อัยการฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘4 นักกิจกรรม’ จัดแห่เทียนไล่ประยุทธ์ที่ลาดพร้าวปี 2564 แม้อีกสองคดีลักษณะเดียวกัน จะสั่งไม่ฟ้อง

10 มี.ค. 2568 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ได้ยื่นคดีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ 4 นักกิจกรรม ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม, “ต๋ง” ปนัดดา ศิริมาศกูล และ “แก้วใส” ณัฐพงษ์ ภูแก้ว จากกรณีทำกิจกรรม “รวมพลแห่เทียน ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไป”  ที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 แม้คดีที่กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันในช่วงเดียวกัน อีก 2 คดี อัยการจะสั่งไม่ฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว  

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาปี 2564 กลุ่มทะลุฟ้าได้จัดกิจกรรมหล่อเทียนพรรษา เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องรายวัน เวียนไปจัดในสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ต่อมาตำรวจมีการดำเนินคดีทั้งหมด 4 คดี ในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่ คดีกิจกรรมที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564, คดีกิจกรรมที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564, คดีกิจกรรมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2564 และคดีกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2564

ก่อนหน้านี้ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงปทุมวัน และพนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิต ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีกิจกรรมที่สวนลุมพินี และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปแล้ว โดยเห็นในลักษณะเดียวกัน ว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่งกว้าง อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่มาก และผู้ร่วมกิจกรรมสามารถเว้นระยะห่างกันได้ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย แม้จะไม่ครบทุกคนก็ตาม กรณีจึงยังไม่พอรับฟังว่าการทำกิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ขณะที่อีกสองคดี ยังอยู่ในชั้นสอบสวน จนกระทั่งในเดือนนี้ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงพระนครเหนือได้มีคำสั่งฟ้องคดีจากกิจกรรมที่ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 4 คน โดยคดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ส่งสำนวนให้กับอัยการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 และอัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งคดีมากว่า 3 ปีแล้ว จนกระทั่งมามีคำสั่งฟ้อง

นุสรา แหวนเงิน เป็นพนักงานอัยการผู้เรียงฟ้อง บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 จำเลยทั้งสี่กับพวก ร่วมกันชุมนุมจัดกิจกรรมร่วมหล่อเทียน มีมวลชนจำนวนประมาณ 50 คน เข้าร่วมที่บริเวณเกาะกลางจุดกลับรถ ห้าแยกลาดพร้าว อันเป็นการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่า 5 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่สูงสุดและเข้มงวด โดยกิจกรรมไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่  

ต่อมา ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่หากผิดสัญญาประกันตัว จะปรับคนละ 20,000 บาท พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 28 เม.ย. 2568 

ทั้งนี้คดีชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 675 คดี แนวทางการพิจารณาของอัยการยังเป็นไปอย่างแตกต่างกัน โดยมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องไม่น้อยกว่า 75 คดี และเมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล หากจำเลยต่อสู้คดี พบว่ามีแนวโน้มคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในสัดส่วนมากกว่า คืออย่างน้อย 105 คดี แต่อัยการก็ยังทยอยฟ้องคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมอยู่เป็นระยะ

.

X